19 ส.ค. 2019 เวลา 15:54 • ความคิดเห็น
การทดลองพฤติกรรมนกนางนวลแฮร์ริ่งของ นิโก ทินเบอเกน สู่สิ่งเร้าที่แท้จริงและความน่ารักที่มีกฎเกณฑ์
...
คือเรื่องมันเป็นอย่างนี้…
วันนี้...ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง ‘แค่รู้จิตวิทยาเบื้องต้น ก็เข้าใจความมหัศจรรย์ของจิตใจคน’ ที่เขียนโดย คุณซายาโกะ อุเอดะ อาจารย์สาขาวิชาจิตวิทยาสังคม ระดับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยสตรีแห่งประเทศญี่ปุ่น (ซึ่งเดี๋ยวผมจะรีวิวหนังสือเล่มนี้อีกที ลงบนเพจหนังสือหน้าชีสต่อไปนะครับ) บทความนี้ผมจะขอถือวิสาสะทำตัวเป็นแว่นขยายตอนที่ผมชอบเป็นพิเศษมาให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันนะครับ
...
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับประโยคที่มีชื่อว่า ‘สิ่งเร้าที่แท้จริง’ จากนั้นผมจะพาทุกท่านเดินเข้าไปเช็คแฮนด์กับ นิโก ทินเบอเกน กัน
...
ซึ่งคุณซายาโกะ อุเอดะ ได้นิยามสิ่งเร้าที่แท้จริงไว้ว่า ‘เมื่อเราเห็นสิ่งเร้าอย่างหนึ่งไป จะก่อให้เกิดการกระทำที่ตายตัว’ กล่าวคือพฤติกรรมเช่นว่านี้ไม่ได้รับการสั่งสอนหรือฝึกขึ้นมา แต่เป็นพฤติกรรมตามสัญชาตญาณที่ฝังติดตัวมาตั้งแต่เกิดนั้นเองครับ (ทำให้สิ่งเร้าที่แท้จริงนี้ มีความแตกต่างจากสิ่งเร้าของสองนักจิตวิทยาสายพฤติกรรมนิยมอย่าง พาฟลอฟ วัตสัน เจ้าของทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสิก และ บี.เอฟ.สกินเนอร์ เจ้าของทฤษฎีการวางเงื่อนไขด้วยผลกรรม อยู่ครับ) เดี๋ยวค่อยๆ ตามผมมานะครับจะได้ไม่หลงทางไปที่อื่นกันเสียก่อน
...
ตอนนี้ผมขอแนะนำทุกท่านให้รู้จักกับ นิโก ทินเบอเกน (Niko Tinbergen) เขาเป็นนักวิชาการชาวฮอลแลนด์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่ศึกษาพฤติกรรมของสัตว์รุ่นบุกเบิกคนสำคัญของโลก กับการทดลองพฤติกรรมของนกนางนวลแฮร์ริ่ง
...
นิโก ทินเบอเกน (Niko Tinbergen) ภาพจากเว็บ https://www.thefamouspeople.com
ผมจะขอสาธยายการทดลองคร่าวๆ ดังนี้ครับ ลูกนกนางนวลแฮร์ริ่งจะมีพฤติกรรมตามสัญชาตญาณ ที่เมื่อเห็นจะงอยปากยาวสีเหลืองที่มีจุดสีแดงด้านล่างของแม่นก พวกลูกนกจะจิกเพื่อขออาหาร
...
นกนางนวลแฮร์ริ่ง ภาพจากเว็บ https://pixabay.com
การทดลองครั้งที่หนึ่ง...ทินเบอเกนได้สร้างจะงอยปากจำลองที่ไม่มีส่วนร่างกายของแม่นกขึ้นมา และยื่นไปที่ลูกนก ปรากฎว่าลูกนกยังคงจิกขออาหารเช่นเดิม
...
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ในกรณีนี้สิ่งเร้าที่แท้จริงคือ ‘จะงอยปาก’ และพฤติกรรมตามสัญชาตญาณของลูกนกก็คือ ‘การจิก’
...
การทดลองครั้งที่สอง...คราวนี้ทินเบอเกนลองเอาท่อนไม้ที่ถูกทาด้วยสีเหลืองและตรงปลายไม้ขีดเส้นสีแดงไว้ 3 เส้น ปรากฏว่าเมื่อลูกนกจิกท่อนไม้นี้อย่างรุนแรงและถี่กว่าจะงอยปากจำลองครั้งที่ผ่านมาเสียอีก นั้นอาจเป็นเพราะลูกนกเห็นสีแดงได้ชัดเจนขึ้นนั้นเองครับ ซึ่งทินเบอเกนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘สิ่งเร้าเหนือปกติ’ ครับ
...
