7 เม.ย. 2020 เวลา 07:42 • ประวัติศาสตร์
จามที ไม่สบายทั้งยุโรปนะ ตอนที่ 1
ชัยชนะของอเมริกาที่มีต่อเจ้าอาณานิคมเป็นข่าวดังไปทั่วยุโรป
อย่างที่เคยบอกไปครับ ไม่มีใครคาดคิดหรอกว่าประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษจะแพ้ให้กับอาณานิคม แต่ความสำคัญมันอยู่ตรงที่ชัยชนะของอเมริกาได้สั่นคลอนระบอบการปกครองของหลายประเทศในยุโรปที่กษัตริย์และขุนนางยังคงกดขี่ประชาชน
ผู้คนมีความหวังว่าถ้าอาณานิคมอเมริกาทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ ไฟนั้นถูกจุดขึ้นในใจประชาชนชาวยุโรปโดยเฉพาะประชาชนชาวฝรั่งเศส
การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1789 ตรงกับสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่จริงๆมันเป็นปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ก่อนพระองค์จะขึ้นครองราชย์ แต่มันมาระเบิดเวลา ฮ้าาา ในสมัยของพระองค์
ปัญหาหลักๆที่เป็นชนวนเหตุให้เกิดการปฏิวัติคือเรื่องภาษี ความไม่ยุติธรรม และความอดอยาก
สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 และ 16 ใช้เงินมากมายไปกับกิจการทั้งภายในและภายนอก ทำให้เงินในท้องพระคลังร่อยหรอ ขณะเดียวกันรายได้ที่เข้ารัฐก็ลดลง พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงแก้ปัญหาโดยการกู้ยืมเงินมาเสริมสภาพคล่องแต่ก็เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น พระองค์เลยเปลี่ยนวิธีการโดยแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมาช่วยแก้ไขปัญหา
ผู้เชี่ยวชาญทุกคนมองเห็นเหมือนกันว่าปัญหาหลักๆอยู่ที่เงินเดือนของราชวงศ์กับขุนนางที่สูงเกินไป เลยเสนอไอเดียให้ลดเงินเดือน คนกลุ่มนั้นก็ไม่ยอมสิครับ อยู่ๆจะมาลดเงินเดือนได้ไง เลยกดดันให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ยื่นซองขาวให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ปัญหาการคลังก็เลยคาราคาซังไม่ได้รับการแก้ไข
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็คือพระองค์เป็นกษัตริที่อ่อนแอ ไม่มีความเด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ หลายๆครั้งพระองค์เลยโดนแทรกแซงจากขุนนางและพระราชินีมารีอังตัวเนต
ประเทศฝรั่งเศสยังมีปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งครับ นั่นคือเรื่องชนชั้น แต่ไหนแต่ไรมาสังคมฝรั่งเศสแบ่งพลเมืองออกเป็นฐานันดร ฐานันดรที่ 1 คือพระ ฐานันดรที่ 2 คือขุนนางและฐานันดรที่ 3 คือสามัญชน
ฐานันดรที่ 1 กับ 2 เป็นอภิสิทธ์ชน มีจำนวนรวมกันประมาณ 600,000 คน ส่วนสามัญชนมีประมาณ 25 ล้านคน
พวกอภิสิทธิ์ชนได้รับการยกเว้นภาษีบางประเภท และยังเก็บค่าธรรมเนียมที่ดินจากสามัญชนได้ ที่สำคัญเวลามีการโหวตเพื่อลงมติอะไรสักอย่าง จะเป็นการออกเสียงแบบกลุ่มโดยไม่สนใจว่าแต่ละกลุ่มจะมีจำนวนเท่าใด แต่จะนับเป็นหนึ่งเท่านั้น ทีนี้เวลาโหวตอะไรฐานันดรที่ 1 กับ 2 ก็ร่วมมือกัน ฐานันดรที่ 3 ก็แพ้ทุกที
"ตอนนี้ฝรั่งเศสเริ่มฟึดฟัดๆที่จมูก เตรียมจะจามแล้วครับ"
ก่อนการปฏิวัติ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จัดการประชุมที่พระราชวังแวร์ซายเรื่องระบบจัดเก็บภาษีแบบใหม่ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกฐานันดรเข้าร่วม ระบบจัดเก็บภาษีแบบใหม่นี้จะส่งผลเสียต่ออภิสิทธ์ชน ส่วนประชาชนจะได้ประโยชน์
ฐานันดรที่ 1 กับ 2 ตั้งใจจะใช้การประชุมนี้โหวตไม่รับระบบจัดเก็บภาษีแบบใหม่ ตัวแทนฐานันดรที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าถ้ามีการโหวตกันสู้ไม่ได้แน่ เลยเสนอให้มีการโหวตแบบนับคะแนนรายหัว อภิสิทธ์ชนก็ไม่ยอม ถกเถียงกันอยู่นานก็หาข้อสรุปไม่ได้ สุดท้ายกลุ่มฐานันดรที่ 3 วอร์คเอาท์จากห้องประชุม เพื่อไปจัดการประชุมกันเองที่อีกห้องนึง
ตัวแทนฐานันดรที่ 3 ได้จัดตั้งสภาแห่งชาติขึ้น เพราะถือว่าเป็นตัวแทนประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ กลุ่มอภิสิทธิ์ชนก็กดดันพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ให้ปิดไฟปิดแอร์ปิดห้องประชุมเพื่อไม่ให้กลุ่มฐานันดรที่ 3 ประชุมกันได้ แต่กลุ่มฐานันดรที่ 3 ไม่ยอมแพ้ครับ ไปประชุมกันต่อที่สนามเทนนิส เออ เอาซี้ ให้มันรู้กันไป
แถมยังให้สัตย์สาบานกันว่าจะไม่แยกจากกันจนกว่าจะได้ตามข้อเรียกร้อง หนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญก็คือการมีรัฐธรรมนูญปกครองประเทศ
ในพระราชวังแวร์ซายว่าวุ่นวายแล้ว ด้านนอกวังก็วุ่นวายไม่แพ้กัน ชาวปารีสที่อดอยาก ประชาชนที่ตกงาน ชาวนาที่โดนขูดรีดภาษีมารวมตัวกันประท้วงในกรุงปารีส
"อีกนิดนึงครับ ฝรั่งเศสจะจามแล้วครับ"
มีข่าวลือว่าพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะส่งทหารมาปราบผู้ชุมนุม พวกผู้ชุมนุมก็ยิ่งหัวร้อนสิครับ ข้าวก็ไม่มีกิน(จริงๆกินขนมปัง) งานก็ไม่มีทำ ภาษีก็เก็บโหด ยังจะส่งทหารมาปราบอีก
ผู้ชุมนุมเลยรวมตัวกันไปทำลายคุกบาสติล ซึ่งเป็นคุกที่ไว้คุมขังนักโทษการเมือง(เหมือนเกาะตะรุเตาสมัยก่อน)
ที่เลือกทำลายคุกบาสติลก็เพราะว่าคุกบาสติลเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการกดขี่ เหตุการณ์นี้ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ.1789 ฝรั่งเศสจึงใช้วันนี้เป็นวันชาติฝรั่งเศสหรือเรียกอีกอย่างว่าวันบาสติล
ฝรั่งเศสจามเรียบร้อยแล้วครับ
ไม่มีอะไรหยุดอยู่ การปฏิวัติขยายตัวไปทั่วประเทศ
มาถึงตอนนี้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงทำอะไรไม่ได้แล้วครับ พระองค์ใส่เกียร์ว่างปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสภาแห่งชาติที่ฐานันดรที่ 3 จัดตั้งขึ้นเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ
เพื่อให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว สภาแห่งชาติประกาศยกเลิกระบบอภิสิทธิ์ชนต่างๆ ประชาชนก็เริ่มใจเย็นลง แยกย้ายกันกลับบ้าน จากนั้นสภาแห่งชาติก็มีประกาศสิทธิมนุษยชน โดยมีเนื้อหาใจความว่า
- มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคเท่าเทียมกันตั้งแต่เกิด
- มนุษย์มีสิทธิในทรัพย์สิน ความปลอดภัย และต่อต้านการกดขี่ข่มเหง
- ประชาชนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา
- และเหนือสิ่งอื่นใด สิทธิเหล่านั้นต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของฝรั่งเศส
คำประกาศนี้ได้รับอิทธิพลมาจากคำประกาศสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เอกสารนี้เผยแพร่ไปทั่วยุโรป ประเทศอื่นที่ประชาชนถูกกดขี่ก็ฮึกเหิมอยากออกมาชุมนุมประท้วง รัฐบาลต้องส่งทหารออกมาควบคุมสถานการณ์
นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า"ฝรั่งเศสจามที ไม่สบายทั้งยุโรป" เพราะฝรั่งเศสเป็นประเทศใหญ่ เวลาทำอะไรก็ส่งผลกระทบไปทั้งยุโรป
ถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จะยอมรับในอำนาจของสภาแห่งชาติแต่การปฏิวัติฝรั่งเศสยังไม่จบแค่นี้นะครับ ยังมีเรื่องวุ่นวายตามมาอีกเพียบ ไหนจะทะเลาะกับองค์พระสันตะปาปา ไหนจะมีปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านจนกลายเป็นสงคราม และสงครามนี่แหละครับที่ได้สร้างวีรบุรุษของชาวฝรั่งเศสขึ้นมา
ตอนหน้าเราจะได้รู้จักกับนายทหารปืนใหญ่ชาวฝรั่งเศส ความยิ่งใหญ่ของเขาทำให้ยุคหนึ่งของยุโรปถูกเรียกด้วยชื่อของเขา
ปล.คนแรกที่กล่าวประโยคฝรั่งเศสจามทีไม่สบายทั้งยุโรปก็คือเมตเตอร์นิค อัครเสนาบดีออสเตรีย
จามที ไม่สบายทั้งยุโรปนะ ตอนที่ 2

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา