12 ม.ค. 2020 เวลา 02:31
5 ความคลาสสิกยุค 90’s ที่หาไม่ได้ในยุค 20’s
ช่วงปี 2000-2019 ภาษาอังกฤษไม่มีชื่อย่อให้เราเรียกได้ง่ายๆ
แต่หลังจากรอคอยมา 20 ปี ตอนนี้เราก็ได้เดินทางถึงยุค “ทเวนตี้ส์” (20’s) แล้ว
ผมเองเติบโตมาในยุคไนน์ตี้ส์ (90’s) ซึ่งคิดกลับไปกี่ทีก็รู้สึกว่ายุคนั้นมันมีเสน่ห์บางอย่างที่ช่วง 2000-2019 ไม่มี เลยอยากจะขอระลึกความหลังกันหน่อยครับ
1. แกรมมี่แข่งกับอาร์เอส
ยุค 90’s คือยุคที่แกรมมี่กับอาร์เอสคือมหาอำนาจทางดนตรีในประเทศไทย สองค่ายผลัดกันส่งศิลปินออกมาซัดกันแบบมวยถูกคู่
เจ เจตริน แข่งกับ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง
มอส ปฏิภาณ แข่งกับ เต๋า สมชาย
UHT แข่งกับ ลิฟท์กับออย
นัท มีเรีย แข่งกับ ปุ๊กกี้
Teen 8 Grade A แข่งกับ The Next Generation
งานซนคนดนตรี นานที 10 ปีหน แข่งกับ RS Unplugged ดนตรีนอกเวลา
2
บางคนเชียร์แกรมมี่ บางคนเชียร์อาร์เอส แต่ที่แน่ๆ คือทุกคนร้องเพลงทั้งสองค่ายได้เกือบทุกเพลง
1
เรารอฟังเพลงใหม่ๆ ทางคลื่นวิทยุ รอดูมิวสิกวีดีโอตัวใหม่ทางรายการของค่ายที่มาตอนดึกๆ ต้องถ่างตารอให้ละครจบบวกรายการอีกอย่างน้อยสองรายการกว่าจะได้ดูพี่เบิร์ดออกมาขว้างบูมเมอแรงให้เราเห็นเป็นครั้งแรก
1
2. โทรหาสาวไปที่โทรศัพท์บ้าน
สมัยก่อนไม่มีมือถือ การจะจีบผู้หญิงคนหนึ่งต้องใจถึงพอสมควร คือต้องโทร.ไปที่บ้านเขา รอสายไปหัวใจเต้นแรงไป และเมื่อเสียงปลายสายรับก็มักจะเป็นเสียงผู้ใหญ่
1
“ขอสายผิงครับ”
“จากใครคะ” (เสียงคุณแม่)
“จากรุตม์ครับ เป็นเพื่อนที่โรงเรียนครับ”
แล้วเราก็ต้องกลั้นใจว่าเขาจะให้คุยรึเปล่า ซึ่งจริงๆ ก็ให้คุยเกือบทุกทีนะ ยกเว้นว่าเค้าจะไม่อยู่บ้าน
มีอีกสามเรื่องความคลาสสิกที่เกี่ยวพันกัน
หนึ่ง ถ้าบ้านมีโทรศัพท์หลายเครื่อง (แต่ใช้เบอร์เดียวกัน) พอมีใครยกหูขึ้น เราก็ต้องระวังว่าเขาแอบฟังเราอยู่รึเปล่า
สอง บางครั้งเมื่ออยู่นอกบ้าน อยากโทร.หาก็ต้องไปต่อคิวโทรศัพท์สาธารณะ หยอด 1 บาทคุยได้ 3 นาที คุยนานก็ไม่ได้เพราะเกรงใจคนที่ต่อคิวอยู่นอกตู้
2
สาม ถ้าใครไฮโซหน่อยก็จะมีเพจเจอร์ เราสามารถโทรเข้าคอลเซ็นเตอร์ของแพ็คลิงค์เพื่อฝากข้อความถึงคนที่เราคิดถึงได้
3.ทำอัลบั้มรวมฮิตใส่เทปคาสเซ็ท
ตอนนั้นไม่มี MP3 และไม่มี Streaming เราจะฟังเพลงผ่านเทปคาสเซ็ทหรือถ้ารวยหน่อยก็ซื้อ CD จำได้ว่าซีดีสมัยนั้นแผ่นละ 450 บาท ในยุคที่บะหมี่เกี๊ยวชามละ 15 บาท
หนึ่งในสิ่งที่วัยรุ่นนิยมทำกันคือ “สร้างอัลบั้มของตัวเอง” ด้วยการเอาเพลงจากหลายๆ ที่มาใส่ไว้ในเทปม้วนเดียว
กระบวนการคือใช้เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทที่ใส่เทปได้สองฝั่ง เราต้องใส่เทปที่มีเพลงที่เราชอบไว้ด้านนึง และใส่เทปเปล่าไว้อีกด้านนึง จากนั้นจึงเปิดเพลงที่เราชอบ และกดอัดเพลงนั้นลงในเทปเปล่า จบเพลงก็ต้องกด stop เพื่อจะได้เพลงมาหนึ่งเพลง แล้วเราก็เปลี่ยนเทปต้นทางเพื่ออัดเพลงที่ 2 ทำซ้ำอย่างนี้ไปอีก 15 รอบ เทปเปล่าของเราก็จะกลายเป็นอัลบั้มรวมฮิตที่เราเก็บไว้ฟังเองหรือเอาไปให้คนที่เราอยากให้ฟัง
1
4. เขียนจดหมายหยอดตู้ไปรษณีย์
สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ดังนั้นการจะส่งอีเมลหรือทำ LINE Video Call ก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าใครไปอยู่ต่างประเทศ การจะโทรทางไกลกลับประเทศก็นาทีละ 40 บาท ดังนั้นการสื่อสารที่ดีที่สุดคือการเขียนจดหมาย
1
สมัยเรียนม.ปลายที่นิวซีแลนด์ ผมเคยเขียนจดหมายฉบับละหลายหน้ากระดาษ A4 ถ้าเขียนผิดก็ต้องใช้ลิควิดเปเปอร์ลบ ห้ามป้ายหนาเกินไปไม่งั้นมันจะเละและเขียนทับไม่ได้ เขียนเสร็จก็พับจดหมายใส่ซอง ปั่นจักรยานไปไปรษณีย์ให้เค้าชั่งน้ำหนักจดหมายเพื่อคำนวณว่าจะต้องเสียค่าแสตมป์เท่าไหร่
เมื่อส่งไปแล้วก็รอคอยจดหมายตอบกลับมาอย่างใจจดใจจ่อ อย่างเร็วที่สุดก็ประมาณ 3 สัปดาห์ ผมจะต้องเดินไปหน้าบ้านทุกเช้าเพื่อค่อยๆ เปิดตู้จดหมายดูว่ามีอะไรมาส่งบ้างรึเปล่า วินาทีที่เห็นว่ามีซองจดหมายที่มีชื่อเราจ่าหน้าซองอยู่ หัวใจมันพองโตกว่าการได้รับอีเมลประมาณหนึ่งร้อยเท่า
1
5. ตั้งวงดนตรีกับเพื่อน
สมัยนั้นใครเอากีตาร์ Ovation หลังเต่ามาโรงเรียนจะดูคูลมาก เพลงอะคูสติกที่คนหัดเล่นกีตาร์ทุกคนใฝ่ฝันว่าอยากเล่นให้ได้คือเพลง More Than Words ซึ่งดังมาจากโฆษณาเกงเกงยีนส์ Lee
1
เพื่อนผู้ชายของผมหนึ่งในสามจะมีวงของตัวเอง นัดกันไปซ้อมตามห้องซ้อม เล่นกันก็ไม่ค่อยจะเอาอ่าวหรอกแต่สนุกดี เล่นเสร็จก็หารค่าห้องแล้วไปหาอะไรกินกันต่อ
ถ้าจะเล่นเพลงฝรั่ง แค่จะหาเนื้อร้องก็ยากแล้วเพราะเทปเพลงฝรั่งมันไม่ค่อยจะมีเนื้อร้องแถมมาให้เหมือนเทปเพลงไทย ส่วนการแกะเพลงก็ต้องลำบากกรอเทปซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเทปยาน (เด็กสมัยนี้จะเข้าใจคำว่าเทปยานมั้ย?)
สมัยนั้นเราจะมีฮีโร่ให้ยึดเหนี่ยวหลายวง ถ้าเป็นวงฝรั่งก็เช่น Guns N’ Roses , Bon Jovi, Radiohead, Oasis, Blur, Nirvana, Red Hot Chilli Peppers หรือถ้าจะอยากจะดูเหนือชั้นจริงๆ ก็ต้องเล่น Dream Theater
1
ส่วนเพลงไทยตอนนั้นก็เป็นยุคที่ดนตรีอัลเตอร์เนทีฟเฟื่องฟู ทางคอร์ดง่ายๆ ใส่เอฟเฟ็คกีตาร์ distortion ไปหน่อยก็เพราะแล้ว เพลงยอดฮิตที่เรามักจะเอามาซ้อมกันในห้องซ้อมก็เช่น “บุษบา” ของโมเดิร์นด็อก “ไม่เป็นไร” ของพี่ป้าง นครินทร์ กิ่งศักดิ์ “ดีเกินไป” ของสไมล์บัฟฟาโล่ “อึ๊ม…ดาว” ของวง Imp ซึ่งได้รองชนะเลิศ Hot Wave Music Award ส่วนวงที่ชนะเลิศในปีเดียวกันนั้นชื่อวงละอ่อน มีนักร้องชื่ออาทิวราห์ คงมาลัย
2
—–
ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ยุค 90’s มันพิเศษกว่ายุคก่อนๆ ก็เพราะว่ามันเป็น “ช่วงเปลี่ยนผ่าน” พอดี มีเทคโนโลยีที่ช่วยให้ชีวิตเราสบายขึ้นแต่ก็ยังต้องออกแรงอยู่ มีฮีโร่ให้ยึดเหนี่ยว มีเพลงจากสองค่ายใหญ่ที่เราได้ฟังทุกวันจนผูกพันกับศิลปินเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งสมัยนี้ความสัมพันธ์แบบนั้นมันเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะเรามีทางเลือกเยอะจนทำให้ความสนใจของเราต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งสั้นลงไปทุกที
ผมเล่ามาแค่ 5 เรื่องที่คลาสสิกสำหรับผมเพราะผมได้สัมผัสกับมันโดยตรง เชื่อว่าน่าจะมีอีกหลายสิบเรื่องที่เป็นความทรงจำยุค 90’s ใครคิดอะไรออกก็นำมาแชร์ตรงนี้ได้เลยแล้วผมจะคัดสรรบางส่วนมาอัพเดตในบทความนี้นะครับ
—–
“Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมที่ว่าด้วยการค้นหาสิ่งที่สำคัญกับเราอย่างแท้จริง มีขายที่นายอินทร์ ซีเอ็ด B2S และ Kinokuniya แล้วนะครับ
โฆษณา