2 ธ.ค. 2019 เวลา 01:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
กระบวนการผลิตน้ำผึ้ง
เมื่อโพสต์ที่แล้ว ผมเขียนเรื่องนมผึ้งหรือรอยัลเจลลี่ คราวนี้มาดูเรื่องน้ำผึ้งกันบ้าง ว่าผึ้งผลิตน้ำผึ้งได้อย่างไร
รังของผึ้งหลวง
น้ำผึ้งมีองค์ประกอบหลักคือน้ำ (17%) และคาร์โบไฮเดรต (82%) ซึ่งส่วนของคาร์โบไฮเดรตในน้ำผึ้งนี้ คือ ส่วนของน้ำตาลที่อยู่ในน้ำผึ้ง ได้แก่ น้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส ซูโครส มอลโตส รวมไปถึงคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนอยู่บางส่วน ส่วนสารอาหารอื่นๆ มีอยู่เพียงปริมาณเล็กน้อย
สารตั้งต้นที่ผึ้งเอามาทำเป็นน้ำผึ้งคือ น้ำหวานที่ได้มาจากดอกไม้ (Nectar) แต่น้ำหวานจากดอกไม้กลับมีความแตกต่างจากน้ำผึ้งอยู่มากเลย โดยไม่หวานและไม่เข้มข้นเหมือนน้ำผึ้ง ปกติน้ำหวานจากดอกไม้จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบถึง 80% นั่นแปลว่าผึ้งน่าจะทำการแปรรูปน้ำหวานที่ได้จากดอกไม้ให้กลายเป็นน้ำผึ้ง แต่ในกระบวนการนั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?
เมื่อผึ้งเจอน้ำหวานในดอกไม้ ผึ้งจะดูดน้ำหวานด้วยปากที่มีลักษณะคล้ายงวง และเอาน้ำหวานเก็บไว้ในทางเดินอาหารในส่วนที่เรียกว่า proventriculus หรือ honey stomach ซึ่งเป็นกระเพาะส่วนที่เก็บน้ำหวานโดยเฉพาะ กระเพาะนี้จะสามารถเก็บน้ำหวานได้ประมาณ 40 มิลลิกรัม โดยผึ้งจะต้องใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมง และผึ้งจะต้องดูดน้ำหวานจากดอกไม้กว่า 1,000 ดอก เพื่อที่จะให้น้ำหวานเต็มกระเพาะนี้
Honey stomach หรือกระเพาะเก็บน้ำหวานอยู่ในตำแหน่งหมายเลข 9 อยู่ก่อนถึงกระเพาะอาหารที่แท้จริงในหมายเลข 11 (ที่มา https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Bee_anatomy_digestion.png)
เอนไซม์ในน้ำลายและจากต่อมใกล้เคียงจะไปผสมกับน้ำหวานจากดอกไม้ในกระเพาะน้ำผึ้งของผึ้ง และช่วยย่อยให้น้ำตาลในน้ำหวานให้โมเลกุลเล็กลง และลดปริมาณน้ำที่มีอยู่ในน้ำหวานให้มีความเข้มข้นมากขึ้น หลังจากที่ผึ้งงานกลับมาที่รัง ก็จะขย้อน (regurgitate) และส่งต่อน้ำผึ้งให้กับผึ้งงานที่อยู่ในรัง ให้ผึ้งงานในรังทำการย่อยน้ำหวานนั้นต่อ โดยมีการใช้เอนไซม์เพื่อสลายน้ำตาลซูโครสให้เป็นกลูโคสและฟรุกโตส รวมถึงมีการสลายแป้งและโปรตีนอื่นๆ ที่มีอยู่ในน้ำหวานด้วย เพื่อป้องกันการเจริญของแบคทีเรียในน้ำผึ้ง พอย่อยได้ที่ ผึ้งงานจะทำให้น้ำระเหยออกไปจากน้ำหวาน โดยการนำน้ำหวานมาสร้างเป็นหยดห้อยอยู่ที่ปาก เพื่อทำให้น้ำระเหยออกไปในอากาศ ประมาณ 20 นาที
หลังจากย่อยและตากจนได้ที่ ผึ้งก็จะนำน้ำผึ้งไปใส่ในช่องของรังผึ้งที่เปิดอยู่ โดยในระยะนี้น้ำผึ้งที่ได้ยังมีสัดส่วนของน้ำอยู่สูงคือ ประมาณ 50-70% และผึ้งก็จะปล่อยให้น้ำในน้ำผึ้งระเหยต่อไป โดยอาจจะมีการกระพือปีกเพื่อไล่ความชื้นออกไปด้วย เพราะถ้าไม่มีการทำให้น้ำผึ้งระเหยไปจะทำให้เกิดการหมักของน้ำผึ้งในรังได้
ผึ้งจะรักษาอุณหภูมิของรังไว้ที่ 35 องศาเซลเซียสเสมอ ถ้าหนาวเกินไปผึ้งจะทำการกระพือปีกให้เกิดความร้อนขึ้นจากการทำงานของกล้ามเนื้อดึงปีก ที่อุณหภูมินี้จะทำให้น้ำในน้ำผึ้งระเหยออกไปจนเหลือน้ำในน้ำผึ้งเพียง 17% และทำให้น้ำผึ้งเข้มข้นจนไม่สามารถเกิดการหมักได้ เมื่อน้ำผึ้งได้ที่ ผึ้งก็จะทำการปิดช่องรังผึ้งที่ใส่น้ำผึ้งไว้ด้วยไขผึ้ง (Beewax) ที่ผลิตจากต่อมบริเวณท้องของผึ้ง และเปิดใช้เมื่อมีความต้องการใช้ในรัง
น้ำผึ้งที่อยู่ในรังผึ้ง (ที่มา PollyDot จาก Pixabay)
ปกติช่องในรังผึ้งนอกจากจะใช้ในการเก็บน้ำผึ้งแล้ว ก็ไว้ใช้ในการเลี้ยงตัวอ่อนอีกด้วย
แล้วทำไมผึ้งจึงผลิตน้ำผึ้ง?
คำตอบคงไม่ใช่ไว้ให้คนหรือสัตว์อื่นๆ ไปเก็บไปกินแน่ๆ
ผึ้งต้องการน้ำผึ้งประมาณ 60-80 กิโลกรัมต่อปี ผึ้งใช้น้ำผึ้งเป็นอาหารในรังสำหรับผึ้งงานตัวเต็มวัยเป็นหลัก โดยในรังผึ้งจะมี ราชินี 1 ตัว มีผึ้งตัวผู้ไม่กี่ตัว และผึ้งงานซึ่งเป็นผึ้งตัวเมียที่เป็นหมันราวๆ 20,000-40,000 ตัว ซึ่งผึ้งงานเหล่านี้จะต้องการน้ำผึ้ง เพื่อเป็นแหล่งพลังงานในการบินหาอาหาร และเป็นเสบียงในช่วงที่อาหารขาดแคลนในช่วงฤดูหนาว รวมถึงเอาไว้ใช้ให้เป็นแหล่งอาหารของผึ้งงานสร้างความอบอุ่นให้กับรังโดยการกระพือปีกด้วย ซึ่งถ้าน้ำผึ้งไม่เพียงพออาจจะทำให้รังผึ้งนั้นตายได้
โดยปกติตัวอ่อนของผึ้งจะไม่กินน้ำผึ้ง แต่จะกินรอยัลเจลลี่หรือ Bee bread ที่เป็นน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรดอกไม้หมักแทน แต่เมื่ออาหารขาดแคลน เช่น ในช่วงฤดูหนาว ผึ้งงานจะนำน้ำผึ้งมาป้อนตัวอ่อนด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นถ้าตัวอ่อนขาดอาหารจะทำให้การพัฒนาการผิดปกติได้
ผึ้งตัวผู้จะใช้พลังงานจากน้ำผึ้งเช่นกันในการบินเพื่อออกไปผสมพันธุ์ ในขณะที่ราชินีผึ้งจะไม่กินน้ำผึ้ง แต่กินรอยัลเจลลี่ที่ผลิตมาจากผึ้งงาน และมีสารอาหารสูงกว่าน้ำผึ้ง
อ่านเรื่องรอยัลเจลลี่หรือยัง ถ้ายังไม่อ่าน อ่านกันได้นะครับ
เอกสารอ้างอิง
โฆษณา