10 ม.ค. 2020 เวลา 12:19 • ความคิดเห็น
วิชาเรื่องสั้น 101 ฉบับมือสมัครเล่น : มุมมองของเรื่อง หรือ Point of view (2)
คราวที่แล้ว เราคุยกันถึงการเล่าเรื่องโดยมุมมองของบุรุษที่ 1 คือ เรารับรู้เรื่องราวผ่านตัวละคร 1 ตัว เป็นคนเล่าให้เราได้รับรู้ ตัวละครจึงเป็นบุรุษที่ 1 ส่วนเรื่องข้อดี ข้อด้อยต่าง ๆ และข้อจำกัดของการใช้มุมมองบุรุษที่ 1 ก็ได้เล่าให้ฟังคร่าว ๆ แล้วในตอนก่อนหน้า ถ้าสงสัยก็ย้อนกลับไปอ่านตอนก่อนหน้า ก็น่าจะดีกว่า
วันนี้เราเลยจะมาคุยกันถึง การเขียนแบบมุมมองบุรุษที่ 2 กัน มาเริ่มกันเลย
ราวกับภาพที่เรามองผ่านสายตาตนเอง
Point of view ที่เรียกว่า มุมมองบุรุษที่ 2 อันนี้เป็นมุมมองที่นิยมน้อยที่สุดในงานเขียน หรือกระทั่งการเล่าเรื่องผ่านการสื่อสารอื่น ๆ เช่น ภาพยนต์ เพราะการเล่าด้วยมุมมองบุรุษที่ 2 มีข้อจำกัดหลายอย่าง
ก่อนอื่นเรามานึกภาพมุมมองบุรุษที่ 2 กันก่อนว่าคืออะไรกันแน่
ถ้ามุมมองบุรุษที่ 1 คือตัวละครที่กำลังเล่าเรื่องราวของตัวเองให้เราคนอ่านฟัง มุมมองบุรุษที่ 2 ก็คือตัวคนอ่านนี่เอง การเล่าโดยมุมมองนี่ จะเป็นการเล่าโดยการให้เราสวมบทเป็นผู้เห็นสิ่งที่เรื่องกำลังเล่าเสียเอง ดังนั้นการเล่าแบบมุมมองนี้จะใช้สรรพนามในนั้นว่า คุณ ท่าน ทำนองนี้
ซึ่งการเล่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศ และอารมณ์หรือความรู้สึก แล้วเอามาสวมให้เรา คล้ายเรากำลังเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์เสียเอง แต่ทว่าหากเรื่องที่เล่า ตัวคนอ่านไม่สามารถรู้สึกได้ตามที่เรื่องพยายามชักจูงเราไป ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นเรื่องเล่าโดยใช้มุมมองแบบนี้จะหมดความหมายไปเลย ภาษาง่าย ๆ คือ คนอ่านไม่อินกับบท ทุกอย่างก็พังไม่เป็นท่า
แต่ก็คงต้องแล้วแต่เรื่องราวที่จะเล่าด้วยกระมัง เพราะงานมุมมองบุรุษที่ 2 นี่ เราจะต้องคาดเดาว่าเรื่องที่เขียนจะทำให้คนอ่านรู้สึกและเชื่อในสิ่งนั้นให้ได้ วิธีการเขียนและเทคนิคการเล่าจึงสำคัญมาก และค่อนข้างยาก จึงไม่แปลกที่จะไม่เป็นที่นิยม
อธิบาย อาจจะยิ่งงง เราไปดูตัวอย่างกันดีกว่า
จำคุณยายร้อยพวงมาลัยจากตอนที่แล้วได้ใช่ไหม วันนี้ยายกลับมาอีกแล้ว ไปดูกันว่าวันนี้ยายจะมาสอนเรายังไง
ภาพหญิงชราที่นั่งร้อยมาลัยอยู่ที่ริมทางขึ้นสะพานลอยอันจอแจ ไม่แม้แต่จะมีใครสนใจว่ายายจะนั่งทำอะไรอยู่เสียด้วยซ้ำ
แต่คุณรู้ดีว่าภาพตรงหน้ามันสะเทือนอารมณ์ขนาดไหน มือที่สั่นเทากับเข็มร้อยมาลัยสนิมเขรอะนั่นมันทำให้คุณนึกถึงใครคนหนึ่ง
ใช่ ยายของคุณไง หญิงชราที่เลี้ยงคุณมาตั้งแต่แบเบาะ ขณะที่พ่อแม่ทิ้งคุณไว้เพื่อไปดิ้นรนในเมืองใหญ่ หวังรายได้ที่มากขึ้นเพื่อชีวิตที่ดีของคุณในอนาคต
หญิงชราคนนั้นเองที่เป็นคนป้อนข้าวยามคุณหิว ป้อนยายามคุณป่วยไข้ เสียงตำน้ำพริกที่คุณชื่นชอบ เสียงปลุกให้ไปโรงเรียนแต่เช้า มือที่สั่นเทาที่ยื่นมาลูบหัวคุณเสมอตอนก่อนไปโรงเรียน และมือที่สั่นเทาอันเดียวกันนี้เองที่สัมผัสมือคุณ กำไว้แน่นและค่อย ๆ หยุดนิ่งลงในวันที่ลมหายใจสุดท้ายของเธอจากไป
