16 ม.ค. 2020 เวลา 23:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
สับปะรดผลไม้แห่งความหรูหราในอดีต
ถึงแม้ในปัจจุบันในประเทศไทย สับปะรดอาจจะเป็นผลไม้ที่หาซื้อได้ไม่ยาก ในราคาไม่แพง แต่ในอดีตสับปะรดเคยเป็นตัวแทนของความหรูหรา ฟุ่มเฟือย และเป็นผลไม้ราคาแพงมาก่อน
สับปะรดเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ระหว่างบริเวณตอนใต้ของประเทศบราซิลกับประเทศปารากวัย และแพร่กระจายไปจนทั่วอเมริกาใต้ แคริบเบียน อเมริกากลาง ก่อนที่ชาวยุโรปจะค้นพบทวีปอเมริกาเสียอีก
เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสได้ขึ้นไปยังเกาะ Guadeloupe ในหมู่เกาะแคริบเบียน ในปี ค.ศ. 1493 ชนพื้นเมืองได้นำสับปะรดมาเสิร์ฟให้แก่โคลัมบัสและลูกเรือ โคลัมบัสก็นำสับปะรดกลับไปยังทวีปยุโรป และสับปะรดกลายเป็นที่ชื่นชอบของชาวยุโรป และทำให้ชาวยุโรปพยายามที่จะปลูกในประเทศของตัวเอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากสับปะรดเป็นพืชในเขตร้อนที่ไม่สามารถปลูกในประเทศในเขตอบอุ่นอย่างในยุโรปได้ ทำให้สับปะรดเป็นผลไม้หายากและราคาแพงในยุโรป
เกาะ Guadeloupe ในหมู่เกาะแคริบเบียน (ที่มา https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/d/d7/Guadeloupe_in_France_2016.svg)
ด้วยเหตุผลนี้ชาวยุโรปจึงได้แพร่กระจายสัปปะรดไปยังบริเวณเขตร้อนอื่นๆ บนโลก ตั้งแต่ทวีปแอฟริกา ประเทศอินเดียในปี ค.ศ. 1548 ประเทศจีนในปี ค.ศ. 1594 และเข้ามาในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1679 (ตรงกับปี พ.ศ. 2222 ในยุคสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ก่อนที่จะมีการคิดค้นการสร้างเรือนกระจก (hothouse) ในยุโรปในปี ค.ศ. 1690 ในเมือง Leyden ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่เป็นห้องที่ให้ความร้อนแก่สับปะรดตลอดทั้งปีและทำให้สามารถปลูกสับปะรดในยุโรปได้สำเร็จ และการสร้างเรือนกระจกเพื่อปลูกสับปะรดโดยเฉพาะนี้ก็ได้กระจายไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นสับปะรดก็ยังได้ถูกแพร่กระจายไปปลูกในพื้นที่เขตร้อนอื่นๆ เช่น ไปยังทวีปออสเตรเลียในปี ค.ศ. 1838 จาไมก้าในปี ค.ศ. 1870 และจากออสเตรเลียได้กระจายไปยังหมู่เกาะฮาวายในปี ค.ศ. 1890-1895 และบนหมู่เกาะฮาวายนี้ สับปะรดได้ถูกปลูกในเชิงอุตสาหกรรมและเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของฮาวายในยุคหนึ่ง
ถึงแม้ว่าสับปะรดจะสามารถถูกปลูกได้ดีในเขตร้อนในหลายๆ พื้นที่ แต่สำหรับประชากรในยุโรปในอดีตการที่จะได้กินสับปะรดจะต้องนำเข้ามาจากเขตร้อน หรือจะต้องปลูกสับปะรดที่เรือนกระจกที่อบอุ่นที่เรียกว่า hothouse ทำให้สับปะรดแต่ละลูกมีราคาแพงมาก และมีแต่คนรวยเท่านั้นที่จะได้ลิ้มรสสับปะรด จนสับปะรดกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความหรูหรา เป็นเครื่องประดับประกอบมื้ออาหารเย็น ที่ไม่ได้เอาไว้กิน แต่เอาไว้จัดแสดงเท่านั้น โดยสับปะรดหนึ่งลูกจะถูกนำมาประกอบมื้ออาหารต่อไปเรื่อยๆ จนสับปะรดนั้นเน่าถึงจะถูกทิ้งไป
อาคาร Dunmore Pineapple ในสก็อตแลนด์ที่มีเรือนกระจก (hothouse) สำหรับปลูกสับปะรดโดยเฉพาะ และภายนอกอาคารมีการสร้างเป็นรูปสับป(ที่มา By giannandrea, CC0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=12863790)
ทำไมสับปะรดถึงได้เจริญเติบโตได้ดีเฉพาะในเขตร้อน?
สับปะรดจะไม่สามารถทนอุณหภูมิที่ต่ำกว่า -2 องศาเซลเซียสได้ ทำให้พืชเสียหายและผลเน่าได้ ในขณะที่อุณหภูมิต่ำว่า 15.5 องศาเซลเซียส และสูงกว่า 32 องศาเซลเซียสจะทำให้พืชโตได้ช้า อุณหภูมิที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของสับปะรดคือ 20-30 องศาเซลเซียส
ในทางตรงกันข้ามสับปะรดเป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี เนื่องจากมีการสังเคราะห์แสงแบบพิเศษที่เรียกว่า Crassulacean acid metabolism หรือที่เรียกกันว่า CAM photosynthesis ในการสังเคราะห์แสงแบบนี้ พืชจะเปิดปากใบเพื่อรับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในกระบวนการสังเคราะห์แสงในเวลากลางคืน และเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในรูปของ สาร Malate ที่มีคาร์บอนสี่อะตอม และในเวลากลางวันสาร Malate จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเพื่อให้พืชสังเคราะห์แสงได้ ทำให้พืชสามารถปิดปากใบไว้ในเวลากลางวันในช่วงที่อากาศร้อนและแห้ง และทำให้พืชลดการเสียน้ำลงไปได้
ในขณะที่พืชปกติ (C3) จะต้องเปิดปากใบในเวลากลางวันเพื่อรับคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ในการสังเคราะห์แสงเท่านั้น และไม่สามารถเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ในใบได้ และเมื่ออากาศร้อนและแห้งแล้งมากพืชจะต้องปิดปากใบเพื่อป้องกันการเสียน้ำ และทำให้พืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้
ผลของสับปะรดเป็นผลรวมเช่นเดียวกันกับมะเดื่อหรือขนุน คือ ดอกสับปะรดหนึ่งดอกจะประกอบไปด้วยดอกหลายๆ ดอก และเจริญเป็นผลรวมที่ประกอบไปด้วยผลย่อยหลายๆ ผล โดยตาของสับปะรดหนึ่งตาคือผลย่อย 1 ผล และในนั้นจะมีเมล็ด 1 เมล็ดต่อหนึ่งผลย่อย โดนแกนของสับปะรดจริงๆ แล้วก็คือ ก้านของช่อดอก
ในบางทีเราอาจจะไม่เจอเมล็ดในผลสับปะรดเนื่องจากสับปะรดบางสายพันธุ์ ถูกคัดเลือกให้มีโครโมโซม 3 ชุดที่เรียกว่า Triploid ซึ่งจะทำให้เป็นหมันคล้ายๆ กับในพืชไร้เมล็ดชนิดพันธุ์อื่นๆ
โครงสร้างของผลสับปะรด (ดัดแปลงจาก By fir0002flagstaffotos [at] gmail.com, GFDL 1.2, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=5765391)
เมล็ดที่อยู่ในผลของสับปะรด ด้านขวาจะเป็นฝั่งของเปลือก และด้านซ้ายเป็นแกนของสับปะรด (ที่มา Von MLeupold, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=12110373)
จากการเพาะปลูกที่แพร่หลาย การแปรรูปสับปะรดเป็นสับปะรดกระป๋องที่รสชาติและผิวสัมผัสไม่ต่างจากเดิมมากนัก และการขนส่งที่ดีขึ้น ทำให้สับปะรดราคาถูกลง และสูญเสียความเป็นผลไม้แห่งความหรูหราไป และทำให้เราสามารถหากินสับปะรดได้ไม่ยากในราคาที่ไม่แพงทั่วไปอย่างในปัจจุบัน
สนใจอ่านเรื่องผลไม้ที่เป็นผลรวมเหมือนสับปะรด มีเรื่องขนุนให้อ่านครับ
เอกสารอ้างอิง
1. Joy P.P. & Anjana R. 2015. Evolution of Pineapple. Pineapple Research Station, Kerala Agricultural University.
โฆษณา