17 ก.พ. 2020 เวลา 12:54 • ดนตรี เพลง
The Wayfaring Stranger : ความเศร้าที่เดินทางมายาวนานกว่าสองร้อยปี
สมัยเด็ก ๆ เราเคยเรียนกีตาร์ที่โรงเรียนดนตรีค่ะ เรียนแบบจริงจัง แบบที่ต้องหัดอ่านโน้ตด้วย
ตอนที่เรียนชั้นเริ่มต้น บทเรียนก็จะเป็นเพลงที่มีโน้ตอ่านง่าย จังหวะไม่ซับซ้อน บางครั้ง เวลาหัดตีคอร์ด ครูจะให้เราร้องตามโน้ตที่เป็นเมโลดี้ด้วย
ในบรรดาบทเรียนเหล่านี้มีอยู่เพลงหนึ่งที่ติดอยู่ในใจเราจนถึงทุกวันนี้ เพราะเป็นเพลงที่ทำนองแปลก เนื้อร้องประหลาด ในความรู้สึกตอนนั้น และเป็นเพลงที่ร้องให้เพราะได้ยากมาก (ซึ่งไม่เกี่ยวกับเสียงร้องอันห่วยแตกของเรา)
จนกระทั่งโตขึ้นมา ได้ฟังเพลงนี้ในหลายเวอร์ชัน ถึงได้เข้าใจว่า นี่คือเพลงพื้นบ้านที่เก่ามาก มีวิธีร้องที่ต้องเอื้อนเสียง จึงจะไพเราะ การร้องตามตัวโน้ตเป๊ะ ๆ อย่างเดียวแบบที่เราเคยทำ จึงฟังดูประหลาด
เพลงนั้นชื่อ The Wayfaring Stranger ค่ะ
ล่าสุด เพลงนี้กลับมาเป็นที่สนใจเพราะไปอยู่ในหนังเรื่อง 1917 โดยมี จอส สโลวิค (Jos Slovik) เป็นผู้ร้อง ใช้ชื่อเพลงว่า I Am a Poor Wayfaring Stranger บางคนบอกว่าเวอร์ชันอะแคพเพลล่า (Acappella คือมีแต่เสียงร้องเปล่าๆ ไม่มีเสียงดนตรีประกอบ) ของเพลงนี้ ฟังแล้วหลอนความรู้สึกมาก
เพลง I Am a Poor Wayfaring Stranger โดดเด่นมากในหนังเรื่อง 1917
The Wayfaring Stranger เป็นเพลงโฟล์ค/กอสเปลที่เก่าแก่ที่สุดเพลงหนึ่งของคนอเมริกัน เพลงนี้มีหลายชื่อ เช่น The Wayfaring Stranger, Poor Wayfaring Stranger หรือ I Am a Poor Wayfaring Stranger
มีผู้สืบประวัติ The Wayfaring Stranger ย้อนกลับไปได้ไกลถึงช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สันนิษฐานว่ามีที่มาจากลำนำเพลงที่ชาวสก็อตขับขานกัน ชื่อว่า The Dowie Dens of Yarrow แต่เรื่องราวในเพลงที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้หลายคนไม่ยอมรับทฤษฎีนี้
เพลง Dowie Dens of Yarrow มีเนื้อร้องหลายเวอร์ชัน บางเวอร์ชันเล่าถึงการต่อสู้ระหว่างชายหนุ่มกับกลุ่มคนที่รุมทำร้ายและเกือบเอาชนะได้สำเร็จ ขณะที่อีกเวอร์ชันหนึ่งก็บอกว่าเป็นเรื่องของหญิงสาวที่ปฏิเสธบรรดาผู้สู่ขอที่ร่ำรวยเพื่อแต่งงานกับชาวนา กลุ่มผู้สู่ขอจึงรวมตัวกันรุมทำร้ายชาวนาผู้นั้น นอกจากนี้ยังมีเวอร์ชันอื่น ๆ ที่เล่าเรื่องต่างออกไป
ส่วน The Wayfaring Stranger นั้นบรรยายความรู้สึกของชายหนุ่มที่กำลังเดินทางผ่านโลกและชีวิตไปอย่างเคว้งคว้างโดดเดี่ยว (โดยเฉพาะในแง่ของจิตวิญญาณ) มุ่งสู่จุดหมายสุดท้ายหรือที่พำนักสุดท้ายอันสงบสุข (อาจหมายถึงสวรรค์) เนื้อร้องของเพลงนี้มีความเกี่ยวพันกับความเชื่อทางคริสตศาสนาอยู่มากและมีหลายจุดที่น่าสนใจ เอาไว้จะรวบรวมมาเล่าให้ฟังอีกทีค่ะ
เนื่องจากเป็นเพลงที่ร้องต่อๆ กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ก่อนที่จะมีการบันทึกไว้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เนื้อร้องของเพลงนี้จึงมีหลายเวอร์ชัน และอาจขาดหายหรือถูกเติมแต่งเมื่อเวลาผ่านไป เชื่อกันว่ามีการตีพิมพ์เนื้อร้องของเพลงนี้เป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในปีค.ศ. 1858 ในหนังสือรวมเพลงชื่อว่า Bever’s The Christian Songster
ศิลปินที่นำเพลงนี้ไปร้องมีมากมายหลายชาติ ทั้งรุ่นเก่ารุ่นใหม่ คนแรกที่นำเพลงนี้ไปร้องจนกลายเป็นเพลงประจำตัวก็คือ เบิร์ล ไอฟ์ส (Burl Ives) นักร้อง/นักแสดงในยุคทศวรรษที่ 40 ส่วนรุ่นที่มีอายุรอง ๆ ลงมา ก็ได้แก่ โจน บาแอซ (Joan Baez), เอ็มมี่ ลู แฮร์ริส (Emmy Lou Harris), จอห์นนี่ แคช (Johnny Cash) รุ่นใหม่ๆ ก็มี เอ๊ด เชียแรน (Ed Sheeran) เป็นต้น
ส่วน The Wayfaring Stranger เวอร์ชันที่เราชอบที่สุดเป็นเสียงร้องของเจมี่ วูน (Jamie Woon) นักร้องหนุ่มชาวอังกฤษ เชื้อสายมาเลเซีย-จีน-สก็อต เพลงนี้อยู่ในผลงานแบบ EP (คล้าย ๆ มินิอัลบั้ม) ชื่อ The Wayfaring Stranger ของเขาค่ะ.
โฆษณา