18 ต.ค. 2019 เวลา 05:00 • กีฬา
NBA 101 - พื้นฐานที่ควรรู้ สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาหรือเริ่มดู NBA (ตอนที่ 6) - NBA G-League
บทความนี้จะพาผู้อ่านทุกท่าน ได้ทำความรู้จักกับลีกที่เปรียบเสมือนกับลีกน้องของ NBA
ลีกนี้มีชื่อว่า NBA Development League หรือ D-League แต่ต่อมาได้ Gatorade เป็น Sponsor หลัก เลยเปลี่ยนชื่อเป็น G-League แทน
NBA Development League (NBA G-League)
Q. NBA G-League คืออะไร
A. G-League ถือเป็นลีกน้องของลีก NBA เลยก็ว่าได้
เป็นที่สำหรับให้แต่ละทีมใน NBA สามารถพัฒนาผู้เล่นที่มีศักยภาพ แต่อาจจะต้องการเวลาในการพัฒนา หรือการส่งแมวมองมาหาผู้เล่นในการเข้าทีมในอนาคต หรืออาจเป็นที่สำหรับเรียกความฟิตของนักกีฬาบางคน คล้ายๆ กับทีมสำรองในกีฬาฟุตบอล เป็นต้น
ระบบนี้เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ฤดูกาล 2001/02 จุดประสงค์หลักเพื่อสร้างระบบรองรับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของลีกให้ดียิ่งขึ้น
ระบบของ G-League จะมีเหมือน NBA ทุกประการ ตั้งแต่การ Draft / Training Camp / ฤดูกาลปกติ / Playoffs แต่ช่วงฤดูกาลจะสั้นกว่า
ปกติแล้วระยะเวลาของ G-League จะเริ่มขึ้นประมาณปลายเดือนสิงหาคม จนถึงประมาณกลางเดือนเมษายนในแต่ละปี
Q. G-League กับ NBA เกี่ยวข้องกันอย่างไร
A. 1 ทีมใน NBA จะมีทีม G-League ในสังกัดเป็นของตัวเอง (เรียกว่า affiliated team) โดยจะคล้ายกับเป็นทีมสำรองของกีฬาฟุตบอลนั่นเอง
2
โดยทีมใน NBA จะสามารถเซ็นสัญญากับผู้เล่นในทีมสังกัดของตัวเองได้ กรณีนี้จะเรียกว่า Call Up
ในทางกลับกัน ทีมใน NBA สามารถส่งผู้เล่นที่มีสัญญากับทีม ลงมาเล่นใน G-League ได้เช่นกัน กรณีนี้จะเรียกว่า Assignment
2
นอกจากนี้ จะมีการทำ Showcase พิเศษเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนธันวาคม เพื่อให้ทีมต่างๆ ได้ส่ง GM หรือแมวมองมาดูฟอร์มการเล่นโดยรวมของผู้เล่นที่สนใจ และอาจทำการเซ็นสัญญาให้ผู้เล่นเป็นการถาวรต่อไป (การเซ็นสัญญาแบบนี้สามารถเซ็นได้ทุกทีม ไม่จำเป็นต้องเฉพาะทีมสังกัดตัวเอง)
NBA G-League Winter Showcase ปีนี้จะจัดขึ้นที่ Las Vegas, Nevada
และตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ทางลีก NBA อนุมัติให้มีโควต้าพิเศษนอกเหนือจากผู้เล่นหลัก 15 คนในทีม กลายเป็น 17 คน โดยสองคนหลังสุดจะต้องอยู่ภายใต้สัญญาที่เรียกว่า Two-Way Contract
โดยผู้เล่นที่อยู่ภายใต้สัญญานี้จะสามารถเล่นให้ได้ทั้งทีมใน NBA และทีมใน G-League ที่อยู่ในสังกัด เพียงแต่จะเล่นให้ทีมใน NBA ไม่เกิน 45 วันต่อสัญญาหนึ่งฉบับเท่านั้น (ปกติแล้วสัญญาแบบนี้จะมีัระยะแค่จบฤดูกาล)
ผู้เล่นที่จะเซ็นสัญญาฉบับนี้ได้ ต้องมีประสบการณ์เล่นในลีกไม่เกิน 4 ปี นับตั้งแต่การ Draft เข้าลีก NBA
ในปัจจุบัน ผู้เล่นมากกว่า 50% ในลีก NBA ล้วนผ่านการเล่นใน G-League มาก่อนแล้วทั้งสิ้น โดยผู้เล่นบางคนก็ได้พัฒนาฝีมือจนกลายเป็นผู้เล่นระดับสูงของลีก
ตัวอย่างผู้เล่นดังกล่าว เช่น Eric Bledsoe, Rudy Gobert, Reggie Jackson, Clint Capela, Danny Green, Jeremy Lin, Hassan Whiteside เป็นต้น
Q. จำนวนทีมใน G-League
A. ในฤดูกาล 2019/20 จะมีทีม G-League ทั้งหมด 28 ทีม แต่ละทีมจะอยู่ภายใต้สังกัดทีมใน NBA อีกที (เหลือแค่ Nuggets และ Blazers เท่านั้น ที่ยังไม่มีทีม G-League เป็นของตัวเอง)
รายชื่อทีมใน G-League และทีมที่สังกัด
Q. ระบบการแข่งขันของ G-League เป็นอย่างไร
A. ในฤดูกาลปกติ จะต้องแข่งกันทีมละ 50 นัด จากนั้นจะเข้าสู่ Playoffs ซึ่งจะใช้ระบบแพ้คัดออก ยกเว้นรอบชิงชนะเลิศที่จะใช้ Best of 3
Q. คุณสมบัติของผู้เล่นใน G-League มีอะไรบ้าง
A. G-League เงื่อนไขในการเข้าทีมจะยืดหยุ่นกว่า NBA พอสมควร ในปัจจุบัน ขอแค่มีอายุครบ 18 ปี ก็จะมีสิทธิ์ Draft ใน G-League ได้ทันที (ซึ่งปกติแล้ว จะลงทะเบียน NBA Draft ได้ ต้องมีอายุ 19 ปี)
ในแต่ละปี ทางลีกจะสรรหาผู้เล่นที่มีแววพอจะเล่น NBA ได้ในอนาคต มากกว่า 100 คนต่อปี ซึ่งผู้เล่นเหล่านี้จะยังไม่สามารถลงทะเบียน Draft ใน NBA ได้ หลังจากทำการรวบรวมมาแล้ว ก็จะทำการ Draft กระจายออกไปยังแต่ละทีมใน G-League ต่อไป
ถ้าถึงเกณฑ์ที่จะไป NBA ได้แล้ว ผู้เล่นก็จะต้องผ่านการลงทะเบียน Draft เหมือนผู้เล่นที่ประสงค์จะเข้าลีกทุกคนเช่นเดิม
Q. โครงสร้างของทีมผู้เล่นใน G-League มีอะไรบ้าง
A. เนื่องจากทีมใน G-League จะมีความยืดหยุ่นในการคัดเลือกผู้เล่นเข้าทีมมากกว่า NBA พอสมควร การหาผู้เล่นเข้าทีมจึงสามารถทำได้หลายช่องทาง
แต่ละทีมจะต้องมีผู้เล่นในสังกัดอย่างน้อย 10 คน โดยวิธีการสรรหาผู้เล่นจะแบ่งได้ดังนี้
1. โควต้าสำหรับผู้เล่นที่ถือสัญญา Two-Way Contract 2 คนต่อทีม
2. โควต้าผู้เล่นที่อยู่ในสังกัดทีมใน 2 ฤดูกาลหลังสุด ตราบใดที่ทีมยังไม่ได้ปล่อยผู้เล่นออกจากทีมให้ไปหาสังกัดใหม่ ก็จะสามารถเรียกมาติดทีมได้
3. โควต้าสำหรับผู้เล่นในทีม NBA ที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อ 15 คนสุดท้ายก่อนเริ่มฤดูกาลปกติ แต่ละทีมจะมีผู้เล่นประเภทนี้ได้สูงสุด 4 คนต่อทีม ซึ่งจะเหมาะสำหรับทีมที่ยังต้องการตรวจสอบผู้เล่นดังกล่าวเพิ่มเติม หรือเสียดายที่ไม่มีโควต้าให้ แต่ยังอยากเก็บไว้กับทีมอยู่
4. โควต้าสำหรับผู้เล่นท้องถิ่นทั่วไปที่ทีมเห็นแวว แล้วอยากจะทำสัญญากับทีม ซึ่งผู้เล่นในส่วนนี้จะไม่อยู่ใน Draft Pools โดยแต่ละทีมสามารถเรียกได้สูงสุด 4 คนต่อทีม (ต้องเรียกก่อนเข้า Training Camp)
5. โควต้าสำหรับผู้เล่นที่ผ่านการ Draft โดยแต่ละทีมจะมีสิทธิ์ Draft ทีมละ 4 รอบต่อปี
6. โควต้าสำหรับหนทางอื่นๆ เช่น การเซ็นผู้เล่นในตลาด FA, ผู่เล่นที่ไม่ได้รับเลือกในการ Draft NBA, การเซ็นผู้เล่นที่มีประสบการณ์ในลีกไม่เกิน 3 ปี เข้าสู่ทีมในสังกัดตัวเอง
จะเห็นได้ว่า G-League เองก็มีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะเป็นลีกน้องก็ตาม
เพราะทางลีกเองก็เล็งเห็นว่าการพัฒนารากฐานในส่วนนี้ ย่อมจะส่งผลดีต่อลีกได้ในอนาคต
ถ้าชอบบทความ รบกวนฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ
BombWalkerz
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา