16 ส.ค. 2019 เวลา 14:00 • ความคิดเห็น
คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้...(เลียนแบบตัวละครลูอิช จากหนังเรื่องแอนท์แมนครับ ฮ่าๆ)
...
เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ของท่านพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิระเมธี) ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่สงบและใกล้ชิดธรรมชาติมากๆ อีกแห่งหนึ่งเลยครับ
...
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมเพลิดเพลินมากๆ (นอกจากความสงบและเป็นธรรมชาติ) ก็คือบรรดาป้ายข้อคิดปริศนาธรรมที่มีให้เห็นเรียงรายในบริเวณนั้น ซึ่งผมก็ตามไล่เรียงอ่านและคิดตามไปด้วย แล้วก็มาสะดุดกับป้ายข้อคิดปริศนาธรรมอยู่ป้ายหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งมีชื่อว่าโรคด่วนตัดสินใจ
...
ผมไม่แน่ใจว่ามีงานวิจัยเช่นว่านี้จริงหรือเปล่า? (เพราะผมกลับมาลองเสิร์ชหาทาง Google แล้วไม่ยักเจอ) แต่ทว่าเนื้อความในภาพรวมของป้ายข้อคิดปริศนาธรรมแผ่นนี้กลับน่าสนใจ เพราะผมรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเรามาก เพียงแค่เราคลิกเข้าไปอ่านข่าวต่างๆ จากบนโลกโซเชียลที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาคอมเม้นได้ (โดยเฉพาะบนเฟสบุ๊ค) หรือหลายๆ ครั้งอาจอยู่รอบๆ ตัวเรา หรือแม้กระทั่งตัวเองจะเป็นเสียเองในบางโอกาสก็ได้
...
ผมลองมานั่งคิดดูเล่นๆ ว่า ‘มีอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ได้?’ ซึ่งผมพอนึกชื่อไวรัสหลักๆ ได้ 3 ตัว ซึ่งจะมีอะไรบ้างเรามาลองแชร์กันครับ
...
1. ไวรัสที่มีชื่อว่า ‘ความอคติ’ : ส่วนตัวผมคิดว่าเจ้าไวรัสตัวนี้น่าจะเป็นสาเหตุเบอร์หนึ่งของโรคด่วนตัดสินใจเลยก็ว่าได้ครับ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้นิยามความหมายของอคติไว้ว่า ความลำเอียง เมื่อคนเราเกิดอคติการคิดวิเคราะห์และโลกทัศน์จะแคบลงอย่างไม่น่าเชื่อ เราจะเลือกชิงด่วนตัดสินใจออกไปโดยเลือกที่จะปิดหูไม่รับฟัง ปิดตาไม่อ่านเนื้อหาใดๆ เพิ่มเติม เพราะเรามีธง (อคติ) ปักเอาไว้ก่อนอยู่ในใจเเล้วนั้นเอง (ซึ่งไวรัสตัวนี้มักจะพบเห็นได้บ่อยที่สุด โดยเฉพาะข่าวแวดวงการเมือง อุ๊บ!!!)
...
2. ไวรัสที่มีชื่อว่า ‘ฟังความข้างเดียว’ : แม้จะแลรู้สึกว่ามันไม่น่าต่างอะไรจากอคติเลยนี่นา แต่ส่วนตัวผมมีความคิดออกมาแบบนี้ครับ “อคติ คือสิ่งที่เกิดจากความคิด ความรู้สึกของตัวเราเอง แต่การฟังความข้างเดียว เกิดจากการที่คนอื่นเข้ามายัดอคติและความคิดของตัวเขาเองมาให้กับเรา และเราก็เลือกที่จะเชื่อทันที” เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผมขอยกกรณีศึกษาจากเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ.2557 ซึ่งจัดว่าเป็นเหตุการณ์ที่เป็นข่าวโด่งดังมากในช่วงนั้น คือ ‘ประจาน!! หนุ่มโรคจิต แอบติดกล้องจิ๋วที่เท้าขึ้น BTS’ เหตุการณ์เริ่มจากกระทาชายคนหนึ่งกำลังนั่งอยู่บน BTS และเขาเหลือบไปเห็นชายหนุ่มคนนึงแต่งกายปรกติกำลังยืนเล่นมือถืออยู่ แต่ด้วยสายตาเหยี่ยวที่คมกริบของเขา ทำให้เขาสังเกตุเห็นรองเท้าของชายผู้นี้มีรูที่บริเวณปลายรองเท้า และด้วยประสบการณ์การดูหนังสายลับมาอย่างโชกโชนการันตีด้วยการดู เจมส์ บอนด์ 007 มาจนครบทุกภาค สมองของเขาจึงประมวลออกมาได้ว่า รูนั้นต้องแฝงไปด้วยอุปกรณ์ไฮเทคโนโลยีอย่างกล้องตัวจิ๋วแบบที่สายลับเเนวหน้าของโลกใช้กันแน่ๆ เลย ไม่รอช้าเขาทำการถ่ายรูปชายคนนั้น แล้วรีบแชร์ลงบนโลกโซเชียลทันที
...
ผลปรากฏว่า โพสของกระทาชายคนนี้ดันจุดติดจนเป็นไฟลามทุ่งไปทั่วโซเชียลยากที่จะดับได้ในเวลานั้น ด้วยสาเหตุหลักๆ คือ ‘การฟังความข้างเดียว’ ของคนโซเชียลบางส่วนนั้นเอง และท้ายที่สุดเพื่อนของชายเจ้าของรองเท้าต้องออกมาแจงข้อเท็จจริงว่า “เพื่อนผมคนนี้ไม่มีกล้อง แค่รองเท้าเพื่อนผมเขามันเก่าก็แค่นั้น” และชายเจ้าของรองเท้าดังกล่าวเองก็ไปแจ้งความในเวลาต่อมาอีกด้วย เนื่องจากเดือดร้อนเพราะมันทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงนั้นเอง
...
3. ไวรัสที่มีชื่อว่า ‘เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง’ : เจ้าไวรัสตัวนี้ มักปรากฏในกระทู้สอบถามความคิดเห็นในลักษณะต่างๆ การเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง คือการที่คนๆ หนึ่งยัดความคิด หรือบรรทัดฐานของตัวเองไปวัดให้กับคนอื่น ถ้าคนอื่นไม่คล้อยตาม มันคือผิด หรืออาจลามถึงขั้นด่วนตัดสินคนอื่นว่าเป็นความล้มเหลวในชีวิตเลยทีเดียว (ซึ่งตรงนี้ต้องใช้วิจารณญาณในการวิเคราะห์อยู่พอสมควรในการแยกความเห็นที่ยึดจากบรรทัดฐานตัวเอง กับความเห็นที่แชร์จากประสบการณ์ตรงและคำแนะนำที่มีประโยชน์จริงๆ)
...
ผมไปพบเจอกระทู้หนึ่งจากเว็บพันทิป ที่พอสามารถนำมายกเป็นกรณีศึกษาเพื่อฉายภาพเจ้าไวรัสตัวนี้ให้ชัดเจนขึ้นได้ ประหนึ่งกำลังส่องดูจากกล้องจุลทรรศน์เลยทีเดียว กระทู้นี้มีชื่อว่า ‘บางคนไม่เที่ยว ไม่ใช้ชีวิตอะไรทั้งนั้น เน้นทำงาน กลับบ้านนอน วนอยู่แค่นี้’ พร้อมทิ้งคำถามไว้ 2 คำถามคือ คนลักษณะข้างต้นนี้ถือเป็นคน “งก” หรือ “ขี้เกียจ” หรือไม่? (ถ้าเป็นภาษากฎหมาย คำถามลักษณะนี้จัดว่าเป็นการถามนำอยู่นะครับ)
...
ซึ่งถ้าเราเลือกที่ถอดและยกตัวเองออกจากจุดศูนย์กลางโลกทัศน์เราจะเปิดกว้างและเห็นได้รอบด้านมากขึ้น เราจะเห็นว่าการใช้ชีวิตของแต่ละคนนั้นมีลักษณะและคุณค่าแตกต่างกันไป เช่น บางคนการใช้ชีวิตของเขาคือการทำให้คนที่เขารักมีความสุข, บางคนการได้กลับมาบ้านนอนดูหนัง ดูซีรี่ย์ ฟังเพลง คือนิพพาน, บางคนการได้เล่นเกมคือสีสันของชีวิต, บางคนจะรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้อ่านหนังสือหรือบทความแล้วพบกับความรู้ใหม่ๆ, บางคนการได้ออกไปท่องโลกกว้างคือประสบการณ์ที่ล้ำค่า หรือในขณะที่บางคนการได้นั่งดื่มกับกลุ่มเพื่อนสนิทเป็นอะไรที่โคตรมีความสุข และยังมีความสุขในการใช้ชีวิตอีกมากมายหลายรูปแบบจนเผลอๆ เราเองยังคาดไปไม่ถึงด้วยซ้ำ...แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณเลือกที่จะกดตัวลงมาเพื่อเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง คุณอาจเผลอที่จะเอาบรรทัดฐานของตัวเองไปวัดและด่วนตัดสินคนอื่นโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ครับ
...
เเล้วพวกคุณล่ะครับ...มีความเห็นคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไรบ้างกับโรคด่วนตัดสินใจนี้?
แชร์ความคิดเห็นกันได้ครับผม
โฆษณา