สังเกตไหมครับว่า...การทดลองของทินเบอเกนนั้น ไม่มีการฝึกเหล่าลูกนกนางนวลแฮร์ริ่งนี้ใดๆ มาก่อนทั้งสิ้น ลูกนกมีการตอบสนองโดยสัญชาตญาณที่มีติดตัวมาตั้งเเต่เกิดของมันเอง
...
ทีนี้ผมจะพาทุกท่านมาดูความแตกต่างของคำว่าสิ่งเร้าจาก พาฟลอฟ วัตสัน และ บี.เอฟ.สกินเนอร์...ว่าทำไมถึงไม่จัดเป็น ‘สิ่งเร้าที่แท้จริง’ กันครับ
...
เริ่มที่นักปราชญ์ชาวรัสเซียท่านนี้ก่อนดีกว่าครับ เขามีชื่อว่า พาฟลอฟ วัตสัน (Pavlov Watson) ในปี ค.ศ.1904 ลุงพาฟลอฟได้ทำการทดลองเอาไว้แบบนี้ครับ
...
พาฟลอฟ วัตสัน (Pavlov Watson) ภาพจากเว็บ https://exploringyourmind.com
พาฟลอฟได้นำสุนัขที่หิวมาครับ และเขาก็เริ่มฝึกสุนัขโดยการให้สุนัขได้ยินเสียงกระดิ่งครับ ซึ่งตอนนี้สุนัขยังเบลอๆ งงๆ ไม่รู้ว่าเสียงกระดิ่งนี้มันมีความหมายอย่างไร ต่อมาพาฟลอฟเริ่มสั่นกระดิ่งอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาเอาผงเนื้อไปให้สุนัขกินด้วย ทำเเบบนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ จนสุนัขเรียนรู้ว่าเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งแสดงว่ามันต้องได้กินอาหาร คราวนี้สุนัขจึงมีปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งทันที มันจะดีใจหางส่ายและน้ำลายสอไปในที แม้บางครั้งพาฟลอฟจะแค่สั่นกระดิ่งแต่ไม่ได้นำอาหารมาให้ก็ตามที...พาฟลอฟเรียกการทดลองนี้ว่า ‘การวางเงื่อนไขแบบคลาสิก’
...
เราจะสังเกตเห็นได้ว่า...สิ่งเร้าของพาฟลอฟนั้น เกิดจากการฝึก (วางเงื่อนไข) จนทำให้สุนัขเกิดการเรียนรู้ ซึ่งมันไม่ได้มีอยู่ในสัญชาตญาณของสุนัขนั้นมาแต่แรกอยู่เเล้วนั้นเองครับ
...
โบกมือลาคุณพาฟลอฟกัน เเล้วตามผมมาครับผมจะแนะนำนักจิตวิทยาชาวอเมริกาที่มีชื่อเสียงอีกท่าน เขามีชื่อว่า บี.เอฟ.สกินเนอร์ (Burrhus Frederic Skinner) ซึ่งเขาทำการทดลองกับหนูเอาไว้แบบนี้ครับ
...
บี.เอฟ.สกินเนอร์ (Burrhus Frederic Skinner) ภาพจากเว็บ https://gohighbrow.com
ลุงสกินเนอร์แกสร้างกล่องสี่เหลี่ยม ด้านในผนังกล่องด้านหนึ่งมีหลอดไฟเล็กๆ ข้างใต้หลอดไฟมีคานยื่นออกมา ซึ่งคานนั้นเลื่อนลงมาได้เมื่อถูกกด และเมื่อคานถูกกดก็จะมีอาหารร่วงลงมา เมื่อทุกอย่างถูกเตรียมไว้พร้อมแล้ว ลุงแกจึงหย่อนหนูที่หิวลงในกล่องดังกล่าวแล้วสังเกตพฤติกรรมมัน ทีแรกหนูผู้หิวโซมีพฤติกรรมวิ่งไปรอบๆ กล่อง ตะกายฝากล่องบ้าง และในที่สุดหนูก็บังเอิญไปกดคานที่ยื่นมาพอดีและอาหารก็ตกลงมาให้หนูตัวนั้นกิน เมื่อหนูมีประสบการณ์มันเริ่มเรียนรู้ว่า ถ้ามันกดคานนี้อาหารจะหล่นลงมา นี่เป็นการทดลองแบบให้รางวัล (กล่าวคือ เมื่อหนูเรียนรู้ที่จะใช้คาน มันจะได้รับอาหารเป็นรางวัลนั้นเอง)
...
