28 มี.ค. 2020 เวลา 22:09 • ปรัชญา
“รากฐานของการปฏิบัติธรรมคือศีล”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๒๙ มีนาคม ๒๕๖๓
ผู้ปฏิบัติจำเป็นจะต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอคือปฏิบัติทุกวัน เริ่มจากน้อยไปหามาก แต่ควรปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอเพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้วผลจะไม่เกิด ถ้าอยากจะให้เกิดผลจากการปฏิบัติควรปฏิบัติอย่างต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ แล้วก็เพิ่มให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเต็ม ๑๐๐ ในทุกขั้นตอนของธรรมที่จะปฏิบัติ เริ่มต้นที่ขั้นของศีลก่อน แล้วก็ขยับขึ้นไป สมาธิและปัญญาตามลำดับ ขั้นของศีลก็ให้ปฏิบัติเท่าที่เราปฏิบัติได้ก่อน รักษาศีลได้กี่ข้อก็รักษาไปเริ่มต้นที่ตรงนั้นก่อน แล้วก็พยายามเพิ่มขึ้นไปให้ครบ ถ้าศีล ๕ ยังไม่ครบก็พยายามรักษาไปให้ครบศีล ๕ ได้ศีล ๕ แล้วก็พยายามเพิ่มให้ได้ศีล ๘ อันนี้เป็นขั้นของศีล เพราะศีลนี้เป็นเหมือนรากฐานของอาคารบ้านเรือน ถ้ารากฐานมีกำลังน้อยก็รับน้ำหนักของบ้านเรือนได้น้อย เช่น จะสร้างตึกสูงๆ หลายชั้น รากฐานของตึกก็ต้องมีความแน่นหนามีกำลังที่จะรับน้ำหนักของตัวอาคารได้ ไม่เช่นนั้นตัวอาคารก็จะทรุดแล้วก็จะล้มลงมาได้ งั้นรากฐานของการปฏิบัติธรรมนี้คือศีล ผู้ปฏิบัติควรที่จะให้ความสำคัญต่อการรักษาศีล แล้วก็ต้องรักษาอย่างสม่ำเสมอ
ในเบื้องต้นยังไมสะดวกก็รักษาเฉพาะวันไปก่อน เช่น วันพระสำหรับผู้เริ่มต้นยังไม่เคยรักษาศีลเลย ก็ลองมารักษาศีลในวันพระกัน แล้วก็ค่อยเพิ่มจาก ๑ วันไปเป็น ๒ วัน ไปเป็น ๓ วันจนกว่าจะครบ ๗ วัน แล้วต่อไปก็จะรักษาได้ทุกวัน ถ้ารักษาศีล ๕ ได้ก็ขยับขึ้นไปรักษาศีล ๘ ต่อไป ช่วงที่รักษาศีล ๕ เราก็มาหัดเจริญสติหัดนั่งสมาธิได้ หัดเจริญปัญญาได้ควบคู่กันไป เราสามารถแบ่งเวลาให้กับการปฏิบัติได้ ว่าช่วงนี้ให้กับการฝึกสมาธิ ช่วงนี้ให้กับการฝึกปัญญา แบ่งเวลาได้เหมือนเรียนหนังสือ เรียนหนังสือเราแบ่งวิชาเรียนต่างๆ ได้ ช่วงนี้เรียนวิชาคณิตศาสตร์ ช่วงต่อไปเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ช่วงต่อไปเรียนวิชาภูมิศาสตร์อะไร อันนี้ก็เหมือนกันเรามีการเรียนอยู่ ๒-๓ วิชาด้วยกันคือการปฏิบัติ การเรียนนี้ไม่ต้องเรียนมาก เรียนให้รู้ว่าต้องปฏิบัติอะไรเท่านั้น ไม่ต้องไปเรียนพระไตรปิฎกให้หมดทั้งเล่มก่อนแล้วค่อยมาเริ่มปฏิบัติ เอาทีละเล็กทีละน้อย เรียนเฉพาะทาง เรียนเฉพาะงานที่เราจะต้องทำ เราต้องรักษาศีลถ้าไม่รู้ว่าศีลมีอะไร ก็ไปเรียนเรื่องศีลก่อน ศีล ๕ มีกี่ข้อ มี ๕ ข้อ มีอะไรบ้าง
๑.ไม่ฆ่าสัตว์
๒. ไม่ลักทรัพย์
๓. ไม่ประพฤติผิดประเวณี
๔. ไม่พูดปด
๕. ไม่ดื่มสุรายาเมา
นี่คือศีล ๕ ถ้าไม่เข้าใจข้อไหนก็ไปศึกษาจากผู้รู้ เช่น ไม่ประพฤติผิดประเวณีนี้หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าจะไม่ร่วมหลับนอนกับใครนอกจากสามีหรือภรรยาของตนเท่านั้น อย่างนี้เป็นประเพณีของชาวพุทธเรา ชาวพุทธเรามีสามีเดียวภรรยาเดียว แล้วก็ต้องเป็นสามีเป็นภรรยากัน จะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ไม่เป็นปัญหาอะไร จะแต่งหรือไม่แต่งก็ไม่เป็นปัญหาอะไร แต่ขอให้มีคู่เดียว รักเดียวใจเดียว ฆ่าสัตว์ก็ทุกชนิด สิ่งที่มีชีวิตตั้งแต่ตัวเล็กขึ้นไปจนถึงตัวใหญ่ มดแมลงนี้เขาก็มีชีวิต เขาก็มีความรู้สึกเหมือนกับช้างเหมือนกับเสือ เวลามดแมลงมันเจ็บมันก็เจ็บเหมือนกับช้างกับเสือเหมือนกับคน เราตัวใหญ่ก็จริงแต่ใจของพวกเรากับใจของมดแมลงนี้เท่ากัน ใจไม่มีขนาดไม่มีรูปร่าง มีแต่ความรับรู้ความรู้สึกต่างๆ รับรู้ความรู้สึกทุกข์ที่มาผ่านทางร่างกาย เวลาที่ถูกทำร้ายร่างกาย ตัวนิดเดียวมันก็ทุกข์เท่ากับช้างตัวใหญ่ๆ หรือเท่ากับมนุษย์ด้วยกัน งั้นอย่าไปคิดว่า โอ๊ย มันตัวเล็กไม่บาป อย่างนี้ไม่ใช่ บาป ไปสร้างความทุกข์ให้กับเขา เดี๋ยวเขาก็จะกลับมาให้ความทุกข์กับเรา แต่มีโทษหนักเบาต่างกัน ฆ่ามดแมลงนี้ทางกฎหมายเขาไม่ถือว่าเป็นโทษ ถ้าฆ่ามนุษย์เขาถือว่าเป็นโทษ ต้องถูกจับเข้าคุกเข้าตะรางไป แต่ตามกฎแห่งกรรมนี้ฆ่ามดแมลงก็มีโทษ มีโทษอย่างไร ก็ต่อไปตายไปก็ต้องไปเป็นมดเป็นแมลงให้เขาฆ่าบ้าง สลับกันไปกงกำกงเกวียน ถ้าไม่อยากไปเกิดเป็นมดเป็นแมลงก็อย่าไปฆ่ามดไปฆ่าแมลง เดี๋ยวต่อไปเวลาตายไปร่างกายของเราตายไปใจไม่ได้ตาย ใจก็จะไปรับผลบาปต่อไป
นี่คือหลักของศีลธรรม ทำอะไรกับใครไว้เดี๋ยวก็ต้องให้เขาทำกลับคืน งั้นถ้าไม่อยากให้ใครเขาทำอะไรเรา อย่าไปทำอะไรเขา การลักทรัพย์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่อยากให้คนอื่นเขามาลักทรัพย์ของเรา เราอย่าไปลักทรัพย์ของคนอื่น การประพฤติผิดประเวณีก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่อยากให้คนอื่นมายุ่งกับแฟนของเรา เราก็อย่าไปยุ่งกับแฟนของคนอื่น แล้วก็ถ้าไม่อยากให้คนอื่นเขามาโกหกหลอกลวงเรา เราก็อย่าไปโกหกหลอกลวงเขา แล้วก็อย่าดื่มสุรายาเมาเพราะเวลาดื่มแล้วเมาแล้วจะไม่สามารถที่จะหักห้ามจิตใจเวลาที่คิดจะไปทำบาปได้ คนที่ไม่ดื่มสุรานี้มีสติที่จะยับยั้งความคิดที่ไม่ดีได้ เวลาคิดจะโกหกก็หยุดได้ เวลาคิดจะลักทรัพย์หรือไปประพฤติผิดประเวณีก็หยุดได้ แต่ถ้าเมาแล้วนี้ห้ามไม่อยู่เหมือนเมาแล้วขับ เมาแล้วขับรถจะคว่ำรถจะชนก็หยุดมันไม่ได้ นี่คือเรื่องของการศึกษาในเบื้องต้น ต้องศึกษา แต่ศึกษาเฉพาะเรื่องที่เราจะต้องปฏิบัติก็พอ ไม่ต้องไปปฏิบัติเรื่องที่เรายังไม่ได้ปฏิบัติ ยังไปไม่ถึง เรียนแล้วเดี๋ยวก็ลืม เอาเรื่องที่เราปฏิบัติต้องเอามาใช้ในการปฏิบัติของเรา แล้วพอถึงขั้นที่เราจะต้องเรียนต่อไปเราค่อยเรียน
ขั้นต้นนี้ขั้นที่ ๑ เอาเรื่องศีลให้ได้ก่อน พอได้ศีล ๕ แล้วก็มาเรียนศีล ๘ ต่อ ศีล ๘ มีอะไรบ้าง ศีล ๘ ก็เปลี่ยนศีลข้อ ๓ ของศีล ๕ ศีล ๘ ก็เพิ่มอีก ๓ ข้อ เพิ่มข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ ส่วนศีลข้อที่ ๓ ของศีล ๕ ก็เปลี่ยนเป็น อพรหมจริยาคือจะถือศีลพรหมจรรย์ คือจะไม่ร่วมหลับนอนกับแฟนของตน อันนี้ก็เวลาเริ่มต้นก็อาจจะรักษาได้เฉพาะบางวันถ้าคนมีแฟน ก็ต้องขออนุญาตแฟนก่อนว่าวันนี้วันพระหรือวันที่อยากจะปฏิบัติธรรม ขอถือศีล ๘ ของดการร่วมหลับนอนร่วมกัน ขอแยกนอนกันคนละห้องหรือขอไปอยู่วัด การปฏิบัติถ้าจะปฏิบัติให้ผลดีนี่ไปปฏิบัติที่วัดดีกว่า ดีกว่าปฏิบัติที่บ้านโดยเฉพาะคนที่มีคู่มีครอบครัว เพราะว่าจะปฏิบัติไม่เหมือนกับคนที่เขาไม่ได้ถือศีลนั่นเอง เดี๋ยวอยู่ด้วยกันแล้วก็อาจจะมีปัญหาได้ งั้นถ้าอยากจะถือศีล ๘ ถ้าอยากจะปฏิบัติให้มากขึ้นก็ต้องถือศีล ๘ ศีล ๕ ก็ปฏิบัติได้แต่มันจะได้น้อยกว่าการถือศีล ๘ เพราะศีล ๕ นี้จะไม่ได้ห้ามเรื่องไปทำกิจกรรมทางตาหูจมูกลิ้นกายเหมือนศีล ๘ งั้นเวลาที่จะเอามาปฏิบัติธรรมสำหรับผู้ที่ถือศีล ๕ นี้จะมีน้อยกว่าเพราะผู้ที่ถือศีล ๕ ยังกินข้าวเย็นได้อยู่ กว่าจะปฏิบัติก็ต้องหลังจากกินข้าวเย็นแล้ว แล้วหลังจากนั้นยังอาจจะขอดูทีวีก่อน ดูหนังดูละครก่อน ถ้าถือศีล ๕ กว่าจะได้ปฏิบัติก็ตอนจะเข้านอน แล้วบางทีก็ง่วงซะก่อนก็เลยไม่ได้ปฏิบัติกัน หรือถ้ามีคู่ครองเดี๋ยวแฟนเขาขอนอนด้วยก็เลยไม่มีเวลามานั่งสมาธิมาปฏิบัติได้
นี่คือข้อจำกัดของผู้ที่ถือศีล ๕ แต่ถ้าเป็นโสดอยู่คนเดียวนี้ถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ก็คล้ายกัน เพราะว่าไม่มีภาระหน้าที่ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับแฟน ศีลข้อ ๓ ก็เป็นศีล ๘ โดยอัตโนมัติเพราะนอนคนเดียวอยู่คนเดียวอยู่แล้ว มีแต่ศีลข้อ ๖ ๗ ๘ นี้ที่จะต้องเพิ่มขึ้นเพราะถึงแม้ว่าอยู่คนเดียวก็ยังอาจจะกินข้าวเย็น ยังอยากจะดูหนังดูละครดูทีวี อยากร้องรำทำเพลงอะไรต่างๆ อยู่ก็ต้องถือศีล ๘ เพื่อที่จะได้มีเวลามาฝึกสมาธิมานั่งสมาธิมาทำใจให้สงบ แต่ถ้ายังถือศีล ๘ ไม่ได้ก็ถือศีล ๕ ไปก่อน แล้วก็พยายามเพิ่มศีลให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้าเรามีความตั้งใจมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้ผลจากการปฏิบัติ เนื่องจากเราได้ศึกษาได้ฟังคำสั่งคำสอนของพระพุทธเจ้าจากผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ก็อาจจะทำให้เราเกิดศรัทธาเกิดฉันทะความยินดีที่อยากจะสัมผัสกับรสแห่งธรรมที่ชนะรสทั้งปวง ถ้าเรารู้ว่าถ้าเรานั่งสมาธิทำใจให้สงบได้ เราจะได้สัมผัสกับรสแห่งธรรม สัมผัสกับความสุขที่เหนือกว่าความสุขทั้งปวงคือความสงบ ก็จะทำให้เรามีแรงมีกำลังใจที่จะยอมหัดรักษาศีล ๘ ยอมงดการหาความสุขทางตาหูจมูกลิ้นกาย การจะปฏิบัติได้มรรคได้ผลนี้จำเป็นที่จะต้องมีกำลังใจ มีฉันทะมีวิริยะ ฉันทะแปลว่าความยินดีหรือความอยากได้รสแห่งธรรม เมื่อมีความอยากมีความยินดีแล้วมันจะเกิดวิริยะความอุตสาหะความพากเพียร จะต้องทำอะไรให้ได้รสแห่งธรรมก็ยินดีที่จะทำ ต้องรักษาศีล ๕ ก็จะรักษาศีล ๕ ต้องรักษาศีล ๘ ก็ยินดีที่จะรักษาศีล ๘ ต้องไปอยู่วัดก็ยินดีที่จะไปอยู่วัด อันนี้อาจจะต้องอาศัยการศึกษาฟังเทศน์ฟังธรรมจากผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จากผู้ที่ได้สัมผัสกับรสแห่งธรรมแล้ว เพราะผู้ที่ได้สัมผัสแล้วนี้จะเป็นเหมือนเซลล์แมนของพระพุทธเจ้า เอาธรรมะมาขายให้กับพวกเรา เพราะว่าเซลล์แมนที่ได้ใช้สินค้าแล้วนี้จะมีความสามารถที่จะโน้มน้าวผู้ฟังผู้ที่จะซื้อสินค้าให้เห็นภาพเห็นคุณค่าของสินค้าที่จะขาย เพราะเซลล์แมนจะรับประกันยืนยันว่าดีอย่างนั้นวิเศษอย่างนี้เพราะได้ทดลองได้ใช้มาแล้ว
อันนี้ก็เหมือนกันถ้าเราได้ไปศึกษาไปฟังเทศน์ฟังธรรมจากพระสุปฏิปันโนทั้งหลายนี่ ท่านจะเป็นเซลล์แมนที่มีประสิทธิภาพมาก เวลาฟังคำสอนของผู้ที่ได้บรรลุธรรมแล้วนี้มันต่างกับฟังคำสอนของผู้ที่ยังไม่ได้บรรลุธรรม เป็นคนละเรื่องไปเลย ฟังคนที่ไม่บรรลุธรรมฟังแล้วบางทีกลับงงกลับสงสัยว่าพูดเรื่องอะไร ก็เหมือนกับคนตาบอดมาบอกทางให้รู้ว่าทางที่จะไปที่นั่นที่นี่เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่ตัวคนตาบอดเองยังไปไม่ถึงเลย พอมาบอกให้คนอื่นฟัง คนอื่นฟังแล้วก็งง เอ๊ะ จะไปเหนือหรือไปใต้ จะไปซ้ายหรือไปขวา แต่ถ้าฟังจากคนที่เขาไปถึงที่แล้วเขาจะบอกเลย ไปทางนี้ไปทางนี้ทำอย่างนี้ทำอย่างนี้ ไม่มีความสงสัยไม่มีความลังเล การที่จะทำให้เรามีความยินดีที่จะปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญานี่เราจำเป็นจะต้องไปเรียนจากผู้ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ได้รับผลจากการปฏิบัติศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว เหมือนกับไปถามคนซื้อสินค้าที่เราอยากจะซื้อว่า สินค้าชนิดนี้ใช้แล้วเป็นยังไงดีไม่ดี ไปถามคนที่ไม่ได้ใช้เขาก็บอก “ไม่รู้” หรือเขาอาจจะบอกว่า “อาจจะดีมั้ง อาจจะไม่ดีมั้ง” พูดไป แต่ถ้าไปถามคนที่เขาใช้แล้วเขาจะบอก ดีเขาก็จะบอกว่าดี ไม่ดีเขาก็จะบอกว่าไม่ดี
นี่คือประโยชน์จากการที่เราศึกษาจากพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อาจจะไม่ต้องเป็นพระก็ได้ ฆราวาสที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มี แม่ชีก็มี ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ผู้ที่ได้สัมผัสกับรสแห่งธรรมแล้ว แต่เวลาฟังธรรมเวลาศึกษาจากท่านเหล่านี้จะทำให้เรามีกำลังใจ มีฉันทะความยินดีมีวิริยะมีความเพียรที่จะปฏิบัติตามที่ท่านสอน เพราะการที่จะได้ผลนี้ต้องได้จากการปฏิบัติ และการที่จะมีกำลังใจปฏิบัติก็ต้องเกิดจากการได้ยินได้ฟังจากผู้รู้จริงเห็นจริง
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา