20 พ.ค. 2020 เวลา 09:45 • ประวัติศาสตร์
ตำนานการสร้าง"อุโมงค์ขุนตาน" อุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดและสูงที่สุดในประเทศไทย....เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
(Cr:www.lamphun.go.th/www.chiangmainews)
หากใครเคยนั่งรถไฟไปเที่ยวภาคเหนือ สุดทางที่เมืองเชียงใหม่ ย่อมเคยได้ลอดอุโมค์แห่งประวัติศาสตร์ นามว่า "อุโมค์ขุนตาน" แห่งนี้ซึ่งมีประวัติการสร้างที่น่าสนใจ...จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังคะ
ด้วยเป็นอุโมงค์รถไฟ ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ในปลายรัชกาลที่ 5 การสร้างสุดแสนลำบากยากเข็ญ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและในยุคนั้น ปราศจากดาวเทียม คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ไฮเทคหรือเทคโนโลยีใดๆที่ทันสมัยมาช่วย กว่าจะสร้างเสร็จ....เวลาก็ล่วงเลยมาถึงรัชกาลที่ 7
จุดเริ่มต้น...
ขอย้อนวันเวลากลับไปยัง เมื่อราวร้อยกว่าปีที่แล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ได้มีโอกาสเดินทางเสด็จประพาสยังนานาอารยประเทศ ได้ทอดพระเนตรเห็นความเจริญรุ่งเรืองของประเทศต่างๆมากมาย
ด้วยเหตุหนึ่งมาจากการที่ประเทศในยุโรปเหล่านั้น ต่างก็การคมนาคม มีทางรถไฟที่เจริญพัฒนาไปอย่างมาก ด้วยว่ามีการสร้างหัวรถจักรไอน้ำขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงมีพระประสงค์ที่จะสร้างทางรถไฟ เพื่อให้สยามประเทศในขณะนั้น ได้มีเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างทั่วถึงภายในประเทศ
เมื่อปีพ.ศ.2428 ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงให้ก่อตั้ง " กรมแผนที่ทหาร " ขึ้นเพื่อริเริ่มให้ออกสำรวจดินแดนสยามทั้งหมด และตามมาด้วยแนวคิดที่จะสร้างทางรถไฟ...
ทางรถไฟเริ่มแรกที่เกิดขึ้นคือช่วง กรุงเทพฯไปปากน้ำ ซึ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน สำหรับรัฐบาลก็ได้ก่อตั้ง กรมรถไฟทางหลวงขึ้นตามมา
กอปรกับในห้วงเวลานั้น รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นว่าอังกฤษและฝรั่งเศส พยายามแผ่อิทธิพลครอบคลุมประเทศต่างๆที่อยู่รายรอบสยาม
การสร้างทางรถไฟ จะเป็นหนทางหนึ่ง ในการป้องกันการคุกคามของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น
ด้วยเหตุที่เมื่ออังกฤษได้ยึดครองพม่าได้แล้ว มีความต้องการที่จะสร้างเส้นทางขนส่ง จากพม่าไปถึงจีน จึงเสนอขอเช่าพื้นที่จากประเทศไทย เพื่อสร้างทางรถไฟ จากเมืองมะละแหม่ง เข้ามาจังหวัดตากและพาดผ่านภาคเหนือตอนบนไปยังเมืองสิบสองปันนา หากรัฐบาลอนุมัติ ประเทศไทยก็จะสุ่มเสี่ยงที่อาจจะเสียงดินแดนภาคเหนือของประเทศไทยไป
ด้วยเหตุนี้ รัชกาลที่ 5 จึงได้รับสั่งให้สร้างทางรถไฟสายเหนือขึ้น จากกรุงเทพฯ ไปสิ้นสุดที่เมืองเชียงใหม่ให้สำเร็จให้ได้
การสร้างทางรถไฟสายเหนือได้ว่าจ้างให้บริษัทเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีหัวหน้าวิศวกรชาวเยอรมันชื่อ มิสเตอร์เอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ เป็นผู้ควบคุมดูแล
1
เส้นทางรถไฟสายเหนือ(cr:www.railway.coth)
ในช่วงสมัยของรัชกาลที่ 5 นั้น ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีความเชื่อมั่นในบริษัทวิศวกรรมจากเยอรมันมาก และประเทศเยอรมันไม่มีนโยบายแสวงหาดินแดนอาณานิคมในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เฉกเช่นอังกฤษและฝรั่งเศส
รัฐบาลไทยจึงได้จ้างชาวเยอรมันทั้งวิศวกรและช่างเทคนิคต่างๆราว 250 คนส่วนมิสเตอร์โฮเฟอร์นั้น ได้เริ่มเข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
การสร้างทางรถไฟสายเหนือได้ดำเนินมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาหยุดชงักลงที่ดอยขุนตาน(อยู่ระหว่างลำปางและลำพูน) ซึ่งตั้งตระหง่านขวางอยู่เบื้องหน้า กอปรกับรายรอบไปด้วยหุบเหวลึกและเป็นป่าทึบปกคลุมไปหมด ถือเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวงสำหรับวิศวกรและทีมงานในยุคนั้น
ภาพเมื่อพ.ศ.2456 มิสเตอร์เอมิล ไอเซน โฮเฟอร์ ยืนอยู่ซ้ายสุด กำลังควบคุมการสร้างอุโมงค์ขุนตาน(cr:www.wordPress.com)
มิสเตอร์โฮเฟอร์ หัวหน้าทีมวิศวกร คิดพิจารณาอย่างถ้วนถี่หลังจากสำรวจที่ทางแล้ว เห็นว่าไม่มี่ทางเลือกใด จึงวางแผนที่จะเจาะทะลุทะลวงผ่านขุนเขาที่อยู่เบื้องหน้า แม้จะเป็นระยะทางถึง 1,300 เมตร(กิโลเมตรกว่าๆ)
งานโหดหินที่สุด..ในประวัติศาสตร์ของการสร้างอุโมงค์จึงเริ่มขึ้น...ในปีพ.ศ.2450 โดยวางแผนจะทำการเจาะภูเขาจากปากทางทั้งสองฝั่งให้ทะลุมาบรรจบกันตรงกลาง ซึ่งต้องใช้การคำนวณที่แม่นยำมากและเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากสำหรับทีมวิศวกรและสยามประเทศในขณะนั้น
(Cr:www.chiangmainews)
ในยุคสมัยนั้น แถบบริเวณดอยขุนตานถือเป็นถิ่นทุรกันดาร ภูมิประเทศเป็นป่าทึบและโขดเขาสูง การก่อสร้างจึงต้องใช้ความพากเพียรอุตสาหะและต้องต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บและสิงสาราสัตว์ที่ดุร้าย
การขนเครื่องมือและสัมภาระจะต้องใช้ช้าง ม้าและเกวียนบรรทุกไป เมื่อถึงจุดที่เป็นเขาชัน ก็ต้องให้วิธีชักรอกขึ้นลงอย่างทุลักทะเล
แม้จะยากลำบากเพียงใดก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะหากไม่มีเส้นทางรถไฟแล้ว การเดินทางจากเชียงใหม่-กรุงเทพต้องล่องเรือตามลำน้ำปิงเท่านั้น กินเวลายาวนานเป็นเดือนๆ
ในการทำงาน แรงงานที่ใช้ในการขุดอุโมงค์นั้นประกอบด้วยชาวจีน ชาวอีสานและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ ในระหว่างการทำงานนั้น ด้วยความที่เป็นป่าทึบจึงมีแรงงานเสียชีวิตนับพัน ที่ต้องป่วยด้วยไข้มาลาเรีย อหิวาต์ (แม้แต่มิสเตอร์โฮเฟอร์ หัวหน้าวิศวกรก็ป่วยด้วยไข้มาลาเรียด้วยเช่นกัน )และโรคปอดจากการสูดเอาเศษฝุ่นละออง
1
นอกจากนั้นยังมีเสือมาคาบเอาคนงานไปกินเป็นประจำ แม้แต่ม้าและล่อที่อยู่ในคอกก็โดนเสือลากไปกิน คนงานจึงต้องทำห้างไว้บนต้นไม้ คอยดักยิงเสือในเวลากลางคืน
แรงงานที่ขุดอุโมงค์ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเป็นพวกคนเร่ร่อนรับจ้างทั่วไป ขี้เหล้า ขี้ยา พวกที่เรียกว่าขี้ยาในสมัยก่อน ก็คือพวกที่สูบฝิ่น ปรากฎว่าพวกสูบฝิ่น ที่ดูผอมแห้งแรงน้อยเหล่านั้นกลับทำงานได้ดีกว่าใคร เป็นแรงงานสำคัญไม่รู้จักเหน็ด ไม่รู้จักเหนื่อย ไม่กลัวตาย ขอให้ได้สูบฝิ่นแลกกับการทำงาน
(Cr:www.chiangmainews/www.nonsomuch.blogspot)
พวกขี้ยาสูบฝิ่น จึงเป็นกลุ่มที่อึดทนกว่าใคร เข้าไปขนเศษดินและหินในอุโมงค์ลึก ต้องสูดดมเอาเขม่าฝุ่นควัน จากการขุดเจาะและบางช่วงก็ต้องใช้ระเบิดไดนาไมด์ นึกแล้วพวกคนขี้ยาเหล่านี้ก็น่าสงสาร จินตนาการแล้วคงไม่ต่างจากซอมบี้ในหนัง
การขุดเจาะจากปากทางทั้งสองให้ทะลุมาเจอกันตรงกลาง เป็นงานที่โหดหินมากๆ (หินที่ขุดเจาะออกมาจากอุโมค์ขุนตานนั้นมีมากถึง 60,000 ลูกบาศก์เมตร) เพราะใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ขั้นตอนนี้จึงกินเวลายาวนานถึง 8 ปีกว่าจะเสร็จ
เมื่อเจาะทะลุถึงกันแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือผูกเหล็กและเทคอนกรีตเสริมเพดานถ้ำ แรงงานส่วนนี้คือกลุ่มคนไทยใหญ่(คนเงี้ยว) และคนอีสาน ขั้นตอนนี้มีการเจาะผนังถ้ำให้กว้างขึ้น ให้เป็นรูปโค้ง และเสริมคอนกรีตคควบคู่กันไปจนกลายเป็นรูปร่างอุโมงค์เกือกม้า จนกระทั่งแล้วเสร็จซึ่งใช้เวลารวมแล้วอีก 3 ปี
2
สำหรับการวางรางนั้น เมื่องานในส่วนของอุโมงค์เสร็จ การวางรางจากลำปางไปยังปากอุโมงค์นั้นก็เป็นงานที่ไม่ง่ายเลย เพราะระหว่างทางจะต้องผ่านหุบเหวลึกอีก 3 แห่ง ไม่มีทางเลี่ยงได้เลยจึงต้องทำสะพานสูงมาก เทียบเท่าตึก 8 ชั้นเป็นระยะทางยาวถึง 8 โลเมตร
สรุปแล้วในการสร้างอุโมงค์ขุนตานรวมแล้วใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 11 ปี (พ.ศ.2450-2461) ใช้งบประมาณทั้งสิ้นในขณะนั้น 1,362,050 บาท ระยะทาง 1,352.10 เมตร ด้านบนของอุโมงค์แห่งนี้มีรูปครุฑประดิษฐานอยู่เพียงอุโมงค์แห่งเดียวในประเทศไทย
มีเกร็ดประวัติศาสตร์ที่อยากเล่าเสริมอีกสักเล็กน้อยว่า...
1
หลังจากที่มีการขุดเจาะถ้ำขุนตานได้ประมาณ 4 ปี ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้น ชาติฝรั่งแถบยุโรปมีการแบ่งกันเป็นปักเป็นฝ่าย เยอรมันเป็นชาติที่มีบทบาทสำคัญในสงครามครั้งนี้ ช่วงแรกสยามประกาศวางตัวเป็นกลางและรอดูท่าทีอยู่ราว 3 ปี จึงตัดสินใจประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน
ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ชาวเยอรมันที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยจะต้องถูกควบคุมตัวเป็นเชลยศึกทันทีเพราะถือเป็นชาติคู่สงคราม
จริงๆแล้ววิศวกรชาวเยอรมัน เป็นผู้มีความสามารถ มาทำงานให้กับสยาม ต่างก็มีความดีความชอบ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์กันหลายคน
ดังนั้นก่อนที่สยามจะประกาศสงครามได้ 25 วัน ในหลวงรัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการรถไฟ ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟทั้งหมด
ส่วนวิศวกรและทีมงานชาวเยอรมัน ที่กำลังควบคุมการสร้างอุโมงค์ขุนตานถูกจับและถอดบรรดาศักดิ์ ถูกควบคุมตัวส่งมาที่กรุงเทพฯ ตามกติกา แต่ทุกอย่างทำพอเป็นพิธี
ชาวเยอรมันได้รับดูแลเป็นพิเศษ ทางการได้จัดหาที่พักดูแลเป็นอย่างดี
ส่วนทีมวิศวกร รวมทั้งมิสเตอร์โฮเฟอร์ ถูกควบคุมตัวอยู่นาน 6 เดือน จึงถูกส่งตัวไปอยู่อินเดียอีก 2 ปี และได้กับถึงเยอรมัน พ.ศ.2463
พ.ศ.2472 มิสเตอร์โฮเฟอร์ เดินทางกลับมาเมืองไทยอีกครั้งเพื่อขอทำงาน ด้วยความรู้สึกรักและผูกพันอย่างสุดซึ้งกับอดีตที่ได้เป็นผู้มีส่วนร่วมสร้างอุโมงค์ขุนตานแห่งนี้ ท่านไม่เคยเดินทางกลับเยอรมันอีกเลย จนกระทั่งถึงแก่กรรมที่ประเทศไทยเมื่อปีพ.ศ.2505
2
ต่อมาทางการรถไฟไทย จึงได้บรรจุอัฐิของมิเตอร์โฮเฟอร์ ไว้ที่หน้าผาถ้ำขุนตานเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ผู้เดินทางผ่านอุโมงค์รถไฟแห่งนี้ได้ระลึกนึกถึงเกียรติคุณของท่านไปตราบนาน..เท่านาน
1
อุโมงค์ขุนตานได้สร้างเสร็จสมบูรณ์ เปิดให้บริการแก่ลูกหลานชาวไทย เป็นครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2468 ในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 7
ทุกวันนี้หากใครได้มีโอกาสนั่งรถไฟสายเหนือไปเชียงใหม่ ย่อมได้ลอดผ่าอุโมงค์ขุนตานแห่งนี้ ซึ่งมีธรรมชาติสวยงาม วิวทิวทัศน์ที่น่าชมมิใช่น้อย
(Cr:www.chiangmainews)
อนุสรณ์ฝากให้ระลึกนึกถึง มิสเตอร์เอมิล ไอเซน โฮเฟอร์ วิศวกรผู้ควบคุมการสร้างอุโมงค์ขุนตาน(cr:www.matichon.co.th)
ขอโปรดจงระลึกนึกถึงความเสียสละ ความเหนื่อยยากของทั้งวิศวะกร ทีมงานก่อสร้างทุกชีวิต...ที่ได้สร้างอุโมงค์ประวัติศาสตร์ทิ้งไว้ให้ชนรุ่นหลังได้เดินทางสะดวกสบาย...จวบจนทุกวันนี้
😊😊 ขอบคุณที่ติดตามอ่านคะ🙏🏼🙏🏼
😊😊ฝากกด like & share และกดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจด้วยนะคะ🌸🌸
Dent-jasmine เรียบเรียงคะ
🙏🏼🙏🏼ขอบคุณข้อมูลจาก(Reference)
-รายการพินิจนคร ตอนประวัติอุโมงค์ขุนตาน
โฆษณา