13 ธ.ค. 2019 เวลา 01:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ขนุนมาจากไหน?
ขนุนเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งที่นิยมกินกันในประเทศไทย และประเทศเขตร้อนอื่นๆ พืชในสกุลเดียวกันกับขนุน [Artocarpus] มีประมาณ 60 ชนิด มีทั้งที่เป็นไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม พืชในสกุลนี้ที่รู้จักและนำมาใช้ประโยชน์กันมากมี 3 ชนิด คือ ขนุน [Artocarpus heterophyllus] สาเก [Artocarpus altilis] และ จำปาดะ [Artocarpus integer]
ถ้าถามว่าผลไม้ที่เรารู้จักกันที่มีความเป็นญาติใกล้ชิดกันกับพืชสกุลขนุนคืออะไร?
1
ลูกขนุน [Artocarpus heterophyllus] ที่ออกมาจากต้น
ผลของสาเก [Artocarpus altilis] (ที่มา US Pacific Basin Agricultural Research Center - US Pacific Basin Agricultural Research Center)
จำปาดะ [Artocarpus integer] (ที่มา VoDeTan2 - CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=9680325)
หลายๆ คนอาจจะคิดไปถึงทุเรียนเพราะเป็นผลใหญ่เหมือนกัน สีผลภายนอกก็คล้ายๆ กัน หรืออาจจะเป็นน้อยหน่าที่ปอกออกมาแล้ว มีเมล็ดเยอะๆ เหมือนกัน
1
แต่คำตอบที่ถูกต้อง คือ ผลไม้ที่เป็นผลรวมเหมือนกับขนุน (ผลรวม หรือ Multiple fruits คือ ผลที่เกิดจากดอกช่อ ที่มีรังไข่ของดอกแต่ละดอก รังไข่เหล่านี้ กลายเป็นผลย่อยที่เชื่อมต่อแล้วรวมกันแน่นเหมือนเป็นผลเดี่ยว) ได้แก่ หม่อน (Mulberry) และ มะเดื่อ (Figs)
ทั้งขนุน หม่อน และมะเดื่ออยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ วงศ์ขนุน หรือ Moraceae
ผลของหม่อน (ที่มา Cwambier - CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=63402150)
ปัจจุบันพืชสกุลขนุนจะพบแพร่กระจายอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในหมู่เกาะของมหาสมุทรแปซิฟิก และบริเวณที่มีความหลากหลายของพืชสกุลนี้มากที่สุดคือ เกาะบอร์เนียว แต่พืชในสกุลนี้มีญาติใกล้ชิดเป็นพืชสกุล [Batocarpus] และ [Clarisia] ที่พบในทวีปอเมริกา และมีการพบฟอสซิลของพืชสกุลขนุนได้ในทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือ ในช่วงยุค Cretaceous ถึง Eocene แต่ไม่พบพืชเหล่านี้ในบริเวณนี้ในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จึงเกิดความสงสัยว่า พืชสกุลขนุนนี้มีจุดกำเนิดมาจากไหน และแพร่กระจายไปยังพื้นที่ที่พบในปัจจุบันได้อย่างไรกันแน่
แผนผังแสดงยุคและสมัยต่างๆ ในช่วงยุค Paleogene (ที่มา https://en.wikipedia.org/wiki/Paleogene)
ผลการศึกษาในระดับโมเลกุลของพืชในสกุลขนุน และพืชชนิดพันธุ์ที่เป็นญาติใกล้เคียง แสดงให้เห็นว่า พืชกลุ่มขนุนน่าจะมีจุดกำเนิดในทวีปอเมริกาเมื่อประมาณ 83 ล้านปีก่อนในยุค Cretaceous จากนั้นพืชสกุลขนุนแยกออกมาจากพืชสกุลใกล้เคียงในทวีปอเมริกาเมื่อ 59 ล้านปีก่อน ในสมัย Palaeocene และเข้ามาในทวีปเอเชียผ่านทางทวีปยุโรป ทำให้เราพบฟอสซิลของขนุนในยุโรป (เช่น ในออสเตรีย ฝรั่งเศส กรีนแลนด์) และอเมริกาเหนือ (ในรัฐเท็กซัส หลุยส์เซียน่า โคโลราโด แคนซัส และในประเทศแคนาดา)
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า พืชสกุลขนุนน่าจะแพร่กระจายผ่านทาง North Atlantic Land Bridge ที่เป็นแผ่นดินที่เชื่อมต่อระหว่างทวีปอเมริกาและยุโรป ผ่านทางเกาะกรีนแลนด์และไอซ์แลนด์ มายังทวีปยุโรปและเอเชีย ที่เกิดขึ้นในยุค Palaeocene และมาถึงเกาะบอร์เนียวเมื่อ 40 ล้านปีก่อนในสมัย Eocene ถึง Oligocene
แผนที่โลกในยุค Paleocene-Eocene (50 ล้านปีก่อน)และเส้นสีแดงแสดงให้เห็นการเดินทางของพืชสกุลขนุนผ่าน North Atlantic Land Bridge จากทวีปอเมริกามายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ดัดแปลงจาก Ron Blakey - https://www.thearmchairexplorer.com/geology/paleogene-period)
ซึ่งในยุคนั้นพืชสกุลขนุนสามารถแพร่กระจายได้ทั่วทั้งยุโรปและเอเชีย เนื่องจากอุณหภูมิของโลกในขณะนั้นสูงกว่าในปัจจุบัน หลังจากนั้นเมื่ออุณหภูมิลดลงทำให้พืชสกุลขนุนสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่ในเขตอบอุ่นและเขตหนาว (อุณหภูมิเฉลี่ยในสมัย Eocene และ Oligocene คือบริเวณเส้นสีเขียวในภาพข้างล่างซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในปัจจุบันถึง 4 ถึง 14 องศาเซลเซียส)
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลกจากอดีตถึงปัจจุบัน (ที่มา Glen Fergus - CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1240577)
เมื่อมาถึงบอร์เนียว พืชสกุลขนุนมีการวิวัฒนาการแยกออกเป็นชนิดพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัย Miocene การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลในยุคนี้ทำให้เกิดการแยกออกของเกาะบอร์เนียวจากแผ่นดินเอเชียเมื่อระดับน้ำทะเลสูง และเชื่อมต่อกับแผ่นดินเอเชียเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ ทำให้เกิดการส่งเสริมในการแยกเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ๆ เมื่อเกิดการแยกออกจากกัน และแพร่กระจายของพืชชนิดพันธุ์ใหม่ๆ กลับไปในพื้นที่ต่างๆ ในทวีปเอเชียเมื่อแผ่นดินมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง
โดยขนุน [Artocarpus heterophyllus] ที่พบการแพร่กระจายในธรรมชาติในประเทศอินเดียบริเวณเทือกเขาฆาฏตะวันตก (Western Ghats) ก็น่าจะมีวิวัฒนาการมาในบอร์เนียวก่อน แล้วแพร่กระจายทางบกไปถึงประเทศอินเดียเช่นกัน
ตำแหน่งของเกาะบอร์เนียว (ที่มา EHitchcock, CC BY-SA 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=71961210)
นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่า พืชสกุลขนุนน่าจะกระจายเมล็ดทางบกเป็นหลัก เนื่องจากผลมีขนาดใหญ่ ที่มักหล่นอยู่ใกล้ต้นแม่ หลังจากนั้นมักจะมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่บนบก เช่น ช้าง อุรังอุตัง และค้างคาวขนาดใหญ่ อย่างค้างคาวแม่ไก่ [Pteropus] มากิน และนำเมล็ดไปด้วย ทำให้เมล็ดแพร่กระจายไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่มีหรือเคยมีพื้นที่ติดกันกับเกาะบอร์เนียวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช้างน่าจะเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในการแพร่กระจายเมล็ดของขนุนบนบก
1
ที่น่าสนใจคือ พืชสกุลขนุนนี้มีการแพร่กระจายไปทางหมู่เกาะทางตะวันออกของบอร์เนียวด้วย เช่น หมู่เกาะฟิลิปปินส์ ซึ่งพื้นที่นี้กับเกาะบอร์เนียวไม่เคยเชื่อมต่อกันทางบกมาก่อน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ค้างคาวแม่ไก่น่าจะมีบทบาทสำคัญในการขนเมล็ดของพืชสกุลขนุนข้ามทะเลจากเกาะบอร์เนียวไปยังเกาะต่างๆ เนื่องจากเรามักพบค้างคาวแม่ไก่ในหมู่เกาะต่างๆ มักอยู่ที่ต้นของพืชสกุลขนุนและกินของพืชกลุ่มนี้เป็นอาหาร
ค้างคาวแม่ไก่ป่าฝน[Pteropus vampyrus] ที่น่าจะมีบทบาทในการขนเมล็ดพืชสกุลขนุน (ที่มา NobbiP, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=73213005)
เอกสารอ้างอิง
1. Evelyn W. Williams, Elliot M. Gardner, Robert Harris, Arunrat Chaveerach, Joan T. Pereira, Nyree J. C. Zerega, Out of Borneo: biogeography, phylogeny and divergence date estimates of Artocarpus (Moraceae), Annals of Botany, Volume 119, Issue 4, March 2017, Pages 611–627, https://doi.org/10.1093/aob/mcw249
โฆษณา