1 เม.ย. 2020 เวลา 22:28 • ปรัชญา
"ปฏิบัติเพื่อดับความทุกข์ใจ"
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๒ เมษายน ๒๕๖๓
ที่เราปฏิบัตินี้เพื่อดับความทุกข์ใจเท่านั้นเอง เราดับสังขารไม่ได้ เราดับนามขันธ์ไม่ได้ ร่างกายเราดับมันไม่ได้ ต้องปล่อยมันดับเอง ถ้าดับด้วย “ฆ่า” มันก็ผิดอีก มันไม่จำเป็นต้องไปฆ่ามัน มันไม่มีโทษเข้าใจไหม ตัวที่เป็นโทษไม่ใช่ขันธ์ ตัวที่เป็นโทษก็คือตัณหาความอยากของเรา ที่เป็นตัวสร้างความทุกข์ให้กับเรา ร่างกายมันไม่ได้สร้างความทุกข์ให้กับเรา เวทนา สัญญา สังขาร มันไม่ได้สร้างความทุกข์ให้กับเรา ตัวที่สร้างความทุกข์ให้กับเราก็คือความอยาก กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่เกิดจากความหลง ความหลงที่ไปคิดว่า ขันธ์ ๕ เป็นตัวเราเป็นของเรา เราก็เลยมาแก้ความหลงด้วยการใช้ปัญญาพิจารณาสอนว่า มันไม่ใช่เรา มันไม่ใช่ของเรา แล้วปล่อยมัน ร่างกายมันจะแก่ก็ปล่อยมันแก่ มันจะเจ็บก็ปล่อยมันเจ็บ มันจะตายก็ปล่อยมันตาย เวทนามันจะสุขก็ปล่อยมันสุข มันจะทุกข์ก็ปล่อยมันทุกข์ มันจะไม่สุขไม่ทุกข์ก็ปล่อยมันไม่สุขไม่ทุกข์ อย่าไปยุ่งกับมัน ให้รู้เฉยๆ สักแต่ว่ารู้
เวทนาก็เกิดจากภาพที่ได้เห็น เสียงที่เราได้ยิน กลิ่นที่เราได้ดม รสที่เราได้สัมผัสด้วยลิ้น แล้วก็อาการเเข็งเจ็บก็ผ่านทางร่างกายเท่านั้นเอง มันเป็นธรรมชาติที่ใจมารับรู้ แต่ใจไม่รับรู้เฉยๆ ไปเกิดความอยาก เกิดความรัก ความชัง ในสิ่งที่รับรู้ เวทนาแบบนี้รัก เวทนาแบบนี้ไม่รัก พอสุขเวทนาก็รักก็อยากจะให้อยู่ไปนานๆ พอหายไปก็ทุกข์แล้ว ทุกขเวทนายังไม่ทันเกิดเลย เพียงแต่สุขเวทนาหายไปก็ทุกข์แล้ว เวลาบ๊ายบายจากกันอย่างนี้ เวลาเห็นคนที่เรารักเราก็ดีใจ อยู่ด้วยกันก็มีความสุข พอเขาต้องไปทำงานไปต่างจังหวัดไปต่างประเทศไม่ได้อยู่ด้วยกัน แล้วก็สุขเวทนาหายไปแล้ว ใจก็ทุกข์ขึ้นมาแล้ว เพราะอยากให้สุขเวทนาอยู่ต่อไป แต่ถ้าเราไม่มีความอยากให้สุขเวทนาอยู่ หายก็หายไป เขาไปก็ไป เราก็เฉย มันก็ไม่เดือดร้อน
สนทนาธรรมบนเขา
วันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา