18 พ.ค. 2020 เวลา 23:00
#หลวงปู่มั่นสอนอะไรท่านพ่อลี
“ ท่านพ่อลี เป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่มีภูมิธรรมและพลังจิตสูงยิ่ง มีจริยวัตรที่งดงามมีศรัทธาที่เต็มเปี่ยมในการเผยแพร่สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมศักดิ์ศรีที่ได้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ให้เป็นอัศวินแห่งกองทัพธรรมกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่มีธรรมะเป็นอาวุธจนได้รับสมัญญานามว่า “อัศวินนักรบธรรม ของพระกรรมฐานสายป่า”
ท่านเป็นพระผู้ล้ำเลิศด้วยคุณธรรม เป็นที่เคารพบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทุกผู้ทุกนาม บรรดาสานุศิษย์ของท่านก็มีมากมาย ท่านเป็นพุทธทายาทที่องอาจในศีลบารมี สมาธิบารมี และปัญญาบารมี อีกทั้งยังเป็นพระนักปฏิบัติที่องอาจในการเผยแพร่ธรรมะโดยแท้
ปฏิปทาอันละมุนละไมของท่าน ทำให้บรรดาสาธุชนเลื่อมใสทั้งกาย วาจา และใจ ขันติธรรมและเมตตาธรรมของท่านเป็นที่ซาบซึ้งแก่พุทธบริษัททั้งปวง สั่งสอนอบรมพุทธบริษัทให้เป็นบุคคลพลเมืองดีในชาติ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกที่บูชา แสงแห่งพุทธธรรมส่องสว่างโดยพุทธสาวกผู้บริสุทธิ์ให้ความอบอุ่นสงบสุขแก่ผู้คนทั้งปวง
ท่านจึงเป็นศิษย์ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาและให้การยกย่องเป็นพิเศษว่า “มีพลังจิตสูง เป็นผู้เด็ดเดี่ยว อาจหาญ เฉียบขาด ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยธรรม”
หลวงตามหาบัว ได้กล่าวถึงท่านพ่อลีด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ว่า “เรามองดูท่านพ่อลีทีแรกเราก็เลื่อมใสเลยนะ ท่านเป็นผู้มีบุญวาสนาจริง ๆ น่าชมเชย น่าเคารพ น่าเลื่อมใส มีสง่าราศี สง่าผ่าเผย องอาจกล้าหาญ เด็ดเดี่ยวจริงจังเป็นนักเสียสละ ท่านพระอาจารย์มั่นโปรดที่จะสนทนาและเมตตามากไม่เคยตำหนิอะไรเลย มีแต่ยกย่องชมเชย”
ท่านพ่อลีนับว่าเป็นพระเถระที่มีพลังอำนาจจิตสูงและสำคัญยิ่งรูปหนึ่ง ในสายกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่ประสบความสำเร็จทั้งในทางธรรมและทางโลก ท่านได้บรรลุภูมิธรรมในขั้นสูงสุด และองค์ท่านทราบว่า อดีตชาติ ได้เกี่ยวข้องกับจอมจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่คือ “พระเจ้าอโศกมหาราช” โดยตรง
ครั้งแรกที่ท่านพ่อลีเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในปี ๒๔๖๙ ท่านพระอาจารย์มั่นได้สอนบทภาวนาสั้น ๆ ว่า “พุทโธ” คำเดียว และสั่งให้ไปอยู่ป่ากับพระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่น ที่เสนาสนะป่าบ้านท่าวังหิน อำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานี
ปี ๒๔๗๔ ได้มีโอกาสพบกับท่านพระอาจารย์มั่นที่วัดบรมนิวาสอีกครั้ง ท่านพระอาจารย์มั่นได้สอนธรรมใจความสั้นๆ ว่า “ขีณา ชาติ วุสิตํ พฺรหฺมจริยนฺติ” พระอริยะเจ้าขีณาสพทั้งหลาย ท่านทำตนให้เป็นผู้พ้นจากอาสวะแล้ว มีความสุข นั่นคือพรหมจรรย์อันประเสริฐ
1
จากนั้น ในกลางปี ๒๔๗๔ ท่านได้ติดตามท่านพระอาจารย์มั่นไปจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ท่านพ่อลีเล่าว่า....ในขณะอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง เชียงใหม่ ได้ออกบิณฑบาตกับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นนิจ ขณะเดินบิณฑบาตท่านได้สอนกรรมฐานเตือนใจอยู่เสมอ
1
พอเห็นหญิงสาวสวย ๆ งาม ๆ ผ่านมา ท่านบอกว่า “มองดูให้ดีสิ นั่นเป็นอย่างไร สวยไหม งามไหม ดูให้ดี ๆ ดูเข้าไปข้างใน มูตรคูถทั้งนั้น”
ไม่ว่าท่านจะเห็นอะไร เซ่น บ้านหรือถนน สัตว์หรือสิ่งของท่านก็จะให้โอวาทพร่ำสอนเตือนใจท่านพ่อลีทุกวี่ทุกวัน
จีวรใหม่ สบงใหม่ ที่คนเขาเอามาถวาย ท่านพระอาจารย์มั่นไม่ให้ท่านพ่อลีใช้ ให้ใช้สบงเก่า ๆ ขาด ๆ วิ่น ๆ เอามาปะชุนใช้ผืนที่มีสีสันสดสวย หรือขาว ท่านพระอาจารย์มั่นให้เอาไปทำลายสีเดิม แล้วย้อมด้วยแก่นขนุน
1
วันหนึ่งท่านพ่อลีได้เดินตามท่านพระอาจารย์มั่นไปบิณฑบาตถึงที่แห่งหนึ่ง ท่านเอาเท้าของท่านเตะกางเกงขาดที่เขาทิ้งไว้ข้างถนน แล้วก้มลงเก็บกางเกงขาดตัวนั้นเหน็บไว้ใต้จีวร เมื่อกลับถึงกุฎีแล้ว ท่านก็นำเอาไปซักแล้วพาดไว้ที่ราวตากผ้าแห่งหนึ่ง
ต่อมาวันหลังได้เห็นกางเกงขาดตัวนั้น ได้กลายเป็นถุงย่ามใบน้อยและสายรัดประคดเอวที่เย็บด้วยมืออันกะทัดรัด
ท่านบอกว่า “ท่านลี...ถุงย่ามใบนี้และรัดประคดอันนี้เอาไปใช้ซะ”
แล้วท่านพ่อลีได้กล่าวสรุปในเรื่องนี้ไว้ว่า “การได้ปฏิบัติท่านพระอาจารย์มั่นนี้เป็นการดีที่สุด แต่ก็ยากที่สุด ต้องยอมฝึกหัดทุกสิ่งทุกอย่างต้องเป็นนักสังเกตที่ดีและละเอียดรอบคอบจึงจะอยู่กับท่านได้..เวลาเดินบนพื้นกระดานทำเสียงดังก็ไม่ได้..เดินไปแล้วมีรอยเท้าติดพื้นก็ไม่ได้..เวลากลืนน้ำมีเสียงดังก็ไม่ได้..เวลาเปิดประตูมีเสียงดังก็ไม่ได้..เวลาจะตากผ้า เก็บผ้า พับผ้า ปูที่นั่ง ที่นอน เป็นต้น ทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำอย่างเป็นผู้มีวิชา ต้องละเอียดลออรอบคอบเรียบร้อย ทำอย่างตั้งใจ ถ้าไม่ตั้งใจจะต้องถูกไล่หนีกลางพรรษา แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องอดทน พยายามใช้ความสังเกตของตน”
บางวันเมื่อฉันแล้ว จัดแจงเก็บบาตร เก็บจีวร ผ้าปูนั่ง ปูนอน กระโถน กาน้ำ หมอน ฯลฯ และทุกสิ่งทุกอย่างในห้องของท่าน ต้องเข้าไปจัดไว้ก่อน ท่านเข้าไปข้างใน จัดเสร็จแล้วก็จดจำไว้ในใจ แล้วรีบกลับออกไปอยู่ในห้องของตน ซึ่งกั้นไว้ด้วยใบตองเจาะช่องฝาไว้พอมองเห็นบริขารและตัวท่านได้ เมื่อท่านเข้าไปในห้องแล้ว เห็นท่านมองข้างล่างข้างบน ตรวจตราบริวารของท่าน บางอย่างท่านก็หยิบย้ายที่ บางอย่างท่านก็ปล่อยไว้ที่เดิมไม่จับต้อง เราก็ต้องคอยมองดูแล้วจดจำไว้วันหลังก็ทำใหม่จัดใหม่ ให้ถูกต้องอย่างที่เห็นท่านทำเอง
ต่อมาวันหลังเมื่อเข้าไปจัดเสร็จแล้วก็กลับเข้าห้องของตนมองลอดช่องฝาสังเกตดูว่า เวลาท่านเข้าไปในห้อง ท่านเข้าไปแล้วนั่งนิ่ง มองซ้ายมองขวา มองหน้ามองหลัง มองดูข้างบนข้างล่างแล้วก็ไม่จับต้องอะไรอีก ผ้าปูนอนก็ไม่กลับ แล้วท่านก็กราบสวดมนต์ไหว้พระสักครู่หนึ่งท่านก็จำวัด
เมื่อเห็นเช่นนี้ ก็ดีใจว่าเราได้ปฏิบัติเป็นที่ถูกอกถูกใจท่านนอกจากเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ในการนั่งสมาธิก็ดี เดินจงกรมก็ดี ก็ได้ฝึกหัดจากท่านไปจนเป็นที่พอใจทุกอย่าง แต่ก็เอาอย่างท่านได้อย่างมากเพียง ๖๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ท่านพระอาจารย์มั่นสั่งผ่านพ่อลีว่า ให้ช่วยท่านในเรื่องสืบทอดข้อวัตรปฏิบัติ เพราะท่านมองไม่ใคร่เห็นใครที่จะช่วยได้และสั่งกำชับเป็นพิเศษว่า “จังหวัดเชียงใหม่นี้เป็นสถานที่อาศัยวิเวกของบรรดานักปราชญ์ในกาลก่อน ฉะนั้น ก่อนที่ท่านพ่อลีจะออกจากจังหวัดนี้ให้ปฏิบัติตาม ๓ ข้อ
๑) ให้ไปพักวิเวกอยู่บนยอดดอยขะม้อ จังหวัดลำพูน
๒) ให้ไปพักวิเวกในถ้ำบวบทอง จังหวัดเชียงใหม่
๓) ให้ไปพักวิเวกอยู่ในถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
พ่อลีท่านกล่าวว่า “...ผู้ปฏิบัติธรรม จะต้องมีการเสียสละไม่เห็นแก่ตัว บุคคลใดมีธรรมอันพอจะช่วยให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นได้ แต่ไม่ช่วย พระพุทธเจ้าย่อมไม่สรรเสริญบุคคลชนิดนั้นและตัวเราเองก็ติเตียนตัวเราเอง ถ้าหากเราจะทำอย่างนั้นบ้าง เราก็สบายไปนานแล้วไม่ต้องมาลำบากอย่างนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำไปนี่ก็เพราะเห็นแก่ศาสนาเป็นส่วนใหญ่”
หลวงตามหาบัว ได้กล่าวถึงหลวงปู่มั่นกล่าวชมและต้อนรับท่านพ่อลี ในคราวท่านพ่อลีไปพักที่วัดบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนครว่า..”หลวงปู่มั่นชมตลอดว่า “ท่านลี..นี่..เด็ดเดี่ยวมาก” เพราะท่านพ่อลีเคยอยู่กับท่านมานาน
หลวงตาเล่าต่อไปอีกตอนหนึ่งว่า “....พอท่านพ่อลีไปนมัสการหลวงปู่มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ หลวงปู่มั่นก็สั่งเรา (หลวงตา) ว่า “ไปจัดที่พักในป่าให้ท่านลีนะท่านลีไม่ได้อยู่ในป่ามานานแล้วกระดูกหมูกระดูกวัวเต็มคออยู่นี่เห็นมั๊ย?”
ท่านพูดอย่างนี้แสดงว่าท่านเมตตากันนะ ภายนอกฟังไม่ได้ภายในลึกลับอยู่ด้วยกัน เราอยู่กับท่านมาแสนนาน ท่านก็ไม่เคยบอกให้เราไปจัดเสนาสนะให้องค์อื่นเลย
พอตอนเช้าฉันเสร็จ เราเข้าไปจัดที่พักในป่าก่อนแล้วหลวงปู่มั่นท่านเดินด้อมๆ ตามไปดู กิริยาแบบนี้ๆ ท่านไม่เคยทำกับองค์ไหนเลย ท่านเข้าไปดูเอง แล้วถามเราว่า “ไหน...ไหน..จัดตรงไหนให้ท่านลีล่ะ”
แล้วท่านก็มองโน่นมองนี่ แล้วพูดแบบสบายว่า “เออ! เข้าท่าดีนะ” คือ เราเอาเตียงไปวางให้เรียบร้อยให้ท่านพักสบายๆหน่อย นี่คือท่านพ่อลี ท่านได้รับการต้อนรับพิเศษจากหลวงปู่มั่นเสมอมา”
เรื่องราวที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนคิดว่า เป็นตอนที่สำคัญมาก เราได้เห็นธรรมกิริยา และธัมโมชปัญญา ที่อาจารย์กับศิษย์ปฏิบัติต่อกันดุจดังพ่อกับลูกน้อย เห็นความเป็นมาตั้งแต่เบื้องต้น ! ท่ามกลาง ! และที่สุด !
..กว่าท่านจะได้มาเป็นครูบาอาจารย์ของพวกเรา ช่างลำบากยากเย็นเหลือเกิน ท่านฆ่าฟันอะไรมาบ้าง แทบเป็นแทบตายและไม่ง่ายเลยที่ใครจะทำอย่างท่านได้ เพราะนี่คือสุดยอดแห่งพระอริยสงฆ์รูปหนึ่งในยุคปัจจุบัน “
ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
หนังสือ ท่านพ่อลี ธมฺมธโร พระอริยเจ้าที่มีพลังจิตแก่กล้า
ธ.ภูผาสูง
โฆษณา