19 ธ.ค. 2019 เวลา 12:19 • ความคิดเห็น
วิชาเรื่องสั้น 101 แบบมือสมัครเล่น : 5
วันนี้มาถึงตอนที่ 5 ของวิชาการเขียนเรื่องสั้นแบบสุกเอาเผากิน มั่วมาจากข้างรั้วสถาบันฝึกเขียนชื่อดังที่ เจเค โรว์ลิ่ง ไม่เคยมาเรียนแต่อย่างใด
ดังนั้น แอดจึงไม่อาจการันตีความสำเร็จของท่านได้ แม้ว่าจะเรียนจบหลักสูตรแล้ว ใบประกาศก็ไม่มีแจก ชุดบัณฑิตน้อยก็ไม่ต้องใส่มาวันจบการศึกษานะ เพราะคาดว่าก่อนจะจบ คนเรียนก็คงแก่ใกล้เกษียณแล้ว ว่าแล้วก็มาเรียนเรื่องต่อไปกันเลยดีกว่า
วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่อง "การสร้างตัวละคร"
เรื่องราวทุกอย่างมักต้องมีตัวดำเนินเรื่อง และเรามักเรียกตัวดำเนินเรื่องนี่เองว่า "ตัวเอก"
ตัวเอกของเรา อาจเป็นพระเอก นางเอก ตัวร้าย พระ ครู นักเรียน คนบ้า หรือ ยายมีที่นั่งเห็นเหตุการณ์คนตบกันที่หัวตลาด ก็ได้ทั้งสิ้น
สำหรับเรื่องสั้น ตัวเอกที่ดำเนินเรื่อง อาจไม่จำเป็นต้องสร้างให้โลดโผน หรือมีรายละเอียดอะไรมากมายนัก เพราะเรื่องสั้นส่วนใหญ่เราเน้นแกนเรื่องหรือนำเสนอพล๊อตหลัก เพราะด้วยความที่เนื้อหามันสั้น เราจึงต้องให้น้ำหนักความสำคัญไปที่การเสนอความสนุกของแก่นเรื่องเป็นหลัก แทนที่จะลงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุกฉาก ก็คงไม่มีเวลา
แต่สำหรับนิยาย อาจมีความแตกต่างไปบ้าง เพราะเนื้อหาที่ยาวกว่า และมีความสลับซับซ้อนได้มากกว่า จึงจำเป็นที่ต้องมีตัวละครที่ดำเนินเรื่องที่มีรูปธรรมชัดเจนกว่า ซึ่งเราอาจเรียกว่ามี character
ตัวอย่างเช่น
พระเอกของเราในเรื่องสั้น เราอาจไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย แค่พูดคำว่าครับในบทพูด หรือ บอกว่าเป็นเพศชาย อะไรทำนองนี้ ก็อาจเพียงพอแล้วสำหรับการดำเนินเรื่องไปได้
แต่ในนวนิยายกลับต้องมีความลึกและมิติที่มาก กว่านั้น
เราอาจให้พระเอกของเรามีลักษณะ เช่น เป็นชายหนุ่มหล่อเหลา รูปร่างสูงโปร่ง ร่างกายมีมัดกล้ามพองาม ตามสไตล์นักกีฬารักบี้มหาลัย เขาเรียนอยู่คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ปีสี่ เป็นคนขี้อายเวลาอยู่ต่อหน้าสาว ๆ แต่ เข้มขรึมเอาจริงเอาจังเวลาเล่นกีฬาและทำงาน ชอบเล่นกีตาร์ที่บันไดทางขึ้นคณะ มีเสน่ห์และร่าเริงท่ามกลางเพื่อนฝูง แต่กลับซื่อบื้อเมื่ออยู่ต่อหน้านางเอก บลา ๆ ๆ ๆ
อะไรทำนองนี้เป็นต้น
คำถามที่อาจสงสัยต่อไปคือ แล้วทำไมต้องอธิบายหรือสร้าง character ให้ตัวละครไปทำไม ถ้าเกิดในเรื่องมีตัวละคร 10 ตัว ไม่ต้องสร้าง character ทั้งสิบตัวละครเลยหรือ
คำตอบคือ อาจจะใช่
เพราะในนิยายนั้น มีพื้นที่ให้เราสามารถสร้างสรรค์ได้มากมาย การสร้าง character เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมิติ และความสนุกสนานให้กับเรื่องราวที่เรากำลังผูกโยงกันขึ้นเป็นนิยายหนึ่งเรื่อง
และลักษณะทั้งภายนอก เช่น สวย หล่อ สูง เตี้ย ตาบอด ขาขาด มือตะขอ ผมสีทอง หรือลักษณะภายใน (นิสัย&การแสดงออก) เช่น ขี้โมโห ฉุนเฉียวง่าย ใจดี ยิ้มเก่ง มีน้ำใจ ขี้งก โกหกเก่ง มุทะลุ ขี้กังวล อะไรทำนองนี้
ลักษณะตัวละครเหล่านี้ จะสร้างสีสรรพ์ให้เรื่องราวในนิยายเข้มข้นขึ้น และมีความสมจริงสมจัง เป็นเหตุเป็นผลกัน ส่งผลทำให้เรื่องราวสนุกจนคนอ่านอาจวางไม่ลง
สำหรับนักเขียนบางคน อาจต้องพกสมุดติดตัวไว้ 1 เล่มเสมอ เขาเรียกมันว่า
"สมุดจดพล๊อต"
ในสมุดนี้มักถูกจดไอเดียดี ๆ ที่เกิดขึ้นในทันทีทันใด เรื่องราวที่อาจนำมาสร้างเป็นเรื่องที่น่าตื่นตะลึง น่าประทับใจ ขนลุกขนพอง หรือซึ้งจนน้ำตาไหล
สมุดพล๊อต ยังใช้จดบุคลิกภาพของผู้คนที่เราพบเจอ หากใครมีบุคลิกภาพที่น่าสนใจ มีนิสัยที่แปลกประหลาดจนเราต้องอ้าปากค้าง นั่นคือผู้ที่เราจะเอาข้อมูลมาสร้างเป็นตัวละครที่น่าสนใจ ในนิยายของเราได้ ซึ่งบางทีหากเราไม่จด กว่าจะนึกได้อีกที เราก็พลาดข้อมูลที่น่าสนใจไปแล้ว เพราะหลงลืมไปเสียก่อนนี้เอง
ยิ่งเราพบเจอคนในชีวิตจริงหลากหลายมากเท่าใด นักเขียนที่ดีก็จะมีทรัพยากรให้ใช้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อเจอคนที่มีบุคลิกภาพที่น่าสนใจ เขาจะจดบันทึกเอาไว้ แล้วเอาไปแต่งแต้มเกิดเป็นตัวละครในเรื่องราวที่เขียนขึ้นมาใหม่ได้ในทันที
นอกจากจดบันทึกบุคลิกภาพเพื่อสร้างตัวละครแล้ว การจดบันทึกเรื่องราวที่พบเจอ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยในการสร้าง character ให้สมจริงและชัดเจนได้ยิ่งขึ้น เช่น
เราได้พบเด็กหญิงอายุราว 10 ขวบปี เธอหน้าตาน่ารักหมดจด เดินเข้ามาในร้านอาหารที่คราคร่ำด้วยผู้คน ในมือถือพวงมาลัยเป็นใบเตยพับเป็นช่อดอกไม้ส่งกลิ่นหอม แต่ไม่มีใครสนใจเธอเลยแม้แต่น้อย เด็กน้อยได้แต่ยืนนิ่งข้าง ๆ โต๊ะอยู่ครู่หนึ่ง ไม่ส่งเสียงรบกวนแขกในร้านแต่อย่างใด เมื่อเห็นว่าคงไม่มีใครอยากได้มาลัยที่ห้อยในมือเป็นพวงใหญ่ เธอจึงเดินไปโต๊ะข้าง ๆ แทน เธอทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบทุกโต๊ะ ถ้าโชคดีเธอจะได้ขายบ้างสองสามพวง
เราจดบันทึก character เด็กน้อยคนนี้ไว้ ภาพบรรยากาศที่เราเห็น มันจะช่วยขับตัวละครของเราให้เด่นชัดขึ้น จากนั้นเราจะสร้างเรื่องราวต่อจากนี้ในแบบไหน เราก็จิตนาการเอาได้ตามที่เราจะสร้างสรรค์ เช่น
แนวดราม่า
"แม่จ๋า วันนี้ไม่มีใครซื้อมาลัยเราเลยจ๊ะ" เด็กน้อยทำหน้าสลดพลางยื่นพวงมาลัยทั้งพวงให้แม่ที่นั่งรออยู่มอเตอร์ไซค์ที่จอดนิ่งอยู่หน้าร้าน
"ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวเราลองไปร้านข้าวต้มที่ในเมืองดู เผื่อจะได้ขายอีกสักสามสี่พวงนะลูก" แม่ยิ้มให้พลางรับพวงมาลัยมาใส่ตะกร้าหน้ารถ
เด็กหญิงค่อย ๆ ขยับตัวขึ้นนั่งซ้อนท้ายแม่ พลางกอดเอวแม่ไว้แน่น
"แม่หนูหนาวจัง"
"เดี๋ยวถ้าร้านหน้าไม่ได้ขาย เรากลับแล้วก็แล้วกันนะ พรุ่งนี้หนูต้องไปโรงเรียนแต่เช้าด้วย....แม่ขอโทษนะ" แม่กล่าวพร้อมเอามือจับมือน้อย ๆ ที่เกาะอยู่ที่เอวเธอไว้แน่น
"จ๊ะ" เด็กน้อยรับคำพลางซบหน้าลงบนแผ่นหลังอันอบอุ่น
แม่ค่อย ๆ ถีบคันสตาร์ทพร้อมบิดคันเร่งอย่างทุลักทุเล แม้ว่าจะเป็นเครื่องดัดแปลงให้ผู้พิการขาขาดอย่างเธอ แต่มันก็ยังใช้งานยากลำบากอยู่ดี
เครื่องยนต์ติดแล้ว สองแม่ลูก ค่อย ๆ ฝ่าลมหนาวออกไปกลางถนนที่มืดทึม เห็นเพียงแสงไฟเบรคท้ายรถที่ส่องแสงสีแดงเรื่อ ๆ ที่ค่อย ๆ ลับตาไปทีละน้อย
หรือ แนวหักมุม
"พ่อจ๋า พวงมาลัยไม่ได้ขายเลยอ่ะ" เด็กน้อยยื่นพวงมาลัยทั้งพวงให้พ่อที่นั่งสูบบุหรี่เล่มมือถือรอที่รถ
"ช่างมัน ว่าแต่แกน่ะ ได้อะไรมาบ้าง" พ่อโยนบุหรี่ลงพื้นพร้อมใช้เท้าขยี้จนส่งเสียงซ่ากับพื้นถนนที่เปียกแฉะ
"ได้กระเป๋าตังค์ของลุงคนนั้น กับของพี่อีกคนที่นั่งอีกโต๊ะ มัวแต่คุยกัน หนูเลยหยิบมาหมดเลย ลุงมีเงินเยอะเลยพ่อ เป็นพัน ๆ" เธอหยิบของที่ซ่อนในถุงคาดเอวออกมา
"เออ มึงนี่เก่ง สอนทีสองทีก็เก่งแล้ว ป่ะ เดี๋ยวพ่อพาไปเซเว่น ขึ้นรถเลย"
เด็กน้อยรีบโดดขึ้นรถ พ่อบิดเร่งเครื่อง รถพุ่งตัดผ่านความมืดไปอย่างรวดเร็ว แกเอากระเป๋าที่ควักเอาเงินออกหมดแล้วโยนทิ้งเข้าไปที่ป่ารกข้างทาง แล้ววันนี้สองพ่อลูกก็รอดตายไปได้อีกวันแล้ว
จะเห็นได้ว่า character ที่เราปูทางไว้แต่แรก ส่งผลต่อเรื่องราวของเราได้มากมาย ถ้าเราไม่สร้างภาพบุคลิกภาพและบรรยากาศที่แสดงออกตอนแรกไว้ เรื่องราวต่อจากนั้นอาจขาดอรรถรสและความเข้มข้นไปเลยก็เป็นได้
สรุป
การสร้างตัวละคร โดยการกำหนด character ให้นั้น ก็นับเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความสมจริงสมจัง สร้างให้เรื่องราวที่เรากำลังเล่ามีมิติขึ้น มีอารมณ์ที่ชัดเจนและกำหนดแนวทางของเรื่องเล่าของเราให้เป็นไปตามนั้น อาจใช้มันเพื่อขับตัวเรื่องหรือพล๊อตให้โด่นเด่น หรือกระทั่งใช้มันเป็นตัวพล๊อตเองเลยก็ย่อมได้
ตัวอย่าง character ที่ใช่เป็นพล๊อตหลักของเรื่องเลย คงจะยกตัวอย่างอะไรไปไม่ได้ นอกจากภาพยนต์เรื่อง Split ภาพยนต์ที่หลอนจนคุณอาจขนลุกโดยไม่รู้ตัว เป็นการใช้ character ของตัวละครมาเป็นแก่นเรื่องเสียเอง ซึ่งน่าสนใจมากทีเดียวครับ
สำหรับเรื่องการสร้าง character ก็คงจบลงเพียงเท่านี้ก่อน อนาคตจะพูดถึงเรื่องอะไรต่อไป ถ้านึกออกจะเขียนมาเล่าให้ฟังอีกนะครับ
สำหรับวันนี้...สวัสดี
โฆษณา