15 พ.ย. 2019 เวลา 05:43 • สุขภาพ
แคลเซียมเสริม..ใครกันแน่ที่จำเป็น
แคลเซียม คือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย ที่เด่นๆคือช่วยให้ความแข็งแรงแก่กระดูกและฟัน ช่วยในการทำงานของเซลล์และกล้ามเนื้อ ช่วยให้หัวใจเต้นปกติ และช่วยในการแข็งตัวของเลือด โดยปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ และมักจะมีค่าเพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุ เช่น 1,000 มก. ในผู้ชาย 25-50 ปี 1,500 มก. ในผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป 1,000 มก. ในผู้หญิง 25-50 ปี 1,500 มก. ในผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไปหรือในผู้หญิง 50 ปีขึ้นไปที่มีการใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน และ 1,200-1,500 มก. ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
1
ตามปกติแล้วแหล่งแคลเซียมที่ร่างกายได้รับส่วนใหญ่มาจากอาหาร โดยประเภทอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม กุ้งฝอย ไข่ เต้าหู้ คะน้า เป็นต้น
การรับประทานแคลเซียมเสริมสามารถทำได้ในกรณีที่ “ได้รับจากอาหารในปริมาณที่ไม่เพียงพอ” ก็สามารถเสริมเข้าไปในรูปของอาหารเสริมได้
แคลเซียมที่อยู่ในรูปอาหารเสริมในปัจจุบันมีหลายรูปแบบแตกต่างกันที่ชนิดของเกลือแคลเซียม ได้แก่ แคลเซียมคาร์บอเนต แคลเซียมอะซิเตต แคลเซียมซิเตรต แคลเซียมแลคเตต เป็นต้น ซึ่งเกลือแต่ละชนิดนี้เองที่จะเป็นตัวกำหนดว่าใน 1 เม็ดที่รับประทานให้ปริมาณแคลเซียมเดี่ยวๆเท่าไหร่
โดยส่วนใหญ่ที่พบเห็นบ่อยที่สุดคือ Calcium carbonate ซึ่งจะให้ปริมาณแคลเซียมคิดเป็นร้อยละ 40 เช่น Caltrate plus มีปริมาณ Calcium carbonate 1,500 mg คิดเป็นปริมาณ calcium (40%) 600 mg เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม Carbonate คือรูปแบบที่มีผลข้างเคียงเรื่องท้องผูกได้ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงในผู้สูงอายุที่มีปัญหาลำไส้และท้องผูกง่าย และเลือกใช้เกลือที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เช่น เกลือ citrate
ข้อดีอีกอย่างของ calcium citrate คือจะถูกเปลี่ยนรูปเป็น bicarbonate ทำให้เลือดเป็นด่างช่วยปรับสมดุลเลือดโดยเฉพาะในคนที่กินอาหารจำพวกโปรตีนสูง ผักผลไม้ต่ำ แต่ calcium citrate นั้นจะให้ปริมาณ calcium อยู่เพียงร้อยละ 24
เกลืออีกตัวที่พึ่งออกมาใหม่คือ Calcium L-Threonate มีข้อดีคือดูดซึมได้ง่ายโดยไม่ต้องอาศัยวิตามินดีช่วย และยังพบว่า L-threonate มีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจนของกระดูกอีกด้วย
การรับประทานแคลซียมเสริมแนะนำให้รับประทานไม่เกิน 2000-2500 มก.ต่อวัน ทั้งจากอาหารและจากยา เนื่องจากพบว่าการรับประทานแคลเซียมเกินขนาดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองได้
ดังนั้นการรับประทานแคลเซียมให้ปลอดภัยและได้ผลนั้นควรเลือกชนิดเกลือที่เหมาะสม ปริมาณที่เหมาะสม และหากเป็นไปได้ควรรับประทานจากแหล่งอาหารมากกว่าการใช้อาหารเสริม เพราะนอกจากจะได้แคลเซียมแล้ว ยังได้วิตามินและแร่ธาตุอื่นๆที่เป็นประโยชน์ต่อกระดูกและกล้ามเนื้อของเราอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
Calcium. Micronutrient Information Center. Oregon State University. 2017.
อรนิภา วงศ์สีลโชติ. เสริม “แคลเซียม” อย่างไรให้ปลอดภัยและได้ผล. ศูนย์ศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ 2562.
โฆษณา