ต่อมาลุงสกินเนอร์อยากทดลองแบบหลบหนีบ้าง ลุงแกก็จัดการรีโนเวทปรับปรุงกล่องของแกใหม่ คราวนี้กลายเป็นให้กล่องมีกระแสไฟฟ้าอ่อนๆ วิ่งไปตามพื้นกล่อง และคานนี้จะทำหน้าที่เป็นสวิตช์ในการตัดไฟแทนเมื่อมันถูกกดลง เหมือนเดิมลุงสกินเนอร์จัดการหย่อนหนูลงไปในกล่องโดยไม่ถงไม่ถามความพร้อมของหนูเลยซักคำ หนูถูกไฟฟ้าช็อตก็เดือดร้อนวิ่งวุ่นไปมาภายในกล่อง และหนูก็บังเอิญไปกดคานที่ยื่นมาพอดีอีกเช่นเคยราวกับกรอดู DVD นั้นซ้ำอีกครั้งก็ไม่ปาน และหนูก็ได้เรียนรู้ว่าถ้ามันวิ่งไปกดคานนี้ จะทำให้มันใช้ชีวิตในกล่องนี้ได้สบายยิ่งขึ้น และลุงสกินเนอร์เรียกการทดลองทั้งสองนี้ว่า ‘การวางเงื่อนไขด้วยผลกรรม หรือการวางเงื่อนไขแบบลงมือกระทำเอง’ ซึ่งผู้อ่านจะเรียกแบบไหนก็ได้ครับ แล้วแต่ว่าประโยคไหนอ่านเเล้วรู้สึกว่ามันโก๋เก๋ดี ฮ่าๆ
...
ซึ่งการทดลองของสกินเนอร์เอง ก็ไม่สามารถเรียกสิ่งเร้าของตัวเองว่าเป็น ‘สิ่งเร้าที่แท้จริง’ ได้ เพราะมันไม่ได้เกิดจากสัญชาตญาณ แต่เกิดการเรียนรู้โดยการกระทำนั้นเองครับ
...
เมื่อพวกเราเข้าใจ ‘สิ่งเร้าที่แท้จริง’ กันแล้ว ต่อไปผมจะพาทุกท่านไปสู่อาณาจักรแห่งความฟุ้งฟิ้งน่ารักกัน แต่คุณรู้กันไหมครับว่า ‘ความน่ารักนั้นมีกฎเกณฑ์’ ด้วย และกฎเกณฑ์ที่ว่าคือสิ่งเร้าที่แท้จริงที่ฝังอยู่ในตัวพวกเราด้วยนะครับ
...
สำหรับมนุษย์อย่างเราๆ สิ่งที่ไม่ว่าอย่างไรพอเห็นแล้วก็รู้สึกว่า “น่ารัก, อยากปกป้อง” เสียแทบทุกครั้ง สิ่งนั้นมีชื่อว่า ‘แผนภาพทารก (baby schema)” นั้นเองครับ
...
แผนภาพทารก (baby schema) ภาพจากเว็บ https://www.dailymail.co.uk
ใบหน้าที่ว่าคล้ายทารกนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
1. Large Eyes = ตาโต
2. Button nose = จมูกเล็กสั้นสวย
3. Rosy Complexion = แก้มแดงหรืออมชมพู (ผิวสีดอกกุหลาบ)
4. Chubby Cheeks = แก้มอวบ และ
5. Small Chin = คางเรียวเล็ก
*** แต่ทั้งนี้ คุณซายาโกะ อุเอดะ ได้เพิ่ม ‘ปากดูอวบอิ่ม’ เข้ามาด้วยครับ (ซึ่งผมก็ขอเห็นพ้องด้วยครับ)
...
มาถึงตรงนี้ผมอยากให้ผู้อ่านลองจินตนาการถึง ดาราหญิง ไอดอลหญิง หรือกระทั่งตัวการ์ตูน ตลอดจนตัวละครอนิเมชั่นต่างๆ ที่เราชื่นชอบกันดูครับ ว่าพวกเขาเหล่านี้มีลักษณะใบหน้าเหมือนแผนภาพทารกบ้างหรือเปล่าเอ่ย? ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าใครหลายๆ คนคงอุทาน “เออใช่” ขึ้นมาในใจแล้ว
...
และหากเราเปิดดูนิตยสารผู้หญิง หรือคลิปสอนการแต่งหน้าก็ได้ครับ เราจะพบเนื้อหาที่มักหยิบยกคำสำคัญซึ่งบ่งบอกจุดที่คุณสุภาพสตรีควรเน้นเวลาแต่งหน้า เช่น ตาโต ริมฝีปากอวบอิ่ม แก้มสีแดงระเรื่อ เป็นต้น (ออกตัวก่อนนะครับว่า...ในส่วนนี้ผม Copy and Paste ประโยคของคุณซายาโกะมาแทบทั้งดุ้นเลยนะครับ...เดี๋ยวจะสงสัยกันว่าตัวผู้เขียนเป็นผู้ชายแท้ๆ ไหงมารู้เรื่องการแต่งหน้าด้วย ฮ่าๆ)
...
และแผนภาพทารกนี้ ยังส่งผลกับพวกเรายามมองสัตว์ทั้งหลายอีกด้วยนะครับ เช่น แมว หรือหมาที่มีดวงตาโตๆ ที่เห็นทีไรจะรู้สึกว่ามันทั้งน่ารักและอยากปกป้องมันเสียนี่กระไรจริงไหมครับ?
...
มองตาข้า แล้วจงตกเป็นทาสข้าซะเจ้ามนุษย์! ภาพจาก https://twitter.com/cattt1718
...
มองตาผม แล้วช่วยรับผมไปดูแลด้วยนะฮับ ภาพจาก https://www.catdumb.com/rip-boo-282/
คำถามคือ...ทำไมเมื่อเราเห็นคน, สัตว์ หรือแม้กระทั่งตุ๊กตาและตัวการ์ตูน ที่เข้าลักษณะแผนภาพทารกนี้แล้ว จึงรู้สึกว่ามันน่ารักและอยากปกป้องล่ะ?
...
ผู้เชี่ยวชาญของนิตยสาร How It Works กล่าวว่า “เมื่อเราเห็นบางสิ่งที่เราคิดว่ามันน่ารัก สมองส่วนกลางจะหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการของแรงจูงใจ ที่ทำให้เรารู้สึกดี สารสื่อประสาทนั้นมีชื่อเรียกว่า โดปามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุข” ซึ่งสมองจะหลั่งโดปามีนทุกครั้งเมื่อเรารู้สึกดี หรือเมื่อเราทำบางอย่างประสบความสำเร็จครับ (พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือหมอผิง ผู้เขียนหนังสือเคมีรักระหว่างเรา ได้บอกว่า ‘ความรักในช่วงแรกๆ ที่ทำให้เรารู้สึกเคลิ้ม สุขใจ และโหยหา ก็เป็นเพราะสารสื่อประสาทโดปามีนนี้’ อีกเช่นกันครับ)
...
จึงสรุปได้ว่า...เพราะใบหน้าที่คล้ายทารกคือ ‘สิ่งเร้าที่แท้จริง’ พฤติกรรมตามสัญชาตญาณของมนุษย์ก็คือ ‘ความอยากปกป้อง’ นั้นเองครับ
...
และแม้คุณผู้หญิงบางท่านจะหน้าเด็กโดยธรรมชาติอยู่เเล้ว แต่ถ้าได้แต่งหน้าเสริมให้ดูหน้าเด็กขึ้นไปอีก ก็จะสามารถสร้างปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘สิ่งเร้าเหนือปกติ’ ขึ้นในใจของท่านสุภาพบุรุษให้ได้สั่นสะท้านกันแน่นอนครับ (ดั่งสุภาษิตที่ว่า ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง)
...
ทีนี้คุณผู้หญิง...คงได้เคล็ดลับสำหรับการอ้อนคุณแฟน หรือหว่านเสน่ห์หนุ่มๆ กันแล้วใช่ไหมครับ?
...
[ช่วงอยากแถม...มีการค้นพบว่ามนุษย์เรามีความปรารถนาชื่นชอบใบหน้าที่น่ารักนี้ตั้งแต่อายุสามขวบ]
โฆษณา