30 ต.ค. 2019 เวลา 11:30 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
เซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่ม
บทที่ 2 (ส่วนที่ 2) : สิ่งเร้ายิ่งยวด
*** บทความในหนังสือเล่มนี้เป็นการบอกเล่าประสบการณ์และให้ความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ “ไม่มีการขายหรือแนะนำยาและอาหารเสริมใด ๆ ทั้งสิ้น”
*** หากท่านรู้สึกมีปัญหากับสมรรถภาพทางเพศของท่าน ผมขอแนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และจงดูแลสุขภาพของตัวท่านเองให้ดีก่อนเป็นอันดับแรก
.
แต่หากท่านยังคงรู้สึกว่าอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศของท่าน “ไม่ดีขึ้น” ท่านจะลองศึกษาและทำตามวิธีที่ผมแนะนำเป็นอีกทางเลือกก็ได้ครับ
.
.
.
บทความนี้เป็นเนื้อหาส่วนที่ 2 ของบทที่ 2 : reward system” หากท่านใดยังไม่ได้อ่านเนื้อหาก่อนหน้านี้ ผมขอแนะนำให้ท่านย้อนกลับอ่านบทความก่อนหน้านี้ทั้งหมดก่อนนะครับ เพื่อที่ท่านจะได้เข้าใจเนื้อหาได้อย่างต่อเนื่อง
.
บทที่ 1 : ปรากฏการณ์ประหลาดที่เกิดกับชายหนุ่มหลายคนในวันนี้
.
บทพิเศษ : ปรากฏการณ์ Coolidge Effect
.
บทที่ 2 : สิ่งเร้ายิ่งยวด vs สมองของเรา
.
.
.
1
สิ่งเร้ายิ่งยวด : Supernormal Stimulus
.
Supernormal stimulus แปลว่า “สิ่งเร้ายิ่งยวด” มันหมายถึงสิ่งเร้าที่มีคุณสมบัติบางข้อที่เหนือกว่ารูปแบบเดิมตามธรรมชาติของสิ่งเร้านั้น มันคือสิ่งเร้าที่สามารถก่อให้เกิดความพึงพอใจและความรู้สึกต่าง ๆ เหนือมาตรฐานความเป็นจริงและทำให้สัญชาตญาณตามธรรมชาติของเราตอบสนองอย่างผิดเพี้ยนไป
.
หลักการนี้ถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวดัตช์ นามว่า นิโคลาส ทิมเบอร์เกน (Nicolaas Timbergen) ทิมเบอร์เกนและทีมงานได้สังเกตุและค้นพบพฤติกรรมแปลกประหลาดในสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าบางชนิดอย่างสุดโต่งและผิดไปจากสัญชาตญาณปกติของมัน
.
เขาพบว่าสัญชาตญาณและการตอบสนองต่อสิ่งเร้าเป็นอะไรที่ไม่มีขอบเขตจำกัด แทนที่มันจะหยุดและรู้จักความพอดี แต่สัญชาตญาณในการตอบสนองของสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่กลับถูกกระตุ้นและหลอกล่อให้เลยเถิดโดย “สิ่งเร้าที่มีคุณสมบัติยิ่งยวดเกินจริง” ได้อย่างง่ายดาย และยิ่งถ้าสิ่งเร้านั้นมีคุณสมบัติบางอย่างที่เหนือกว่ารูปแบบปกติตามธรรมชาติ สัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตก็จะผิดเพี้ยนไปราวกับถูกสะกดจิตเลยทีเดียว
1
เช่น ในกรณีของนกยูง มีการทดลองให้มันเลือกคู่ผสมพันธุ์ระหว่างนกยูงตัวจริงและหุ่นนกยูงที่สร้างขึ้นมา โดยที่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำให้หุ่นนกยูงปลอมตัวนั้นมีแผงขนที่ใหญ่โตและสีสันฉูดฉาดกว่านกยูงตัวจริงอย่างมาก จากการทดลองนี้ พวกเขาพบว่าเหล่านกยูงสาวต่างกรูกันให้ความสนใจและตกหลุมรักหุ่นนกยูงปลอมมากกว่านกยูงหนุ่มตัวจริงที่ยืนอยู่ข้าง ๆ อย่างเห็นได้ชัด
หรือในกรณีพ่อแม่นกที่ให้อาหารลูกน้อยของมัน พวกเขาได้สร้างลูกนกตัวปลอมขึ้นมาอาศัยอยู่ในรังพร้อมกับลูกนกตัวอื่น ๆ โดยให้มันมีปากที่อ้าได้กว้างกว่าและมีสีแดงชัดเจนกว่าลูกนกจริงทั้งหลาย และพวกเขาก็พบว่า พ่อแม่นกเลือกที่จะป้อนอาหารให้กับลูกนกตัวปลอมมากกว่าลูกจริง ๆ ของมัน
ในทางกลับกัน พวกเขาได้ทดลองให้ลูกนกเลือกรับอาหารระหว่างแม่นกตัวจริงและแม่นกปลอมที่ถูกสร้างขึ้น ในการทดลองนี้ พวกเขาพบว่า เหล่าลูกนกเลือกที่จะเมินเฉยต่อแม่นกตัวจริงและหันไปหาหุ่นแม่นกปลอมที่ถูกสร้างให้ตัวใหญ่และมีสีสันมากกว่า
แม่นกบางชนิดเลือกที่จะทิ้งไข่ในรังของมันและหันไปกกไข่ปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ใหญ่โตและแต่งเติมลวดลายให้มีสีสันจัดแจ้งมากกว่าไข่ปกติของมัน แม้ว่าสุดท้ายแล้ว ไข่ปลอมใบนั้นจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวมันมากจนทำให้มันต้องลื่นไถลลงจากไข่ปลอมนั้นตลอดเวลาก็ตาม
นอกจากนี้ ทิมเบอร์เกนยังพบเจอความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ มีการทดลองอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาพบว่า แมลงปีกแข็งตัวผู้เลือกที่จะผสมพันธุ์กับกระป๋องเบียร์แทนที่จะเป็นตัวเมียที่อยู่ข้าง ๆ กระป๋องเบียร์ที่มีสีสันสวยงามและมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียทั่วไปนี้ดึงดูดความสนใจได้ดีกว่าตัวเมียจริง ๆ และทำให้แมลงตัวผู้ตัวนั้นคิดว่ามันได้เจอแม่พันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์เข้าแล้ว
ทิมเบอร์เกนเรียกสิ่งเร้าที่ถูกสร้างขึ้นให้มีคุณสมบัติบางข้อเหนือกว่าความเป็นจริงเหล่านี้ว่า “supernormal stimulus” หรือที่แปลว่า “สิ่งเร้ายิ่งยวด”
.
*** เนื่องจากยังไม่มีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ Porn-induced ED อย่างเป็นทางการในรูปแบบภาษาไทย ดังนั้นคำแปลเป็นไทยของคำศัพท์บางคำจึงถูกนิยามโดยความคิดและความเข้าใจของตัวผมเอง
สิ่งที่เรียกว่า “สิ่งเร้ายิ่งยวด” นี้สามารถโจรกรรมสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตและแย่งชิงแผนการของการวิวัฒนาการมาได้อย่างง่ายดาย วิวัฒนาการหลาย ๆ อย่างกลายเป็นไร้ประสิทธิภาพในทันทีที่มันต้องมาเจอกับสิ่งเร้ายิ่งยวดเหล่านี้
เราพูดถึงสิ่งที่สิ่งเร้ายิ่งยวดทำกับสมองของของสัตว์ไปแล้ว เราลองมาดูกรณีของมนุษย์กันบ้าง ก่อนอื่นผมต้องขอบอกก่อนว่า มนุษย์เรานี่เองที่เป็นผู้สร้างสิ่งเร้ายิ่งยวดต่าง ๆ ขึ้นมากับมือ ความเจริญและเทคโนโลยีในวันนี้ ทำให้มนุษย์เราสามารถสร้างสิ่งเร้ายิ่งยวดรูปแบบต่าง ๆ ออกมาปรนเปรอสมองและร่างกายของเราเองได้ไม่หยุดหย่อน
.
สิ่งประดิษฐ์บางอย่างก็ช่วยทำให้เรามีความสุข อำนวยความสะดวก และมีประโยชน์ต่อเราอย่างมาก แต่บางอย่างก็กลายเป็นสิ่งเร้ายิ่งยวดซึ่งส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อเราในระยะยาวได้เช่นกัน
.
อันที่จริงไม่มีใครอยากสร้างอะไรขึ้นมาเพื่อหลอกล่อหรือทำร้ายตัวเองหรอก พวกเราต่างสร้างสิ่งเร้ายิ่งยวดขึ้นมาเพื่อใช้มันในการตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของเรา เพียงแต่เราเองก็คาดไม่ถึงว่าสิ่งเร้ายิ่งยวดบางอย่างที่เราสร้างขึ้นมาจะเล่นงานและปั่นหัวเราได้มากขนาดนี้
.
ครั้นพอเรารู้ตัวและจะเลิกข้องเกี่ยวกับมัน ก็ดูเหมือนว่าจะสายเกินไปเสียแล้ว การจะเลิกจากมันและลืมรสชาติของมันให้ได้ภายในไม่กี่วันเป็นอะไรที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย
.
สิ่งเร้ายิ่งยวดหลาย ๆ อย่างทำให้เราหลงรักมันอย่างหัวปักหัวปำชนิดที่แทบจะขาดมันไม่ได้ หรือหากจะบอกว่าเราเสพติดมันเข้าให้แล้วก็ไม่ผิดนัก มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสุขในชีวิตพวกเรา และได้หลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของนิสัยเราไปเสียแล้ว
- อาหารจังค์ฟู๊ด
.
นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด เราสามารถกินอาหารที่หวานกว่า, หอมกว่า, รสจัดกว่า, มันกว่า และอร่อยกว่าอาหารทุกชนิดที่บรรพบุรุษของเราเคยกิน ที่สำคัญที่สุด มันหาได้ง่ายดายมาก ๆ เราไม่จำเป็นต้องพกหอกหรือเดินลาดตระเวนแกะรอยกวางป่าแบบที่บรรพบุรุษของเราเคยทำมาก่อนเลย
.
สิ่งที่เราต้องทำก็แค่ขี่รถหรือเดินออกไปสัก 5 นาที เราก็จะได้ชีสเบอร์เกอร์หรือไก่ทอดกับเฟรนช์ฟรายมาแล้ว รสชาติที่อร่อยและสามารถหากินได้ตลอดเวลาทำให้เราเสพติดอาหารขยะเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย และผมคงไม่ต้องบอกว่ามันไม่ดีต่อสุขภาพของเราอย่างไรนะครับ
.
- ยาเสพติด
.
มนุษย์เราสามารถสร้างสารเคมีบางอย่างที่สามารถทำให้สมองของเรามีความสุขแบบที่บรรพบุรุษของเราไม่เคยพานพบมาก่อนเลยสักครั้งเดียว แค่สูบหรือฉีดมันเข้าไปในร่างกายเพียง 1-2 ครั้ง ยาเสพติดเหล่านี้ก็จะทำให้สมองของเรามีความสุขสุดยอดราวกับว่ากำลังล่องลอยอยู่ในสวรรค์เลยทีเดียว มันสามารถทำให้เราลืมรางวัลหรือความพึงพอใจจากทุกสิ่งอย่างที่เราเคยได้รับไปในทันที
- ตัวการ์ตูนหรือมาสคอตต่าง ๆ
.
พวกเราสามารถสร้างตัวการ์ตูนหรือตุ๊กตาที่น่ารักยิ่งกว่าสัตว์เลี้ยงจริง ๆ ของเราขึ้นมา อย่าว่าแต่สัตว์เลี้ยงเลย บางครั้งมันดูน่ารักยิ่งกว่าลูกของเราจริง ๆ เสียด้วยซ้ำ
- เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย
.
สิ่งนี้สามารถตอบสนองคุณสมบัติความอยากรู้อยากเห็นของเราได้เพียงแค่ปลายนิ้วคลิก มันทำให้เราได้รับรู้ข่าวสารแบบรวดเร็วอัพเดตแทบจะทุกวินาที ใครจะไปสนการอ่านหนังสือพิมพ์หรือการเดินออกไปนอกบ้านเพื่อค้นหาเรื่องราวความเป็นไปรอบตัวให้ยุ่งยากล่ะ ในเมื่อวันนี้ เพียงแค่เปิดสมาร์ทโฟนขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่เราอยากรู้และไม่อยากรู้ก็โผล่ขึ้นมาอยู่หน้าเราทั้งหมดแล้ว
- วิดีโอเกมส์
.
นี่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถเหยียบคันเร่งสัญชาตญาณของเราให้พุ่งเต็มสปีดได้เช่นกัน มันไม่ใช่แค่เรื่องของการเล่นเกมส์เพื่อแก้เบื่อหรือฆ่าเวลาเท่านั้น ตัวละครในเกมส์เหมือนกับมีวิญญาณของเราไปสิงสถิตอยู่ข้างในตัวมันจริง ๆ เรากำลังรู้สึกเหมือนว่า ตัวเราได้กำลังไล่ปราบมอนสเตอร์ ผจญภัยในดินแดนอันตราย และออกล่าเงินรางวัลหรือสมบัติหายากต่าง ๆ ด้วยตัวเราเอง
.
ในโลกสมมตินี้ เราต่อสู้และปลดปล่อยสัญชาตญาณนักล่าของเราออกมาได้ทั้งวันทั้งคืนอย่างสมใจอยาก ในโลกความเป็นจริง จะมีที่ไหนบ้างที่อนุญาตให้เราระเบิดหัวศัตรูและเก็บเกี่ยวรางวัลได้มากมายและง่ายดายขนาดนี้ มันคือโลกเสมือนจริงที่ตอบโจทย์สัญชาตญาณของเราได้แทบทุกอย่าง ไม่แปลกเลยที่เราจะรู้สึกสนุกและตื่นเต้นไปกับมันได้ทั้งวันทั้งคืน
.
- สื่อโป๊ทั้งหลาย โดยเฉพาะสื่อโป๊ในยุคอินเตอร์เน็ต
.
นี่คือสิ่งเร้ายิ่งยวดที่มีอิทธิพลกับพวกเรามากที่สุด มีใครบ้างล่ะที่ไม่ชอบเรื่องเซ็กส์ สิ่งนี้ให้บางอย่างได้มากกว่าเซ็กส์ของจริงเสียด้วยซ้ำ นอกจากนั้น มันยังเข้าถึงได้อย่างง่ายดายไม่มีการจำกัดเวลาและปริมาณอีกด้วย นี่คือสิ่งที่เราจะพูดถึงกันในบทนี้ เพราะมันเกี่ยวโยงกับอาการ Porn-induced ED ของเราโดยตรงที่สุด
.
.
.
จากประโยชน์กลายเป็นโทษ
.
แน่นอนว่าเรามีเงินและเวลามากพอที่จะใช้สิ่งเหล่านี้ในการตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า สิ่งเร้ายิ่งยวดบางชนิดก็มีประโยชน์ สร้างความสุข และช่วยอำนวยความสะดวกให้เราได้อย่างมาก
.
แต่ปัญหาก็คือ สมองและสัญชาตญาณของเรามันไม่รู้จักคำว่าพอ โดยเฉพาะกับสิ่งที่ทำให้เราพึงพอใจและมีความสุขแบบนี้ ทันทีที่เราได้กิน, เห็น, ใช้งาน หรือเสพสิ่งเร้ายิ่งยวดเหล่านี้ สมองของเราก็ตอบสนองต่อรสชาติและคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของมันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จากนั้นความพึงพอใจอย่างรุนแรงก็จะเอ่อล้นท่วมสมองของเราทันที
.
โดยเฉพาะสื่อโป๊ในยุคอินเตอร์เน็ต นี่คือสิ่งเร้ายิ่งยวดที่รุนแรงมากที่สุดชนิดหนึ่ง มันสามารถแย่งความสนใจของเรามาจากสิ่งรอบตัวได้อย่างง่ายดาย สมองและสัญชาตญาณของเราแทบจะลืมทุกสิ่งในทันทีที่เราได้เห็นมัน แม้แต่เซ็กส์ของจริงก็ยังมีคุณสมบัติบางข้อเทียบกับมันไม่ได้เลย
.
หน้าอกที่ยัดซิลิโคนอยู่ข้างใน อวัยวะเพศที่ขยายตัวกว่าความเป็นจริงจากการใช้ยาของนักแสดงชาย การแต่งหน้าแต่งตัวของนักแสดงหญิง แสงสีเสียงและมุมกล้องที่ซูมชัดเจาะลึกเป็นพิเศษ ท่วงท่าและลีลาในการมีเพศสัมพันธ์ของเหล่านักแสดง ประเภทและแนวของเซ็กส์รูปแบบต่าง ๆ ที่เราไม่เคยเห็น ความสวยงามของรูปร่างและสัดส่วนของนักแสดงที่ปลุกเร้าอารมณ์ …
.
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่เหนือกว่าเซ็กส์ในชีวิตจริงอย่างคนละขั้ว และมันสามารถจุดระเบิดโดปามีนในสมองของเราได้อย่างมหาศาลยิ่งกว่าสิ่งใด ๆ การปลุกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศที่รุนแรงและสมบูรณ์แบบเหนือความเป็นจริงเหล่านี้คือสาเหตุให้พวกเราลุ่มหลงและเสพติดมันได้อย่างง่ายดาย
15
แต่คุณสมบัติพิเศษของมันยังไม่หมดแค่นั้น มันไม่ใช่มีแค่การปลุกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศเท่านั้น แต่สื่อโป๊ในวันนี้ยังมีอีกคุณสมบัติหนึ่งที่สามารถทำให้สมองของเราแช่อยู่ในทะเลโดปามีนได้ทั้งวันทั้งคืนอีกด้วย คุณสมบัตินั้นคือ “การมีสิ่งใหม่ ๆ ให้เราได้ค้นหาอย่างไม่รู้จบ”
Novelty Seeking กลไกดาบ 2 คม
.
คำว่า novelty seeking หมายถึงพฤติกรรมการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ โดยเฉพาะรางวัลที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตและเผ่าพันธุ์ของเรา มันเป็นพฤติกรรมที่ทำให้สมองของเราเกิดการหลั่งโดปามีน และโดปามีนที่หลั่งออกมาก็ผลักดันให้เราทำพฤติกรรมนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งโดปามีนและพฤติกรรมนี้ต่างทำงานเสริมแรงกันและกันและช่วยให้บรรพบุรุษของเราสามารถเอาชีวิตรอดจนให้กำเนิดพวกเราในวันนี้
.
ในอดีต การค้นหาสิ่งใหม่ ๆ มีประโยชน์ต่อการอยู่รอดของเรามาก มันทำให้เกิดการพัฒนาและได้มาซึ่งสิ่งที่จำเป็น เช่น แหล่งอาหารใหม่ ๆ , ที่อยู่อาศัยใหม่ ๆ , ดินแดนใหม่ ๆ และแม่พันธุ์คนใหม่ ๆ วิวัฒนาการได้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้และได้วางให้มันเป็นดั่งกลไกหลักในการดำรงชีวิต
.
หากไม่มีแรงผลักดันให้เราออกไปค้นหาสิ่งใหม่ ๆ ชีวิตก็จะอยู่อย่างยากลำบาก อาหารเก่าก็จะเน่าเสียหรือหมดไป, ที่อยู่อาศัยก็จะแออัดยัดเยียด, เขตุแดนที่เราอยู่ก็จะเต็มไปด้วยผู้คนและเกิดการแย่งกันใช้ทรัพยากรจนขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็นน้ำ, อาหาร, ที่อยู่อาศัย และพ่อพันธุ์แม่พันธุ์
.
เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่ง วิวัฒนาการจึงสั่งให้เราออกไปค้นหาสิ่งใหม่ ๆ โดยการฝังคำสั่งนี้ไว้ในสมองของเราอย่างถาวร กลไกการค้นหาสิ่งใหม่ ๆ นี้ถูกผูกโยงเอาไว้จนกลายเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของเรา มันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เราทำสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดโดยไม่ต้องเสียเวลามานั่งคิด
.
แต่กลไกอัตโนมัติที่คอยช่วยชีวิตเราก็สามารถกลับกลายเป็นสิ่งที่ให้โทษได้เช่นกัน กลไกนี้ถูกปั่นหัวและหลอกล่อให้ไขว้เขวไปด้วยพลังอันเหนือชั้นกว่าของสิ่งเร้ายิ่งยวด
.
สิ่งเร้ายิ่งยวดหลายชนิดสามารถเปลี่ยนกลไกที่มีประโยชน์นี้ให้กลายเป็นต้นเหตุของการเสพติดและก่อให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะการเสพติดสื่อโป๊ของผู้คนทั่วโลกในวันนี้
ผมต้องขอย้อนไปในเนื้อหาบทที่แล้วสักนิด ท่านผู้อ่านยังจำการทดลองที่ชื่อว่า Coolidge effect ได้ใช่ไหมครับ reward system ของหนูหนุ่มตัวนั้นหลั่งโดปามีนลดลงเรื่อย ๆ กับหนูตัวเมียตัวเดิม แต่ทันทีที่เปลี่ยนตัวเมียตัวใหม่เข้ามา กระแสคลื่นโดปามีนของหนูหนุ่มตัวนั้นก็ทะลักออกมาอีกครั้งอย่างรวดเร็ว
.
ผลการทดลองนี้ช่วยบ่งชี้ว่า โดปามีนชอบการค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ที่สุด แม้แต่เซ็กส์ที่ถือเป็นภารกิจสูงสุดในยีนส์สิ่งมีชีวิต แต่ถ้าหากเซ็กส์นั้นมาจากคู่รักคนเก่า โดปามีนก็หลั่งออกมาไม่ได้เยอะเท่าไหร่เลย (แถมยังมีแนวโน้มลดลงเสียด้วยซ้ำ) แต่ทันทีที่ได้เจอเพศเมียตัวใหม่ ๆ โดปามีนก็กลับมาไหลบ่าทะลักท่วมสมองอีกครั้ง
.
*** หากท่านใดยังไม่รู้จัก Coolidge Effect ว่ามันคืออะไร ผมแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่าน “บทความพิเศษ : ปรากฏการณ์ Coolidge Effect” ก่อนหน้าบทความนี้นะครับ
.
สื่อโป๊ในยุคอินเตอร์เน็ตมีคุณสมบัติของสิ่งเร้ายิ่งยวดที่สามารถสร้างทะเลโดปามีนใน reward system ได้อย่างครบถ้วน โดยการใช้ประโยชน์จากกลไก novelty seeking ในสมองของเรา ไม่ว่าจะเป็นแม่พันธ์ุคนใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนหน้าโผล่ออกมาไม่มีจำกัดเพียงแค่ปลายนิ้วคลิก, ท่วงท่าใหม่ ๆ , สถานที่ใหม่ ๆ , แนวทางหรือรสนิยมทางเพศแปลก ๆ และอื่น ๆ อีกมากมาย
.
.
.
.
1. การปลุกกระตุ้นอารมณ์ทางเพศอย่างรุนแรง
.
2. สิ่งใหม่ ๆ ที่พร้อมให้เราค้นหาอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์คนใหม่ ๆ
.
นี่คือ 2 คุณสมบัติที่เด่นชัดที่สุดของสื่อโป๊ในยุคอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โดปามีนหลั่งไหลออกมาไม่ขาดสาย และนั่นก็คือเหตุผลที่ทำให้พวกเราทุกคนเสพติดสื่อโป๊ยุคอินเตอร์เน็ตจนถอนตัวกันไม่ขึ้น
.
แค่เพียงปัจจัย 2 อย่างที่ได้พูดมานี้ก็เพียงพอที่จะสามารถทำให้สมองของเราระเบิดโดปามีนออกมาอย่างต่อเนื่องและมหาศาลชนิดที่ไม่มีกิจกรรมปกติหรือรางวัลใด ๆ ในชีวิตที่สามารถทำแบบนี้ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเสต็กชั้นเลิศ, ชีสเค้กร้านโปรด หรือผู้หญิงคนที่นั่งข้าง ๆ เรา จะมีสิ่งเร้าที่มีพลังโจรกรรมสูสีกับสิ่งเร้ายิ่งยวดนี้ได้ก็แค่ยาเสพติดและเกมส์ออนไลน์เท่านั้นเองกระมัง
.
สื่อโป๊ยุคอินเตอร์เน็ตทำให้เกิดพฤติกรรมการเสพติดรูปแบบใหม่ขึ้นมา มันไม่ใช่แค่การเสพติดการช่วยตัวเองพร้อมกับเสพสื่อโป๊อีกต่อไปแล้ว แต่มันยังรวมไปถึงพฤติกรรมการคลิกค้นหารูปและวิดีโออัพเดตใหม่ ๆ ในโลกออนไลน์ทั้งวันทั้งคืนอีกด้วย
.
