25 ม.ค. 2020 เวลา 07:30
ความน่าสนใจของ "คิมจียองเกิดปี 82" เมื่อสังคมบีบผู้หญิงคนหนึ่งให้กลายเป็นผู้ป่วยทางจิต
and the review goes to.. "คิมจียองเกิดปี 82" -part 2/2-
สวัสดีครับ ต่อจากโพสที่แล้วที่รีวิวตัวหนังไป โพสนี้จะมาสปอยและเล่าความรู้สึกหลังจากดูจบ ว่าหนังเรื่องนี้สร้างอิมแพคกับคนดูได้มากขนาดไหน พร้อมแล้วก็มาพูดคุยกันเลยครับ
เริ่มจากความแปลกใหม่ที่พูดมาข้างต้น คือการให้คิมจียอง "กลายเป็นคนอื่น" นี่แหละ หากจับพฤติกรรมของคิมจียองในเรื่องจะเห็นว่าคิมจียองเป็นคนแอบเก็บกด มีอะไรก็ไม่กล้าที่จะบอกตรง ๆ
จะเห็นได้ตั้งแต่ฉากแรกที่ทุกคนกำลังสนุกสนานกับวันรวมญาติ แต่เธอต้องมาคอยทำอาหาร ไม่ได้เล่นกับลูกของตัวเอง และทำให้อาการของเธอกำเริบขึ้นมา โดยเธอกลายเป็น "มีซุก" แม่ของเธอเพื่อต่อว่าแม่ผัวไปหนึ่งยก
หากสังเกตดี ๆ หนังตลอดทั้งเรื่องที่มีการรวมตัวระหว่างหญิงชาย จะเห็นว่าผู้ชายจะนั่งบนโซฟาในขณะที่ผู้หญิงนั่งพื้น ซึ่งถ้าเรารู้สึกว่ามันปกติเพราะโซฟานั่งไม่พอจะต้องมีคนนั่งพื้นอยู่แล้ว หนังก็จะนำเสนอฉากที่มีแต่ผู้หญิงและผู้หญิงทุกคนนั่งพื้น ไม่มีใครนั่งบนโซฟาเลย
เป็นหนังที่ดูแล้วรู้สึกว่า ทำไมเกิดเป็นผู้หญิงมันเหนื่อยจังวะ เจอทั้งแม่ผัวที่พูดจิกกัดตลอดเวลา ตอนเรียนจบหางานยากแค่ไหน มีความสุขกับงานมากแค่ไหน สุดท้ายก็ต้องลาออกมาเลี้ยงลูก ซ้ำร้ายการเลี้ยงลูกที่โคตรจะลำบากดันมาโดนมองว่าเป็นปลิงเกาะผัวกินอีก
มีฉากหนึ่งที่บรรดาแม่ ๆ แต่ละคนมาคุยกันหลังส่งลูกเข้าสถานเลี้ยงเด็ก แม่คนหนึ่งแซวอีกคนว่า "เธอจบวิศวะมาเพื่อสอนสูตรคูณลูกไง" เป็นฉากตลกร้ายที่สะเทือนใจสุด ๆ
หนึ่งในฉากที่แสดงความเหนื่อยของจียองได้อย่างชัดเจน คือฉากที่หลังจากส่งผัวไปทำงาน จียองหันกลับมาเจอห้องรก ๆ จากนั้นจียองเดินออกไปนั่งสูดอากาศที่ระเบียงเพื่อพักผ่อน ผ่านไปประมาณสองวินาที เสียงลูกร้องไห้ก็ดังขึ้น และเธอก็กลับไปเลี้ยงลูก เปลี่ยนจากบทบาทเมียที่พักผ่อนอยู่บ้านไปเป็นแม่ที่ต้องดูแลลูกภายในสองวินาที ซึ่งสองวินาทีนั้นมันก็นานพอที่สังคมจะตัดสินว่าเธอเป็นแค่ปลิงเกาะผัวกิน มันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย
จากสภาพสังคมและวัฒนธรรมแบบนี้ ทำให้คิมจียองมี "ตัวตนอื่น" เกิดขึ้นมา คอยพูดแทนเธอ คอยปกป้องเธอ และระบายความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ในใจออกมา ความรู้สึกที่ "คิมจียอง" ไม่สามารถพูดออกมาเองได้ แต่นั่นหมายความว่าเธอกลายเป็นผู้ป่วยทางจิตไปแล้วนั่นเอง
อีกสิ่งหนึ่งที่หนังนำเสนอคือความลำบากที่ตกทอดไปตาม generation ของผู้หญิง ฉากตอนเด็กที่จียองถามแม่ว่า "แม่ไม่ได้ทำงานเพราะต้องมาเลี้ยงหนูเหรอ" เป็นอีกฉากที่สะเทือนใจมาก
แม่ที่เลี้ยงลูกโดยที่รู้อยู่เต็มอกว่าลูกจะต้องโตขึ้นมามีอนาคตเหมือนตัวเองมันน่าเศร้าจริง ๆ ชีวิตจียองเดินตามรอยแม่แทบจะไม่ผิดเพี้ยน อีกทั้งเธอยังต้องเลี้ยงลูกสาวที่อนาคตอาจจะเดินตามรอยเธออีกครั้งหนึ่ง อนาคตที่ต้องลำบากเพราะวัฒนธรรมที่โหดร้าย
แต่ถึงยังไงก็ยังอยากขอบคุณผู้เขียน "โชนัมจู" ที่ยังสร้างจองแดฮยอนเป็นผัวในอุดมคติที่รักเมียรักลูก ตั้งใจทำงาน พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้เมียกลับเป็นปกติโดยไม่เคยคิดจะทอดทิ้ง ไม่มีแม้กระทั่งรำคาญด้วยซ้ำ เป็นตัวแทนผู้ชายหัวสมัยใหม่ที่เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของครอบครัวอย่างลึกซึ้ง
และยังมีครอบครัวที่พร้อมซับพอร์ตเธอในทุกเรื่อง ซึ่งหากไม่มีกลุ่มคนที่ว่ามานี้ หนังเรื่องนี้คงจะเป็นหนังที่โคตรหดหู่
และหนังก็จบอย่างแฮปปีเอ็นดิง จียองไปพบจิตแพทย์และเริ่มทำงานเขียนบล็อคอยู่บ้าน แดฮยอนใช้สิทธิ์ลางานหนึ่งปีมาช่วยเมียเลี้ยงลูก
ซึ่งตอนจบที่ดีขนาดนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตจริงได้จริงรึเปล่ายังไม่รู้เลย
เป็นหนังอีกเรื่องที่ดูแล้วได้อะไรกับชีวิตหลาย ๆ อย่างครับ การที่สังคมชายเป็นใหญ่ยังคงไม่หายไปเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อเปลี่ยนแปลง
ความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ สุดท้ายคำตอบอยู่ที่ว่ามุมมองของเราเท่าเทียมหรือเปล่า
เมื่อมีลูกก็ต้องเลี้ยงออกมาให้ดีที่สุด ไม่เป็นภาระสังคม หากมองว่าการอยู่บ้านทำงานบ้านเลี้ยงลูก เป็นงานสบาย ๆ เกาะอีกฝ่ายกินไปวัน ๆ ความเท่าเทียมก็คงไม่มีวันปรากฏอย่างแน่นอน
คิมจียองเกิดปี 82

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา