14 พ.ย. 2019 เวลา 12:00 • สุขภาพ
14 พฤศจิกายน : วันเบาหวานโลก
วันเบาหวานโลก หรือ World Diabetes Day เป็นอีก 1 วันที่คอยย้ำเตือนถึงปัญหาของโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสุขภาพระดับโลก กระทบต่อคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และประเทศชาติ
สำหรับ Theme ในปี 2019 นี้ คือ “Family and Diabetes” ทาง IDF ต้องการสร้างความตระหนักของโรคเบาหวาน โดยเน้นไปที่บทบาทของครอบครัว ในการช่วยสนับสนุน ดูแล ป้องกัน และให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน การรู้จักปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ รวมถึงสัญญาณเตือนของโรคจะทำให้เกิดความระมัดระวัง ดูแลป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคเบาหวานอีกด้วย
มีคลิปวิดีโอที่ทาง IDF ทำไว้ถึงความกังวลของครอบครัวหากรู้ว่ามีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคเบาหวาน ติดตามชมได้ในลิงค์ข้างล่างนี้เลยครับ 👇
เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศจึงขอหยิบยกยาในการรักษาเบาหวาน 1 ตัว มาเล่าสู่กันฟัง
เป็นตัวไหนไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ Metformin นั่นเอง
Metformin เป็นยาในกลุ่ม biguanide derivative มีชื่อเท่ๆทางเคมีคือ (1,1-dimethylbiguanide hydrochloride) เป็นยาที่มีจุดเริ่มต้นมาจากพืชชนิดหนึ่งคือ Goat’s rue หรือ French lilac (Galega officinalis) พืชชนิดนี้มีคุณสมบัติลดน้ำตาลในเลือดได้ จากการศึกษาในภายหลังพบสารสำคัญที่ออกฤทธิ์คือ Galegine
Goat's Rue (Galega officinalis)
การสังเคราะห์ Metformin อาศัยสารตั้งต้น 2 ชนิดคือ Dimethylamine hydrochloride และ Dicyanodiamide นำมาทำปฏิกิริยาต่อกันจนได้ Metformin ออกมาในที่สุด เราจึงมียา Metformin ใช้รักษาโรคเบาหวานครั้งแรกในปี 1950 (69 ปีมาแล้ว) และยังคงใช้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากปี 1950 ที่สังเคราะห์ยาเสร็จ ต่อมาในปี 1957 ยุโรปและแคนาดายอมรับให้ใช้ Metformin ในการรักษาโรตเบาหวานได้ แต่ที่อเมริกายังไม่ยอรับให้ใช้ เนื่องจากว่าสมัยนั้นราว ๆ ปี 1960-1970 อเมริกามียารักษาโรคเบาหวานที่อยู่ในกลุ่ม biguanide คือ Phenformin และ Buformin ใช้อยู่ แต่พอใช้ไปใช้มากลับพบว่าเกิด Lactic acidosis เพิ่มมากขึ้น ยา 2 ตัวนี้จึงถูกถอนออกจากตลาดอเมริกาไปในที่สุด จนถึงปี 1995 อเมริกาจึงหันมาใช้ Metformin ในที่สุด
Metformin มีกลไกหลักในการออกฤทธิ์คือ ลดการสร้างน้ำตาลที่ตับ (hepatic gluconeogenesis) ซึ่งลดปริมาณการสร้างน้ำตาลลงประมาณร้อยละ 25 ถึง 30 ของการสร้างน้ำตาลในร่างกายทั้งหมด ลดทั้ง fasting plasma และ postprandial glucose นอกจากนี้ Metformin ยังลดระดับ free fatty acid ในพลาสมาได้ร้อยละ 10 ถึง 30 และช่วยเพิ่ม peripheral insulin sensitivity รวมทั้งลดการดูดซึมของ glucose ที่ลำไส้ได้อีกด้วย
Metformin ยังคงเป็น first line drug ในการรักษา type 2 diabetes ภาพจาก ADA 2019
ปัจจุบัน Metformin ยังคงเป็น first line drug ในการรักษา type 2 diabetes เนื่องจากยามีความปลอดภัยสูงและราคาถูก Metformin มีข้อดีกว่ายารักษาเบาหวานตัวอื่น ๆ คือ ไม่มีผลต่อภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากยาไม่ได้มีผลกระตุ้นให้ร่างกายหลั่ง Insulin เป็นเพียงยาที่ช่วยทำให้ Insulin ทำงานได้ดีขึ้น (Insulin sensitizer) นอกจากนี้ Metformin ไม่มีผลทำให้น้ำหนักเพิ่ม (มียาเบาหวานบางตัวกินแล้วน้ำหนักเพิ่มได้)
Metformin เป็นยาที่มีรูปแบบเดียวเท่านั้นคือชนิดเม็ด ขนาด 500 mg และ 850 mg หักแบ่งได้ ยาจะมีขนาดการใช้สูงสุดต่อวันอยู่ที่ 2000-3000 mg
Metformin มีข้อห้ามใช้ที่ต้องจำขึ้นใจคือ ผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่องรุนแรง (eGFR < 30) ห้ามใช้ยานี้อย่างเด็ดขาด ดังนั้นคนไข้ไตไม่ดีจะใช้ยานี้ไม่ได้
Metformin มีผลข้างเคียงที่พบบ่อยมาก ๆ คือ ท้องเสีย (53%) ไม่สบายท้อง ท้องอืด (12%) เป็นผลข้างเคียงที่พบประจำและทำให้คนไข้ใช้ยานี้ไม่ได้ จนต้องเปลี่ยนยา นอกจากนี้ยังทำให้เกิด Lactic acidosis ได้เช่นกันแต่พบน้อยวันหลังจะเล่าให้ฟังครับ
ไหน ๆ ก็ World Diabetes Day ละ สำหรับใครที่เป็นโรคนี้ไปแล้วไม่ต้องเสียใจนะครับ รับประทานยา ฉีดยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด แล้วเราจะอยู่กับโรคเบาหวานไปได้อีกนาน
แต่ใครที่ยังไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญมาก พฤติกรรมการบริโภคก็เช่นกัน ส่วนตัวผมนั้นมีความเสี่ยงทั้งจากการที่เป็นคนชอบบริโภคอาหารรสหวาน + มีพันธุกรรม แม่เป็นแล้ว พ่อของแม่ก็เป็นแล้ว น้องของแม่ก็เป็นแล้ว เรียกได้ว่าพันธุกรรมฝั่งแม่มาเต็ม ๆ แต่ผมก็ตรวจคัดกรองทุกปี ปัจจุบันร่างกายยังทำงานปกติดีนะครับ ระดับน้ำตาลก็ปกติดี แต่คงต้องเลี่ยง ๆ อาหารรสหวานบ้าง
สิ่งที่เรากลัวสำหรับเบาหวานมากที่สุดคือภาวะแทรกซ้อนครับ ท่องไว้เลย ตา ไต หัวใจ เท้า พวกนี้แหละครับที่อันตราย
มาตระหนักเรื่องโรคเบาหวานกันในวัน World Diabetes Day นะครับ ด้วยรัก ^^ ❤️
ปิดท้ายด้วยภาพจากเว็บไซต์ IDF นะครับ “มากกว่า 50% ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ป้องกันได้” 😊
ขอบคุณภาพจาก https://worlddiabetesday.org/about/2019-theme/
โฆษณา