หญิงชราที่ร้อยมาลัยอยู่ตรงนี้ทำให้คุณน้ำตาคลอ เพราะเจ็บปวดเหลือเกินจากโอกาสอันน้อยนิดที่คุณจะได้โอบกอดเธออีกครั้ง แม้กระทั่งในความฝัน
คุณจึงเดินปรี่เข้าไปแล้วเลือกซื้อพวงมาลัยที่แม้กลีบดอกจะช้ำเพียงใด แต่หัวใจของคุณกลับอิ่มเอิบด้วยความยินดี เพียงหญิงชราที่นั่งหลังงอบนม้านั่งตรงหน้าเอ่ยกับคุณด้วยเสียงสั่นเครือว่า
"ขอบใจมากนะลูก"
จะเห็นได้ว่า บทบรรยายทั้งหมด พยายามสวมบทให้กับคนอ่านอยู่ ประเด็นสำคัญคือต้องให้คนอ่านเชื่อและนึกภาพตามไปให้ได้ เพื่อความสมบูรณ์ของเรื่องเล่า
ปัญหาและข้อด้อยคือ
ถ้าคนอ่านไม่มีประสบการณ์ที่เราพยายามสื่อให้ คนอ่านจะไม่เข้าถึง เช่น คนอ่านไม่เคยอยู่กับยายเลยตลอดชีวิต เรื่องนี้อาจล้มเหลวโดยสิ้นเชิง หรือ ตอนนี้คนอ่านยังอยู่กับยาย แต่คุณยายในชีวิตจริงเฟี้ยวมาก ยังใช้ชีวิตสดใสยิ่งกว่าวัยรุ่นเสียอีก แบบนั้นเรื่องนี้ก็คงพังไม่เป็นท่าอีกเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าการเล่าเรื่องโดยใช้มุมมองบุรุษที่ 2 แม้ว่าจะยาก แต่ในมุมของนักเขียนแล้วการทดลองย่อมเป็นเรื่องที่ท้าทายยิ่งกว่า ซึ่งแอดเองก็เคยลองเขียนในแนวนี้เหมือนกัน และพบว่ามันยากจริง ๆ และออกจะพังเสียด้วยซ้ำ ไม่เชื่อลองไปอ่านดูเองตอนท้ายบทความ 5555
อีกประเด็นที่จะขอยกมาพูดในบทนี้อีกเรื่องก็คือ
การเปลี่ยนมุมมองของเรื่อง เป็นเรื่องที่นักเขียนส่วนใหญ่ไม่แนะนำกัน เพราะอาจทำให้เรื่องสับสน และคนอ่านงงกับเรื่องที่เล่าเข้าไปใหญ่ ซึ่งหากการเปลี่ยนมุมมอง เช่น จากบุรุษที่ 1 ไปเป็นมุมมองบุรุษที่ 2 แล้วก็เปลี่ยนกลับไปมาอยู่อย่างนี้ ก็คงจะสับสนจริง ๆ
แต่ส่วนตัวก็เชื่อว่า งานเขียนไม่มีกฎเกณฑ์อะไรที่ตายตัว อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ของนักเขียนโดยแท้ การเปลี่ยนมุมมองของเรื่อง อาจเป็นการสร้างเอกลักษณ์และเสน่ห์ของเรื่องก็เป็นได้ ตราบใดที่ไม่ได้ทำให้เรื่องราวสับสนจนเข้าใจยาก หรือทำให้เรื่องเล่าไร้สีสันจนหมดสนุก
ตัวอย่างของการเปลี่ยน มุมมองของเรื่อง มีให้เห็นอยู่เหมือนกันในงานภาพยนต์ อย่างเรื่อง Wanted ที่เป็นหนังที่ชอบมากเรื่องหนึ่ง ที่มีโอกาสน่าจะลองหาดูกัน
ซึ่งตลอดเรื่องดำเนินเรื่องผ่านมุมมองแบบบุรุษที่ 3 (ซึ่งจะได้คุยกันบทหน้า) แต่พอตอนจบสุดท้าย มีการเปลี่ยนมุมมองของเรื่อง แต่ก็แค่ตอนจบแปปเดียวเท่านั้น ซึ่งนั่นมันสำเร็จ เพราะทุกคนจะจำตอนจบของหนังเรื่องนี้ได้ขึ้นใจเลยที่เดียว ไม่เชื่อลองดูตอนจบกัน (ใครกลัว spolied ข้ามไปเลยจ้า)
ซึ่งงานเขียนแบบนี้ผมก็เคยเขียนไว้เช่นกัน อย่างเรื่องสั้นที่เพิ่งเอามา repost ล่าสุดเรื่อง คำอำลา เป็นการเปลี่ยนมุมมองของเรื่องในตอนท้ายเช่นกัน เพราะต้องการเน้นสารที่จ้องการสื่อในเรื่องให้คนอ่านจดจำมัน กระแทกมันย้ำเข้าไปอีกระดับหนึ่ง
หรือวิธีการเล่าอีกแบบคือการสร้างให้ผู้อ่านคล้ายเป็นผู้ดำเนินเรื่องราวเอง หรือทำเหตุการณ์นั้นเอง โดยเรื่องเล่ามักเป็นรูปแบบเฉพาะ เช่น แนวบันทึกหรือไดอารี่ ซึ่งแอดก็เคยลองเขียน และพบว่ายากจริง ๆ ที่จะทำให้มันปังได้
อย่างเรื่องสั้นที่ชื่อว่า....
หรือถ้าแนวภาพยนต์ก็มีการนำเสมอมุมมองให้ผู้ชมกลายเป็นคนที่กำลังมีส่วนร่วม ราวกับกำลังเป็นคนเปิดภาพยนต์นั้นดูเองกับตา อันนี้พูดไปคงงง ต้องลองไปดูภาพยนต์ที่ตบหน้าคนดูจนล้มกลิ้งไม่เป็นท่ามาแล้ว อย่างเรื่องนี้
ซึ่งภาพยนต์นำเสนอ เหมือนเรากำลังดูม้วนวีดีโอที่ถูกถ่ายทิ้งไว้ตามเหตุการณ์ในหนัง ซึ่งราวกับเรากำลังดูเอง ไม่ใช่หนังเล่าให้เราอีกทอดหนึ่งเหมือนภาพยนต์ทั่วไปที่เราเคยชมทั่วไป
อีกรูปแบบหนึ่งของงานเขียนมุมมองบุรุษที่ 2 ที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่ถ้าเป็นเด็กยุค 80's น่าจะเคยสัมผัสกัน เราเรียกงานเขียนแบบนั้นว่า
Game books
หนังสือจะให้เราสวมบทบาทเป็นอะไรสักอย่าง เช่น นักสำรวจสมบัติ นักสืบ หรืออะไรก็ตามที่ต้องเป็นตัวดำเนินเรื่อง แต่ในเรื่องราว จะมีการให้เราเลือกการดำเนินเรื่องผ่านตัวเลือก แล้วให้เราไปอ่านต่อในส่วนเนื้อเรื่องที่เราเลือก เช่น
คุณคือนักโบราณคดีชื่อดัง ภารกิจครั้งนี้คือไปสำรวจสุสานโบราณ พอคุณเดินสำรวจไปตามห้องต่างอยู่นั้น คุณได้พบโลงศพเก่าแก่อันหนึ่ง มีสัญลักษณ์ประหลาดสลักอยู่ที่ฝาโลง คุณจะ..
1. ทิ้งไว้อย่างนั้น เราควรให้ความเคารพผู้ตาย - ไปหน้าถัดไป
2. คุณใช้กระดาษลอกลายสัญลักษณ์ที่ฝาโลงเก็บไว้ - ข้ามไปหน้า 35
3. คุณพยายามงัดฝาโลงขึ้นเพื่อสำรวจหาเงื่อนงำเพิ่มเติม - ข้ามไปหน้า 67
ซึ่งเนื้อหาในหนังสือจะเป็นทำนองนี้ ซึ่งทางเลือกที่เราเลือกจะกำหนดจะดจบของเรื่องได้หลายรูปแบบ ก็เป็นอะไรที่สนุกสนานดี (ถ้าเราไม่แอบโกงตัวเอง)
ภาพจาก https://entropymag.org/this-summer-read-a-gamebook/
หนังสือแนวนี้เป็นที่นิยมกันช่วงหนึ่งสมัยแอดยังเด็ก หนังสือมีหลายเรื่อง รูปแบบก็แตกต่างกันไป น่าจะชื่อว่า หนังสือชุด ผจญภัยตามใจเลือก (Choose your own adventure) ถ้าจะลองหาตามร้านหนังสือเก่า ๆ ก็คงพอหาได้
หรือถ้าสมัยนี้ คงเป็นรูปแบบเกมออนไลน์หรือมือถือ ที่เป็นเกมแนวเลือกตัวเลือก เพื่อดำเนินเกม ก็เป็นลักษณะคล้ายกัน เกมแนวนี้คือต้นกำเนิดเกม RPG สมัยนี้นั่นเอง
เขียนไปยืดยาวมาก คิดว่าคนอ่านอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ ไม่เป็นไร เราข้ามบทนี้ไปบทหน้าเลยก็ได้ ไม่ว่ากัน เพราะบทหน้าคงเป็นเรื่องมุมมองที่เป็นที่นิยมที่สุดในการเขียนนวนิยายและบทภาพยนต์ นั่นคือมุมมองบุรุษที่ 3
อยากรู้รายละเอียด โปรดติดตามบทต่อไป
สำหรับวันนี้ขอสวัสดี สวีดัด ไปก่อนนะครับ ขอบคุณที่ตามอ่านจนงงไปด้วยกันนะทุกคน อิอิอิ
โฆษณา