11 พ.ค. 2020 เวลา 13:05 • ธุรกิจ
🛫การบินไทย สายการบินใหญ่
ที่กำลังล้ม...บนฟูก
พูดถึงเรื่องที่เป็น Talk of the town หรือเรื่องที่คนไทยกำลังให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงนี้ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง “การบินไทย” ที่ทุกคนทราบกันดีว่าในตอนนี้กำลังขาดทุนเท่าฟ้า...
สายการบินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินประจำชาติไทย ในวันนี้กลับตกต่ำ ขาดทุน ย่ำแย่ แต่มันคงจะไม่เป็นอะไรถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ใช่
“กระทรวงการคลัง”
เพราะการที่ผู้ถือหุ้นใหญ่กว่า 51.03% เป็นกระทรวงการคลัง แน่นอนว่าเงินที่กระทรวงการคลังจะเอาไปใช้จ่ายนั้นก็มาจากรัฐบาล และเงินที่รัฐบาลเอามาใช้ส่วนใหญ่ก็จะมาจาก “ภาษี” ของประชาชนคนไทยนั่นเอง (การประมาณการงบประมาณของปี 2563 จะมีสัดส่วนมาจากภาษีอากรสุทธิที่ราวๆ 76.9%)
แต่การที่รัฐเข้ามาถือหุ้นนั้นก็มีเหตุผลเช่นกัน เนื่องจากธุรกิจสายการบินจัดว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรงซึ่งทุกๆท่านก็ทราบว่ามันคือท่อน้ำเลี้ยงที่สำคัญต่อประเทศของเรา ดังนั้นการเข้ามาถือหุ้นของรัฐก็ไม่ใช่ว่าไม่จำเป็นไปเลยซะทีเดียว
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2502 จุดเริ่มต้นของการบินไทยก็ได้เกิดขึ้นเมื่อบจ. เดินอากาศไทย (TAC) ได้ทำการร่วมทุนกับสายการบินสแกนดิเนเวีย แอร์ไลน์ (SAS) เพื่อก่อตั้งบริษัทที่จะมาดำเนินกิจการการบินระหว่างประเทศ และต่อมาในปี 2503 ทางการบินไทยก็ได้เปิดให้บริการด้วยเที่ยวบินที่เริ่มจากกรุงเทพฯไปยังประเทศต่างๆในเอเชียทั้งหมด 11 แห่ง
และในปีต่อมา (2504) การบินไทยก็ได้เริ่มต้นการเพิ่มเติม “ความเป็นไทย” ลงไปในบริการอย่างเช่นชุดของพนักงาน จากนั้นบริษัทก็ได้มีการพัฒนาและขยายตัวมาตลอดจนมีพันธมิตรทางธุรกิจมากมายและสายการบินไปในหลากหลายประเทศทั่วโลก จนในที่สุดปี 2520 ทาง TAC ก็ได้ทำการซื้อหุ้นคืนกลับมาจาก SAS ทั้งหมดและตัดสินใจมอบหุ้นให้กับกระทรวงการคลังเพื่อร่วมกันเป็นเจ้าของ ด้วยสาเหตุนี้เองที่ทำให้ “การบินไทย” กลายเป็นสายการบินที่มีเจ้าของเป็นคนไทยร่วมกันทั้งประเทศ
หลังจากการปรับโครงสร้างใหม่ของการบินไทยทุกอย่างก็เป็นไปตามแผน บริษัทเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆจนในปี 2533 การบินไทยมีกำไรที่ดูดีมากๆกับตัวเลขในระดับเกือบเจ็ดพันล้าน จึงทำให้ปีต่อมาหรือ 2534 ทางบริษัทได้ตัดสินใจจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเริ่มซื้อ-ขายหุ้น THAI ในราคา IPO ที่สูงถึง 60 บาทต่อหุ้น และในที่สุดการบินไทยก็ได้ทำกำไรทะลุแสนล้านและกลายมาเป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรมากที่สุดสำเร็จในปี 2543
การบินไทยนับว่าประสบความสำเร็จมากๆในขณะนั้น แต่ถึงอย่างไรก็ดี “ปัญหาภายใน” ขององค์กรนี้ก็ไม่ได้หายไปแต่อย่างใด สังเกตุได้จากการที่อดีตผู้อำนวยการใหญ่ (DD) และอดีตพนักงานระดับสูงของการบินไทยหลายคนที่ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้กันมาเป็นระยะๆว่าองค์กรนี้เป็นองค์กรที่หนักอึ้ง เชื่องช้า และที่สำคัญที่สุดคือ “ระบบเส้นสาย” ข้างใน
ถึงแม้ว่าในปี 2545 จะเกิดการเปลื่ยนแปลงภายในด้วยการส่งคุณ “กนก อภิรดี” นักบริหารที่เป็นคนนอกเข้าไปเป็น DD แต่ถึงอย่างไรแล้วนั้น อำนาจของ DD ก็ยังถือว่าไม่เด็ดขาดและใหญ่ที่สุดในองค์กร เพราะการบินไทยคือรัฐวิสาหกิจที่มีบอร์ดบริหารที่มาจาก อาชีพ “ข้าราชการ” เช่นทหาร ตำรวจ หรืออัยการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งประเด็นนี้เราจะขอพูดข้ามไปเลยแล้วกันนะครับ
แต่ก็เอาเป็นว่าเมื่อผู้บริหารไม่มีอำนาจในการทำการทำงานอย่างเต็มที่ แต่การสั่งการนั้นกลับตกไปอยู่ที่คนบางกลุ่ม ซึ่งตามข้อมูลแล้วนั้น สวัสดิการของคนในองค์กรที่จะได้รับก็จะมีอยู่เช่นบริษัททำการจ่ายภาษีเงินได้ให้กับพนักงาน, ค่ารักษาพยาบาลฟรีสำหรับตนเอง ภรรยาและลูก, ตั๋วเครื่องบินฟรีสำหรับตนเอง ภรรยา และลูก รวมไปถึงสิทธิการซื้อตั๋วเครื่องบินที่ว่างในราคาเพียง 10% ของพนักงานในบริษัท
จากปัญหาภายในที่มีอยู่มานานจนฝังรากลึก ประกอบกับการแข่งขันที่เริ่มรุนแรงขึ้นทุกวันๆ และแล้วการขาดทุนครั้งแรกของการบินไทยก็ได้มาถึงกับตัวเลขที่มากกว่า 4,000 ล้านบาทในปี 2548 ซึ่งการขาดทุนในครั้งนี้แหละครับที่เรียกได้ว่าทำให้การบินไทย “เซ” และเริ่มเละเทะมาเรื่อยๆ
ใช่ว่าการบริหารและเส้นสายในองค์กรจะเป็นปัญหาแค่สองอย่างของการบินไทย แต่การพยายามลดต้นทุนของบริษัทนั้นก็ได้ทำให้พนักงานระดับเล็กๆได้รับผลกระทบไปมากกว่าพนักงานระดับสูงอย่างผู้บริหาร ความขัดแย้งภายในระหว่างพนักงานระดับสูงและกลุ่มสหภาพแรงงานจึงได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่กัดกินองค์กรอยู่ตลอดไม่เคยขาด
การบินไทยเริ่มเซมาเรื่อยๆตั้งแต่ที่เกิดการขาดทุนครั้งแรก และก็ดูเหมือนว่าทางการบินไทยจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอะไรได้เลยในเวลาที่ผ่านมา จนในที่สุดเมื่อผลประกอบการในปี 2562 ที่เพิ่งประกาศออกมาในนานนี้ก็ทำให้เราได้พบว่าการบินไทยนั้นขาดทุนไปมากถึง 12,000 ล้านบาท
การที่มีพนักงานต้อนรับที่มากถึง 6,000 คนกับเครื่องบินทั้งหมด 80 ลำก็จะหมายความว่าเฉลี่ยแล้วการบินไทยมีพนักงานต้อนรับอยู่ในเครื่องบินมากถึงลำละ 75 คน อีกทั้งสวัสดิการต่างๆของพนักงานระดับผู้บริหารอย่างเช่นค่าประชุมที่เบิกได้ถึงเดือนละ 30,000 บาทและค่ารถที่เบิกได้ถึงเดือนละ 70,000 บาท ด้วยเหตุผลเหล่านี้ก็ได้ทำให้การบินไทยกลายเป็นสายการบินที่มี “ต้นทุนแพง” โดยไม่จำเป็น
1
ทีนี้พอต้นทุนหลักของธุรกิจสายการบินอย่าง “น้ำมัน” นั้นได้เริ่มที่จะมีราคาเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ประสิทธิภาพที่แท้จริงในการบริหารองค์กรประจำชาติอย่างการบินไทยก็ได้แสดงออกให้ประชาชนเห็นกันมาตลอด เช่นเดียวกันกับราคาหุ้น THAI ที่เคยขึ้นไปอยู่สูงถึง 57 บาทตอนนี้ก็เหลืออยู่เพียงราวๆ 5.15 บาทเท่านั้น
