27 ธ.ค. 2019 เวลา 00:22 • ท่องเที่ยว
Natural History Trip: พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น
ถ้ามีโอกาสมาจังหวัดขอนแก่น สิ่งที่ขึ้นชื่ออย่างหนึ่งคือ มาชมไดโนเสาร์ ที่เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดขอนแก่นด้วย ไปมุมไหนก็จะเจอรูปปั้นไดโนเสาร์ตั้งอยู่ แต่ถ้าอยากดูฟอสซิลของจริง และได้ความรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์และธรณีวิทยา ต้องมาดูศูนย์ศึกษาวิจัย และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่นครับ
หัวไดโนเสาร์มารอรับตรงทางเข้าเลย
คำถามคือ ทำไมพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์มาอยู่ตั้ง อ. ภูเวียง ที่ห่างไปจากตัวอำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น ตั้ง 80 กิโลเมตร?
คำตอบคือ เพราะที่นี่เป็นที่แรกที่พบซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ชิ้นแรกของประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2519 โดยคุณสุธรรม แย้มนิยม อดีตนักธรณีวิทยาของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งกระดูกชิ้นนี้เป็นกระดูกต้นขาของไดโนเสาร์ซอโรพอดจำพวกกินพืช และทำให้เกิดการสำรวจไดโนเสาร์อย่างจริงจังในประเทศไทย และชิ้นกระดูกชิ้นนั้นได้ถูกจำแนกเป็นชนิดพันธุ์ใหม่ของโลกที่ชื่อว่า [Phuwiangosaurus sirindhornae] หรือ [ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน] ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีขอพระราชทานชื่อชนิดจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ชิ้นส่วนกระดูกขาของภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน [Phuwiangosaurus sirindhornae] ที่ขุดค้นได้ในอุทยานแห่งชาติภูเวียงในปี พ.ศ. 2519
ชิ้นส่วนทั้งหมดของภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน [Phuwiangosaurus sirindhornae] ที่พบในบริเวณภูเวียง
ซากจำลองของไดโนเสาร์ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน [Phuwiangosaurus sirindhornae] ที่เกือบจะสมบูรณ์แบบ ตัวจริงพบที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
นอกจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน [Phuwiangosaurus sirindhornae] แล้วที่นี่ยังพบไดโนเสาร์ชนิดอื่นๆ อีก 4 ชนิดพันธุ์ ได้แก่ สยามโมซอรัส สุธีธรนี [Siamosaurus suteethorni], สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส [Siamotyrannus isanensis], กินรีไมมัส ขอนแก่นเอนซิส [Kinnareemimus khonkaenensis] และ คอมป์ซอกนาทัส [Compsognathus] ทั้งหมดเป็นไดโนเสาร์ในยุคสมัยเดียวกันคือ ยุคครีเทเชียสตอนต้น ประมาณ 130 ล้านปีมาแล้ว และถูกจำลองไว้ในส่วนของสวนไดโนเสาร์ โดยจะตกแต่งเป็นสวนป่ายุคดึกดำบรรพ์ที่มีหุ่นไดโนเสาร์ขนาดเท่าตัวจริง และมีเสียงร้องของไดโนเสาร์ด้วย
บรรยากาศในสวนไดโนเสาร์
นอกจากฟอสซิลของไดโนเสาร์แล้ว ยังมีฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตามยุคสมัยที่พบในอดีต ทั้งสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
ฟอสซิลของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในยุคแคมเบรียน ตัวเด่นน่าจะเป็นไทรโลไบต์
ฟอสซิลของโครงกระดูกตะโขง
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะใช้คอนเซ็ปท์ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โดยเริ่มจากกำเนิดจักรวาล และยุคทางธรณีวิทยาต่างๆ ตั้งแต่อดีตในมหายุคพาลีโอโซอิกจนถึงมหายุคซีโนโซอิก สมัยไมโอซีนที่ใกล้เคียงกับยุคปัจจุบัน รวมถึงฟอสซิลและแบบจำลองในยุคต่างๆ ข้อมูลทางธรณีวิทยาของจังหวัดขอนแก่น ไปจนถึงข้อมูลทางธรณีวิทยาที่นำเสนอหินและแร่ในประเทศไทย อุปกรณ์สำรวจทางธรณีวิทยา ปิโตรเลียมและธรณีพิบัติภัย
หลังจากทางเข้าจะพบแบบจำลองของระบบสุริยะจักรวาล
ภาพแสดงถึงยุคคาร์บอนิเฟอรัส
แบบจำลองในยุคสมัยของไดโนเสาร์ครองโลก
นอกจากนั้นมุมที่ผมชอบมากและอยากให้มีในพิพิธภัณฑ์ทุกที่เลยคือ มุมที่เราสามารถมองการทำงานของนักธรณีวิทยาตัวจริงได้ เพราะที่นี่มีห้องปฏิบัติการของนักธรณีวิทยา โดยมีกระจกใสกั้น แต่วันที่ไปเป็นวันเสาร์เลยไม่มีใครมาทำงาน
สามารถชมห้องปฏิบัติการของนักธรณีวิทยาผ่านกระจกได้ด้วย
พอเดินออกมาข้างนอกก็มีสวนที่จัดให้บรรยากาศในยุคครีเทเชียสที่มีหุ่นจำลองของไดโนเสาร์ให้ถ่ายรูปได้ด้วย
หุ่นจำลองของ สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส [Siamotyrannus isanensis]
บรรยากาศในสวนกับ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน [Phuwiangosaurus sirindhornae]
ใครอยากไปสามารถเดินทางได้ตามพิกัดนี้นะครับ ทางเข้าอาจจะงงๆ นิดนึงเพราะเดินทางไปสักพักป้ายบอกทางจะหายไป อาจจะต้องใช้แผนที่จาก Google map ช่วยด้วย
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ภูเวียง
โทร. 043 438 204
เอกสารอ้างอิง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา