8 ธ.ค. 2019 เวลา 01:07 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ตุ่นหนูไร้ขน - สัตว์สังคมที่แท้จริง
พอเราพูดถึงสัตว์สังคมที่อยู่รวมกันเป็นรังใหญ่ๆ และมีราชินีคอยสืบพันธุ์ในรัง ส่วนใหญ่เราก็จะนึกถึงกลุ่มของแมลงสังคม เช่น มด ผึ้งและปลวก
แต่จริงๆ แล้วมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดหนึ่งที่มีพฤติกรรมการอยู่รวมกันเป็นสังคม โดยมีราชาและราชินีที่คอยสืบพันธุ์ในรัง และมีกลุ่มที่เป็นหมัน เป็นวรรณะแรงงาน คอยทำงานในรัง สัตว์ชนิดนั้นคือ ตุ่นหนูไร้ขน หรือ Naked mole-rat [Heterocephalus glaber]
ตุ่นหนูไร้ขนในรังจำลองในสวนสัตว์ Ueno
ตุ่นหนูไร้ขนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมหนึ่งในสองชนิดที่เป็นสัตว์สังคมที่แท้จริง อีกชนิดหนึ่งก็เป็นสัตว์กลุ่มที่ใกล้เคียงกันที่มีชื่อว่า Damaraland mole-rat [Fukomys damarensis] โดยตุ่นหนูไร้ขนพบแพร่กระจายอยู่ในทะเลทรายแถบแอฟริกาตะวันออกที่ประเทศเอธิโอเปีย เคนย่า โซมาเลีย ส่วน Damaraland mole-rat พบแถมแอฟริกาใต้
1
ตุ่นหนูไร้ขนจะขุดรูอยู่ใต้ดิน โดยมีฟันหน้าที่ใหญ่สำหรับขุดรู และมีขนตามตัวน้อยมากทำให้เห็นผิวหนังสีชมพูหรือเหลือง และเป็นที่มาของชื่อ ตุ่นหนูไร้ขน (Naked mole-rat)
ตุ่นหนูชนิดนี้จะกินหัวของพืชใต้ดินเป็นอาหาร ซึ่งหัวของพืชหนึ่งหัวจะสามารถเลี้ยงตุ่นหนูไร้ขนได้ทั้งรังเป็นเวลาหลายเดือน โดยสารอาหารหลักที่ได้รับจากหัวพืชจะเป็นเซลลูโลส และแบคทีเรียในท้องของตุ่นหนูจะแปลงเซลลูโลสให้เป็นกรดไขมันที่จำเป็น
ในรังของตุ่นหนูไร้ขนจะประกอบไปด้วยตุ่นหนูประมาณ 75-80 ตัว และจะขุดรูอยู่สร้างเป็นห้องต่างๆ โดยในรังจะมีตุ่นหนูหนึ่งตัวทำหน้าที่เป็นราชินีซึ่งมีหน้าที่สืบพันธุ์ และมีตัวผู้หนึ่งถึงสามตัวมีหน้าที่สืบพันธุ์ในรัง และตุ่นหนูที่เหลือจะทำหน้าที่ทำงานในรังโดยที่ไม่ได้สืบพันธุ์ เป็นวรรณะแรงงาน
ตุ่นหนูวรรณะแรงงานมีการแบ่งหน้าที่กัน โดยตุ่นหนูตัวเล็กจะทำหน้าที่หาอาหารและดูแลรัง งานหลักคือช่วยดูแลตุ่นหนูเด็กๆ ที่พึ่งเกิดมา ให้อาหาร ทำความสะอาด ในขณะที่ตุ่นหนูตัวใหญ่จะทำหน้าที่ป้องกันรังและขุดขยายรัง โดยศัตรูหลักของตุ่นหนูไร้ขนคือ งูและนกผู้ล่า ซึ่งจะคอยจับตุ่นหนูที่ขนดินออกมาทิ้งนอกรัง
รังจำลองของตุ่นหนูไร้ขนที่สวนสัตว์ Ueno
ตุ่นหนูที่เป็นราชินีในรังจะมีอายุได้ถึง 13-18 ปี ในระหว่างนั้น ราชินีจะคอยโจมตีตัวเมียตัวอื่นที่พยายามจะสืบพันธุ์ในรัง ตุ่นหนูที่ไม่ใช่ราชินีจะถูกกดการทำงานของระบบสืบพันธุ์ โดยที่รังไข่จะไม่เจริญเต็มที่ เนื่องจากการขาดฮอร์โมนมากระตุ้นการเจริญของรังไข่ แต่ถ้าตุ่นหนูที่เป็นราชินีถูกนำออกไปจากรัง หรือตายไป ตุ่นหนูวรรณะแรงงานตัวหนึ่งจะขึ้นมาเป็นราชินีแทน โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงในร่างกายคือ ช่วงระหว่างกระดูกสันหลังจะกว้างขึ้น และสามารถสืบพันธุ์แทนราชินีได้
ห้องสำหรับเลี้ยงลูกอ่อน
เพื่อที่จะลดปัญหาของการผสมพันธุ์ในเครือญาติใกล้ชิด (เลือดชิด หรือ Inbreeding) ที่อาจจะทำให้ลูกที่เกิดมาอ่อนแอได้ ตุ่นหนูไร้ขนมีการสร้างตุ่นหนูในวรรณะที่ช่วยในการแพร่กระจาย (Disperser) ที่มีหน้าที่ออกจากรัง และเข้าไปผสมพันธุ์กับราชินีของรังอื่น วรรณะแพร่กระจายนี้จะมีลักษณะรูปร่างและพฤติกรรมต่างไปจากตุ่นหนูที่เป็นหมันภายในรัง คือ มีขนาดใหญ่และอ้วนกว่า มีไขมันสะสมเยอะ เพราะต้องใช้เป็นพลังงานสะสมเมื่อออกไปนอกรัง และไม่ทำหน้าที่ช่วยเหลือในรัง มีฮอร์โมนเพศในตัวสูง และจะไม่ผสมพันธุ์กับราชินีของรังตัวเอง แต่จะเลือกไปผสมพันธุ์กับราชินีของรังอื่น
โครงสร้างของวรรณะในรัง ตั้งแต่วรรณะราชินี วรรณะเพศผู้ วรรณะแรงงานขนาดใหญ่ และวรรณะแรงงานขนาดเล็ก
นอกจากการที่เป็นสัตว์สังคมที่แท้จริงแล้ว ตุ่นหนูไร้ขนยังมีคุณสมบัติที่น่าสนใจและน่าศึกษาอีกมาก เช่น เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดเดียวที่สามารถปรับการควบคุมอุณหภูมิร่างกายเหมือนเป็นสัตว์เลือดเย็น (อุณหภูมิร่างกายปรับไปตามอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม) ได้ ในขณะที่ที่อุณหภูมิต่ำ และเหมือนสัตว์เลือดอุ่น (อุณหภูมิร่างกายคงที่เท่าเดิมเสมอ) เมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 28 องศาเซลเซียส
นอกจากนั้นยังไม่มีสัมผัสรับความเจ็บปวดบนผิวหนัง เนื่องจากขาดสารสื่อประสาทบนผิวหนัง มีการปรับตัวทำให้อาศัยในบริเวณที่มีออกซิเจนต่ำได้ เหมือนกับในสภาพแวดล้อมที่มันทำรังอยู่ มีความต้านทานต่อมะเร็ง มีอายุยืนยาวเมื่อเทียบกันกับสัตว์ฟันแทะขนาดพอๆ กัน สูงสุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ คือ สามารถอยู่ได้ถึง 32 ปี (เทียบกับหนู Rat ที่อยู่ได้เพียง 3 ปี) เพราะฉะนั้นตุ่นหนูไร้ขนจึงเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้รับการสนใจนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการเช่นกัน
ป้ายประกอบน่ารักๆ ในสวนสัตว์ Ueno
สำหรับคนที่อยากเห็นตัวจริงของตุ่นหนูไร้ขน ถ้ามีโอกาสได้ไปญี่ปุ่น สามารถไปดูได้ที่สวนสัตว์ Ueno (Ueno zoo) ในโตเกียว เขต Ueno ครับ
Ueno Zoo
9-83 Uenokoen, Taito City, Tokyo 110-8711, Japan
+81 3-3828-5171
สนใจสัตว์สังคมคล้ายๆ กับตุ่นหนูไร้ขน ลองอ่านเรื่องปลวกดูไหมครับ
เอกสารอ้างอิง
2. Dawkins R (2006) [1976]. The Selfish Gene (30th anniversary ed.). Oxford University Press.
3. Bromham, Lindell; Harvey, Paul H (September 1996). "Behavioural ecology: Naked mole-rats on the move". Current Biology. 6 (9): 1082–1083.
4. O'Riain MJ, Jarvis JUM, Faulkes CG. A dispersive morph in the naked mole-rat. Nature. 1996; 380 (96186809): 619-621
โฆษณา