12 ม.ค. 2020 เวลา 03:15 • หนังสือ
สวัสดีเช้าวันอาทิตย์ มาอ่านหนังสือกันดีกว่าค่ะ
เล่มนี้อ่านหลังจากหนังสือได้รางวัลซีไรต์ไม่นานนัก หยิบมาอ่านด้วยความอยากรู้อยากเห็น ไม่ใช่เพราะอยากรู้ว่าหนังสือได้รางวัลนั้นดียังไง แต่เพราะชื่อคนเขียนที่จัดว่าเป็นนักเขียนนิยายวายหรือนิยายแนว Boy's love / ชายรักชายที่น่าสนใจคนหนึ่งค่ะ
เราอ่านนิยายวายบ้าง เป็นบางเรื่องที่คิดว่าจะสนุก ก็เลยอยากรู้ว่าสาววายจะเขียนเรื่องที่ไม่วายได้ดีขนาดไหนหรือ เธอถึงได้เป็นนักเขียนซีไรต์
สิงโตนอกคอก เป็นรวมเรื่องสั้น ส่วนหนึ่งเคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว และมีหลายเรื่องที่เขียนขึ้นเพื่อการรวมเล่มครั้งนี้ เรื่องแรกเปิดฉากในเมืองปิดท่ามกลางฤดูหนาวที่ทารุณโหดร้าย เป็นสถานการณ์คลาสสิกในแบบที่บีบให้มนุษย์แสดงธาตุแท้ของตัวเองเพื่อเอาชีวิตรอด แล้วคนเขียนก็ใช้เงื่อนไขแบบนี้ซ้ำๆ กับอีกหลายเรื่อง เป็นเหล่าเรื่องสั้นที่ดาร์กประมาณนึง แบบไม่มีทุ่งลาเวนเดอร์ให้วิ่งเล่นน่ะนะ
เคยอ่านบทสัมภาษณ์/วิจารณ์ก่อนหน้านี้ ต่างเรียกฉากหลังของเรื่องสั้นในเล่มนี้ว่าคือ Dystopia ที่ตรงข้ามกับ Utopia ดังนั้น ไม่แปลกใจที่อ่านไปก็จะคิดถึง 1984 หรือหนังคลาสสิกอย่าง Metropolis นอกจากนี้ยังคิดถึง The Road หรือแม้กระทั่งมังงะอย่างผ่าพิภพไททัน และอีกหลายเรื่องที่ใช้ฉากหลังเป็นโลกหลัง Apocalypse -- วันสิ้นโลก ที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายป่าเถื่อน
ดูเหมือนคนเขียนอยากระบายความอึดอัดต่อสภาพสังคมเวลานี้ผ่านทางงานเขียน เหมือนคนที่มีปัญหากับผู้มีอำนาจ (Authority) โดยเฉพาะเมื่อเราไม่แน่ใจว่าอำนาจนั้นถูกใช้ไปในทางที่ถูกต้องหรือเปล่า
เอาเข้าจริง "สิงโตนอกคอก" ที่วางตำแหน่งไว้เป็นเรื่องสุดท้ายของเล่ม กลับไม่ประทับใจเราเลย มันไม่ได้แย่ แค่อ่านแล้วเฉยๆ อาจจะเพราะประเด็นของเรื่องที่ถูกพูดซ้ำๆ มาตลอด ขณะที่เรื่องแรกทำให้เราทึ่งอย่างมาก เพราะโทนของเรื่องและประเด็นในเรื่องถูกจริตของเรา แต่ความน่าตื่นเต้นนั้นค่อยๆ ลดลงไปตามจำนวนเรื่องที่อ่าน
มีอีกเรื่องที่ชอบคือ "รถไฟตอนเที่ยงคืน" ชอบการบรรยายความรู้สึกนึกคิดและความน่าอึดอัดเมื่อมนุษย์ต้องอยู่ในวงจรอันเป็นนิรันดร์ ไม่ต้องกังวลเรื่องเจ็บเรื่องตาย เพราะในที่สุดก็จะเกิดใหม่เสมอ ซึ่งดูเหมือนจะดี แต่ว่ามันดีจริงหรือ?
ก็มีคนพูดถึงหนังสือเล่มนี้ว่าคนเขียนอิงสไตล์ฝรั่งมากไป ขาดความเป็นไทย แต่เรากลับคิดว่า ไม่แปลกอะไรที่เด็กรุ่นที่โตมากับแฮรี่ พอตเตอร์, ทไวไลท์, ซัคเกอร์ พันช์ เล่นเกมออนไลน์ จะคิดอะไรประมาณนี้ หรือมองเห็นโลกที่เต็มไปด้วยตัวละครต่างชาติ มันคือธรรมชาติของพวกเขา ก็เหมือนนักเขียนมือสมัครเล่นยุคนี้ที่นิยมเขียนแฟนฟิคโดยมีชื่อตัวละครเป็นเกาหลี ญี่ปุ่นนั่นแหละ (ตอนนี้เพิ่มจีนเข้ามาด้วย)
ถ้าถามว่าควรอ่านเล่มนี้ไหม ก็คิดว่าควร โดยรวมแล้วหนังสือที่ดีนะ แล้วก็น่าสนใจในแง่ที่ว่า นักเขียนไทยที่อายุยังไม่มากนัก ก็เขียนงานแบบนี้ได้ คือสร้างเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนและโยนคำถามที่ตอบยากใส่คนอ่านได้ แล้วก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกเสียดายเวลาอ่านเลย.
สิงโตนอกคอก (รวมเรื่องสั้น)/ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท/ สนพ. แพรว / 183 หน้า โดยประมาณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา