6 เม.ย. 2020 เวลา 08:54
จิตวิทยาการลงทุน เคล็ดลับของความสำเร็จ
ผมเชื่อว่าหลายท่านที่อ่าน Page นี้น่าจะมีนักลงทุนหรือมีความสนใจในการลงทุนไม่มากก็น้อย และน่าจะทราบดีว่าการลงทุนให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องที่ทำกันได้ง่าย ๆ เลย
คำถามที่สำคัญคือ แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน
สำหรับผมแล้ว ความสำเร็จในการลงทุนจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ประการได้แก่ 1) ความรู้ในการลงทุน 2) Mindset ในการลงทุน และ 3) โชค โดยทั้งสามปัจจัยนี้รวมกันแล้วเท่ากับ 100% ของความสำเร็จ
ลองคิดแบบนี้กันดูครับ ถ้าเรามาลงทุนซื้อหุ้นโดยที่ไม่มีความรู้เลย ไม่รู้แม้กระทั่งว่าบริษัทที่เราไปซื้อหุ้น เขาทำธุรกิจอะไร หรือไม่รู้ว่า กราฟการลงทุนเป็นแบบไหนอย่างไร แถมมี Mindset อย่างเดียวคือ อยากรวยเร็ว ๆ เห็นเพื่อน ๆ เขาได้กำไรจากการเล่นหุ้นก็อยากได้บ้าง เรียกว่าปัจจัยเรื่องความรู้ รวมกับปัจจัยเรื่อง Mindset เป็น 0 ดังนั้นเราจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็ต้องอาศัยโชคล้วน ๆ
แต่เมื่อเรามีความรู้เพิ่มมากขึ้น เราก็จะพึ่งโชคน้อยลง เพราะเราก็จะเลือกหุ้นได้ดีขึ้น เราเข้าใจแนวโน้มของราคาดีขึ้น การซื้อแบบเดาสุ่ม ไปลุ้นเอาข้างหน้ามันก็จะลดลง
อย่างไรก็ตาม พอมาถึงจุดนี้ หลายคนก็อาจจะยังมีคำถามว่า หนังสือหุ้นก็อ่านแล้ว เข้าคอร์สเรียนการลงทุนมาก็ไม่รู้ตั้งกี่คอร์ส มันก็ดีกว่าที่ไม่รู้อะไรเลย แต่มันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จสักที มันเกิดเพราะอะไร
นี่แหละครับ ที่เป็นที่มาของปัจจัยหลักที่เหลืออยู่ นั่นคือเรื่อง Mindset ในการลงทุนนี่แหละครับ
หลายท่านอาจจะเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่ผลตอบแทนสู้ตลาดไม่ได้” หรือพูดง่าย ๆ ว่า ที่เล่น ๆ หุ้นกันอยู่น่ะ ส่วนใหญ่ได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าผลตอบแทนของตลาดหุ้นโดยเฉลี่ยอีกนะ ซึ่งตอนแรกที่ผมฟังดู ผมก็ยังลังเลว่าเอ เป็นแบบนั้นจริง ๆ เหรอ
จนกระทั่งผมมีโอกาสทำการสำรวจนักลงทุนรายย่อยจำนวน 403 คน แล้วพบว่า ค่ามัธยฐานของผลตอบแทนของนักลงทุนรายย่อยของไทยเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้น อยู่ที่ -2.14% หรือแปลความหมายง่าย ๆ ว่า คนเกินครึ่งผลตอบแทนการลงทุนของเขาสู้ผลตอบแทนของตลาดไม่ได้
และต้องบอกว่าอันนี้เป็นการถามนักลงทุนตรง ๆ ด้วยนะครับ (เพราะบริษัทหลักทรัพย์เขาไม่สามารถเอาข้อมูลลูกค้ามาเผยแพร่ได้) มันจึงอาจจะมีความลำเอียงเข้าข้างตัวเองไม่มากก็น้อย และอาจจะเกิด Survivorship Bias อีกต่างหาก คือนักลงทุนที่เจ๊งไปจริง ๆ แล้วเลิกเล่นหุ้นไปแล้ว ก็คงไม่มาตอบแบบสอบถามของผม
1
แปลความหมายว่า จริง ๆ แล้ว ตัวเลขมันอาจจะแย่มากกว่านี้อีก คือคนจำนวนมากกว่านี้จะมีผลตอบแทนที่สู้ตลาดไม่ได้
คำถามที่สำคัญคือ ทำไม
ด้วยโลกปัจจุบัน ผมคิดว่า ความรู้ในเรื่องการลงทุนดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองไปเดินดูในร้านหนังสือเราจะเห็นว่ามีหนังสือเกี่ยวข้องกับการลงทุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในเชิงพื้นฐานหรือเชิงเทคนิคก็ตาม
แต่เชื่อไหมครับ หลาย ๆ ครั้ง ถึงแม้ว่าเราจะรู้ แต่พอไปใช้จริง ๆ เรากลับไม่ทำ มันเหมือนกับเรารู้ว่าการออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ก็ยังไม่ออกกำลังกายนั่นแหละครับ
เราอาจจะเรียนรู้มาว่าการศึกษางบการเงินของบริษัทเป็นสิ่งสำคัญมากในการลงทุน (ในสาย Value Investment) หรือ การดู Indicator สำคัญมาก (ในสาย Technical) แต่พอเพื่อนส่ง Line มาบอกว่าหุ้นตัวนี้ดีมาก ได้ข่าว Inside มา แค่นั้นแหละ ลืมหลักการไปหมดทุกอย่าง กดซื้อทันที หรือหลายคนบอกว่าเราจะลงทุนระยะยาวนะ เราดูแล้วพื้นฐานดี แต่พอเวลาผ่านไปสัก 2 สัปดาห์ เกิด Panic Sell ในหุ้นตัวที่เราถือ กลายเป็นว่า เรานี่แหละ กดขายก่อนคนแรกเลย
เกิดอะไรขึ้น...
ก็กลับมาที่เรื่องจิตวิทยาการลงทุนนี่แหละครับ เพราะเราเป็นมนุษย์ที่มีทั้งความโลภและความกลัว ถ้าเรายังไม่เข้าใจตัวเองดีพอ เราก็ยังเอาชนะตลาดหุ้นได้ยาก
ผมจึงมีความตั้งใจจะเอาเรื่องความลำเอียงในการตัดสินใจลงทุนทยอยมาเล่าให้ฟังเรื่อย ๆ พร้อมทั้งงานวิจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนความคิดเหล่านั้น
ผมเชื่อว่า ถ้าเรารู้จักตัวเองมากขึ้นเท่าไร โอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จจะมากขึ้นเท่านั้น
ก็อย่างที่วอร์เรน บัฟเฟต์ ปรมาจารย์ทางด้านการลงทุนได้เคยกล่าวไว้ว่า “ให้เรากลัว เวลาที่คนอื่นโลภ แต่ให้เราโลภ เวลาที่คนอื่นกลัว” คนที่จะทำได้แบบนั้น ความรู้อย่างเดียวไม่พอแน่นอนครับ มันต้องเข้าใจเรื่องจิตวิทยาการลงทุนด้วย
แล้วพบกันครับ
โฆษณา