8 ก.ย. 2019 เวลา 15:57 • ประวัติศาสตร์
ซีรี่ย์ : ตามร่องกับรอย <รอยเท้าที่ 01>
เดอะเติร์ก (The Turk) หุ่นยนต์นักหมากรุกแห่งศตวรรษที่ 18
ที่เบนจามิน แฟรงคลิน ต้องเดินทางมาเพื่อขอดวล
...
วันนี้ครับ ด้วยความคิดถึงการ์ตูนสืบสวนอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ‘C.M.B. พิพิธภัณฑ์พิศวง’ ของอาจารย์โมโตฮิโร่ คาโต้ จึงถือโอกาสรื้อออกมาปัดฝุ่นไล่อ่านใหม่อีกครั้ง แล้วพบกับในอย่างสิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่น่าสนใจ และผมเลยขอหามมาเล่าให้ฟังกันครับ
...
[คำชี้แจง : ในบทความนี้ผมได้เรียบเรียงข้อมูลทั้งหมดที่ผมสืบค้นมาได้ และนำมาเขียนเรียบเรียงใหม่ในภาษาของผมเอง ซึ่งอาจมีบางประโยคที่ผมได้แต่งเติมเข้าไปเพื่อให้เกิดสีสันในการอ่านครับ โดยผมได้เขียนบรรณานุกรมแหล่งที่มาเอาไว้ที่ท้ายบทความเรียบร้อยแล้วครับ]
...
ซึ่งก่อนอื่นเราต้องเกริ่นนำกันก่อนครับว่า ในช่วงศตวรรษที่ 18 (ค.ศ. 1701 - ค.ศ. 1800) เป็นยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1(ระหว่าง ค.ศ.1760-1860) ได้มีการผลิตเครื่องกลกันอย่างแพร่หลายในทวีปยุโรป อาทิเช่น จอร์จ สตีเฟนสัน ประดิษฐ์หัวรถจักรไอน้ำ ‘ร็อกเก็ต’ ทำให้มีการเปิดเส้นทางรถไฟสายแรกของโลกระหว่างเมืองลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ในประเทศอังกฤษ หรือ เจมส์ วัตต์ สามารถนำพลังงานไอน้ำ โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงหลักมาใช้กับเครื่องกล เป็นต้น โดยเครื่องกลส่วนใหญ่ในยุคนี้จะเน้นไปที่การใช้พลังไอน้ำ เพื่อโรงงานผ้าทอเป็นหลักครับผม
...
และนั้นรวมถึงการผลิตตุ๊กตากลที่ได้เริ่มมีการทยอยผลิตกันออกมาเรื่อยๆ ในช่วงศตวรรษที่ 18 นี้ด้วยอีกเช่นกันครับ อาทิเช่น หุ่นกลหงส์เงิน (The Silver Swan) ที่สร้างขึ้นโดยนักประดิษฐ์นาฬิกาเครื่องดนตรีชาวเบลเยียมผู้มีชื่อว่า จอห์น โจเซฟ เมอร์ลิน (John Joseph Merlin) ซึ่งหงส์เงินตัวนี้มีขนาดเท่าหงส์ของจริงเสียด้วยและทำงานด้วยกลไกลานนาฬิกา พร้อมกล่องดนตรีที่ซ่อนอยู่ด้านในตัวหงส์ แต่แค่นั้นกลัวโลกจะไม่จำครับ เมอร์ลินยังรังสรรค์ให้หงส์ตัวนี้สามารถขยับลำคอขึ้นลงเหมือนกำลังมุดน้ำลงไปกินปลาและยังหันไปด้านหลังเพื่อไซ้ขนได้อีกด้วย โดยปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์โบวส์ ในประเทศอังกฤษ เป็นต้น
...
หุ่นกลหงส์เงิน (The Silver Swan) : เครดิตภาพ https://www.sentangsedtee.com/big-idea/article_641
หลังจากจบอาหารเรียกน้ำย่อย (Appetizer) ในช่วงต้นกันเเล้ว ที่นี้เรามาดูอาหารจานหลัก (Main Course) ของเรากันดีกว่าครับ ซึ่งมีชื่อว่า ‘เดอะเติร์ก (The Turk หรือชาวตุรกี)’ ตุ๊กตากลเล่นหมากรุกอัตโนมัติ (Automaton Chess Player) ได้ถูกสร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 18 ด้วยเช่นกันครับ
...
