26 พ.ค. 2020 เวลา 03:21 • ข่าว
ENOCOMY : ชะตากรรมของเศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับวัคซีนและยารักษาโรค ขณะที่สหรัฐฯ อาจยังมีอัตราว่างงานสูงกว่า 10% ในช่วงเลือกตั้งสมัยที่ 2 ของทรัมป์
เนื่องจากหลายภาคส่วนของเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่การเปิดใหม่อีกครั้ง และสิ่งต่าง ๆ กำลังชัดเจนมากขึ้นว่าการฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากวิกฤตที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 1930 นั้นจะ "เป็นไปไม่ได้" จนกว่าโลกเราจะค้นพบวัคซีนหรือยารักษาสำหรับ Coronavirus
ตราบใดยังมีโรคระบาด ผู้บริโภคจะยังคงยืนอยู่ตรงขอบสนาม และบริษัทหลายแห่งยังต้องตรวจอุณหภูมิของทุกคนภายในบริเวณ รวมถึงมาตรการ Social Distancing ก็ยังต้องปรับใช้ต่อไปในสถานที่ทำงาน ร้านอาหาร โรงเรียน สนามบิน สนามกีฬา และสถานที่อื่น ๆ อีกหลายแห่ง
ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศแรกที่ถูกคุกคามโดยไวรัส และเป็นประเทศแรกที่สามารถกลับมาฟื้นฟูในภาคการผลิตได้ แต่ไม่ใช่สำหรับภาค Demand ที่ยังคงอ่อนแอ
นอกจากนี้ แม้แต่จีนเองก็ยังมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะเกิดการระบาดรอบที่ 2 ขึ้น โดยประชากรกว่า 108 ล้านคนในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ถูกเข้ารับการทดสอบไวรัสใหม่ รวมถึงกักตัวในระดับที่ต่างกัน
ส่วนทางฝั่งของเกาหลีใต้ ประเทศซึ่งสามารถควบคุมไวรัสได้โดยไม่มีการ Lockdown ที่เข้มงวดมากนัก ก็ยังพบว่าผู้บริโภคนั้นใช้จ่ายเงินอย่างน้อยนิด ขณะที่การระบาดของ Coronavirus ยังคงเป็นประเด็นหลักที่สร้างความกังวลให้แก่พวกเขา
ประเทศสวีเดน ซึ่งมีการบริหารโดยเปิดให้ธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงดำเนินการตามปกติ แต่ปัจจุบันก็พบว่าเศรษฐกิจกำลังทรุดตัวอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
แน่นอนว่าสถานการณ์ทั้งหมดนี้บีบบังคับให้ผู้ออกกฎหมายทางการเงินทั่วโลก (ซึ่งก่อนหน้านี้ได้อนุมัติงบประมาณไปหลายล้านล้านดอลลาร์) จำเป็นต้องคงนโยบายดังกล่าวเอาไว้ในระยะสั้นไปจนถึงกลาง เพื่อหลีกเลี่ยงการล้มละลายของบริษัทอีกหลายแห่งภายในประเทศ รวมถึงหลีกเลี่ยงอัตราว่างงานที่จะพุ่งสูงขึ้นไปมากกว่าเดิม
ศาตราจารย์ Carmen Reinhart แห่งมหาวิทยาลัย Harvard ผู้ซึ่งกำลังจะเข้ารับตำแหน่งเป็นหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ World Bank มีความเห็นที่คล้ายคลึงกัน โดยเขากล่าวว่า
"เรายังไม่มีแม้แต่บางสิ่งบางอย่างที่บ่งบอกได้ว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่สภาวะปกติเลย จนกว่าเราจะมีวัคซีน และมันเป็นเรื่องใหญ่ที่เราจะต้องทำให้วัคซีนสามารถเข้าถึงได้ทั่วโลก"
ขณะเดียวกัน IMF ได้มองเศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว 3% ในปี 2020 ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากประเมินจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ และความขัดแย้งทางการเมืองของหลายประเทศมหาอำนาจทั่วโลกในตอนนี้
ผลสำรวจผู้จัดการทางการเงินของ Bank of America ได้ค้นพบว่าความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่สุดของเศรษฐกิจโลกก็คือ "การระบาดรอบที่ 2" เพราะทุกอย่างจพังทลายลงอย่างรุนแรงขึ้นกว่าเดิม
"จะมีเศรษฐกิจเพียง 10% ที่มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และทั้งหมดของ 10% นั้นก็คือบริษัทที่ผลิตวัคซีน" รายงานกล่าว
ส่วนทางด้าน Stephen Jen ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง Eurizon SLJ Capital บริษัททางด้านการลงทุนและให้คำแนะนำทางการเงินยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ กล่าวว่า
"ตอนนี้มีไวรัสกระจายอยู่ทั่วโลก และผมไม่เห็นว่าจะมีทางใดที่ฉลาดไปกว่าการเดิมพันในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยับยั้งและกำจัดไวรัส"
Comment : ข้อความตรงนี้ กล่าวให้เข้าใจง่ายก็คือ หากบริษัทใดผลิตวัคซีนที่สามารถกำจัด Coronavirus ได้เป็นบริษัทแรก ก็จะขายดีถล่มทลาย และทำกำไรได้อย่างมหาศาล จึงเหมาะแก่การที่จะลงทุนนั่นเอง
แล้ววัคซีนจะสำเร็จเมื่อไหร่ ?
สำหรับเรื่องนี้มีหลายมุมมองซึ่ง World Maker จะขอนำเสนอเป็นข้อ ๆ ดังนี้
(1.) ทางฝั่งผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวเตือนว่าขั้นตอนในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพอาจใช้เวลานานหลายปี และจากนั้นก็จะต้องมีการแจกจ่ายในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
(2.) ทางฝั่งทรัมป์และนักวิเคราะห์อีกหลาย ๆ คนกล่าวว่าวัคซีนจะพร้อมใช้งานและแจกจ่ายไปทั่วโลกในสิ้นปีนี้
(3.) ทางฝั่งจีน ตอนนี้อัพเดทล่าสุดออกมาว่าผ่านขั้นตอนการทดลองวัคซีนในหนูแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองในลิง
(4.) ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกก็กำลังเร่งพัฒนาวัคซีนหรือยาสำหรับใช้รักษา Coronavirus
ดังนั้นจากมุมมองข้างบน 4 ข้อนี้ World Maker จึงสรุปเป็นมุมมองส่วนตัวได้ว่า "มีความเป็นไปได้ทั้งหมดที่วัคซีนจะพร้อมใช้งานตั้งแต่ช่วงสิ้นปีนี้ ไปจนถึงอีกไม่เกิน 2 ปีข้างหน้า"
โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าโลกเราจะมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิดอะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง หากไม่มีสถานการณ์ใดที่โลกต้องมาหยุดชะงักในการผลิตวัคซีน World Maker คิดว่าวัคซีนอาจพร้อมใช้งานในช่วงปลายปีนี้ ไปจนถึงครึ่งแรกของปี 2021
กลับมาที่เรื่องของเศรษฐกิจ จากภาพด้านล่างนี้ซึ่งเป็นข้อมูลจากองค์กรการค้าโลก (WTO) ได้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของกลไกการค้าทั่วโลกที่มีแนวโน้มจะหดตัวอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ธนาคารกลางทั่วโลกก็ได้อัดฉีดเงินจำนวนมหาศาล เพื่อนำไปช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้พังทลายลง ในช่วงที่ทุกอย่างหยุดชะงักจากการระบาดของ Coronavirus
โดยในเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว กลุ่มธนาคารกลางในประเทศ G7 ได้อัดฉีดเงินรวมกันเป็นมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่ามูลค่าของเงินที่อัดฉีดตั้งแต่มีเกิดการระบาดขึ้นมา เมื่อรวมกันทั่วโลกแล้วคิดเป็นกว่า 8 ล้านล้านดอลลาร์
(แต่นั่นก็ยังไม่พอที่จะช่วยอีกหลายบริษัทไม่ให้ล้มละลาย)
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะล่าสุด Kevin Hassett ที่ปรึกษาของทำเนียบขาวออกมาประกาศว่า "อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ อาจจะยังอยู่ที่ตัวเลข 2 หลักไปจนถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน"
นอกจากนี้เขายังได้กล่าวว่าอัตราการว่างงานสูงสุดของสหรัฐฯ ในวิกฤตครั้งนี้ "จะอยู่เหนือระดับ 20%"
ทางฝั่ง Eric Rosengren ธนาคารกลางแห่งบอสตัน กล่าวว่า "อัตราการว่างงานจะยังคงอยู่ที่ระดับ 10% ไปจนถึงปี 2021 ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแรงงาน เมื่อเวลาผ่านไป"
Unemployment Rate อย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 17.2% เมื่อสิ้นสุดสัปดาห์ในวันที่ 9 พฤษภาคม โดยอ้างอิงจากรายงานล่าสุดของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า Initial Jobless Claims ในปัจจุบันยังอยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านคน
"เรากำลังจะเห็นข้อมูลที่แย่ลงกว่าเดิม เพราะเมื่อเราแก้ไขข้อมูลที่บกพร่องให้เป็นปัจจุบันแล้ว ก็จะพบว่าสหรัฐฯ นั้นมีอัตราการว่างงานอย่างเป็นทางการสูงกว่า 20% เสียอีก" Kevin Hassett กล่าว
ส่วนอีก 1 การคาดการณ์ที่น่าสนใจจาก Goldman Sachs ระบุเอาไว้ว่า "สหรัฐฯ จะมีอัตราการว่างงานสำหรับวิกฤตในครั้งนี้สูงสุดที่ 25% ไม่ใช่ 15% อย่างที่หลายคนคาดการณ์เอาไว้"
ในปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ Coronavirus ทั่วโลกเกินกว่า 5.5 ล้านคนแล้ว โดยยังไม่มีแนวโน้มใด ๆ ที่แสดงให้เห็นเลยว่าการระบาดได้ชะลอตัวลง โดยสหรัฐฯ นั้นมีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 1.7 ล้านคน และเสียชีวิตแล้วเกือบ 1 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ชาวอเมริกันหลายคนไม่ได้ส่งใจในเรื่องนี้ และพวกเขาก็กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติทันที ภายหลังจากทั้ง 50 รัฐในประเทศผ่อนคลายมาตรการ Lockdown โดยไม่สนใจคำว่า "Social Distancing"
ดังนั้นแล้วนี่คือสิ่งที่ World Maker พยายามย้ำอยู่เสมอว่าเศรษฐกิจโลกนั้นยังไม่พ้นความเสี่ยงไปอย่างแท้จริงครับ
Comment : โดยสรุปแล้วก็คือทั่วโลกตอนนี้ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับการระบาดของไวรัสในรอบที่ 2 ซึ่งแน่นอนว่ามันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรงขึ้นกว่าเดิมแน่ ๆ และที่สำคัญอีกอย่างก็คือเรายังไม่รู้ว่าจะมีวัควีนหรือยารักษาโรคนี้ใช้ตอนไหนกันแน่
เพราะฉะนั้นแล้ว World Maker จึงอยากย้ำอีกครั้ง ให้ผู้อ่านตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิต และความเสี่ยงของเศรษฐกิจในช่วงขาลงที่ยังไม่หมดไป ดังนั้นการจะเลือกตัดสินใจใช้ชีวิต ใช้จ่าย หรือลงทุนใด ๆ ก็ควรทำอยู่ในกรอบการบริหารความเสี่ยงที่สูงขึ้นกว่าเดิมครับ
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
โฆษณา