5 ม.ค. 2020 เวลา 23:35 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ทำไมผักตบชวาถึงไม่ระบาดในลุ่มน้ำแอมะซอน?
ผักตบชวา [Eichhornia crassipes] จัดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive alien speices) ในหลายๆ ทวีปของโลกตั้งแต่อเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา และนิวซีแลนด์ จนถูกจัดให้เป็นหนึ่งในร้อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานที่ร้ายแรงที่สุดของโลก (100 of the World's Worst Invasive Alien Species)
ในประเทศไทย ผักตบชวาถูกนำเข้ามาในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2444 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยนำเข้ามาจากเกาะชวา ในสมัยนั้นเกาะชวาได้เป็นอาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ และชาวเนเธอร์แลนด์ที่เป็นเจ้าอาณานิคมได้นำเข้ามาปลูกในเกาะชวา จากผักตบชวาที่ถูกนำเข้ามาไม่กี่ต้นในสมัยนั้น ได้แพร่กระจายไปยังแหล่งน้ำธรรมชาติ และในช่วงเวลาร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ผักตบชวาก็ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศเหมือนในปัจจุบัน
ผักตบชวามีคุณสมบัติที่สามารถรุกรานได้ดี โดยสามารถสืบพันธุ์ได้ดีทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ โดยปกติผักตบชวาสามารถสร้างไหลออกไปเพื่องอกเป็นพืชต้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ในบางพื้นที่ ผักตบชวาต้นหนึ่งสามารถงอกได้ยาวถึง 2-5 เมตรต่อวัน และเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่าได้ภายในเวลา 12 วัน นอกจากนั้นพืชยังสามารถผลิตเมล็ดที่สามารถทนความแห้งแล้งและสามารถงอกได้เมื่อได้รับน้ำ โดยเมล็ดจะมีชีวิตรอดอยู่ได้แม้เวลาผ่านไปนานถึง 28 ปี ทำให้ถึงแม้ว่าช่วงที่น้ำแห้ง ต้นผักตบชวาตาย แต่พอมีน้ำมาใหม่เมล็ดก็สามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้อีก
ผักตบชวามีข้อจำกัดในการแพร่กระจายคือ ผักตบชวาจะไม่ชอบอากาศเย็น และไม่ชอบน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ทำให้ผักตบชวาสามารถแพร่กระจายในเขตร้อนได้ดี และแพร่กระจายได้จำกัดในเขตอบอุ่นและเขตหนาว ทำให้ปัจจุบันประเทศที่ประสบปัญหาการแพร่กระจายของผักตบชวาส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศเขตร้อน
ดอกของผักตบชวา (ที่มา By Wouter Hagens - Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=1864500)
คำถาม คือ ลุ่มน้ำแอมะซอนในทวีปอเมริกาใต้ ที่เป็นจุดกำเนิดของผักตบชวากลับไม่มีปัญหาการแพร่ระบาดรุนแรงของผักตบชวา ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
สิ่งที่แตกต่างกันระหว่างถิ่นกำเนิดของผักตบชวาในลุ่มน้ำแอมะซอนในอเมริกาใต้กับพื้นที่อื่นๆ ที่ผักตบชวาเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานคือ ในลุ่มน้ำแอมะซอนนั้น ผักตบชวามีศัตรูธรรมชาติมากมายที่กินผักตบชวาเป็นอาหาร ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้เป็นตัวจำกัดไม่ให้ผักตบชวาแพร่กระจายมากเกินไป
แต่ในประเทศอื่นๆ ที่ผักตบชวานี้ไปรุกรานนั้น ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้ไม่ได้ตามไปด้วย ในขณะที่สัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในพื้นที่ใหม่ที่ผักตบชวาไปรุกรานนั้นก็ไม่สามารถกินผักตบชวาเป็นอาหารได้ เนื่องจากส่วนของใบสดผักตบชวาก็สามารถป้องกันตัวเองได้โดยการผลิตผลึกแหลมๆ ที่มีส่วนประกอบของไฮโดรเจนไซยาไนด์ แอลคาลอยด์ หรือเทอร์ปีนอยด์ที่เป็นพิษได้ ดังนั้นการกินใบแก่ของผักตบชวาอาจจะทำให้เกิดอาการคันได้
แต่ในลุ่มน้ำแอมะซอนนั้นมีสิ่งมีชีวิตมากมายที่มีการปรับตัวให้สามารถกินผักตบชวาเป็นอาหารได้ จากการสำรวจของนักวิทยาศาสตร์พบสิ่งมีชีวิตในกลุ่มของแมลงและแมงถึง 43 ชนิดที่กินผักตบชวาเป็นอาหาร เช่น กลุ่มของด้วงงวง หนอนของผีเสื้อกลางคืน ไร ตั๊กแตน มวน เพลี้ย หนอนแมลงวัน นอกจากนั้นยังมีเชื้อราที่ก่อโรคในพืชที่สามารถโจมตีผักตบชวาได้
นอกจากนั้นยังมีสัตว์น้ำบางชนิดที่กินผักตบชวาได้ที่เราอาจจะคิดไม่ถึง นั่นคือ พะยูนแมนนาที (Manatee) ซึ่งเป็นสัตว์กลุ่มเดียวกับพะยูนของไทย พะยูนแมนนาทีมีการกระจายอยู่ในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ โดยกลุ่มที่อยู่ในอเมริกาใต้จะกินพืชน้ำรวมไปถึงผักตบชวาเป็นอาหารด้วย
พะยูนหางกลม หรือพะยูนแมนนาที (ที่มา By U.S. Department of the Interior, U.S. Geological Survey - Photo from U.S. Geological Fact Sheet 010-99; FS-010-99, Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=10299)
นักวิทยาศาสตร์จึงมีไอเดียคือ ถ้าเรานำสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่โจมตีผักตบชวาไปปล่อยในพื้นที่ที่ผักตบชวามีการระบาดเป็นพืชต่างถิ่นรุกราน สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็อาจจะควบคุมการแพร่ระบาดของผักตบชวาได้ เกิดเป็นสมดุลธรรมชาติใหม่ระหว่างสัตว์กินพืชและพืช ทำให้วัชพืชที่เราไม่ต้องการถูกกินจนมีปริมาณลดลง ซึ่งเป็นการควบคุมโดยชีววิธีต่อผักตบชวาได้
อย่างไรก็ตามสิ่งมีชีวิตที่จะนำไปปล่อยจะต้องมีโอกาสที่จะอยู่รอดได้ และไม่ก่อปัญหาให้เกิดปัญหาใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ไปโจมตีพืชพื้นถิ่นอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผักตบชวา
หลังจากการคัดเลือกแล้ว นักวิทยาศาสตร์จึงได้สิ่งมีชีวิตที่น่าจะควบคุมผักตบชวาโดยชีววิธีได้ คือ ด้วงงวงผักตบชวาลายแต้ม [Neochetina eichhorniae] ด้วงงวงผักตบชวาลายบั้ง [Neochetina brunchi] หนอนผีเสื้อกลางคืน ชนิด [Niphograpta albiguttalis] และ ไรชนิด [Orthogalumna terebrantis]
ด้วงงวงผักตบชวาลายบั้ง [Neochetina bruchi] (ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:CSIRO_ScienceImage_2703_Waterhyacinth_weevil_Neochetina_bruchi.jpg)
โดยการใช้ด้วงงวงผักตบชวาทั้งสองชนิดสามารถควบคุมผักตบชวาได้อย่างประสบความสำเร็จในหลายพื้นที่ เช่น ทะเลสาบวิกตอเรียในทวีปแอฟริกา ประเทศออสเตรเลีย อาร์เจนตินา อินเดีย และซูดาน
ส่วนในประเทศไทยได้มีการนำด้วงงวงทั้งสองชนิดเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เพื่อใช้ในการควบคุมโดยชีววิธี และมีการปล่อยไปในธรรมชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และด้วงงวงทั้งสองสามารถอยู่รอดและขยายพันธุ์ในธรรมชาติได้ แต่ประสิทธิภาพในการควบคุมของด้วงทั้งสองชนิดอาจจะไม่ดีนักจึงทำให้เรายังพบผักตบชวาในแหล่งน้ำต่างๆ ในปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
4. Van Driesche, R., et al., 2002, Biological Control of Invasive Plants in the Eastern United States, USDA Forest Service Publication FHTET-2002-04, 413 p.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา