1 ธ.ค. 2019 เวลา 16:04 • ความคิดเห็น
ซีรี่ย์ : หนังสือหนังหามมาเล่า [เล่มที่ 05]
‘สิงสู่’ หรือว่าเราทุกคนมีวิญญาณร้ายแฝงอยู่ในตัว?
...
1
นิยายสิงสู่เล่มนี้ ผู้เขียน ‘หริพรรณ’ ได้เขียนขึ้นจากบทภาพยนตร์ของ ‘คุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง’ ที่เป็นทั้งคนเขียนบทและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องสิงสู่ ที่เข้าฉายเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2561
...
โดย คุณวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง เป็นนักทำหนังขาประจำแนวสยองขวัญ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหนังผีชั้นยอดมากมายหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น นางนาก (2542) ผลงานที่รับหน้าที่เขียนบทเอง, เปนชู้กับผี (2549) และรุ่นพี่ (2558) หนังที่คุณวิศิษฏ์กำกับด้วยตัวเอง
...
แต่...ในบทความนี้ผมจะขอพูดถึงแค่ในส่วนที่เป็นหนังสือนิยายเท่านั้นนะครับ เนื่องด้วยผมยังไม่เคยดูภาพยนตร์เรื่องสิงสู่มาก่อนเลย (แฮ่...แบบนี้เขาเรียกว่าหักมุมหรือเปล่าเนี่ย?)
...
เครดิตภาพ https://www.beartai.com/lifestyle/296808
นิยายสิงสู่เล่าด้วยเรื่องราวของ ‘สำนักจิตต์อสงไขย’ (หรืออาจจะเรียกว่าลัทธิก็คงได้) วันหนึ่งนายแม่ได้เรียกตัวลูกศิษย์ทั้ง 6 คนให้มารวมตัวกันที่สำนัก เพื่อประกอบพิธีกรรมบางอย่างที่ดูน่าน่าฉงนสนเท่ห์ และดูไม่ปลอดภัย
...
และมันก็ได้เรียกบางอย่างขึ้นมา จนทำให้ชีวิตทั้ง 7 ต้องแขวนอยู่บนเส้นด้ายในคฤหาสน์ที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก หรือเรียกได้ว่าทางหนีถูกปิดตายทุกบาน
...
ก่อนอื่นเลยต้องขอชื่นชมในด้านการบรรยายภาพสถานที่ ซึ่งก็คือสำนักจิตต์อสงไขย ออกมาได้เห็นเป็นภาพและชวนฉงนไปกับบรรยากาศภายในสำนัก ที่แลดูแปลกประหลาด ดูไม่น่าไว้วางใจไปเสียหมด แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายแล้ว ฉากหลักๆ ที่นิยายใช้ดำเนินเรื่องเป็นประจำนั้น กลับมีเพียงแค่ไม่กี่จุดเท่านั้น
...
การบรรยายอากัปกิริยาอาการของคนถูกผีเข้าก็ทำได้ละเอียด จนสามารถจินตนาการถึงรูปร่างและใบหน้าที่บิดเบี้ยวผิดรูปจนแอบรู้สึกขยะแขยงไปในทีได้อย่างง่ายดาย
...
เพียงแต่น่าเสียดายที่การบรรยายในด้านของบรรยากาศรอบตัวละคร (หรือการบิ้วอารมณ์) กลับทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ไม่ทำให้เรารู้สึกเสียวสันหลัง กลัว หรือลุ้นอะไรเท่าไรนัก (ซึ่งผมเคยได้สัมผัสการบรรยายการบิ้วอารมณ์ที่ยอดเยี่ยมกระเทียมดองมาแล้ว จากนิยายผีจีนชุด ‘คืนพิศวง’ ที่แม้ผียังไม่ต้องโผล่ก็ทำให้เราชิงขนหัวตั้งไปก่อนได้แล้ว...ใครเป็นแฟนคลับนิยายสยองขวัญ ไม่ควรพลาดนิยายผีชุดนี้ครับ)
...
นั้นจึงทำให้การบรรยายในบางช่วงบางบท แลดูเนือยๆ ออกไปทางน่าเบื่อไปนิดนึง (คือช่วงที่ผีไม่โผล่ออกมา จะค่อนข้างน่าเบื่อมาก)
...
โดยผู้เขียนจะเล่าเหตุการณ์ปัจจุบันผสมกับฉากแฟลชแบ็ค (ฉากความทรงจำเก่าๆ ในอดีต) ควบคู่สลับกันไปมาตลอดทั้งเล่ม
...
และนั้นเองจะทำให้เราได้เห็น รากเหง้าปมปัญหาที่ฝังอยู่ภายในจิตใจของตัวละครทั้ง 7 คนที่แตกต่างกันออกไป ฉากแฟลชแบ็คนี้จึงเข้าเสริมน้ำหนักในเรื่องของพฤติกรรมตลอดจนการตัดสินกระทำการบางอย่างของตัวละครแต่ละตัวให้เราเข้าใจและเข้าถึงได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนั้นทำให้ตัวละครทั้ง 7 คนนั้น มีคาแรคเตอร์เฉพาะตัวที่ชัดเจน และเป็นสีเทาหมดทุกคน
...
เพียงแต่ในหลายๆ ครั้งบทก็ย้อนแย้งไปในที เช่น การที่ตัวละครหลายๆ ตัวเลือกที่จะแยกไปอยู่คนเดียว ทั้งๆ ที่เกิดเหตุวิญญาณร้ายคอยรังควานอยู่ก็ตาม
...
ส่วนในด้านตัวละครผี กลับไม่มีอะไรซับซ้อนมากมายนัก เจตนาชัดเจนเป็นเส้นตรง คาแรคเตอร์เฉพาะตัวก็มีแค่แยกเป็น เพศและวัย เท่านั้น
...
บทสรุปก็เรียกว่าไม่ถึงกับหวือหวามากเท่าไรนัก (คิดว่าถ้าได้อ่านจนมาถึงตอนใกล้บทสรุป ก็น่าจะพอเดาฉากจบกันถูกแล้วล่ะครับ)
...
วิญญาณร้ายแฝงอยู่ในตัวเราทุกคน!!!
...
สิ่งที่น่าสนใจจนชวนให้ผมหยิบมาขบคิดเล่นๆ ก็คือ ‘วิญญาณร้าย’ ที่สามารถนำมาเปรียบเปรยกับโครงสร้างบุคลิกภาพได้อย่างไม่น่าเชื่อ
...
หรือว่านักจิตวิทยาอย่าง ‘ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud)’ ค้นพบเจ้าวิญญาณร้ายที่แฝงอยู่ในตัวเราแล้ว เพียงแต่ฟรอยด์เรียกมันว่า ‘อิด (It)’
...
โครงสร้างบุคลิกภาพประกอบด้วย
...
1. อิด (It) : เป็นพลังงานติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด หรือเรียกให้ถูกต้องเลยก็คือ ‘สัญชาตญาณ’ ฟรอยด์กล่าวว่า “อิด มันไม่มีค่านิยม หลักจริยธรรม หรือคุณธรรมใดๆ มันขับเคลื่อนไปด้วยจุดประสงค์เดียวคือ หวังให้ได้มาซึ่งความพึงพอใจเท่านั้น” เช่น หากเราหิว อิดจะต้องการแค่ให้เราไปหาอะไรมาเข้าปากก็ได้ จะไปขโมยใครมาก็ไม่สน เพราะอิดต้องการแค่อย่างเดียวคือการบำบัดความหิวลงได้ก็พอ (อย่าเพิ่งไปนึกถึงตัวตลกของสตีเฟ่น คิงกันนะครับ)
...
2. อีโก้ (Ego) : เป็นพลังแห่งการเรียนรู้และเข้าใจข้อเท็จจริง รวมไปถึงการใช้เหตุผล อีโก้จะทำหน้าที่คอยแสวงหาหนทางที่ดูสมเหตุสมผลที่สุด เช่น โจทย์เดิม หากเราหิว อีโก้จะทำหน้าที่เลือกเส้นทางในการบำบัดความหิวโดยใช้เหตุผลตรึงตรอง อาจไปเปิดตู้เย็นทำกับข้าวกินเอง หรือออกไปร้านอาหาร และอะไรทานได้ อะไรทานไม่ได้ เป็นต้น (อีโก้ อาจตีความว่าเป็น ‘ปัญญา’ ก็ย่อมได้ครับ)
...
3. ซุปเปอร์อีโก้ (Super Ego) : เป็นพลังงานด้านศีลธรรมและค่านิยมต่างๆ เช่น ความยุติธรรม มโนธรรม เป็นต้น ซุปเปอร์อีโก้จะทำหน้าที่คอยเบรกความก้าวร้าวหรือสัญชาตญาณที่รุนแรงของอิดนั้นเอง (หรือเราจะตีความซุปเปอร์อีโก้เป็น ‘สติ’ ก็ได้เช่นกัน)
...
แล้วอะไรบ้างที่ทำให้อีโก้และซุปเปอร์อีโก้อ่อนกำลังลง จนต้องเสียทีให้อิดเข้ามาควบคุมร่างกายและจิตใจประหนึ่งถูกวิญญาณร้ายเข้าสิงได้
...
หากเรายึดเหตุผลตามหลักพระพุทธศาสนา เราคงได้คำตอบกลับมาว่า สิ่งนั้นก็คือ ‘กิเลส’ นั้นเองครับ
...
กิเลส แปลว่า สิ่งที่เศร้าหมอง และวิญญาณร้ายทั้ง 3 ตนที่ปรากฏในนิยาย อาจเป็นตัวแทนของกิเลสใหญ่ทั้ง 3 ได้แก่ ‘ความอยากได้ (โลภะ), ความคิดประทุษร้าย (โทสะ) และความหลง (โมหะ)’
...
ความหนึ่งปรากฏอยู่ในนิยาย “ใครก็ตามที่เผยความอ่อนแอออกมา จะเท่ากับเชื้อเชิญให้มันมายึดครองร่างและจิตของเรา” และสิ่งที่เศร้าหมอง (กิเลส) นี้ เปรียบได้ดั่งความอ่อนแอของจิตใจ
...
รากไม้ในที่นี้อาจสื่อถึงกิเลส ที่พร้อมจะงอกเงยยึดจิตวิญญาณของคุณไปก็เป็นได้ : เครดิตภาพ https://www.thehouse.online/movie_singsoo/
ความน่ากลัวของเจ้าวิญญาณร้ายทั้ง 3 ตนนี้คือ มันไม่เกี่ยงว่าคนๆ นั้นจะอายุเท่าไร หรือจบการศึกษาระดับใดก็ตาม
...
มันพร้อมที่จะแฝงเป็นเงาตามตัว ร่างไปไหนก็ตามติดไปทุกที่ ประหนึ่งเจ้ากรรมนายเวรมาทวงหนี้ รอจังหวะให้เจ้าของร่างจิตตกอ่อนแอ หรือมีเรื่องมากระทบใจ กลุ้มใจจนดวงแตก ช่วงนั้นวิญญาณร้ายจะเข้าสิงร่างให้ขาดสติ หน้าตาหมองคล้ำ ทำการใดก็ไม่สำเร็จ
...
มีตอนหนึ่งปรากฏในหนังสือ เมื่อนายแม่เจ้าของสำนักจิตต์อสงไขย ผู้แก่กล้าวิชาอาคมที่สุด ยังพลั้งพลาดให้วิญญาณร้ายสิงสู่ยึดร่างไปได้เช่นกัน เมื่อนายแม่เผยด้านอ่อนแอ (กิเลส) ของตนเองออกมา
...
ยามเมื่อคนเราเกิดโทสะ ตรรกะและเหตุผลย่อมถูกบั่นทอนลงไปด้วย
และทุกครั้งที่เราระเบิดโทสะออกมา ย่อมเกิดผลเสียที่ตามมาจนเราต้องมานั่งนึกเสียใจในภายหลัง และในบางครั้งเราไม่อาจแก้ไขมันได้อีกเลยก็เป็นได้
...
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเราถูกวิญญาณร้าย (อิด) เข้าครอบงำ เราทำสติ (ซุปเปอร์อีโก้) และปัญญา (อีโก้) ให้แข็งแกร่งขึ้น เพื่อเป็นน้ำดับไฟไม่ให้รุกลามจนเป็นภัยแก่ทั้งตนเองและผู้อื่น
...
อย่าได้เผลอลดทอนซุปเปอร์อีโก้และอีโก้ลง โดยการยอมให้กิเลสใหญ่ทั้ง 3 เข้ามาอิทธิพลกับจิตใจเรามากจนเกินไปนัก หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลมากเกินไปจนเผยช่องว่างให้กับเหล่าวิญญาณร้ายทั้ง 3 ฉวยโอกาสเข้ามาสิงสู่ได้กันนะครับ
..
ขอ 'สติ' และ 'ปัญญา' จงสถิตอยู่กับท่านผู้อ่านทุกคนครับ
...
โฆษณา