24 ก.พ. 2020 เวลา 04:00 • กีฬา
โตไปไม่โกง : รวมเหตุการณ์ 'คอร์รัปชั่น' สนั่นโลกกีฬา
การทุจริตคอร์รัปชั่น คือ หนึ่งในปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อองค์กรและประเทศต่างๆ มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งทางสหประชาชาติ หรือ UN เองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ ทำให้มีการกำหนดวันต่อต้านการคอร์รัปชั่นสากลเป็นวันที่ 9 ธันวาคมของทุกปี นับตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา
แน่นอนว่า วงการกีฬาก็ไม่สามารถหนีพ้นจากปัญหาการคอร์รัปชั่น หรือพูดให้กระชับก็คือการ "โกง" ไปได้ เราจึงได้เห็นข่าวฉาวจากเหตุการณ์เหล่านี้มากมายไม่แพ้กัน แต่เหตุการณ์ใดจะเป็นที่สุดแบบที่โลกไม่มีวันลืม จนส่งผลเปลี่ยนแปลงถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้าง?
คอร์รัปชั่นในฟีฟ่า สู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
พูดถึงการคอร์รัปชั่นในวงการกีฬา เชื่อว่าทุกคนคงต้องนึกถึงเรื่องราวสุดอลหม่านในสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เป็นแน่ เมื่อองค์กรผู้ควบคุมการแข่งขันฟุตบอลของโลกแห่งนี้มีข่าวฉาวมากมาย โดยเฉพาะการรับสินบนเพื่อให้ รัสเซีย และ กาตาร์ เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 ตามลำดับ
Photo : mobile.abc.net.au
เรื่องราวดังกล่าวนำมาสู่การจับกุมบอร์ดบริหารฟีฟ่าครั้งใหญ่เมื่อปี 2015 ตามมาด้วยการเช็กบิลผู้บริหารระดับสูงอีกหลายราย แม้แต่ เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่า และ มิเชล พลาตินี่ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ ยูฟ่า ก็ไม่รอด ต้องออกจากตำแหน่งกันทั้งคู่ จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ในองค์กร โดยมี จิอานนี่ อินฟานติโน่ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานฟีฟ่าคนใหม่ในทุกวันนี้
1
บิ๊กบอสบอลกระทิงดุ เอื้อประโยชน์ให้ลูกชาย
อังเคล มาเรีย บียาร์ ถือเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการฟุตบอลมายาวนาน เมื่อเขาดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลสเปนมาตั้งแต่ปี 1988 ก่อนได้รับตำแหน่งในระดับสูงทั้งในยูฟ่าและฟีฟ่า
1
Photo : elpais.com
แม้ที่ผ่านมาบียาร์จะต้องเจอกับมรสุมชีวิต กับการถูกกล่าวหาว่ามีส่วนรู้เห็นกับการคอร์รัปชั่นในองค์กรต่างๆ ที่เขามีส่วนร่วม แต่ที่สุดแล้วก็ผ่านมาได้ ถึงกระนั้นเทพีแห่งโชคก็ไม่ได้อยู่กับเขาตลอดกาล เพราะในปี 2017 เจ้าตัวถูกตำรวจสเปนจับกุมในข้อหาใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ รวมถึงการเอื้อประโยชน์เรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดให้กับบริษัทของลูกชาย ซึ่งก็ถูกจับกุมไปพร้อมกันด้วย
แม้คดียังอยู่ในระหว่างการสอบสวนเพื่อตัดสินความผิดมาเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วในตอนนี้ แต่คงไม่ผิดหากจะพูดว่า อนาคตในวงการลูกหนังของเขาจบลงแล้ว
รัสเซียฉาวหนัก เมื่อรัฐบาลหนุนการโด๊ป
อีกหนึ่งเรื่องราวการคอร์รัปชั่นที่เป็นที่สนใจของคนทั้งโลกคงหนีไม่พ้นการคอร์รัปชั่นอย่างเป็นระบบของวงการกีฬารัสเซีย เมื่อมีหลักฐานจากหลายชนิดกีฬาว่า นักกีฬาจากแดนหมีขาวใช้สารกระตุ้นโดยมีรัฐบาลเครมลินหนุนหลัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปกปิดหลักฐานจากแล็บของราชการ
Photo : abcnews.go.com
มหกรรมการโด๊ปที่รัฐบาลรู้เห็นเป็นใจ นอกจากจะเป็นสาเหตุให้รัสเซียเป็นชาติที่นักกีฬาที่ถูกยึดเหรียญรางวัลโอลิมปิกในภายหลังมากที่สุดถึง 51 คน ยังส่งผลถึงการส่งนักกีฬาลงแข่งขันรายการต่างๆ อีกด้วย เริ่มจาก โอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ที่พวกเขาไม่สามารถส่งนักกรีฑาลงแข่งในนามทีมชาติได้ ก่อนจะขยายผลบานปลายในโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 รวมถึงโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ซึ่งพวกเขาไม่สามารถส่งนักกีฬาในนามทีมชาติลงแข่งโอลิมปิกได้เลยแม้แต่ชนิดเดียว
เรื่องราวการสืบเสาะจนเจอกับเรื่องสุดช็อกในวงการกีฬานี้ ถูกถ่ายทอดลงสู่ภาพยนตร์ Icarus ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ประจำปี 2018
เรื่องฉาวไอบา ทำอนาคตมวยโอลิมปิกสะเทือน
แฟนกีฬาชาวไทยน่าจะยังไม่ลืมความเจ็บใจกับการที่นักมวยสากลสมัครเล่นของไทยถูกปล้นชัยชนะจากการตัดสินอยู่บ่อยครั้งในรายการใหญ่ๆ อย่าง โอลิมปิก ทว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีแต่ไทยชาติเดียวที่โดน เพราะยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกเพียบ
1
Photo : www.the42.ie
ซึ่งแม้สมาคมมวยสากลสมัครเล่นนานาชาติ หรือ ไอบา จะพยายามแก้ไขด้วยการสั่งแบนกรรมการที่ตัดสินผิดพลาดในโอลิมปิก 2016 แต่ยิ่งแก้ก็ยิ่งเจอเรื่องอื้อฉาวไม่หยุดหย่อน ทั้งเรื่องการเงินและการบริหาร จนคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ต้องเข้ามาสอบสวนอย่างจริงจัง พร้อมสั่งห้ามไอบาดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างเด็ดขาด โดย IOC ได้เข้ามาจัดการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่นโอลิมปิก 2020 ด้วยตัวเอง ตั้งแต่รอบคัดเลือกจนถึงรอบสุดท้าย ไม่ให้ไอบาเข้ามายุ่งเกี่ยวอีกต่อไป
2
มหกรรมนักจักรยานโด๊ป สู่จุดเปลี่ยนกระบวนการตรวจสารกระตุ้น
ย้อนกลับไปยุค 1990 ถึง 2000 ต้นๆ ช่วงเวลาดังกล่าวได้รับการขนานนามว่าเป็น "ยุคมืดแห่งการแข่งขันจักรยาน" เมื่อนักกีฬามากมายต่างใช้สารกระตุ้นกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ชนิดที่แม้แต่ทีมต้นสังกัดก็ยังรู้เห็นเป็นใจ ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยมีปัจจัยส่งเสริมคือความล้าสมัยของกระบวนการตรวจสารกระตุ้น รวมถึงสหพันธ์จักรยานนานาชาติหรือ UCI ที่ช่วยปกปิดการกระทำผิดของนักแข่งชื่อดัง เพื่อให้วงการยังคึกคักต่อไป
Photo : radio.wosu.org
แต่ความจริงหนีแค่ไหนก็ไม่พ้น มหกรรมเช็กบิลนักโด๊ปแห่งวงการจักรยานจึงเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ แม้แต่ แลนซ์ อาร์มสตรอง ยอดมนุษย์ผู้พิชิตมะเร็งจนเป็นแชมป์รายการ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกก็ยังไม่รอด ต้องสูญสิ้นเกียรติยศแทบทุกสิ่งที่เคยสร้างมา ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบสารกระตุ้นขนานใหญ่ จนทำให้ทุกวันนี้ จักรยานเป็นกีฬาที่มีระบบการตรวจสอบการโด๊ปที่เข้มงวดที่สุดในโลก
ติดสินบนเพื่อเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว
หลังพลาดหวังในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกรายการต่างๆ มาโดยตลอด เมือง ซอลท์เลก ซิตี้ ของสหรัฐอเมริกาจึงคิดใหม่ทำใหม่ ด้วยการจัดงบลับพิเศษเพื่อเอ็นเตอร์เทนบอร์ดของ IOC โดยหวังแลกเปลี่ยนกับคะแนนเสียงในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2002
1
Photo : thesportdigest.com
แม้ซอลท์เลกซิตี้จะสมหวังดังใจ แต่เรื่องดังกล่าวก็มีผลกระทบตามมา เมื่อ IOC สอบสวนพบความผิดปกติดังกล่าวจนนำมาซึ่งการไล่ออกบอร์ด IOC ถึง 10 คน พร้อมกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับกระบวนการเสนอตัวขอเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาใหญ่ๆ ให้เข้มงวดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำรอยอีก
1
เมื่อเรนเจอร์สล่มสลายเพราะ "ภาษี"
เราอาจจะเคยได้ยินข่าวนักเตะระดับโลกหลายรายที่โดนข้อหา "เลี่ยงภาษี" แต่สำหรับเคสของ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ทีมดังแห่งสก็อตแลนด์ ความผิดครั้งนี้ถึงกับมีส่วนทำให้สโมสรต้องถึงคราวล่มสลายเลยทีเดียว
Photo : rangers.co.uk
โดยในระหว่างปี 2001-2010 เรนเจอร์สได้ทำการซิกแซ็กครั้งใหญ่ ด้วยการจ่ายเงินแก่นักเตะ, ผู้จัดการทีม และบอร์ดบริหารในรูปของเงินกู้ปลอดภาษีเป็นจำนวนเงินมากกว่า 47 ล้านปอนด์ เมื่อสรรพากรอังกฤษพบความปิดปกตินี้ จึงได้ทำการฟ้องเรียกคืนภาษีย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยและค่าปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 49 ล้านปอนด์ ทว่าพวกเขาไม่มีเงินจ่าย
เมื่อบวกกับภาระหนี้สินที่มีอยู่แต่ก่อน ที่สุดแล้วสโมสรแห่งนี้จึงได้ยื่นขอล้มละลายเมื่อปี 2012 ต้องไปเริ่มต้นใหม่ในลีกอันดับ 4 ของประเทศ แต่ถึงเวลานี้ พวกเขากลับมาสู่ลีกสูงสุดได้อีกครั้ง และกำลังเริ่มต้นการกู้ชื่อเพื่อกลับมาอยู่ในจุดสูงสุดใหม่กับผู้จัดการทีมที่ชื่อ สตีเว่น เจอร์ราร์ด
ทีมกีฬาผู้พิการ แต่ไม่ได้พิการจริงๆ
ถือเป็นอีกเรื่องราวการคอร์รัปชั่นสุดแสบสันในวงการกีฬา เมื่อทีมบาสเกตบอลผู้พิการทางสมองของทีมชาติสเปน คว้าเหรียญทองในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก หรือโอลิมปิกของผู้พิการปี 2000 ทั้งๆ ที่นักกีฬาเกือบทุกคนในทีมชุดนั้นไม่ได้มีความบกพร่องทางร่างกายโดยแท้จริง โดยเรื่องดังกล่าวมี เฟร์นานโด มาร์ติน บิเซนเต้ ประธานสหพันธ์นักกีฬาผู้พิการทางสมองอยู่เบื้องหลัง เพื่อเป้าหมายคว้าเหรียญทองและหวังรายได้จากสปอนเซอร์ที่มากขึ้น
Photo : www.theaustralian.com.au
ซึ่งหลังจากพวกเขาคว้าเหรียญทองได้ไม่ถึง 3 เดือน ความจริงก็ถูกเปิดเผย บิเซนเต้ผู้เป็นต้นคิดไอเดียสุดโกงต่อนักกีฬาผู้พิการยอมรับสารภาพแบบไม่มีข้อแก้ตัว ทำให้ทีมบาสเกตบอลผู้พิการของสเปนถูกยึดเหรียญรางวัลคืนทั้งหมด และคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลหรือ IPC ต้องขอใช้เวลาสังคายนาระบบใหม่ด้วยการยกเลิกแข่งขันกีฬาของผู้พิการทางสมองทุกรายการในพาราลิมปิก 2004 และ 2008
1
ไฟแนนเชียล (ไม่) แฟร์เพลย์\
จากสถานการณ์ของสโมสรต่างๆ ทั่วทวีปยุโรปที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว จนบางทีมถึงกับล้มละลาย ยูฟ่าจึงตัดสินใจนำกฎ ไฟแนนเชียล แฟร์เพลย์ หรือ FFP มาใช้ เพื่อให้แต่ละทีมใช้เงินอย่างรู้คุณค่า โดยกำหนดให้ในรอบ 3 ปี แต่ละทีมสามารถใช้เงินมากกว่ารายได้ที่ตัวเองมีไม่เกิน 5 ล้านยูโร หรือ 30 ล้านยูโรหากมีการสนับสนุนจากเจ้าของ (งบเพื่อการลงทุนจะไม่ถูกรวมในส่วนนี้)
Photo : www.infobae.com
ทว่าเรื่องดังกล่าวกลับไปขัดแผนการสร้างทีมให้เป็นมหาอำนาจของเหล่าเศรษฐีใหม่อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง ซึ่งมีเจ้าของเป็นเศรษฐีจากแดนอาหรับอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งสองสโมสรจึงได้คิดวิธีซิกแซ็กด้วยการทำสัญญาสปอนเซอร์กับบริษัทจากชาติเจ้าของทีมที่มีมูลค่าสูงเกินจริง แต่ที่สุดแล้วก็ไม่รอดจากสายตาของยูฟ่า ทำให้โดนปรับอ่วมทีมละ 60 ล้านยูโร พร้อมจำกัดการซื้อนักเตะใหม่อีก 2 ปี
1
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทางยูฟ่าต้องกลับไปวางมาตรการใหม่เพื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่เรื่องราวยังไม่ทันจางหาย Der Spiegel สื่อจอมคุ้ยของเยอรมนีก็ไปได้หลักฐานใหม่ที่ชี้ว่า ทีมเรือใบสีฟ้ายังไม่ยอมหยุดกระทำในแบบเดียวกับที่เคยโดนลงโทษไป ยูฟ่าจึงเข้ามาสอบสวนอีกรอบ ก่อนตัดสิทธิ์ ห้ามลงแข่งฟุตบอลสโมสรยุโรป 2 ปี เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2020-21
แน่นอนว่า แมนฯ ซิตี้ ต้องอุทธรณ์ ชนิดที่ "เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้" และเรื่องราวจะยังไม่จบเพียงเท่านี้อย่างไม่ต้องสงสัย
บทความโดย เจษฎา บุญประสม
โฆษณา