เดอะเติร์ก (The Turk) : เครดิตภาพ https://www.atlasobscura.com/articles/object-of-intrigue-the-turk
โดยในช่วงปี ค.ศ.1769 มีวิศวกรชาวฮังการีคนหนึ่งมีชื่อว่า โวลฟกัง ฟอน เคมเปเลน (Wolfgang von Kempelen) โดยเขามีแผนงานและได้ลงมือสร้างตุ๊กตากลตัวนี้ขึ้น เพื่อถวายการต้อนรับ จักรพรรดินีมาเรีย เธเรเซีย แห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ณ เวลานั้นครับ
...
เดอะเติร์ก มีลักษณะเป็นรูปปั้นชาวเติร์กอยู่ในอากัปกิริยานั่งเต๊ะอยู่หน้าโต๊ะไม้ ที่มีกระดานหมากรุกตั้งอยู่บนโต๊ะที่มีขนาดความกว้าง 2 ฟุต (60 เซนติเมตร) ยาว 3.5 ฟุต (110 เซนติเมตร) และสูง 2.5 ฟุต (75 เซนติเมตร) โดยด้านล่างของโต๊ะจะมีประตูที่สามารถเปิด-ปิดเผยให้เห็น ‘กลไก’ ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของตุ๊กตากลเอาไว้ได้ครับ
...
ตุ๊กตากลตัวนี้สามารถเล่นหมากรุกได้ แถมยังพกความสามารถเล่นแข่งกับอีกฝ่ายได้อีกด้วยราวกับ ‘มันมีความคิดเป็นของตัวเอง’ และที่สำคัญที่สุดของที่สุดคือ เจ้าเดอะเติร์กนี้มันสามารถเล่นหมากรุกได้แบบโคตรเก่งจนน่ากลัวเลยทีเดียว
...
หลังจากที่สร้างความสำราญพระราชหฤทัยแก่พระนางมาเรียเทเรซาและพระราชวงศ์แล้ว ข่าวความเก่งและความน่ามหัศจรรย์นี้ได้แพร่สะพัดออกไปราวกับโรคระบาด ทำให้มีผู้สนใจอยากจะลองของขอท้าเล่นหมากรุกกับเดอะเติร์กเป็นจำนวนมาก แต่ก็ต้องพบกับความพ่ายแพ้ให้กับเดอะเติร์กจนต้องเอามือกุมศีรษะไปเสียทุกรายครับ จนข่าวเริ่มขยายวงแพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรปแล้วล่ะครับทีนี้
...
เพื่อให้เป็นที่จดจำของชาวโลก ในที่สุดเมื่อปี ค.ศ.1783 เคมเปเลนก็ได้ตัดสินใจนำเดอะเติร์กออกแสดงไปทั่วยุโรป โดยเริ่มจากที่กรุงปารีสเป็นแห่งแรก ซึ่งก็มีนักหมากรุกฝีมือดีหลายคนได้มีโอกาสดวลกับเจ้าเดอะเติร์กนี้ และผลก็ออกมาเช่นเดิมคือต้องพ่ายแพ้ให้กับตุ๊กตากลตัวนี้กันเสียทุกราย และแล้วเรื่องก็มาเข้าหู เบนจามิน แฟรงคลิน หนึ่งในบิดาผู้สร้างชาติของสหรัฐอเมริกา และด้วยความเป็นนักเล่นหมากรุกตัวยงด้วย ลงอีหรอบนี้คงปล่อยผ่านให้กับตุ๊กตาตัวนี้ไม่ได้เสียเเล้ว และประกอบกับตอนนั้นเขาได้เดินทางมาอยู่ที่ฝรั่งเศสพอดีเสียด้วย เมื่อชะตาฟ้าลิขิตเป็นใจเปิดทางให้เสียแบบนี้แล้ว เบนจามิน แฟรงคลิน จึงรีบรุดเดินทางมาเพื่อขอท้าประลองฝีมือกับเดอะเติร์กให้มันรู้กันไปเลยว่าใครหมู่ใครจ่า...ฮึๆ (แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่มีบันทึกแบบชัดเจนเลยครับว่า เบนจามิน แฟรงคลิน ชนะหรือแพ้ให้กับตุ๊กตากลตัวนี้)
...
นอกจาก เบนจามิน แฟรงคลิน แล้ว ยังมีคนดังผู้ทรงอำนาจในยุคนั้นที่ได้มีโอกาสประลองฝีมือการโขกหมากรุกกับเดอะเติร์กด้วยเช่นกัน อาทิเช่น นโปเลียน โบนาปาร์ต จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศสระหว่างปี ค.ศ. 1804 - 1814 ภายใต้พระนามว่า จักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซีย ซึ่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า ‘แคทเธอรีนมหาราชินี’ พระองค์ทรงเป็นจักรพรรดินีนาถที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดและครองราชย์ยาวนานที่สุดของรัสเซีย (ค.ศ.1762 - 1796) และแน่นอนครับว่าไม่มีบันทึกแบบชัดเจนว่าทั้ง 2 พระองค์ชนะหรือแพ้ให้กับตุ๊กตากลตัวนี้อีกเช่นกันครับ
...
เมื่อไม่มีบันทึกแพ้ชนะแบบเป็นทางการแบบนี้...นายคิดเหมือนที่ฉันคิดหรือเปล่า B1?
...
ถึงตรงนี้แล้วครับ ย่อมมีหลายคนใคร่รู้สงสัยเสียเหลือเกินว่า กลไกอะไรที่ทำให้เดอะเติร์กโขกหมากรุกด้วยฝีมือที่ฉกาจฉกรรณ์เช่นนี้ได้ และมันมีความคิดเป็นของตัวเองแบบนี้ได้อย่างไร ขี้คร้านจะไปถามเคมเปเลนตรงๆ คงไม่แคล้วโดนเคมเปเลนแลบลิ้นใส่ พร้อมกับประโยค “ความลับทางการค้าเฟ้ย และพวกยูรู้จักคำว่าทรัพย์สินทางปัญญาไหม?”
...
เมื่อกลไกการทำงานของเดอะเติร์กยังคงเป็นปริศนาที่น่าพิศวงแบบนี้แล้ว ก็ได้มีนักคิด นักเดา กำเนิดขึ้นมา โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้ครับ
...
กลุ่มที่ 1 : คือเชื่อว่าเดอะเติร์กนั้นทำงานด้วยกลไกที่เป็นความลับของเคมเปเลนนั้น เป็นของจริงแท้แน่นอนยิ่งกว่าการได้ปะแป้งสาวๆ ในวันสงกรานต์ที่ผ่านมาเสียอีก
...
ในขณะที่กลุ่ม 2 ครับ : คือกลุ่มที่เชื่อคนยาก เป็นไปได้ไงที่เครื่องกลจะสามารถทำให้ตุ๊กตาจักรกลตัวนี้สามารถคิดได้เองเออเองแบบนี้ โดยกลุ่ม 2 นี้ได้คิดทฤษฎีออกมาแบบนี้ครับ “โต๊ะนั้นมีขนาดความสูงและความยาวที่เพียงพอจะให้คนตัวเล็กๆ มุดเข้าไปบังคับตุ๊กตากลนั้นได้นะ”
...
แต่ความจริงนั้นถูกปิดเป็นความลับเรื่อยมา จนกระทั่งเคมเปเลนเสียชีวิตในปี ค.ศ.1804 นี่แหละครับ ได้มีเศรษฐีที่มีนามว่า โยฮันน์ เนโปมุก มัลเซล (Johann Nepomuk Mälzel) ได้เดินทางมาหาบุตรชายของเคมเปเลน แล้วกระซิบข้างหูบุตรชายของเคมเปเลนด้วยน้ำเสียงชวนฝันว่า “อั๊วขอซื้อเดอะเติร์กนี้ในราคา 20,000 ฟรังก์ ขายให้อั๊วซะดีๆ ไม่ต้องคิดเยอะให้ปวดหมอง” บุตรชายของเคมเปเลนก็เคลิ้มจนตกลงขายให้ไปครับ
...
