24 ม.ค. 2020 เวลา 14:00 • กีฬา
ความคิดติดเก้าอี้ : โค้ชนุ่มนิ่มไม่ลุกสั่งนักเตะทำให้ทีมอ่อนลงจริงหรือ?
สีหน้าสุดหมดหวังหลัง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ลงเล่นในรัง โอลด์ แทรฟฟอร์ด และโดน เบิร์นลี่ย์ ทีมระดับกลางค่อนล่างของตารางบุกมานำ 2-0 ขณะที่แฟนๆ ของทีมหันหลังและเดินออกจากสนามตั้งแต่นาทีที่ 70 ของ โอเล่ กุนนาร์ โซลชา บอกถึงผลงานในสนามได้เป็นอย่างดีว่านักเตะของเขาเล่นได้น่าผิดหวังขนาดไหน
"สิ่งที่แย่ที่สุดก็คือทุกครั้งที่เขาอยู่ข้างสนาม มันเหมือนกับเขาไม่แน่ใจในตัวเองและคำสั่งที่เขาให้ไป" คอมเมนต์หนึ่งในทวิตเตอร์จากแฮชแท็ก #OleOut เป็นเหมือนกระบอกเสียงของทีมปีศาจแดงที่เหนื่อยหน่ายกับสีหน้าที่หมดหวัง และการนั่งอยู่กับที่ไม่ยอมที่จะลุกไปสั่งการหรือกระตุ้นลูกทีมของ โซลชา
แทบทุกเสียงเห็นพ้องต้องกันว่า การไม่ยอมลุกไปสั่งการของ โซลชา คือ 1 ในเหตุผลของความล้มเหลวของผลงาน แมนฯ ยูไนเต็ด ... และนี่คือเรื่องของความรู้สึก
ทว่าเมื่อหากหาเหตุผลและข้อมูลอ้างอิงแบบจริงจังแล้ว การลุกสั่งทำให้ทีมดีขึ้นจริงไหม? และการนั่งเฉยๆ ทำให้ทีมเล่นได้อย่างห่อเหี่ยวจริงหรือ? และทำไม โซลชา จึงชอบนั่งติดเก้าอี้นักแม้ในสถานการณ์แสนคับขัน ติดตามได้ที่นี่
โค้ชไม้นวม...คาแรคเตอร์ที่ โซลชา เชื่อมั่น
อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น สิ่งที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกเห็นในตัว โซลชา คือการเป็นกุนซือที่ใจดี, ใจเย็น และเป็นคนที่ทำตัวเป็น "ลีดเดอร์" มากกว่าเป็น "บอส" กล่าวคือเขามักจะออกรับหน้าให้กับลูกน้องเสมอเมื่อได้ผลการแข่งขันที่ผิดหวัง
Photo : metro.co.uk
การมีคาแรคเตอร์แบบนี้ทำให้หลายคนสงสัยว่าเขาทำไปทำไม ทั้งๆ ที่เขาเป็น 1 ในขุนพลสำคัญของผู้จัดการทีมที่ดีที่สุดตลอดกาลอย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่ออกแอ็คชั่นเต็มที่ และมีอารมณ์ร่วมกับเกมสูงมาก ซึ่งการที่ โซลชา อยู่กับ เฟอร์กี้ มานาน น่าจะทำให้เขาได้เห็นและรู้ว่าคาแรคเตอร์แบบไหนที่ทำให้ทีมเดินไปข้างหน้าด้วยผลงานที่ดีได้ ... แต่สุดท้าย โซลชา ก็แค่อยากเป็น โซลชา เขาเป็นคนนิสัยอย่างนั้นและมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยตั้งแต่วันที่เป็นนักเตะ รวมถึงวันที่ก้าวขึ้นมาเป็นโค้ชฟุตบอลครั้งแรกกับ โมลด์ ทีมในลีกนอร์เวย์เมื่อปี 2011
"สิ่งที่ผมรู้ได้ทันทีเมื่อเขาเข้ามาทำทีม คือเขาเป็นคนที่อบอุ่น เป็นมิตร และทำให้คุณเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร เขามักจะเดินไปทักทายพนักงานคนอื่นๆ ของทีมไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงานในโรงอาหาร หรือพนักงานสนาม เขายิ้มและหัวเราะเสมอนั่นคือส่วนหนึ่งของตัวเขา" Mattias Moström นักเตะของ โมลด์ ที่จัดว่าเป็น 1 ในแข้งคนสนิทของ โซลชา บอกเล่าถึงวันเก่าๆ ของนายใหญ่ปีศาจแดงคนปัจจุบัน
แม้คำนิยามถึง โซลชา จากอดีตลูกทีมนั้นจะบอกได้ว่าเขาเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร และแม้หลายคนจะบอกว่าคาแรคเตอร์ของเขาทำให้ลูกทีมรีดศักยภาพออกมาไม่ได้ แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องต่างกรรมต่างวาระมากกว่า เพราะที่ โมลด์ นั้น โซลชา เคยทำทีมได้แชมป์ลีกของประเทศแถมยังเป็นที่รักของนักเตะในทีมแทบทุกคน เรียกได้ว่าอยู่ในระดับที่เข้าไปอยู่ในหัวใจลูกน้องได้สบายๆ
Photo : www.thesun.ie
ช่วงที่อยู่กับ โมลด์ นั้น โซลชา ใช้ไม้นวมเป็นหลัก และใช้ไม้แข็งบ้างในบางครั้ง และด้วยชื่อชั้นของนักเตะของ โมลด์ นั้นไม่ใช่สตาร์ระดับอีโก้สูงส่ง พวกเขาจึงเชื่อมั่นในตัวของ โซลชา เต็มที่ ... เมื่อถูก โซลชา ด่าหรือตำหนิ (ในพื้นที่ส่วนตัว) หรือเมื่อถูก โซลชา ชื่นชม นักเตะของ โมลด์ ต่างมีปฎิกิริยาตอบกลับในทิศทางบวกอย่างง่ายดาย และนั่นคือกุญแจความสำเร็จของเขาในช่วงที่อยู่กับ โมลด์ ส่งผลให้เขาเชื่อมั่นในคาแรคเตอร์แบบนั้นสามารถนำมาซึ่งความสำเร็จได้ไม่ต่างกัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวติดตัวเขามาจนทุกวันนี้
โซลชา เคยบอกถึงวิธีการทำงานของตัวเองในฐานะโค้ชชัดเจนมาก เขาตั้งใจจะวางตัวในฐานะคนดี เพื่อให้นักเตะในทีมให้การยอมรับและพร้อมเปิดใจที่จะรับฟังในสิ่งที่เขาบอก ต่างกับ เฟอร์กี้ ที่เขาใช้คำว่าโค้ชใจนักเลง ... ทว่าในโลกของฟุตบอลและกับทีมอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด การเป็นแค่คนดี ไม่มีทางตอบสนองความต้องการของแฟนๆ ทั่วโลกได้แน่ ยิ่งภาพจำจากยุคเฟอร์กี้ยังติดตามันก็ยากที่จะเลี่ยงการเปรียบเทียบ
"ผมแค่ทำทีมในวิธีของตัวผมเอง ผมไม่อาจเอาตัวเองเปลี่ยนเป็นคนอื่นได้ เมื่อผมยังเป็นนักเตะผมไม่สามารถเป็นผู้เล่นอย่าง กิ๊กส์, สโคลส์, เบ็คแฮม, คันโตน่า หรือ คีน ได้ แต่ผมสามารถนำสิ่งที่พวกเขามีมาปรับใช้ เช่นผมพยายามทำตัวเองให้สภาพจิตใจเหมือนกับเบ็คแฮม หรือการเอาความสามารถของ คันโตน่า มาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาตัวเอง" โซลชา ตอบคำถามกับ เดลี่ เมล์ เมื่อเขาถูกถามว่าเขาจะทำทีม แมนฯ ยูไนเต็ด ในรูปแบบเดียวกับที่ เฟอร์กี้ ที่เขาเปรียบเป็นอาจารย์หรือไม้ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเขาจึงดูแตกต่างกับอดีตเจ้านายที่เคารพนัก
ตะโกนสั่งหรือด่านักเตะแล้วได้อะไร?
หากพูดถึงโค้ชที่ชอบสั่งการข้างสนามและไม่มีการรักษาภาพลักษณ์ที่สุด คงหนีไม่พ้น เจอร์เก้น คล็อปป์ นายใหญ่แห่ง ลิเวอร์พูล และคล็อปป์เองก็มีเหตุผลในแบบของเขาว่าทำไมเขาจึงทำเช่นนั้น
Photo : www.sportinglife.com
"ผมไม่สนว่าใครจะมองว่าอย่างไร เวลาผมตะโกน (สั่งผู้เล่นข้างสนาม) ใบหน้าของผมดูเหมือนฆาตกรต่อเนื่อง ผมกัดฟันจนหน้าบูดเบี้ยวนั่นคือวิธีของผม"
"ผมพูดกับผู้เล่นของผมทุกครั้งว่า ผมจะมอบพลังทั้งหมดที่ผมมีให้กับพวกเขา ดังนั้นผมไม่กลัวที่จะลุกไปเตะตูดนักเตะของผมเมื่อพวกเขาต้องการมัน ผมจะตะโกนใส่พวกเขาเมื่อนักเตะของผมเริ่มแสดงถึงความอ่อนแอ"
"ผมไม่เคยกลัวว่าพวกเขาจะโกรธหรือโมโหใส่ผม ผมจะโกรธมากกว่าด้วยซ้ำถ้าพวกเขาไม่มีการตอบสนองกับการตะโกนของผม และสุดท้ายต้องมานั่งเสียดายว่า 'โอ้ นี่ฉันพลาดแล้ว' ผมอยากให้พวกเขาบอกว่า 'บอส บอสแม่งบ้าไปแล้วที่ด่าผมแบบนั้น เดี๋ยวผมจะไปแสดงออกให้ดูบอสพูดผิด'" คล็อปป์ เผยถึงเหตุผลที่เขามักจะใส่อารมณ์สุดเหวี่ยงและแทบไม่เคยนั่งติดเก้าอี้เลยตลอดทั้งเกม
สิ่งที่ คล็อปป์ บอกแสดงให้เห็นผ่านผลงานของ ลิเวอร์พูล ณ ปัจจุบัน ไม่ว่ากี่ครั้งต่อครั้งที่พวกเขาโดนนำหรือเล่นได้ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่เมื่อคล็อปป์ลุกมาทำท่าทางโหวกเหวกอารมณ์เสีย ทีมจะกลับมาอยู่ในทิศทางที่ควรจะเป็น และจากนั้นก็อย่างที่เราเห็นกัน ... ลิเวอร์พูล คัมแบ็คกลับมาชนะอีกแล้ว และสิ่งที่นักเตะตอบสนองเขาคือเมื่อยิงเข้าทุกคนจะแสดงความดีใจแบบสุดเหวี่ยงไม่ต่างจากคาแรคเตอร์ของเจ้านาย
เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเบื้องหลังและภายในจิตใจจริงๆ ของนักเตะนั้นคิดอย่างไรเมื่อพวกเขาถูกด่า และตะโกนสั่งในขณะที่กำลังเล่นอยู่ แต่ฟุตบอลคือกีฬาที่วัดกันที่ผลการแข่งขัน และมันสามารถบอกได้ว่าวิธีของคล็อปป์ คือวิธีที่เหมาะกับทีมที่เขาสร้างขึ้นมาอย่างที่สุด
ไม่ใช่ คล็อปป์ คนเดียว กุนซืออีก 1 คนอย่างที่เป็นสายพลังแสดงอารมณ์ร่วมกับเกมตลอดอย่าง อันโตนิโอ คอนเต้ ก็ใช้วิธีคล้ายๆ กันนั่นคือ "เตะตูดเรียกสติเมื่อทีมกำลังหลงทางจากที่เขาเคยได้กำชับไว้" แม้จะเป็นนักเตะที่ได้ค่าเหนื่อยสูงที่สุดในทีมของเขาก็ไม่รอด ...
Photo : www.thesun.co.uk
"มันไม่เคยเกิดขึ้นในอาชีพของผม มันไม่เคยเกิดขึ้นเลย" โรเมลู ลูกากู ดาวยิงที่เกิดใหม่ภายใต้การเล่นให้กับ คอนเต้ เล่าประสบการณ์การทำงานร่วมกันที่ อินเตอร์ มิลาน ซีซั่นนี้
"เขาบอกว่าผมไร้ค่ามาก และเขาจะเปลี่ยนผมออกตั้งแต่ 5 นาทีแรก ถ้าผมเล่นแบบนั้นอีกครั้ง เขาบอกผมแบบนั้น เขาเหยียบย่ำความมั่นใจของผม แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ปลุกผมตื่นขึ้นมาด้วย เขาทำแบบนี้กับทุกคน ไม่สำคัญเลยว่าคุณจะเป็นใคร ทุกคนเท่าเทียมกัน"
การยกตัวอย่าง ลูกากู คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นชัดมากว่า วิธีใส่พลังแบบสุดเหวี่ยงในการคุมทีมทำให้นักเตะนั้นตื่นตัว เพราะในฤดูกาล 2018-19 ที่ผ่านมา ลูกากู เองก็เคยเป็นลูกทีมของ โซลชา เหมือนกัน และมีผลงานที่ต่างกันลิบลับ
ลูกากู เคยบอกว่าเขาไม่ได้เกลียด โซลชา และ โซลชา เองก็ไม่เคยว่ากล่าวอะไรร้ายๆ ใส่เขาเลยแม้ว่าเขาจะถูกสื่อวิจารณ์ผลงานตอนอยู่กับ ยูไนเต็ด มากแค่ไหนก็ตาม แต่ โซลชา ก็ชื่นชมเขาตลอด ทว่าสุดท้าย ลูกากู ก็ย้ายทีมไปประสบความสำเร็จกับ อินเตอร์ ด้วยการยิงประตูถล่มทลายทุกวันนี้
"โซลชายังจะได้รับความเคารพจากผมตลอดไป" หนึ่งในคำพูดของ ลูกากู ที่พูดถึงโซลชา ในวันที่ทั้งคู่เลือกเดินกันคนละเส้นทาง
นั่งนิ่งๆ ไม่ได้แย่ไปเสียทั้งหมด
คาแรคเตอร์ของ โซลชา ที่ลุกมาสั่งการน้อยและบทบาทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นของ ไมค์ ฟีแลน ผู้ช่วยโค้ชของเขา (ซึ่งเคยเป็นผู้ช่วยของ เฟอร์กี้ ด้วย) ที่ใครหลายคนบอกว่ามันไม่ดี ความจริงแล้วมันก็ไม่ได้แย่ไปเสียทุกเรื่อง เพียงแต่ว่ามันอาจจะไม่ถูกที่ถูกเวลาก็เท่านั้นเอง
Photo : Reuters
มีงานบทความที่เกี่ยวกับการนั่งนิ่งๆ และปล่อยให้ลูกทีมเล่นกันไปเองคือบุคลลิกของกุนซือที่ดีไม่น้อย ...ทว่ามันจะดีมากๆ และเหมาะสมสำหรับฟุตบอลในระดับเยาวชนมากกว่า
จอห์น โอเล็ตต์ โค้ชทีมฟุตบอล AYSO National Coach ที่เป็นทีมระดับเยาวชนที่เป็นแชมป์ของประเทศสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า การตะโกนด่าหรือสั่งเด็กในระหว่างการแข่งขันคือสิ่งที่ทำให้ความสำคัญที่สุดของเด็กๆ หายไป ... นั่นคือ ความสนุก นั่นเอง
"เราไม่ต้องการให้เด็กๆ กลายเป็นพวกที่ต้องรอให้คนสั่งว่าต้องทำอะไรพวกเขาจึงจะทำอย่างนั้น เพราะฟุตบอลเป็นเกมที่ทำให้เด็กๆ ได้สนุกและได้เรียนรู้ ในฐานะที่เราเป็นองค์กรสำหรับเยาวชน เราไม่เคยสนับสนุนการตะโกนสั่งการข้างสนาม ไม่ว่าจะจากตัวผู้ปกครองของเด็กหรือแม้แต่ตัวโค้ชเองก็ด้วย"
สถาบันแห่งนี้เชื่อว่าเด็กๆ จะได้รับโอกาสในวิธีการคิดการสร้างสรรค์ในแบบของตัวเองได้ดีกว่าการที่ใครมาสั่ง อีกทั้งเรื่องนี้ยังเคยมีการพูดคุยกับโค้ชฟุตบอลในระดับอาชีพและเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันว่า หากเด็กๆ ไม่ได้รับอิสระในการเล่น หากพวกเขาโตไป พวกเขาจะกลายเป็นนักเตะที่สร้างสรรค์รูปแบบการเล่นเองไม่เป็น ซึ่งถือว่าพบได้มากในการแข่งขันฟุตบอลระดับสูง
ขณะเดียวกันที่ประเทศไอร์แลนด์ ก็มีการแข่งขันฟุตบอลรายการสำหรับเยาวชนที่ชื่อว่า Silent Sideline Weekend (ข้างสนามที่เงียบสงบ) เพราะพวกเขาเองก็เชื่อในแบบเดียวกันว่า เด็กจะได้แสดงความสามารถและสิ่งที่พวกเขาคิดออกมาจริงๆ หากข้างสนามไม่มีโค้ชและผู้ปกครองคอยชี้ว่า "ส่งสิ, ยิงสิ" หรือกระทั่งหัวเราะในเวลาที่เด็กๆ เหล่านั้นแสดงความผิดพลาดออกมา ซึ่งรายการดังกล่าวปัจจุบันมีทีมระดับเยาวชนลงแข่งขันมากถึง 70 ทีมเลยทีเดียว
Photo : hoop.co.uk
"หลายคนคุ้นเคยกับมัน (การตะโกนสั่งเด็กในสนาม) จนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่จริงๆ มันเป็นการรบกวนและละเมิดสิทธิ์ของเด็กๆ ไม่ว่าจะเสียงกรีดร้อง, เสียงโห่ หรือคำสั่งใดๆ ก็ตาม เวทีฟุตบอลของเด็ก ควรจะให้เด็กได้เล่นจริงๆ รายการของเราต้องการให้เด็กๆ ตัดสินใจเองโดยไม่ใครมาตะโกนใส่ไม่ว่าพวกเขาจะทำสำเร็จหรือผิดพลาดก็ตาม" Dubliner Antonio Mantero ผู้จัดการแข่งขัน Silent Sideline Weekend กล่าว
แน่นอนว่าเด็กๆ แทบทุกคนที่ลงเล่นในรายการนี้มีความสุข และสนุกกับฟุตบอลมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย
"ผมเคยโดนด่าหยาบๆ ใส่ตอนที่ผมเล่นให้กับทีมเก่าของผม จากนั้นมันก็ทำให้เราเล่นผิดพลาดกันไปหมดเมื่อทุกๆ คนพยายามตะโกนใส่หน้าคุณ" แอนดี้ ฮูริแฮน นักเตะวัย 13 ปี กล่าว
อย่างไรก็ตามกับฟุตบอลระดับสูงที่มีนักเตะซูเปอร์สตาร์ลงห้ำหั่นกัน เป็นเหตุผลว่าทำไมกุนซือที่ทำทีมคว้าความสำเร็จหลายๆ คนทั้ง คล็อปป์, เป๊ป กวาร์ดิโอล่า, คอนเต้ หรือทีมระดับเล็กลงมาอย่าง ฌอน ไดซ์ ของ เบิร์นลี่ย์ แทบไม่นั่งติดเก้าอี้เลย ภาพที่เห็นคือพวกเขาจะป้องปากและออกแอ็คชั่นเสมอเมื่อลูกทีมทำไม่ได้ตามที่สั่ง
อาจเป็นพราะเกมฟุตบอลปัจจุบันมีความละเอียดมาก โค้ชแทบจะแก้หมากกันนาทีต่อนาที นอกจากนี้ตัวของนักเตะของต้องมีสมาธิกับเกมตลอดเวลา เพราะเวลาสั้นๆ เพียง 1 นาทีก็สามารถมีประตูได้เสมอซึ่งบางครั้งมันเกิดประตูมากกว่า 1 ลูกด้วยซ้ำ (อาทิเกมพรีเมียร์ลีกที่ นิวคาสเซิล ตีเสมอ เอฟเวอร์ตัน 2-2 ด้วยการยิง 2 ประตูในนาทีที่ 94 และ 95)
แม้การอยู่นิ่งๆ ของ โซลชา จะโดนก่นด่าสารพัด แต่จริงๆ แล้วจะพูดว่าเป็นความผิดของเขาเต็ม 100% ก็คงไม่ใช่ เพราะตัวของเขาเองยืนยันถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นมาตลอด อีกทั้งหน้าที่ตะโกนสั่งก็มีคนรับผิดชอบแทนที่เขาแล้ว และสำคัญที่สุดคือ ยูไนเต็ด ชุดนี้เป็นทีมที่มีอายุเฉลี่ยน้อย มีหลายคนเพิ่งได้โอกาสขึ้นมาจากทีมชุดเยาวชน ดังนั้นอาจจะเป็นไปได้ว่าวิธีการโซลชาก็เข้าเค้าในการทำงานร่วมกับนักเตะอายุน้อยๆ ก็เป็นได้
Photo : moosegazette.net
"อย่างที่ผมพูดกับนักเตะทุกคน ผมมักพูดกับนักเตะว่าผมอยากเห็นฟอร์มที่ดีสุดของพวกเขา ผมอยากเห็นทุกคนสนุกกับตัวเอง และทุกคนช่วยกันทำงาน นั่นคือสิ่งที่เราอยากให้ทีมเล่นแบบนั้น และทุกคนก็โชว์ฟอร์มได้เกินมาตรฐานของตัวเอง" โซลชา กล่าวถึงปรัชญาของเขาเมื่อปีก่อน
แต่ที่สุดแล้วก็คงต้องหยิบยกวลีอมตะออกมากล่าวอีกครั้งว่า "ฟุตบอลคือเรื่องของผลการแข่งขัน" ไม่ว่าใครจะบอกว่าวิธีนั้นดีหรือวิธีนี้ดีกว่ากัน แต่ความจริงคือถ้าสุดท้ายผลการแข่งขันออกมาดีและทีมประสบความสำเร็จ คำวิจารณ์ในเรื่องของวิธีการก็จะหายไปเองเพราะผลลัพธ์ที่ตามมา
โซลชา ยังมีโอกาสแสดงให้เห็นว่าการนั่งเก้าอี้มากกว่าการยืนสั่งการข้างสนามของเขาไม่ได้ล้มเหลวอย่างที่ใครว่า หากเขาคว้าแชมป์และพายูไนเต็ดกลับมาประสบความสำเร็จได้ เพราะตัวของเขาเองก็ย้ำเสมอว่าเขาจะทำทีมที่เน้นอนาคต และเชื่อว่าแนวทางของเขาจะประสบความสำเร็จในบั้นปลาย
"วาน-บิสซาก้า, ชอว์, ทวนเซเบ้ พวกเขาคือแข้งอายุน้อยที่มีพรสวรรค์สูง และเป้าหมายของผมก็คือการสร้างทีมชุดบุกเบิกความสำเร็จขึ้นมาให้ได้โดยมีเด็กๆ เหล่านี้เป็นแกนหลัก"
"ในฐานะที่เคยคว้าแชมป์มากมายกับ แมนฯ ยูไนเต็ด มาตั้งแต่สมัยยังค้าแข้งอยู่ ทำให้ผมอยากพาสโมสรเรากลับไปยิ่งใหญ่อีกครั้งด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า พรีเมียร์ลีก ตอนนี้โหดกว่าเก่าหลายเท่านัก"
"ต่อจากนี้ไปจะมีนักเตะย้ายเข้า-ย้ายออกอีกหลายคน เหล่าแข้งดาวรุ่งก็รอวันเติบใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ผมมั่นใจว่าจะสามารถทำให้พวกเขาดึงศักยภาพออกมาได้สูงสุดจนประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน"
Photo : futaa.com
ในโลกฟุตบอลเราไม่มีทางเดาตอนจบของเรื่องต่างๆ ได้ 100% หรอก ตอนนี้ โซลชา อาจจะกลายเป็นตัวตลกและเป็นเป้าใหญ่ในการเล่นงานของสื่อและแฟนบอลทีมตรงข้าม ทว่าเขาอาจจะกลายเป็นคนที่หัวเราะทีหลังแล้วดังกว่าก็ได้หากเขาทำได้เหมือนกับที่ตั้งใจและหวังไว้
สิ่งสุดท้ายที่จะบอกได้ว่าคาแรคเตอร์ของ โซลชา เป็นแค่ความแตกต่างของวิธีการ แต่ไม่ได้ด้อยค่ากว่าคาแรคเตอร์ของกุนซือคนอื่นๆ ก็คือเวลาเท่านั้นที่จะบอกเราได้
ถ้าคุณเป็นแชมป์ จะยืนหรือจะนั่งก็ตามสบาย ใครจะกล้าว่าคุณล่ะจริงไหม?
บทความโดย ชยันธร ใจมูล
โฆษณา