23 ธ.ค. 2019 เวลา 13:56 • กีฬา
เฟร์นันโด เรดอนโด้ : กองกลางตัวรับที่ให้ความสำคัญกับ เทคนิค มากกว่า พละกำลัง
"อะไร ... ไอ้หมอนี่มันมีแม่เหล็กซ่อนไว้ในรองเท้าเหรอ?" นี่คือสิ่งที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน พูดออกมาในวันที่ เรอัล มาดริด บุกมาถล่ม แมนฯ ยูไนเต็ด 3-2 ถึง โอลด์ แทรฟฟอร์ด ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ฤดูกาล 1999-2000
ในเกมนั้นบนหน้าสกอร์บอร์ดไม่มีชื่อของ เฟร์นันโด้ เรดอนโด้ เป็นผู้ทำประตูหรอก แต่คำกล่าวของ เฟอร์กี้ นั้นหมายถึงเขาโดยตรง ... นักเตะกองกลางตัวรับเพียงคนเดียวในสนามของ ราชันชุดขาว ที่เล่นงานแผงมิดฟิลด์ของ ยูไนเต็ด จนปั่นป่วน
นี่คือเรื่องราวของกองกลางชาวอาร์เจนไตน์ในสไตล์ที่แตกต่างที่สุด ณ เวลานั้น ผู้เกมรับที่ใช้เทคนิคมากกว่าพลัง และกลายเป็นตำนานที่ถูกกล่าวถึงจนทุกวันนี้
ติดตามทั้งหมดได้ที่นี่
คาเตนัคโช่...จุดกำเนิดกองกลางตัวรับ 100%
ฟุตบอลก็เหมือนอีกหลายสิ่งบนโลกนี้ที่มีวิวัฒนาการไปข้างหน้าแบบไม่หยุดยั้ง จากเกมที่อาจจะเริ่มต้นแค่มีผู้เล่นให้ครบ 2 ฝั่งและเตะบอลกันไปมาเพื่อยิงให้เข้าประตู ก็เริ่มกลายมาเป็นเกมที่มีรายละเอียดมากขึ้น ต้องมีโค้ชที่คอยวางแท็คติก, มีทีมงานสตาฟฟ์ที่ช่วยดูแลการฝึกซ้อม และมีนักเตะที่เล่นประจำตำแหน่งเพื่อช่วยให้ทีมมีส่วนผสมที่กลมกล่อมที่สุด
Photo : historiadelfutbolboliviano.com
กองหลังมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้คู่แข่งมีโอกาสยิง กองกลางมีหน้าที่ลำเลียงบอลขึ้นไปข้างหน้า และกองหน้ามีหน้าที่ทำประตู มันก็ง่ายๆ อย่างนั้นเอง จนกระทั่งเมื่อเริ่มเข้าสู่ยุค '60s เป็นต้นมา สิ่งเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป เมื่อมีการแข่งชิงแชมป์รายการต่างๆ รวมถึงฟุตบอลโลกเป็นเวทีตัดสินหาหมายเลข 1 ศาสตร์แห่งฟุตบอลก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจัง ณ เวลานั้นเอง
และตำแหน่งที่มีการถูกเพิ่มมิติและหน้าที่มากที่สุดตำแหน่งหนึ่งคือ กองกลาง โดยเฉพาะในส่วนของ กองกลางตัวรับ ที่เดิมทีนั้นตำแหน่งนี้ไม่ได้มีหน้าที่ชัดเจนมากมายนัก ยกตัวอย่างเช่นในฟุตบอลโลกปี 1966 ที่อังกฤษคว้าแชมป์โลก เซอร์ อัลฟ์ แรมซี่ย์ กุนซือทีมชุดนั้นเลือกใช้ระบบ 4-4-2 ที่ไม่มีปีกธรรมชาติ เขาจะให้นักเตะกองกลางทั้ง 4 คนทำหน้าที่ช่วยกันขับเคลื่อนขึ้นลงทั้งหมด (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ บ็อกซ์ ทู บ็อกซ์ มิดฟิลด์)
อย่างไรก็ตามจุดเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยก็มาถึง มันเป็นยุคที่วงการฟุตบอลอิตาลีเฟื่องฟูถึงขีดสุด อุดมไปด้วยนักเตะดังๆ มากมาย และสิ่งเล็กๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ "การนับคะแนน" นั่นเอง โดยระบบในกัลโช่ เซเรีย อา ณ เวลานั้นมีการให้แต้มกับผู้ชนะในเกมเพียงแค่ 2 คะแนนเท่านั้น ส่วนทีมเสมอจะได้ 1 คะแนน ดังนั้นด้วยช่องว่างที่แทบจะไม่ต่างกัน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเกมแท็คติกที่วัดกันที่ความอดทน รับให้แน่นและขอจังหวะแบบโป้งเดียวจบเรื่อง ซึ่งในระบบนี้เรียกว่าการเล่นแบบ "คาเตนัคโช่" หรือแปลเป็นไทยว่า "การลงกลอนล็อคประตู" เอาไว้นั่นเอง
การกำเนิดของ คาเตนัคโช่ นำมาซึ่งหน้าที่ที่ชัดเจนของ มิดฟิลด์ตัวรับ โดยพวกเขาจะมีหน้าที่ปักหลักยืนอยู่หน้ากองหลังและคอยปัดกวาดให้บอลไปถึงพื้นที่สุดท้ายให้ยากที่สุด แย่งบอลให้ได้คือสิ่งที่สำคัญเป็นอันดับ 1 และหลังจากนั้นก็ออกบอลให้กับเพื่อนร่วมทีมที่รับผิดชอบในการทำเกมรุก นั่นคือทั้งหมดที่พวกเขาต้องทำ
แน่นอนว่าตำแหน่งนี้คือการปิดทองหลังพระของจริง นักเตะตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับสามารถสร้างความหวือหวาได้อย่างเดียวคือตอนเข้าปะทะและแย่งบอลจากคู่แข่ง ทว่าในหน้าที่ที่แสนน่าเบื่อและเชื่อว่าไม่ใช่ตำแหน่งในฝันของเด็กๆ หลายคนที่อยากจะเติบโตมาเป็นนักฟุตบอล มันกลับส่งผลสำคัญต่อทีมอย่างมาก นั่นจึงทำให้มิดฟิลด์ตัวรับโดยธรรมชาติ กลายเป็นตำแหน่งที่หลายประเทศและหลายสโมสรใช้กันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมา
Photo : www.fifa.com
ตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมที่สุดคือการเล่นของ โคล้ด มาเกเลเล่ กองกลางตัวรับที่สูงไม่ถึง 170 เซ็นติเมตร ด้วยภาพลักษณ์ภายนอกเขาไม่มีออร่าความเป็นซูเปอร์สตาร์เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้อยู่ทีมเดียวกับนักเตะอย่าง ซีเนดีน ซีดาน, เดวิด เบ็คแฮม,โรแบร์โต้ คาร์ลอส และ โรนัลโด้ นาซาริโอ ยิ่งทำให้เขาอับแสงในสายตาของแฟนบอลไปกันใหญ่
แต่กับเพื่อนนักเตะด้วยกันนั้นทุกคนรู้ดีว่าตัวรับอย่าง มาเกเลเล่ นั้นสำคัญกับทีมขนาดไหน ตัวของ ซีดาน เองยังเคยเปรียบเทียบว่า เรอัล มาดริด กำลังประกอบรถ เบนท์ลี่ย์ ราคาแพงแต่กลับให้ความสำคัญผิดจุดด้วยการตกแต่งภายนอกด้วยทองคำ (หมายถึงนักเตะชื่อดังคนอื่นๆ ที่ซื้อเข้ามาร่วมทีม) แต่กลับละเลยสิ่งสำคัญที่สุดคือเครื่องยนต์ (เปรียบกับ มาเกเลเล่) ในวันที่ขาย มาเกเลเล่ ให้กับ เชลซี ไปในปี 2004
ไม่มีใครรู้ว่าทำไม มาดริด จึงคิดเช่นนั้น ไม่มีข้อสงสัยว่าพวกเขาคิดผิดที่ปล่อย มาเกเลเล่ ออกไป อย่างไรก็ตามอาจจะมีเหตุผลเป็นเพราะว่าไม่กี่ปีก่อน พวกเขาได้เห็นตัวรับที่ทำอะไรได้มากกว่าที่ มาเกเลเล่ ทำ นั่นคือมิดฟิลด์ตัวรับที่แปลกและแหวกขนบธรรมเนียมตัวรับมากที่สุดแห่งยุค ... ที่ชื่อว่า เฟร์นันโด้ เรดอนโด้ กองกลางชาว อาร์เจนติน่า นักเตะที่ใส่ศิลปะลงไปในการเล่นเกมรับ หนักแน่นแต่พริ้วไหว, นิ่งสงบแต่เต็มไปด้วยคุณภาพ เป็นนักเตะที่ถูกวางไว้ในส่วนของเกมรับแต่กลับเรียกเสียงฮือฮาในสนามได้ตลอดเวลา ...
หาให้เจอ ใช้ให้ถูก
หากคุณเปิดคลิปในยูทูบเพื่อหาดูฟอร์มการเล่นของ ดิเอโก้ มาราโดน่า ตำนานแข้งอาร์เจนติน่า นักเตะที่ว่ากันว่าดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอล คุณจะได้พบว่าฟุตบอลในยุคของเขานั้นเป็นเกมที่ค่อนข้างจะดิบเถื่อนกว่ายุคปัจจุบันหลายเท่านัก
Photo : www.thesun.co.uk
การไล่เตะกันดื้อๆ เข้าปะทะแบบคาบลูกคาบดอกในแบบที่ใช้คำว่าตั้งใจเล่นคนก็ยังได้ คือสิ่งที่ มาราโดน่า เผชิญมาตลอดชีวิตค้าแข้ง แต่สุดท้ายเขาก็เอาตัวรอดได้ด้วยการเทคนิคที่เกินมนุษย์ รวมถึงลูกล่อลูกชนที่ไม่กลัวใคร เรียกได้ว่าความรุนแรงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถเอาเขาลงได้เลย ชื่อเสียงของ มาราโดน่า โด่งดันจนกลายเป็นไอดอลของเด็กๆ ทุกคนที่เติบโตมากับความยากจนและใช้ฟุตบอลสร้างชื่อเสียงและเงินทอง แต่ไม่ใช่กับเด็กอย่าง เรดอนโด้
ตัวของ เรดอนโด้ นั้นมีชีวิตวัยเด็กที่ไม่เหมือนกับแข้งอเมริกาใต้คนอื่นๆ ครอบครัวของเขาไม่ได้ยากจน มีฐานะในระดับหนึ่ง และเขาเองก็ได้รับการศึกษาในแบบที่ดีที่สุดเท่าที่เด็กคนหนึ่งจะได้รับ ดังนั้นการเล่นฟุตบอลของเขาไม่ได้เริ่มขึ้นเพราะต้องการหนีความเป็นจริงอันโหดร้ายของโลกภายนอก เขาแค่เล่นมันเพราะเขาหลงใหลและชอบเท่านั้น
Photo : ar.marca.com
สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความแตกต่างได้เป็นอย่างดี ในยุคที่ เรดอนโด้ ก้าวขึ้นมาเป็นนักเตะของทีมชุดใหญ่ของ อาร์เจนติโนส จูเนียร์ (ทีมเก่าของ มาราโดน่า) เขาเป็นนักเตะดาวรุ่งไม่กี่คนที่เลือกจะเล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวรับ และไอดอลของเขาไม่ใช่ มาราโดน่า เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ รุ่นเดียวเขา แต่เขาชอบนักเตะที่ชื่อว่า ริคาร์โด้ โบชินี่ นักเตะ อาร์เจนติน่า ชุดแชมป์โลกปี 1986 ต่างหาก
ตัวของ โบชินี่ นั้นเป็นเพลย์เมคเกอร์ ที่ไม่ได้เก่งกาจเรื่องยิงประตูเลยแม้แต่น้อย (ยิงประตูในนามทีมชาติไม่ได้เลยแม้แต่ลูกเดียว) แต่จุดเด่นอยู่ที่การผ่านบอลและวิสัยทัศน์ในการมองเกมจนได้ฉายาว่า "pase bochinesco" (ส่งบอลผ่านตลอด) เลยทีเดียว
เรดอนโด้ เองแม้จะเป็นมิดฟิลด์ตัวรับแต่ก็ได้อิทธิพลมาจาก โบชินี่ ไม่น้อย ตัวของ โบชินี่ นั้นครั้งหนึ่งเคยพูดถึงผู้เล่นที่ยืนอยู่กลางสนามและกำหนดทิศทางของเกมว่า จำเป็นต้องมี 2 สิ่งรวมกันในคนเดียว อย่างแรกคือต้องรู้ว่าจังหวะไหนควรเร็ว จังหวะไหนควรช้า และอย่างที่ 2 ต้องมีเทคนิคชั้นเลิศ ถึงขั้นที่มากพอจะพาบอลไปข้างหน้าด้วยความเร็ว แต่ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์ของการโชว์ออฟ และทำเกินหน้าที่แต่อย่างใด การพาบอลข้างหน้าทะลวงแนวรับคู่แข่งด้วยความเร็วจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมิดฟิลด์คนนั้นต้องการซื้อเวลาเพื่อให้เพื่อนเข้าประจำตำแหน่งที่สามารถเข้าทำ หรือจบสกอร์ได้ดีที่สุด
2
คำอธิบายนี้ระบุถึงสิ่งที่ เรดอนโด้ เป็นได้อย่างดีที่สุด เขาก้าวขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ของ อาร์เจนติโนสฯ ตั้งแต่อายุ 15 ปี และรับตำแหน่งบัญชาเกม นี่คือตำแหน่งที่น่าทึ่งที่น้อยครั้งเราจะได้เห็นนักเตะอายุน้อยๆ รับผิดชอบกันในส่วนนี้
Photo : yourweeklyfootballhistorylesson.tumblr.com
นั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เฟร์นันโด เรดอนโด้ มีทักษะการเล่นไม่เหมือนกับมิดฟิลด์ตัวรับอื่นๆ ในยุคที่นักเตะในตำแหน่งนี้จะต้องเป็นพวกฮาร์ดแมน ดุดันเตะเป็นเตะหวดเป็นหวดร้อนแรงเหมือนกับไฟ เรดอนโด้ กลับเป็นเหมือนกับน้ำแข็งที่เยือกเย็นใช้การอ่านเกมมากกว่าการใช้กำลัง ... แม้ในเวลานั้นจะเรียกตำแหน่งนี้แค่ "ตัวรับ" แต่ยุคปัจจุบันเรียกนักเตะแบบเรดอนโด้ชัดเจนขึ้นว่า "ดีป ลายอิ้ง เพลย์เมคเกอร์" หรือ เพลย์เมคเกอร์ตัวต่ำ นั่นเอง
เติมเต็มความสามารถ
ต่อให้เล่นสวยงามแตกต่างจากตัวรับอื่นๆ และมีประสิทธิภาพแค่ไหน แต่หากปราศจากเกียรติยศแล้วไซร้ นักเตะคนนั้นก็จะไม่ได้เป็นที่จดจำมากนัก และโชคดีที่ เรดอนโด้ เป็นนักเตะที่มีความทะเยอทะยานพอตัว เขาเล่นให้กับ อาร์เจนติโนส จูเนียร์ ถึงอายุ 19 ปี ก็ย้ายมาสเปนทันที โดยเริ่มกับทีมเล็กๆ อย่าง เตเนริเฟ่ ซึ่งใช้เวลา 4 ปีที่นั้น และทำให้ทุกคนรู้ว่าเขาคือตัวรับในแบบฉบับที่ทีมชอบเล่นเกมรุกต้องมี
Photo : www.deporpress.com
ฟอร์มกับ เตเนริเฟ่ ทำให้ เรอัล มาดริด ซื้อตัวเขาไปร่วมทีมในช่วงปี 1994 และการขยับซีซีขึ้นมาเล่นกับทีมใหญ่ เป็นอะไรที่แตกต่างที่ เรดอนโด้ ได้สัมผัส ขวบปีแรกเขาต้องพิสูจน์ตัวเองเยอะมาก เพราะยังโชว์ศักยภาพได้ไม่ดีเท่าไรนัก จนกระทั่ง โยฮัน ครัฟฟ์ หนึ่งในตำนานนักเตะและกุนซือของโลก ต้องออกมาวิจารณ์ว่า เขาเป็นพวกเสียบอลง่ายเกินไป
"มาดริดเป็นทีมที่เล่นได้ค่อนข้างแย่ตลอดทั้งปี ผมไม่คิดว่าจะมีกองกลางคนไหนในโลกนี้เสียบอลได้เท่ากับที่ เรดอนโด้ ทำได้เลย มันมากเกินกว่าจะนับ" ครัฟฟ์ กล่าว ซึ่ง ณ เวลานั้น เรดอนโด้ ในฐานะเด็กใหม่ต้องรับบทบาทหนักมากในฐานะมิดฟิลด์ตัวรับตัวเดียว
นั่นคือจุดเปลี่ยนที่ยอดเยี่ยม เรดอนโด้ พัฒนาตัวเองขึ้นมามากนับตั้งแต่วันนั้น และกลายเป็นผู้เล่นที่พา มาดริด คว้าแชมป์ ลา ลีกา ได้ในฤดูกาล 1994-95 และ 1996-97 ด้วยการเล่นในแบบที่เอาบอลจากหลังขึ้นไปหน้าได้อย่างรวดเร็ว ในเกมรับเขาแทบจะอยู่บนทุกพื้นที่ของสนาม แต่ไม่ใช่เกิดจากการ "วิ่งพล่าน" เหมือนพวกมิดฟิลด์ไดนาโมคนอื่นๆ ที่วิ่งไม่มีหมด แต่เป็นการอ่านเกมก่อนและค่อยวิ่งเข้าไปรอรับเหมือนกับปรมาจารย์หมากรุกที่กว่าจะเดินหมากแต่ละครั้งต้องผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี
Photo : www.mundodeportivo.com
สไตล์ดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อกลบจุดอ่อน ที่ถึงแม้เขาจะเป็นกองกลางตัวรับที่จ่ายบอล และเซ้นส์บอลสูงขนาดไหน แต่ความจริงคือการที่ มาดริด ใช้เขาเล่นกองกลางตัวรับตัวเดียว ก็จะทำให้เขาไม่สามารถทนแรงเสียดทานในเกมหนักๆ ได้มากเท่าไรนัก ดังนั้นสิ่งที่จะมาทดแทนได้คือ การเอาตัวรอด ความพริ้ว การชิ่ง 1-2 และเทคนิคบอลแรกที่เนียนตานั่นเอง
"เราต้องเข้าใจใหม่ก่อน เรดอนโด้ ไม่ใช่ตำนานตัวรับอะไรขนาดนั้น เขาไม่ใช่มิดฟิลด์ตัวรับที่เข้าบอลดุเดือนรุนแรง แต่จุดเด่นของเขาคือการสร้างปรากฎการณ์ในการออกบอล สิ่งนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็นความสามารถที่หายากใน เรอัล มาดริด ไม่มีกองกลางคนไหนที่เล่นได้แบบนี้เลย" ฮอร์เก้ บัลดาโน่ กุนซือของ มาดริด ชุดแชมป์ ลา ลีกา ปี 1994-95 กล่าว
การหาสไตล์ตัวเองเจอและบวกกับได้เล่นกับคนที่ใช้เป็นทำให้ เรดอนโด้ กลายเป็นกำลังสำคัญของ เรอัล มาดริด มาโดยตลอด แม้หลายครั้งเขาจะเล่นตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับแค่คนเดียว แต่ทีมก็ได้ทดแทนด้วยการใส่กองหลังเข้ามาเพิ่มเป็นการยืน 3 เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ โดยเฉพาะในช่วงปลายยุค '90s-2000s มาดริด เล่นในระบบ 3-5-2 มี ไอตอร์ การันก้า, อิบัน เอลเกร่า และ เฟร์นันโด เอียร์โร่ เป็น 3 เซ็นเตอร์ฮาล์ฟ พร้อมด้วยวิงแบ็คอีก 2 คนอย่าง โรแบร์โต้ คาร์ลอส และ มิเชล ซัลกาโด้ ซึ่งการมีกองหลังทั้งหมด 5 คนทำให้เกมรับของ มาดริด ไม่ต้องพึ่งพลังของ เรดอนโด้ มากนัก ทักษะในการอ่านเกมและกำหนดทิศทางเกมบุกของทีมก็ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นเอง
2000...รู้จักทั้งโลกที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด
ทั้งหมดที่กล่าวมาก่อนหน้านี้คือช่วงเวลาที่ เรดอนโด้ ยังเป็นพวกปิดทองหลังพระ ไม่ได้โด่งดังจนทั้งโลกรู้จักอะไรขนาดนั้น แต่มันมีเกมๆ หนึ่งที่เป็นเกมระดับมาสเตอร์พีซที่ทำให้เขาถูกยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้
Photo : yourweeklyfootballhistorylesson.tumblr.com
เกมดังกล่าวเกิดขึ้นในศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ณ เวลานั้น แมนฯ ยูไนเต็ด นับว่าเป็นหนึ่งในโคตรทีมของโลกก็ว่าได้เพราะเพิ่งคว้า 3 แชมป์ในปี 1999 และมีนักเตะดังอัดแน่นมากมายโดยเฉพาะแดนกลางอย่าง รอย คีน และ พอล สโคลส์ ที่ เรดอนโด้ จะต้องรับมือในวันนั้น
อย่างไรก็ตามฟอร์มของเขาเข้าขั้นพีก ทักษะการดึงจังหวะเปลี่ยนเกม เร็ว-ช้า การพาบอลไปข้างหน้าทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ จน ยูไนเต็ด ที่เล่นในบ้านหาทิศทางของเกมไม่เจอ และในนาทีที่ 52 แฟนบอลทั้งโลกก็ต้องพบกับนาทีที่ตื่นตาตื่นใจที่สุด เรดอนโด้ ที่เป็นกองกลางตัวรับแค่คนเดียว กระชากบอลมาทางกราบซ้ายและโดน เฮนนิ่ง เบิร์ก ปิดทางไปข้างหน้าไว้ จริงแล้วดูเหมือนว่าเขาจะไปต่อไม่ได้แล้ว แต่ด้วยเทคนิคที่สุดยอดเรดอนโด้ใช้การหลอกด้วยการตอกส้นเพียงนิดเดียว บอลก็ทะลุไปเกือบสุดเส้นหลัง และก็เป็นเขาที่ใช้ความเร็ววิ่งตามมาเอาบอล ก่อนที่จะรอจังหวะและออกบอลให้ ราอูล กอนซาเลซ เข้ามารอชาร์จในระยะจ่อๆ
"บางครั้งคุณก็ต้องไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เก็บบอลไว้กับตัว และรอให้เพื่อนเข้ามาประจำการที่ตำแหน่ง" นี่คือสิ่งที่ ริคาร์โด้ โบชินี่ ตำนานผู้เป็นไอดอลของ เรดอนโด้ เคยบอกถึงมิดฟิลด์ตัวรับแบบสมบูรณ์แบบ และเพลย์นี้ของ เรดอนโด้ บอกทุกอย่างตามที่ โบชินี่ กล่าวไว้ได้อย่างดี
1
ขณะที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือของ ยูไนเต็ด ก็ให้สัมภาษณ์หลังเกมแบบไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเองว่า "อะไร ... ไอ้หมอนี่มันมีแม่เหล็กซ่อนไว้ในรองเท้าเหรอ?" ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่า เรดอนโด้ ควบคุมลูกฟุตบอลได้อย่างไร้ที่ตินั่นเอง
นี่คือช็อตระดับตำนานของศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และบั้นปลายนั้นคือการเป็นแชมป์ของ เรอัล มาดริด ด้วยทีมชุดที่ใช้ เรดอนโด้ ยืนกองกลางตัวรับคนเดียวอย่างยิ่งใหญ่ ช็อตนี้ถือว่าเป็นจุดสำคัญอย่างมากต่อชีวิตนักเตะของ เรดอนโด้ ทุกคนยังถามหา และจดจำเขาได้จากความมหัศจรรย์ที่ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ณ ค่ำคืนนั้นเสมอ
สิ่งที่น่าเสียดายคือหลังจาก เรอัล มาดริด คว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ในปีนั้น และเป็นแชมป์สมัยที่ 2 ของ เรดอนโด้ (ก่อนหน้าได้มาในปี 1998) พวกเขาก็เลือกขาย เรดอนโด้ ให้กับ เอซี มิลาน ด้วยค่าตัว 11 ล้านปอนด์ โดยการขายครั้งนั้นเป็นข่าวช็อคของแฟน เรอัล มาดริด เป็นอย่างมาก เพราะมีแฟนบอลหลายคนถึงขั้นมาล้อมสโมสรเพื่อประท้วงการตัดสินใจครั้งนี้เลยทีเดียว
Photo : www.acmilan.com
ชื่อเสียงของ เรดอนโด้ หมดลงตั้งวันที่เขาย้ายไปอยู่กับ มิลาน เพราะการบาดเจ็บที่รุนแรงและรบกวนตลอดเวลาทำให้เขาไม่สามารถลงเล่นได้เลยตลอด 2 ปีแรกที่อยู่กับทีม เรื่องดังกล่าวทำให้เขาต้องยอมไม่ขอรับค่าเหนื่อยเพราะรู้สึกผิดกับทีม
การพักรักษาตัว 2 ปี ทำให้ เรดอนโด้ หมดฟอร์มไปโดยปริยาย แม้จะกลับมาช่วย มิลาน ได้ในช่วงปี 2002-04 แต่ก็ไม่ใช่ตัวหลักของทีม ซึ่งสุดท้ายก็ยื้อไม่ไหว เรดอนโด้ ปิดตำนานกองกลางตัวรับผู้นำเทรนด์ ดีป ลายอิ้ง เพลย์เมคเกอร์ คนแรกของโลกลงอย่างน่าเสียดาย เหลือไว้เพียงแต่คลิปเก่าๆให้คนพูดถึงเขาเท่านั้นเอง
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
โฆษณา