ระหว่างที่ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้กำลังดำเนินไป สมองของเราก็แช่อยู่ในทะเลโดปามีนอย่างเพลิดเพลิน โดยที่เราไม่รู้ตัวสักนิดเลยว่า พฤติกรรมที่สร้างความสุขอย่างยิ่งยวดนี้กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างบางอย่างของสมองเราทีละนิด ๆ
สิ่งที่ดี ถ้ามากเกินไปก็กลายเป็นไม่ดี
.
หากโดปามีนที่ได้รับมีมากเกินไปจนผิดปกติ (เช่น จากการใช้ยาเสพติดหรือจากการเสพติดในพฤติกรรมบางอย่าง) ด้วยความที่สมองของเราไม่ได้ถูกวิวัฒนาการมาให้รับมือกับกระแสคลื่นโดปามีนมหาศาลและต่อเนื่องขนาดนี้มาก่อน สมองของเราจึงมีกลไกในการป้องกันตัวเราและตัวมันเองเพื่อไม่ให้ถูกปลุกกระตุ้นและใช้งานมากเกินจนต้องหมดสภาพไป …
.
กลไกป้องกันตัวเองที่ว่านี้ก็คือ “การปิดตัวรับโดปามีนบางส่วนลง” (dopamine receptor downregulation)
.
กระบวนการนี้ส่งผลให้เกิดการรับโดปามีนที่สมองปล่อยออกมาได้น้อยลงกว่าเมื่อก่อน ผลลัพธ์ก็คือ มันทำให้เราได้รับความสุขและความพึงพอใจน้อยลงกว่าที่เคย หรืออาจถึงขั้นไม่รู้สึกอะไรเลยก็ได้
.
พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เราต้องใช้ปริมาณของโดปามีนมากขึ้น เพื่อที่จะได้รับผลลัพธ์เท่าเดิม เราเรียกอาการด้านชานี้ว่า desensitization (หรือในกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เราจะใช้คำว่า “ตายด้าน” ก็ไม่ผิดนัก)
*** ในบทแรก ผมพูดถึงอาการ desensitization ว่าเกิดจาก “ตัวรับโดปามีนได้ถูกยกระดับ threshold ขึ้นมา” ที่ผมต้องพูดเช่นนั้นก็เพื่อเป็นการยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพของคำว่า desensitization ได้ง่ายขึ้นเท่านั้น สุดท้ายแล้วผลลัพธ์ที่ผมต้องการจะสื่อก็เหมือนกัน นั่นก็คือ ต้องใช้โดปามีนมากขึ้น เพื่อที่จะให้ได้รับผลลัพธ์ความพึงพอใจเท่าเดิม
.
*** หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ความไวต่อโดปามีนลดลง หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า “ดื้อโดปามีน” ก็ได้
อาการ desensitization ใน reward system นี้ เปรียบเสมือนคำเตือนของสมองที่บอกให้เราหยุดสิ่งเร้ายิ่งยวดหรือการทำพฤติกรรมที่ผิดธรรมชาติเหล่านี้ได้แล้ว แต่ด้วยความที่เราไม่รู้หลักการของมัน หรืออาจเพราะเราไม่เข้าใจคำเตือนนี้ ทำให้พวกเราบางคนยิ่งทำพฤติกรรมเหล่านี้ถลำลึกหนักกว่าเดิม เพื่อที่เราจะได้รับความสุขและความพึงพอใจแบบเดิมกลับคืนมา
.
จนในที่สุด การถลำลึกนี้ก็ทำให้เราเสพติดสื่อโป๊ไปเสียแล้ว และอย่างที่รู้กันว่า การจะเอาชนะการเสพติดได้นั้นยากกว่าตอนที่เรากำลังจะเสพติดมันหลายเท่า ดังคำพูดเปรียบเปรยคำหนึ่งที่ว่า “การเสพติดมันพุ่งเข้ามาฝังลึกเหมือนลูกกระสุน แต่มันกลายเป็นตะขอเบ็ดทันทีตอนที่เราจะถอนมันออก”
เมื่อเกิดอาการ desensitization ในส่วน reward system มันจะทำให้เรารับรู้ความสุขความพึงพอใจจากเซ็กส์ในชีวิตจริงน้อยลงเรื่อย ๆ ในรายที่มีอาการ desensitization รุนแรง ถึงแม้สาวสวยคนนั้นจะนอนเปลื้องผ้าอยู่บนเตียง แต่ส่วนนั้นของเรากลับนิ่งสนิทราวกับตายไปแล้วเลยทีเดียว
.