ลองคิดเล่นๆว่าถ้าเพื่อนๆลงทุนในหุ้นการบินไทยไปเป็นเงิน 570,000 บาท (10,000 หุ้น) ตอนนี้มูลค่าหุ้น THAI ของคุณก็จะลดลงไปมีมูลค่าเหลือเพียง 51,500 บาท เรียกได้ว่าเป็นหุ้นสิบเด้งในเวลา 10 ปีอีกหนึ่งตัว (เด้งลง)
ถ้าเปรียบเทียบกับคนแล้ว การบินไทย ก็คงจะเป็นคนที่ป่วยสารพัดโรคและมีอาการที่ย่ำแย่เข้าขั้นโคม่า แต่ในที่สุดสิ่งที่ทุกคนไม่อยากจะให้มันเกิดขึ้นก็ได้มาถึง เมื่อการแพร่ระบาดของ Covid-19 นั้นได้กลายมาเป็น “หายนะ” ของเหล่าผู้ทำธุรกิจสายการบินที่แท้จริง รวมไปถึงการบินไทยก็ด้วยเช่นกัน
ส่งผลให้ล่าสุดทางพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศไทยได้ออกมา “ยื่นคำขาด” ให้โอกาสการบินไทยครั้งสุดท้ายด้วยการพิจารณาสินเชื่อเงินกู้ให้กับการบินไทยด้วยวงเงินกว่า 50,000 ล้านบาท และผู้ค้ำประกันก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ซึ่งผู้ค้ำประกันของการบินไทยในการกู้เงินรอบนี้คือ “กระทรวงการคลัง” เจ้าเก่าเจ้าเดิม
ตรงนี้ก็เป็นที่มาของกระแสการวิพากวิจารณ์ในด้านลบของผู้คนในโลกโซเชียลที่มีต่อการบินไทยอย่างหนัก เนื่องจากหากว่ากาาบินไทยกู้เงินไปแล้วไม่สามารถทำกำไรและนำเงินกลับมาจ่ายคืนให้กับรัฐบาลได้ ผู้ที่จะต้องจ่ายเงินในส่วนนั้นก็คือกระทรวงการคลัง กระทรวงที่ใช้เงินของ “ประชาชนคนไทย” ทุกคน ซึ่งเสียงส่วนมากที่เราเห็นกันก็จะพูดออกมาในแนวๆว่า
ตอนบริหารจัดการคนในองค์กรยังทำกันเอง แต่ทำไมตอนขาดทุนแล้วประชาชนจะต้องมาร่วมกันรับผิดชอบ ?
เรื่องก็มีที่มาที่ไปอยู่ประมาณนี้นั่นเอง ซึ่งก็จริงอยู่ที่การบินไทยเป็นองค์กรที่ถือว่ามีความสำคัญกับการท่องเที่ยว, เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมของประเทศเรา หากปล่อยให้ล้มลงไปก็คงจะส่งผลกระทบกับหลายๆอย่างมากแต่ระบบการบริหารที่ล้มเหลวแบบนี้นั้นจะคุ้มค่าแค่ไหนกับการที่คนไทยและรัฐบาลจะต้องร่วมกัน “อุ้ม” การบินไทยในครั้งนี้
แล้วเพื่อนๆล่ะมีความคิดเห็นอย่างไรกับการปล่อยเงินกู้เพื่อช่วยเหลือการบินไทยในครั้งนี้ ???
รัฐควรปล่อยให้การบินไทยล้ม หรือว่าการที่รัฐช่วยเหลือไปน่ะดีแล้ว หรือว่ามีทางไหนอีกที่จะพอช่วยให้ประชาชนและการบินไทยได้มาเจอกันแบบครึ่งๆทาง ??
การบินไทยจะสามารถนำเงินไปใช้หนี้และกลับมาทำกำไรได้ต่อไปได้ตามแผนการฟื้นฟูที่พวกเขาได้วางไว้ดีแค่ไหน ?
เรื่องนี้ก็ต้องมาติดตามกันต่อไป กับการบินไทย สายการบินใหญ่ ของประเทศไทยแห่งนี้
ติดตามบทความดีๆของพวกเราได้ทาง WEBSITE
หรือ FACEBOOK เพจ หุ้นพอร์ทระเบิด
- - - -
ผู้สนับสนุน
สนใจเปิดพอร์ท หุ้น TFEX SBL BLOCKTRADE กับโบรคเกอร์ KTBST
ค่าธรรมเนียมเรทพิเศษ
พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย
- ทีมงานมืออาชีพคอยให้บริการ
- โปรแกรม EFIN//ASPEN
- โปรแกรม SUPPORT อื่นๆเช่น MT4//MODEL TRADE//KTBST SMART และอื่นอีกมากมาย
กรอกรายละเอียดได้เลย 👇
โฆษณา