8 เม.ย. 2020 เวลา 05:35 • ความคิดเห็น
ดูเหมือนว่าทุกคนคิดว่าผมบ้าไปแล้วจริงๆ หลังจากเห็นปกของบทความนี้ ซึ่งผมก็ยอมรับเลยว่าการเขียนบทความนี้เป็นสิ่งที่บ้าสุดตั้งแต่เปิดเพจ ‘โพนี่จี้จุด’ มา และคงไม่มีใครเอาเนื้อหาในหนังสือการบริหารจัดการที่เขียนโดยสุดยอด CEO อย่าง เบน โฮโรวิตซ์ มาประกอบงานเขียนที่พูดถึงเรื่องไอดอลอย่างแน่นอน
ในหนังสือ Hard Thing About Hard Things เหมือนการถ่ายทอดประสบการณ์กับการเผชิญหน้าสิ่งที่ยาก และไร้ซึ่งสูตรสำเร็จ บนโลกธุรกิจอันซับซ้อน โดยไล่ไปตั้งแต่การก่อตั้งบริษัท บริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ความแตกต่างของ CEO ยามสงบ กับ CEO ยามศึก จนถึงกระทั่งหาบทสรุปเมื่อองค์ของคุณกำลังจะพังทลายลงไปต่อหน้าต่อตา
แต่หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจในหนังสือเล่มนี้อย่าง ‘เดินตามรอยผู้นำ’ แน่นอนว่าต้นแบบของผู้นำมีลักษณะที่แตกต่างกัน และไม่ยึดรูปแบบตายตัว หลายคนอาจมองว่า ผู้นำที่ดีควรมีลักษณะความเป็นผู้นำสูง ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วความเป็นผู้นำคืออะไร ผู้นำที่ยอดเยี่ยมเป็นแบบนั้นมาตั้งแต่แรก หรือเกิดจากการพัฒนาตัวเองอยู่สม่ำเสมอ จนทำให้ผู้คนอยากเดินตามพวกเขา ซึ่งเมื่ออ่านเรื่องนี้จบแล้วก็เลยนึกถึง อิซิรินะ กับ ออม ชิไฮนิน และกัปตัน CGM48 สองสาวผู้ขับเคลื่อนวงให้เดินไปในทิศทางถูกต้อง และคิดว่าเธอทั้งสองคนมีคุณสมบัติหลักของความเป็นผู้นำตามหลักที่ เบน โฮโรวิตซ์ ได้เขียนไว้ โดยมีทั้งสิ้น 3 ข้อด้วยกัน
ความสามารถในการสื่อสารวิสัยทัศน์: คุณสมบัติแบบ สตีฟ จ๊อบส์
(คุณสมบัติที่เห็นในตัวของ ออม CGM48)
แน่นอนว่าผู้นำจะต้องสื่อสารวิสัยทัศน์ เป็นตัวเอง มีพลัง และฟังดูน่าประทับใจ สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ เขาสามารถทำแบบนั้นในภาวะที่ไร้ซึ่งหนทางข้างหน้า หรือจุดที่บริษัทจะล่มสลายได้หรือไม่ ซึ่งเป็นไปตามกลไกธรรมชาติว่าพนักงานเริ่มรู้สึกสับสน ท้อแท้ กังวล หรือไม่อยากทำงานนั้นอีกต่อไปแล้ว เขาจะสามารถสื่อสารให้ผู้ตามมั่นใจ และกลับมาทำงานด้วย Passion เดิมได้หรือไม่
ถ้าเป็นในโลกของธุรกิจ สตีฟ จ๊อบส์ ถือเป็นผู้ที่โดดเด่นในคุณสมบัตินี้อย่างแท้จริง เชื่อได้เลยว่าจุดเด่นที่นำพาสู่ความสำเร็จของ Apple นั่นคือ การโน้มน้าวให้พนักงานทั้งหมดยังคงเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ของเขาในยามที่บริษัทกำลังจะเข้าสู่ภาวะการล้มละลายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ยังเห็น Apple เป็นบริษัทเทคโนโลยีแนวหน้าของโลกจนถึงปัจจุบัน
ลองกลับมาที่ ออม แน่นอนว่าสถานการณ์ CGM48 ตอนนี้ยังตอบไม่ได้เต็มปากว่าจะไปในทิศทางไหน ซึ่งความไม่แน่นอนอันนี้อาจทำให้ดูสับสน และกดดัน แต่เชื่อได้ว่า ออม เป็นเหมือนผู้นำที่คอยเติมเต็มความมั่นใจให้ทุกคน เป็นพี่ที่คอยให้คำปรึกษากับน้องๆ และให้ความเชื่อมั่นในยามที่ CGM48 ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จนถึง ณ เวลานี้แล้ว น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ออม มีคุณสมบัตินี้อย่างแท้จริง
ความทะเยอทะยานถูกประเภท: คุณสมบัติแบบบิลล์ แคมป์เบลล์
(คุณสมบัติที่เห็นในตัวของ อิซึรินะ CGM48)
ผู้นำที่ประสบความสำเร็จหลายคน สิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำนั่นคือ การให้คนเก่งๆ ยอมมาทำงานด้วย ซึ่งคนเก่งๆจะไม่ยอมทำงานกับพวกเขาแน่ หากผู้นำไม่ได้ใส่ใจพวกเขาเท่าที่ควร ดังนั้นผู้นำที่ยอดเยี่ยมจึงต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้ผู้ร่วมงานรู้สึกว่าผู้นำใส่ใจเขา และสบายใจทุกครั้งที่ทำงานด้วย อย่างที่ บิลล์ แคมป์เบลล์ บริหารบริษัทของเขา
ทุกคนคงทราบอยู่แล้วว่า อิซึรินะ หรือ พี่รินะ ของทุกคนนั้น เปรียบเสมือนครูอีกคนหนึ่งของ BNK48 ที่คอยถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ จนเมื่อเธอได้ก้าวไปอีกขั้นในฐานะผู้จัดการวง CGM48 ควบคู่กับการเป็นสมาชิกในวง แม้ว่าจะอยู่ในสถานะที่เปลี่ยนไป รินะ ยังคงทำหน้าที่เหมือนเดิม คอยถ่ายทอดความรู้ ขัดเกลา ฝึกฝนให้กับสาวช่างฝันรุ่นใหม่ ให้มี Performance เหมือนกับที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ ด้วยความสามารถ และประสบการณ์ตลอดชีวิตเธอนั้น คงไม่มีใครเถียงว่า รินะเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานถูกประเภทแบบ บิลล์ แคมป์เบลล์
ความสามารถในการทำวิสัยทัศน์ให้เป็นจริง: คุณสมบัติแบบแอนดี้ โกรฟ
(คุณสมบัติที่เห็นในตัวของทั้งสองคน)
ถ้าเราเชื่อในวิสัยทัศน์ของผู้นำ และเชื่อว่าผู้นำมีความใส่ใจต่อตัวเรา แล้วคำถามต่อไปนั่นคือผู้นำจะสามารถทำให้วิสัยทัศน์เป็นจริงได้หรือไม่ อารมณ์เหมือนกับเวลาคุณตามเขาไปเดินป่าโดยไม่มีแผนที่ และเชื่อว่าเขาจะพาออกมาได้อย่างปลอดภัย
แอนดี้ โกรฟถือว่าเป็นบุคคลต้นแบบในคุณสมบัตินี้เลยก็ว่าได้ การที่นำ Intel ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ จากธุรกิจผลิตหน่วยความจำชั่วคราว (RAM นั่นแหละ) สู่อุตสาหกรรมผลิตหน่วยประวลผล (CPU) ซึ่งสร้างความตื่นตระหนกให้กับพนักงานของเขาไม่น้อยเลยทีเดียว แต่สุดท้าย โกรฟ ทำวิสัยทัศน์ของเขาให้เป็นจริง ทำให้ทุกคนเชื่อมั่น จนสุดท้ายแล้วเราได้เห็น Intel เป็นยักษ์ใหญ่ในการผลิต CPU ของโลก
แม้ว่า ออม กับ รินะ จะมีความแตกต่างกันในสองคุณสมบัติแรก แต่เมื่อเรามองไปข้อสุดท้าย ทั้งสองคนมีเหมือนกัน พร้อมทั้งนำความแตกต่างมาส่งเสริมกัน เหมือนคู่แท็กทีมต่างสัญชาติที่เข้าขากันอย่างไม่น่าเชื่อ เป้าหมายในการนำ CGM48 เป็นเหมือนตัวแทนการเผยแพร่วัฒนธรรมของภาคเหนือ โดยเน้น Performance ในการแสดงบนเวที ซึ่งต้องบอกว่าทั้งสองคนสามารถนำวิสัยทัศน์ของวง มาทำให้เป็นจริง และปรับเสริมเติมแต่งสร้างผลงานที่ BNK48 ไม่เคยได้ทำมาก่อน ซึ่งต้องบอกว่าทั้งสองคนนี้ทำได้ดีเลยทีเดียว
โดยสรุปแล้ว ออม กับ อิซึรินะ มีคุณสมบัติของผู้นำทั้งสามอย่าง ทั้งการสื่อสารวิสัยทัศน์ในยามที่วงยังไม่เห็นแนวทางอย่างชัดเจน สร้างความเชื่อมันให้กับน้องๆในวง มีความทะเยอทะยานถูกประเภท เสียสละแรงกาย แรงใจในการถ่ายทอดประสบการณ์ ใส่ใจทุกรายละเอียด สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนอยากร่วมงาน และปิดท้ายด้วยความสามารถในการทำวิสัยทัศน์ให้เป็นจริง ที่ทั้งสองคนพยายามสร้าง Content หรือ Gimmick ต่างๆ ภายใต้เป้าหมายให้ CGM48 เป็นที่รู้จัก และเป็นตัวแทนในการเผยแพร่วัฒนธรรมของภาคเหนือ ด้วยความมุ่งมั่น เพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลอย่างสำเร็จลุล่วง ซึ่งในคุณสมบัติทั้งสามข้อนี้ เป็นสิ่งที่ เบน โฮโรวิตซ์ ผู้เขียนเน้นย้ำให้ผู้นำ หรือ CEO ควรพัฒนา โดยส่วนตัวผมแล้ว ออม กับ อิซึรินะ ถือว่าเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพได้ดีเลยทีเดียวครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน หากชอบก็สามารถแชร์ส่งต่อให้คนที่คุณอยากให้อ่านได้ครับ แม้ว่าช่วงนี้ทุกคนกำลังอยู่ในสภาวะการแพร่ระบาดของ Covid-19 ไม่สามารถออกจากบ้านได้ แต่ผมจะพยายามผลิต Content ดีๆออกมาให้ทุกคนได้รับชมกันอย่างแน่นอน แรงสนับสนุนทุกคนมีความหมายสำหรับผม อย่าลืมกดไลค์เพจ โพนี่จี้จุด เพื่อเป็นกำลังใจในการผลิต Content ดีๆสู่สาธารณะชนต่อไปครับ
โฆษณา