แน่นอนครับว่า มัลเซลได้ล่วงรู้ความลับกลไกการทำงานของเดอะเติร์กนี้เรียบร้อยแล้ว แต่ด้วยความที่มีหัวนักธุรกิจ มัลเซลเลือกที่จะปิดความลับนี้ไว้ แล้วจัดการพาเดอะเติร์กไปแสดงโชว์รอบโลกอีกครั้งเพื่อกอบโกยต่อไป
...
จนกระทั่งมีเศรษฐีท่านหนึ่งมาติดต่อขอซื้อเดอะเติร์กนี้ต่อจากมัลเซลเพื่อไปค้นหาความจริงของกลไกการทำงานนั้นครับ และมัลเซลก็ตกลงขายให้ไปครับ (แหงสิ...คงได้ทุนคืน+กำไรไปแล้วสินะคุณมัลเซล)
...
แต่ทว่าเศรษฐีคนดังกล่าว กลับไม่เผยแพร่ความลับกลไกการทำงานของเดอะเติร์กนี้แต่อย่างใดเช่นเดียวกันครับ แต่ในเวลาต่อมาก็ขายต่อให้กับเศรษฐีคนอื่นต่อไป และบรรดาคนที่ซื้อเจ้าเดอะเติร์กนี้ไปต่างก็พากันปากหนักปิดปากเงียบไม่บอกเล่าเรื่องกลไกการทำงานที่แท้จริงนี้แต่อย่างใด ต่อให้เอาชะแลงมางัดปากก็อย่าฝันว่าจะปริปากพวกเขาได้เลยทีเดียว
...
มันถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงรู้สึกว่ามันเริ่มรู้สึกไม่ชอบมาพากลเหมือนผมแล้วใช่ไหมครับ ทำไมพฤติกรรมของเหล่าผู้ซื้อเดอะเติร์กถึงออกมาในลักษณะเดียวกันคือ "ไม่ปริปากความลับใดๆ ของเดอะเติร์กออกมาทั้งสิ้น" ไม่ยอมทำตัวเป็นอับดุล ถามอะไรตอบได้เลยสักคน
...
และเมื่อครั้งที่มีการจัดแสดงที่บัลติมอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปริศนาที่เหมือนเมฆฝนมืดครึ้มนี้กลับปรากฏแสงอาทิตย์ส่องลอดลงมาแล้วครับ เมื่อมีวัยรุ่นชาย 2 คนตาวิเศษเห็นนะ เพราะพวกเขาทั้งคู่ได้เห็นกระทาชายคนหนึ่งปีนออกมาจากในโต๊ะนั้นครับ และความลับสุดพิศวงนี้ก็มาโป๊ะแตกเอาวันนั้นแบบง่ายดาย (และด้วยเหตุผลนี้เองครับ จึงทำให้ไม่มีผู้ซื้อต่อคนไหนยอมเปิดเผยความลับนี้เลย ก็เพราะกังวลว่าหากเปิดเผยความลับนี้ไป จะทำให้ขายต่อไม่ได้ราคา และไม่สามารถนำไปตระเวนออกแสดงได้นั้นเองครับ)
...
เผยกลไกภายในของเดอะเติร์ก : เครดิตภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/The_Turk
ความมหัศจรรย์ของเจ้าเดอะเติร์กกลายเป็นเรื่องลวงโลกจนหมดความขลังไปโดยปริยาย แต่ทว่าเราก็ปฏิเสธไม่ได้ครับว่า มันได้ถูกสร้างขึ้นมาอย่างประณีต และเป็นจุดเริ่มต้นรวมถึงเป็นการแสดงถึงความปรารถนาของมนุษย์มีความต้องการจะประดิษฐ์หุ่นยนต์มีเชาว์ปัญญาสูง สามารถนึกคิด และเล่นเกมเองได้ครับ
...
ซึ่งเจ้าของคนสุดท้ายมีชื่อว่า จอห์น โฮล (John Ohl) ได้บริจาคเดอะเติร์กนี้ให้แก่พิพิธภัณฑ์จีน เมืองฟิลาเดลเฟียครับ แต่ในปี ค.ศ. 1854 ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงละครแห่งชาติและไฟเจ้ากรรมดันลามมาถึงพิพิธภัณฑที่เก็บเจ้าเดอะเติร์กนี้ไว้ครับ จึงทำให้เจ้าเดอะเติร์กต้องพลอยได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไปด้วยครับ
...
และในปี ค.ศ. 1970 จอนห์ เกรแฮม ได้อุทิศเงินจำนวน 12,000 ดอลลาห์และเวลาอีก 20 ปี ในการคืนชีพเดอะเติร์กนี้ขึ้นมาใหม่ เกรแฮมทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องแสดงมายากล และเขาสร้างเดอะเติร์กขึ้นใหม่ก็เพราะเขาหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเครื่องกลอันเป็นตำนานนี้ครับ
...
ปัจจุบันได้มีการสร้างรวมถึงการจำลองการทำงานของเดอะเติร์ก โดยได้จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Heinz Nixdorf MuseumsForum ประเทศเยอรมัน
...
ตัวจำลองที่พิพิธภัณฑ์ Heinz Nixdorf MuseumsForum : เครดิตภาพ https://www.hnf.de/en/permanent-exhibition/exhibition-areas/the-mechanization-of-information-technology/early-automatons-miracles-of-technology.html
และอย่างที่ผมได้กล่าวไปครับ แม้เดอะเติร์กจะเป็นเพียงเรื่องลวงที่ต้มโลกจนสุกไปช่วงหนึ่ง แต่ก็ถือเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เหล่านักประดิษฐ์ที่จะนำต้นแบบความคิดนี้ มาต่อยอดและพัฒนาเพื่อให้เกิดหุ่นยนต์หรือ AI ที่สามารถโขกหมากรุกโดยสามารถประมวลผลและคิดเองได้ในเวลาต่อมา
...
ในปี ค.ศ.1912 ลีโอนาโด ทอเรส (Leonardo Torres) นักวิทยาศาสตร์ชาวสเปน ประดิษฐ์หุ่นยนต์ที่เล่นหมากรุกได้จริงเป็นคนแรกของโลก โดยหุ่นยนต์นี้มีชื่อว่า ‘El Ajedrecista’ อันเป็นภาษาสเปนที่แปลว่านักเล่นหมากรุก และต่อไปจะเรียกย่อว่า EA (EA นี้ไม่ใช่ Electronic Arts (EA) บริษัทผลิตเกมนะครับ เหล่าเกมเมอร์ทั้งหลาย)
...
El Ajedrecista :เครดิตภาพ https://divulgadores.com/tag/el-ajedrecista/
โดยเจ้า EA นี้มีรูปร่างเป็นตัวกระดานหมากรุกเลยครับ แต่ข้างใต้กระดานจะมีแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถเดินหมากได้เพียงแค่ 2 ตัวเท่านั้นเองครับ คือ หมากคิง (King) และหมากรุค (Rook) เพื่อสู้กับคู่แข่งที่เป็นมนุษย์ และยังสามารถส่งสัญญาณเตือนได้หากคู่แข่งเดินหมากผิด
...
ซึ่งถ้า EA เกิดขึ้นในยุคนี้พวกเราคงรู้สึกเฉยๆ กับมันมากแน่ๆ เลยใช่ไหมครับ แต่มันไม่ใช่กับในปี ค.ศ.1915 ครับ เพราะนี้คือสิ่งประดิษฐ์ที่น่ามหัศจรรย์มากๆ จนได้รับการกล่าวขวัญถึงในอย่างชื่นชมจากวารสารไซแอนติฟิก อเมริกัน ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ.1915 และทั่วโลกกันเลยทีเดียว
...
แต่จุดเริ่มต้นของ AI หมากรุกอัจฉริยะนั้น มันได้เริ่มต้นขึ้นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีชายที่ชื่อว่า แอลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ ซึ่งเขาสามารถเขียนโปรแกรมเล่นหมากรุก (ที่ยังไม่ฉลาดมากนัก) ได้ก่อนที่จะมีคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นในโลกเสียอีกครับ (คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลกมีชื่อเรียกว่า Digital Computer ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1946 ซึ่งเป็นปีที่ประกาศให้สาธารณะทราบ) ทั้งยังเป็นคนแรกที่สามารถไขรหัสของอีนิกม่าได้อีกด้วย เขาจึงถูกยกย่องให้เป็นบิดาของวิทยาการคอมพิวเตอร์ (ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game : ถอดรหัสลับ อัจฉริยะพลิกโลก คือภาพยนตร์ที่นำชีวประวัติของแอลัน ทัวริง มาเป็นแรงบันดาลใจ และนำแสดงโดยเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ )
...
แอลัน ทัวริง (Alan Turing) : เครดิตภาพ https://medium.com/@thongchairoj/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87-%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A8%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-e59237476c30
ต่อมาในปี ค.ศ.1948 ดร.ดีทริช พรินซ์ (Dr.Dietrich Prince) ผู้เคยเล่นหมากรุกกับคอมพิวเตอร์กระดาษของทัวริง และรู้สึกประทับใจในโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมากมาย ซึ่งในขณะที่ พรินซ์ ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาดิจิตอลคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และหนึ่งในโปรแกรมที่ พรินซ์ เขียนก็คือโปรแกรมหมากรุกที่เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากทัวริงมานั้นเองครับ
...
ซึ่งโปรแกรม AI หมากรุกนี้ก็ได้รับการสานพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่ง บริษัท ไอบีเอ็ม ยักษ์ใหญ่แห่งวงการคอมพิวเตอร์ ได้สร้างเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีชื่อว่า ‘ดีพบลู (Deep Blue)’ เมื่อปี ค.ศ.1996
...
โดยดีพบลูเวอร์ชั่นแรก ได้แข่งการเล่นหมากรุกกับ เกรี คาสปารอฟ เซียนหมากรุกผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของโลก เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1996 ปรากฏดีพบลูแพ้คาสปารอฟไปด้วยคะแนน 2–4 เกม การแข่งขันสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1996
...
หลังจากนั้นดีพบลูได้รับการปรับปรุงอย่างมาก จนกระทั่งดีพบลูสามารถเอาชนะคาสปารอฟลงได้ในปี ค.ศ. 1997 จนคาสปารอฟต้องอยู่ในสภาพที่บอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจ และกล่าวหาว่าไอบีเอ็มใช้กลโกง เพราะมีเซียนหมากรุกหลายคนเข้าแทรกแซงระบบในระหว่างการแข่งขันซึ่งถือว่าขัดต่อกติกา และเรียกร้องให้ไอบีเอ็มนำบันทึกการทำงานของดีพบลูออกเผยแพร่ แต่ไอบีเอ็มปฏิเสธคำเรียกร้อง และแม้คาสปารอฟจะขอแข่งขันแก้มืออีกรอบกี่ครั้งก็ตาม แต่ก็ถูกไอบีเอ็มปฏิเสธเซย์โนเรื่อยมา และไอบีเอ็มก็ได้ทำการปลดระวางดีพบลูลงเสียซะอย่างนั้น
...
และโปรแกรม AI ก็ถูกพัฒนาต่อยอดขึ้นมาเรื่อยๆ จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีบอท AI ที่สามารถเล่นกระดานโกะแข่งกับมนุษย์ได้ โดยมีชื่อว่า ‘แอลฟาโกะ (Alpha Go)’ ที่พัฒนาโดย Google จากทีมงาน DeepMind ครับ โดยในปี ค.ศ. 2017 เจ้าแอลฟาโกะได้เอาชนะ อี เซ-ดล (Lee Sedol) ผู้เป็นนักหมากล้อมระดับอาชีพชาวเกาหลีใต้ที่อยู่ในระดับ 9 ดั้งลงได้ ซึ่งแอลฟาโกะสามารถเอาชนะไปด้วยคะแนน 4–1 เกม
...
นอกจากระบบ AI แล้ว มนุษย์เราก็พัฒนาจักรกลอัจฉริยะที่สามารถเล่นหมากรุกกับมนุษย์อย่างเราได้ด้วยนะครับ อย่างเช่น แขนกลหุ่นแอดเวอร์ซารี (ค.ศ.1982) ที่ผลิตขึ้นโดยบริษัทโนวา หรือ แม้กระทั่งหุ่นยนต์ที่มีตัวและรูปร่างเหมือนมนุษย์อย่าง REEM-A อันเป็นผลงานของบริษัท พาล เทคโนโลยี โรโบติก ประเทศสเปน ก็มีมาแล้วนะเออ
...
แขนกลหุ่นแอดเวอร์ซารี(ซ้าย) และหุ่น REEM-A (ขวา) : เครดิตภาพ http://www.electron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&amp;task=view&amp;id=2498&amp;Itemid=4
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ จากตุ๊กตากลลวงโลกอย่างเดอะเติร์กกับเส้นทางที่เป็นเเรงบันดาลใจให้แก่เหล่านักประดิษฐ์ชั้นนำของโลก ในการวิจัยและพัฒนาระบบหุ่นยนต์หรือระบบ AI ที่สามารถนึกคิดเองได้ ซึ่งในอนาคตข้างหน้าเราอาจจะได้เห็น AI โคตรอัจฉริยะอย่าง สกายเน็ท (Skynet) แบบในภาพยนตร์เรื่องคนเหล็ก (Terminator) ก็เป็นได้นะครับ
...
หลังจากผ่านอาหารเรียกน้ำย่อยและอาหารจานหลักกันไปแล้ว ท้ายสุดนี้ผมขอเสริฟ์ของหวาน (Dessert) เป็นเมนูปิดท้ายนะครับ (จะได้ครบเซ็ต ฮ่าๆ)
...
หลังจากที่เดอะเติร์กกลายสภาพเป็นหุ่นยนต์ลวงโลกไป...จึงทำให้หุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า ‘The Draughtsman-Writer หรือ The Drawing Boy หุ่นยนต์ช่างเขียน’ กลายเป็นหุ่นยนต์ตัวแรกของโลกไปครับ
...
หุ่นช่างเขียน (The Draughtsman-Writer) : เครดิตภาพ https://www.sciencemuseum.org.uk/objects-and-stories/why-robot
ซึ่งหุ่นยนต์ช่างเขียนนี้มีขนาดเกือบเท่าคนจริง ถูกสร้างขึ้นราวปี ค.ศ.1800 โดย อองรี เมลลาร์เดต์ (Henry Maillardet) ช่างนาฬิกาชาวสวิสเซอร์แลนด์ โดยทำจากทองเหลืองเป็นหลัก และการหมุนฟันเฟืองตรงข้อต่อทองเหลืองที่แขนจะทำให้หุ่นเคลื่อนไหวได้อย่างแม่นยำและเป็นธรรมชาติ สามารถวาดเส้นทแยงมุม เส้นโค้ง จนเป็นรูปร่างต่างๆ ได้ เช่น เรือใบ ทิวทัศน์ และทั้งยังสามารถเขียนข้อความได้อย่างน่าทึ่งในเวลาประมาณ 2 - 3 นาที และยังสามารถปรับเปลี่ยนรูปภาพหรือข้อความได้อีกด้วย โดยการแค่ปรับเปลี่ยนกลไกเพียงเล็กน้อย
...
ในปัจจุบันมีการจัดแสดงอยู่ที่สถาบันแฟลงคลิน ฟิลาเดลเฟีย โดยทางสถาบันได้รับมอบหุ่นยนต์ตัวนี้ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ.1928 ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมีร่องรอยถูกไฟไหม้เป็นบางส่วน ซึ่งหลังจากซ่อมแซมจนสามารถกู้ชีพหุ่นขึ้นมาได้และให้ทดลองเขียนหนังสือ และสิ่งที่ทำให้ทุกคนต้องประหลาดใจ เมื่อหุ่นยนต์ได้เขียนข้อความบางอย่างขึ้นมา โดยมีประโยคทิ้งท้ายข้อความนั้นว่า “written by the automaton of Maillardet” หรือแปลเป็นไทยเเบบงูๆ ปลาๆ คือ “เขียนโดยหุ่นยนต์ของเมลลาร์เดต์” (เอาจริงๆ นะ ถ้าผมอยู่ในเหตุการณ์ผมคงรู้สึกกลัวเจ้าหุ่นช่างเขียนนี้ ในวินาทีที่เห็นมันเขียนข้อความดังกล่าวออกมาอ่ะ)
...
ซึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1820 ช่วงศตวรรษที่ 19 อองรี เมลลาร์เดต์ ได้ประดิษฐ์หุ่นกลหนอนไหม โดยใช้กลไกลานนาฬิกานาฬิกาในการขับเคลื่อนล้อคู่ที่อยู่ด้านล่างตัวหนอน ซึ่งตัวหนอนไหมสร้างจากทองคำประดับด้วยอัญมณี เพื่อขายให้แก่เหล่าขุนนางและเศรษฐีชาวจีน (จัดเป็นสินค้า Hi-end ในยุคนั้นเลยก็ว่าได้นะครับเนี่ย) และถูกสร้างขึ้นมาเพียง 6 ตัวเท่านั้น (โอว์...แถมเป็นแบบ Limited อีกต่างหาก ฮ่าๆ)
...
หุ่นกลหนอนไหม : เครดิตภาพ https://www.facebook.com/samrujlok/photos/a.478177772225/10157130529412226/?type=3&amp;theater
บรรณานุกรม
...
โมโตฮิโร่ คาโต้. (23 มีนาคม 2552). C.M.B. พิพิธภัณฑ์พิศวง เล่มที่ 7 (การ์ตูน). กรุงเทพฯ: ห.ส.น.วิบูลย์กิจการพิมพ์.
สารคดี สถาพรบุ๊คส์. (14 พ.ย. 2556). เดอะเติร์ก : ตุ๊กตากลเล่นหมากรุก. [เพจเฟสบุ๊ค]. สืบค้นจาก https://mbasic.facebook.com/FeatureSatapornbooks/photos/a.520204658014864.1073741829.520092828026047/599766120058717/?type=1&amp;source=46
ลาภลอย วานิชอังกูร. หมากรุกสมองกล : สงครามปัญญาระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร ตอนที่ 1 และตอนที่ 2. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก http://www.electron.rmutphysics.com/science-news/index.php?option=com_content&amp;task=view&amp;id=2498&amp;Itemid=4
สุมิตรา จันทร์เงา. (01 กรกฎาคม 2558). สุดยอดอัญมณีหนอนไหม เคลื่อนไหวได้เหมือนหนอนจริง. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07078010758&amp;srcday=&amp;search=no
บิ๊กไอเดีย. (22 กรกฎาคม 2559). หุ่นยนต์ตัวแรกของโลก มาจากลานนาฬิกา. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.sentangsedtee.com/big-idea/article_641
กวิฏ ตั้งจรัสวงศ์ และประพันธ์ แจ้งกิจชัย. การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution). [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.bootcampdemy.com/content/106-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1-industrial-revolution
วิกิพีเดีย. เยกาเจรีนามหาราชินี. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%B5
วิกิพีเดีย. แอลัน ทัวริง. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%81%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%99_%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87
ZoLKoRn. (25 มกราคม 2559). รู้หรือไม่ว่า…คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก เกิดขึ้นเมื่อใด ?. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.zolkorn.com/did-you-know/world-first-computer-in-the-world/
วิกิพีเดีย. ดีพบลู. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%9A%E0%B8%A5%E0%B8%B9
ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน. (7 พฤษภาคม 2560). ความสามารถที่น้อยคนจะรู้ ของคนดังในประวัติศาสตร์. [เว็บไซต์]. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/933197
โฆษณา