มันไม่ใช่เพราะว่าเราไม่ชอบเซ็กส์นะครับ เราชอบเซ็กส์หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับมันมาก (ไม่เช่นนั้นเราไม่ดูสื่อโป๊จนเสพติดกันขนาดนี้หรอก) เพียงแต่เราต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถทำมันได้ เพราะว่าอาการ desensitization ใน reward system ทำให้สมองและระบบประสาทของเราไม่สามารถทำให้อวัยวะเพศของเราแข็งตัวได้เลยหากไม่ได้รับการปลุกกระตุ้นที่เราคุ้นเคย
.
ต่อให้เราจะมีสุขภาพร่างกาย, กล้ามเนื้อ, ระบบหัวใจและหลอดเลือดแข็งแรงขนาดไหน แต่ถ้าระบบกลไกการรับรู้รางวัล (reward system) ของเราไม่ทำงาน ก็คงไม่ต่างอะไรกับรถที่มีเครื่องยนต์ 8 สูบ แต่กลับใช้ได้เพียงแค่ 4 สูบเท่านั้น
.
แรงขับดันในเรื่องต่าง ๆ ของเราเบาบางเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องเซ็กส์ เราต้องการสิ่งเร้าและการกระตุ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา คลิก-ขยับมือ-ขยับมือ-ขยับมือ-คลิก-ขยับมือ-ขยับมือ-ขยับมือ-คลิก … หากหยุดมือหรือภาพในหน้าจอสิ่งใดสิ่งหนึ่งนี้ไป รถของเราก็จะหยุดนิ่งไม่ไหวติงราวกับไม่มีพลังงานเหลืออยู่ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่านเข้าใจสิ่งที่ผมเปรียบได้เป็นอย่างดี
.
วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหานี้และทำให้เราสามารถกลับมามีเซ็กส์กับคนจริง ๆ ได้ก็คือ เราต้องจัดการที่ต้นเหตุของปัญหาเสีย ในที่นี้คือการฟื้นฟูระบบโดปามีนให้กลับเป็นเหมือนเดิมโดยการเลิกสื่อโป๊ทุกชนิด โชคดีเหลือเกินที่สมองของเราไม่ใช่เครื่องยนต์ อย่างที่ผมได้ย้ำไปเสมอว่า “สมองของเราเป็นอวัยวะที่ยืดหยุ่นและปรับตัวได้มากที่สุดในร่างกายเรา หากเราให้เวลากับมันรักษาตัวมันเอง”
.
เราต้องให้เวลาเป็นตัวเยียวยาคืนสภาพระบบและกลไกต่าง ๆ ในสมองของเรา เราเรียกกระบวนการนี้ว่า “การ reboot” หรือที่แปลว่า “การปิดแล้วเปิดเครื่องใหม่” นั่นเอง
เนื้อหาในบทนี้เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งเร้ายิ่งยวดว่ามันคืออะไรและมันสามารถให้โทษกับเราอย่างไร ในตอนต่อไป เราจะได้เห็นถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสมองของเราเจอกับสิ่งเร้ายิ่งยวด โดยเฉพาะเมื่อมันเจอกับสื่อโป๊ในยุคอินเตอร์เน็ต สิ่งเร้ายิ่งยวดชนิดนี้สามารถผลักดันให้เกิดการเสพติดและพฤติกรรมอะไรได้บ้าง เจอกันในตอนต่อไปนะครับ
.
บทที่ 2 (ส่วนที่ 3) https://www.blockdit.com/articles/5db8460f121ff153789976a5
.
.
.
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนังสือ e-book “เซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่ม” (ในหนังสือมีเนื้อหาทั้งหมด 13 บท)
.
หนังสือ “เซ็กส์เสื่อมในวัยหนุ่ม : สาเหตุ อาการ และวิธีรักษา” เวอร์ชั่น e-book วางจำหน่ายแล้ววันนี้
.
*** ต้องโหลดแอปฯ “Meb : หนังสือดี นิยายดัง” ก่อนนะครับ (แอปฯนี้โหลดฟรี) ถ้าโหลดแอปฯนี้เสร็จแล้ว เราก็จะสามารถดาวน์โหลดสั่งซื้อหนังสือและเปิดอ่านผ่านแอปฯนี้ได้เลยครับ
โฆษณา