The Black Death ตอนที่ 1 เมื่อความตายสีดำย่างกรายเข้ายุโรป
เดินทางไปกับผมนะครับ
วันนี้ผมจะพาเดินทางย้อนเวลากลับไปในประวัติศาสตร์กันอีกครั้ง
ครั้งนี้ผมจะพาไปดูโรคระบาดที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
1.
ตุลาคม ปีค.ศ. 1347
เราจะไปเริ่มต้นการเดินทางของเราครั้งนี้กันที่ท่าเรือเมืองเมสซีนา Messina บนเกาะ ซิซิลี (Sicily) คาบสมุทรอิตาลี
เช้าวันนี้เป็นวันที่อากาศสวยงาม แสงแดดจ้า ท้องฟ้าโปร่ง เห็นทะเลสีเข้มสวยงาม
มองไปไกลๆ ที่สุดขอบฟ้า เราเห็นเงารางเล็กๆของเรือจำนวนหนึ่งกำลังแล่นเข้ามา
เมื่อเรือแล่นเข้ามาใกล้ๆ เราก็สังเกตความแปลกบางอย่าง
ในเรือสิบกว่าลำที่แล่นเข้ามานี้ หลายลำแล่นเข้ามาเอื่อยๆ เหมือนไม่ได้ตั้งใจจะเข้ามาที่ท่าเรือ
เรือบางลำจอดลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลเหมือนเปลี่ยนใจไม่อยากเข้ามาเทียบท่า
แปลกกว่านั้นคือ
เมื่อเรือลำหนึ่งเทียบท่าแล้วก็จอดอยู่นิ่งๆ เช่นนั้น
ไม่มีเสียงตะโกน ไม่มีใครส่งสัญญานใดๆ ออกมาจากเรืออย่างที่ควรจะเป็น
ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เราจึงชวนกันขึ้นไปบนเรือ
ก่อนที่เท้าของเราจะเหยียบไปบนดาดฟ้าเรือ
กลิ่นเหม็นเน่าชวนให้อาเจียนก็กระแทกเข้าที่จมูกของเราอย่างจัง
แล้วภาพที่น่าสะพรึงก็ปรากฎขึ้นตรงหน้า
ดาดฟ้าของเรือเต็มไปด้วยศพของลูกเรือที่เสียชีวิตนานจนเริ่มขึ้นอืดนอนกันเกลื่อนกลาด
สภาพของศพก็แปลกตาเพราะ มีรอยจุดดำๆของผิวที่เน่าตายกระจายทั่วตัว
 
บริเวณลำคอ รักแร้ หรือขาหนีบหลายคน มีก้อนขนาดประมาณไข่ไก่ปูดโปนออกมาก้อนเหล่านี้บางอันใหญ่จนแตกมีน้ำนองหรือเลือดไหลเยิ้มออกมาเห็นเป็นคราบ
Bubo หรือต่อมน้ำเหลืองที่โตเป็นก้อนขึ้นมา (ภาพจาก wikipedia)
แล้วเราก็ได้ยินเสียงร้องครวญครางขึ้นมาแผ่วเบา เราจึงรู้ว่ายังมีคนรอดชีวิตหลงเหลืออยู่ในเรือบ้าง
แต่คนที่ยังรอดชีวิตก็อยู่ในสภาพที่ใกล้ตายเต็มที
แม้ว่าเราจะไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นบนเรือเหล่านี้กันแน่
แต่เราก็รู้ว่าเราต้องรีบลงไปจากเรือกันให้เร็วที่สุด
เพราะนี่อาจจะเป็นโรคระบาดที่คนร่ำลือกัน
เราเคยได้ยินกันมานานแล้วว่า ในดินแดนที่อยู่ทางทิศตะวันออกมีโรคที่น่ากลัว คร่าชีวิตผู้คนมากมาย ระบาดอยู่นานหลายสิบปีแล้ว
หรือว่าโรคที่น่ากลัวนี้ เดินทางมาถึงยุโรปแล้ว!!
หลังจากที่เรารีบหนีลงจากเรือ
ความหวาดกลัวของเราก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เมื่อเรียนรู้ว่าเรือทั้ง 12 ลำที่แล่นเข้ามานั้นมีสภาพแทบไม่ต่างไปจากเรือลำแรก
ทุกลำที่แล่นเข้ามานั้นบรรทุกโรคที่น่ากลัวมาจนเต็มลำเรือ
แม้ว่ายุคสมัยนี้ ยังไม่มีใครในโลกรู้จักคำว่า “เชื้อโรค”
ไม่มีใครในโลกรู้ว่าแบคทีเรียคืออะไร ไวรัสคืออะไร
แต่ทุกคนรู้ดีว่า โรคระบาดคืออะไร
ทุกคนรู้ดีว่าโรคที่น่ากลัวเช่นนี้สามารถติดจากคนไปสู่คนได้
เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ คุ้นเคยกับโรคระบาดกันเป็นอย่างดี
บางครั้งโรคระบาดทำให้คนตายตั้งครอบครัว บางครั้งทำให้คนตายไปครึ่งหมู่บ้าน
คำอธิบายว่าโรคติดจากคนสู่คนได้อย่างไร ที่ผู้คนเชื่อกันมากที่สุดในยุคนั้นคือ โรคติดต่อเหล่านี้สามารถแพร่จากคนสู่คนด้วยสิ่งที่เรียกว่า miasma (มิ-แอส-มา) หรืออากาศพิษ
ดังนั้นแม้ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับการติดต่อของโรคจะผิด แต่การป้องกันก็พอจะใช้ได้ผล เพราะวิธีการเลี่ยงไอพิษหรืออากาศพิษ วิธีหนึ่งที่ได้ผล คือการอยู่ให้ห่างจากคนป่วยหรือศพที่เสียชีวิตจากโรคให้ไกลที่สุด
รวมไปถึงการทิ้งหรือเผาเครื่องใช้ของคนตายเพื่อไม่ให้สามารถปล่อยอากาศพิษออกมาได้
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เราจะปล่อยให้ศพหรือคนบนเรือที่ยังมีชีวิตอยู่ขึ้นฝั่งมาไม่ได้
เราจึงช่วยกันโยนทุกอย่างที่ทิ้งลงทะเลไป
สำหรับ เรือที่ยังพอจะแล่นต่อไปได้ เราก็รีบไล่ออกไปจากท่าเรือในทันที
เรามาเรียนรู้ภายหลังว่า เรือที่พวกเราไล่ออกไปนั้น เดินทางต่อไปที่เมืองมาร์กเซย์ (Marseille) ซึ่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อีกเมืองหนึ่ง
แต่ที่เราไม่รู้คือ ความพยายามของเราทั้งหมดสูญเปล่า
เราช้าเกินไปเสียแล้ว
ช่วงเวลาสั้นๆที่เรือเทียบท่าอยู่นั้น
มีหนูจำนวนหนึ่งวิ่งออกจากเรือแล้วไต่เชือกที่ผูกเรือไว้มาขึ้นฝั่ง
และหนูจำนวนไม่มากนี้ จะมีส่วนสำคัญที่จะมีผลให้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างมาก
ถ้าจะพูดให้ถูกคงต้องพูดว่า แบคทีเรียที่เล็กจนตามองไม่เห็นที่อาศัยอยู่ในหมัด ที่อาศัยอยู่บนหนูอีกที ต่างหาก
ที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของยุโรปไปอย่างสิ้นเชิง
แต่ตอนนี้เราไม่มีเวลาไปสนใจเรื่องของคนอื่นกันแล้วครับ
เพราะไม่กี่วันหลังจากที่เรือเหล่านั้นแล่นมาเทียบฝั่งมา
คุณและคนอื่นๆอีกหลายคนที่ขึ้นไปบนเรือวันนั้น ก็เริ่มป่วย
อาการเริ่มต้นด้วยไข้สูง เหงื่อออกท่วมตัว อ่อนเพลีย ปวดตามตัว ต่อมาต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้และขาหนีบก็โตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเจ็บและปวด ก่อนที่ต่อมน้ำเหลืองนั้นจะแตกออกมีเลือดและหนองไหลซึมออกมา หลังจากอาการป่วยเริ่มต้นได้สัก 48-72 ชม. คุณก็เริ่มได้ยินข่าวว่า หลายคนที่ขึ้นเรือไปช่วยกันขนศพทิ้งทะเล ต่างทยอยเสียชีวิตลงไปทีละคนสองคน
เวลาของคุณเองก็คงเหลืออีกไม่มากนัก
คำถามนึงที่ยังคาใจคุณอยู่คือ เรือทั้ง 12 ลำที่นำความตายมาสู่คุณและชาวเมืองเมซินา มาจากไหนกันนะ?
เกิดอะไรขึ้นที่เมืองแห่งนั้นกันแน่ ?
คนเหล่านั้นทำอะไรผิดรุนแรงอย่างนั้นหรือ จึงโดนพระเจ้าลงโทษหนักหนาเช่นนี้?
เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ ผมต้องพาเดินทางย้อนเวลากลับไปก่อนหน้าสัก 5 ปีครับ
เราจะเดินทางไปยังเมืองคาฟฟา (Caffa) ในปีค.ศ. 1343
เมือง Caffa ตั้งอยู่ริมทะเลดำ (Black Sea)
3.
เมืองเจนัว ในช่วงเวลานั้นเป็นรัฐอิสระรัฐหนึ่งในคาบสมุทรอิตาลี
พ่อค้าชาวเจนัวได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่เดินเรือค้าขายเก่งที่สุดชาติหนึ่งในยุโรป
ภาพแสดงให้เห็นตำแหน่งของเมือง Genoa
ส่วนเมือง Caffa (ปัจจุบันคือ Feodosia) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนแหลมไครเมีย (Crimea) ติดกับทะเลดำ
เมืองคาฟฟาในเวลานั้นอยู่ใต้อิทธิพลของกองทัพมองโกล
ด้วยความที่บริเวณนี้อยู่ในจุดที่เหมาะกับการทำค้าขาย พ่อค้าชาวเจนัวจึงไปขอผู้ปกครองมองโกลตั้งตลาดเพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลียนสินค้าๆต่างๆ ระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตก จนเกิดเป็นชุมชนของพ่อค้าชาวเจนัวขนาดใหญ่ขึ้น โดยมองโกลเองซึ่งไม่ถนัดการค้าขายก็ได้ประโยชน์เป็นการเก็บภาษีจากการค้าขาย
เนื่องจากการค้าเป็นไปได้ด้วยดี Caffa จึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายหลักในแถทบทะเลดำทั้งหมด มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเดินทางมาทำการค้าเต็มไปหมด เช่น ชาวเวนิส ชาวกรีก ชาวยิง และชาวเติรก์
เมื่อมีคนหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายวัฒนธรรม หลากหลายศาสนา มาอยู่ร่วมกันก็มักจะมีปัญหาความขัดแย้งกระทบกระทั่งกันบ้าง
โดยเฉพาะชาวมองโกลที่ส่วนหนึ่งนับถือศาสนาอิสลามและพ่อค้าชาวเจนัวที่นับถือศาสนาคริสต์ การนับถือพระเจ้าองค์เดียวกัน แต่มีรายละเอียดความเชื่ออื่นๆต่างกัน ก็มีผลให้มีความเห็นไม่ลงรอยกันได้ ซึ่งความเห็นที่ไม่ลงรอยนี้บางครั้งก็นำไปสู่การทะเลาะกันได้
และการทะเลาะกันครั้งหนึ่งในตลอดก็นำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่โตที่ใครๆก็คงคาดไม่ถึง
ความขัดแย้งครั้งนั้นเกิดขึ้นในปีค.ศ. 1343
ไม่มีใครรู้ว่าการทะเลาะในตลาดวันนั้นเริ่มต้นขึ้นอย่างไร แต่การทะเลาะกันครั้งนั้นนำไปสู่ การเสียชีวิตของชาวมุสลิมคนหนึ่ง
หลังเกิดเหตุพ่อค้าชาวเจนัวก็รู้ในทันทีว่า พวกเขาต้องโดนตามล้างแค้นแน่ๆ จึงตัดสินใจหนีไปซ่อนตัวในกำแพงเมืองคาฟฟา ซึ่งเป็นถิ่นของพ่อค้าชาวเจนัว
หลังจากนั้นไม่นานชาวมองโกลก็ตามไปที่เมือง คาฟฟา และเรียกร้องให้ชาวเมืองคาฟฟา ส่งตัวพ่อค้าเจนัวมาลงโทษ
แต่เมืองคาฟฟาปฏิเสธ ทำให้ผู้นำชาวมองโกลที่ชื่อจานี เบ็ก (Jani Beg) โกรธแค้นมาก และสั่งให้ปิดล้อมเมือง เพื่อบังคับให้ชาวเมืองยอมจำนนและยอมเปิดประตูเมืองออกมา
Jani Beg
แต่การจะบุกเข้าเมืองคาฟฟาก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะแม้ว่าจะโดนปิดล้อมแต่คาฟฟาก็ยังมีทางออกทะเล ทำให้พวกเขาสามารถรับเสบียงและกำลังเสริมจากอิตาลีทางทะเลได้ตลอดเวลา
ผ่านไปแล้วกว่า 2 ปี กองทัพมองโกลก็ยังไม่สามารถบุกเข้ากำแพงเมืองไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ภายในกองทัพของมองโกลที่ตั้งค่ายปิดล้อมเมืองก็เกิดมีโรคระบาดขึ้น
โรคที่ระบาดในค่ายทหารนี้ เชื่อว่าเป็นโรคระบาดเดียวกับโรคที่ระบาดวนเวียนมาๆไปๆ ในเอเชียกลางมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1331 หรือกว่าสิบปีมาแล้ว
ยิ่งปิดล้อมนานวันเข้า จำนวนศพที่เสียชีวิตจากโรคระบาดก็เริ่มกองสูงขึ้นเรื่อยๆ จนทหารมองโกลหมดกำลังใจที่จะปิดล้อมเมืองต่อ สุดท้ายผู้นำชาวมองโกล จานี เบ็ก จึงต้องติดสินใจยกเลิกการปิดล้อมและถอยทัพกลับ
แต่ก่อนจะถอนกำลังกลับพวกเขาก็ทำสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นการใช้ อาวุธเชื้อโรค ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้
ทหารมองโกลนำศพทหารและพลเรือนนับพันศพที่เสียชีวิตด้วยโรคระบาด มาเหวี่ยงด้วยเครื่องยิงหินที่เรียกว่า Trebuchet ข้ามกำแพงเมืองคาฟฟาเข้าไป
ภาพมองโกลใช้ Trebuchet ยิงหินใส่กำแพงเมือง
ถ้าเรายืนอยู่ในคาฟฟาวันนั้น สิ่งที่เราจะเห็นคือ ศพที่เน่าเหม็นตกมาจากท้องฟ้า ศพแล้วศพเล่านานหลายชั่วโมง
ศพเหล่านี้ทำให้เมืองมีกลิ่นเหม็นเน่าไปทั่ว ซึ่งตามความเชื่อของยุค กลิ่นเหล่านี้จะทำให้เกิดโรคระบาดขึ้น
ชาวเมืองทั้งหลายจึงพยายามช่วยกันขนศพที่ถูกยิงเข้ามาจนเกลื่อนเมืองไปทิ้งลงทะเลให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้ว่าพวกเขาจะพยายามแค่ไหน แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้ว
โรคที่ในเวลาต่อมาถูกเรียกว่า ความตายสีดำหรือ Black Death ได้ก้าวข้ามกำแพงมายืนปักหลักในเมืองเป็นที่เรียบร้อย
ในเวลาไม่กี่วันถัดมา ผู้คนที่อาศัยในเมืองคาฟฟาก็เริ่มป่วยตาย คนที่ยังไม่ป่วยหรืออาการไม่หนักมาก ต่างก็พยายามหนีเอาตัวรอดออกจากเมือง
เป็นเราเมื่อเจอเหตุการณ์เช่นนี้ เราก็คงจะพยายามหนีกลับบ้านของเรา
พ่อค้าชาวอิตาลีจากเมืองเจนัว เวนิส และเมืองอื่นๆต่างๆก็หนีกลับบ้านเมืองตัวเองเช่นกัน
และแน่นอนว่าพวกเขาไม่ได้ไปตัวเปล่า แต่ยังนำแบคทีเรียก่อโรคติดตัวไปด้วย
ระหว่างทางเมื่อไปแวะที่เมืองไหนเมืองนั้นก็จะเริ่มเกิดโรคระบาดขึ้นภายในเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างกรุง คอนสแตนติโนเปิล
และแน่นอนครับ เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นในเมืองใหญ่ที่มีประชากรหลายหมื่น หลายแสน อย่างคาฟฟา คอนสแตนติโนเปิล มาร์กเซย์ เมซินา หรือเจนัว ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติก็จะหนีไปคนละทิศทาง และนำโรคกระจายไปยังเมืองต่างๆตามทางที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
เมื่อถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 1348 โรคที่นักประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมาเรียกว่า Black Death หรือกาฬโรค จึงเดินทางไปถึงเมืองเจนัว มาร์กเซย์ เวนิส คอนแสตนติโนเปิล และอเล็กซานเดรียของอียิปต์เป็นที่เรียบร้อย และพร้อมจะแพร่ระบาดต่อไปเรื่อยๆ
สำหรับการแพร่ระบาดในยุโรปนั้น จากอิตาลี โรคก็ระบาดขึ้นไปทางเหนือและตะวันตก เข้าสู่ประเทศฝรั่งเศส ไปยังดินแดนที่เป็นประเทศสเปนในปัจจุบัน เข้าสู่โปรตุเกส และข้ามทะเลไปถึงอังกฤษได้ในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกัน
เมื่อโรคระบาดไปจนถึงประเทศอังกฤษซึ่งอยู่ทางตะวันตกสุดของแผนที่แล้ว โรคก็วกกลับมาทางตะวันออกอีกครั้งโดยระบาดเข้าเยอรมัน ขึ้นเหนือไปยังดินแดนแถบแสกนดิเนเวีย และไปถึงนอร์เวยในช่วงต้นปีคศ. 1349 ก่อนจะคืบคลานต่อไปเรื่อยๆจนถึงชายแดนฝั่งตะวันตกของรัสเซียในปีค.ศ.1351 และวกกลับมาระบาดที่เมืองคาฟฟาอีกครั้งเป็นรอบที่สอง
ภาพการระบาดจาก wikipedia ดูสีจะเข้าใจได้ง่ายกว่า
4.
การระบาดของกาฬโรคในยุโรปครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
หลักฐานทางโบราณคดีบ่งว่าโรคนี้เคยระบาดในยุโรปมาแล้วหลายครั้งตั้งแต่หลายพันปีก่อนหน้า
และหลังการระบาดในปีค.ศ. 1348 ผ่านไปแล้วโรคนี้ก็กลับมาอีกทุกๆ 5-10 ปี หลายครั้งก่อนการระบาดจะหายไป
สำหรับต้นกำเนิดของโรคนี้จริงๆหลักฐานก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ 100% ว่าเริ่มต้นขึ้นที่ไหน
อาจจะเริ่มต้นขึ้นในประเทศจีน หรือเริ่มต้นแถบเอเชียกลางแล้วระบาดเข้าในจีน ก่อนจะวกกลับมาระบาดในเอเชียกลางอีกครั้งก็เป็นได้
แม้ว่าจะมีการระบาดเกิดขึ้นหลายครั้งแต่ไม่มีการระบาดครั้งไหนที่จะอยู่ในความทรงจำของผู้คนมากที่สุด
ไม่มีการระบาดครั้งไหนที่จะคร่าชีวิตผู้คนได้มากเท่าการระบาดในปีค.ศ. 1348
การระบาดในครั้งนี้นำไปสู่การตายของคนทั่วโลกจำนวนมหาศาล เราไม่รู้แน่ชัดว่ามีคนเสียชีวิตไปมากน้อยแค่ไหน แต่ประมาณกันคร่าวๆได้ว่านทวีปยูเรเชีย (ยุโรปและเอเชีย) มีคนเสียชีวิตรวมๆกัน 75-200 ล้านคน
และถ้ามองแค่การระบาดในยุโรปในช่วงปีค.ศ. 1348 ประมาณว่ามีชาวยุโรปเสียชีวิตไปประมาณ 30-60% ของประชากรขณะนั้น
ทั้งหมดที่ผมชวนมาดูในวันนี้เป็นภาพใหญ่ พอให้เห็นคร่าวๆว่า Black Death หรือมัจจุราชสีดำเหยีบย่างเข้าไปในยุโรปได้อย่างไร
ภาพที่เราเห็นในตอนนี้เหมือนเรากำลังยืนลอยอยู่จากนอกโลกแล้วมองการระบาดของโรคจากที่ห่างไกล
แต่ในตอนหน้าผมจะชวนเราลงไปยืนบนถนนกันครับ
เราจะลงไปสัมผัสกันจริงๆว่าถ้าเราต้องเป็นคนที่อยู่ในยุคสมัยนั้น เราจะเห็นอะไรบ้าง เราจะไปดูว่าโรคนี้จะเปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนอย่างไร
การตายของคนมากมายมหาศาลจะมีผลต่อโครงสร้างสังคมเช่นไร มีผลต่อเศรษฐกิจและศาสนาอย่างไรบ้าง
แล้วมาเดินทางไปด้วยกันอีกรอบนะครับ
ถ้าให้ดีกว่านั้นก็กดติดตามเพจไว้เลย เมื่อผมพาออกเดินทางอีกครั้งเราจะได้ไม่คลาดกัน
หรือถ้าใครอยากจะเป็นเพื่อนกันทาง Line Official Account ก็ยิ่งดีครับ เมื่อผมจะออกเดินทางแล้วผมจะไลน์ไปเรียกอีกทีครับ
แล้วเจอกันครับ
(ปิดท้ายด้วยโฆษณา)
อ่านจบแล้ว ใครชอบประวัติศาสตร์การแพทย์เช่นนี้ แนะนำอ่านหนังสือ Best seller ของผมเอง “สงครามที่ไม่มีวันชนะ” และล่าสุด “เพื่อนเก่าที่หายสาบสูญ”
สามารถสั่งซื้อออนไลน์ได้จากลิงก์ด้านล่างทั้ง 2 ครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์อื่นๆได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์
โฆษณา