26 พ.ค. 2020 เวลา 13:08 • ธุรกิจ
Pre-Booking เทรนด์ใหม่ เมื่อการท่องเที่ยวถูกจำกัด : การปรับตัวของธุรกิจท่องเที่ยวจีนในยุค COVID-19
ตั้งแต่มีการแพร่ระบาด COVID-19 ในจีนและกระจายไปยังทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
โดยตัวเลขคร่าว ๆ ของการยกเลิกการจองที่พัก และตั๋วเครื่องบินของนักท่องเที่ยวจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีมูลค่ามากถึง 150 ล้านบาท ทำให้ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงไทยที่เป็นปลายทางหลักของนักท่องเที่ยวจีน แต่ผู้ประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยว และโรงแรมในประเทศจีนเองก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน
.
คำถามก็คือว่า ในจีนแก้ปัญหาผลกระทบที่มีต่อการท่องเที่ยวอย่างไร?
จีนถือเป็นประเทศผู้นำในการนำ Digital เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน ดูได้จาก 45% ของการซื้อสินค้าบนโลกออนไลน์ทั่วทั้งโลก เกิดขึ้นที่จีน
ดังนั้น ผู้ประกอบการสายท่องเที่ยว และโรงแรมตลอดจน ตัวแทนจำหน่ายตั๋วและที่พักออนไลน์ (OTA) จึงมีการปรับตัวและใช้ช่องทางดิจิตัลในการเข้าหานักท่องเที่ยวมากขึ้น
.
จากที่กล่าวมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “คนจีนวางแผนเที่ยวมากขึ้น” โดยวิธีการวางแผนเที่ยวที่นิยมมากที่สุด คือดูจากโลกออนไลน์ ดูรีวิว และคลิปท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งจากสถานที่ท่องเที่ยว และจาก KOLs (เพจ หรือ Blogger/Vlogger ที่มีคนติดตามเยอะ )
อย่างบนแพลทฟอร์ม 马蜂窝 (Mafengwo) สังคมออนไลน์ของคนจีนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแบบ FIT (เที่ยวด้วยตนเอง) ทั้งในจีนและต่างประเทศ ก็เต็มไปด้วยรีวิวท่องเที่ยวที่หลายคนต่างแสดงความคิดเห็นว่า เตรียมตัวไปเที่ยวอีกครั้ง โดยเฉพาะ เที่ยวต่างประเทศ ที่แน่นอนว่าตอนนี้คนจีนยังเดินทางออกนอกจีนไม่ได้ แต่อย่างประเทศไทย และมาเลเซีย ก็ต่างติด TOP30 คำค้นหาฮิตบน Mafengwo แสดงให้เห็นว่า คนจีนมีความต้องการที่จะท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้ พร้อมทั้งวางแผนล่วงหน้า แม้จะยังไม่รู้ว่าจะได้ออกนอกจีนเมื่อไหร่ก็ตาม
.
ด้าน Digilink Thailand ตัวแทนอย่างเป็นทางการของ Mafengwo และ DigiLink Asia ผู้ให้บริการและให้คำปรึกษาด้านการโฆษณาจากประเทศจีน วิเคราะห์ว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสัญญาณที่ดีในการเริ่มต้นทำโฆษณา และโปรโมชันโดยการทำโฆษณาสามารถทำได้ 2 ระยะ 1) ทำให้โหยหา 2) กระตุ้นความอยาก
.
# เมื่อนักท่องเที่ยว “ห่างหาย” ต้องทำให้ “โหยหา” #
ในช่วงที่คนจีนยังโดนกักตัวอยู่ในบ้าน ออกไปไหนไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความ “อยาก” ท่องเที่ยวหายไปด้วย เราจึงเห็นเทรนด์ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้น คือ “การท่องเที่ยวแบบเสมือนจริง” หรือ Virtual Travel
โดยแอพลิเคชันสำหรับนักท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง Mafengwo ก็ได้ออกแคมเปญในช่วง COVID-19 ที่พาคนจีนไปท่องเที่ยวแบบออนไลน์ แถมยังเปิดห้องให้คนจีนมาแชร์กันว่า “ทริปไหนที่คนจีนอยากไปมากที่สุดหลัง COVID-19”
.
อีกตัวอย่างที่ดีของ Virtual Travel คือ แคมเปญ “Museums In The Cloud” เป็นการร่วมมือกันระหว่าง WeChat และพิพิธภัณฑ์กว่า 11 แห่งในสหรัฐอเมริกา พัฒนาประสบการณ์แบบ virtual บน Mini Program แอพพลิเคชันที่ฝังภายในแอพ WeChat ที่ทำให้คนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้จากที่บ้าน มีทั้งคำบรรยาย วิดีโอแบบ VR และเกมส์ที่ทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์จริง ๆ
# เมื่อนักท่องเที่ยว “กลับมา” ต้อง “กระตุ้น” #
หลังการเปิดเมือง และการประกาศให้คนจีนเริ่มเดินทางระหว่างเมืองในจีนได้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม และ ตัวแทนจำหน่ายตั๋วและที่พักออนไลน์ (OTA) ก็มีการทำแคมเปญเพื่อกระตุ้นการจองตั๋ว และที่พักล่วงหน้า เพื่อให้คนจีนที่โหยหาการท่องเที่ยว “ตัดสินใจ” ใช้เงินได้ง่ายขึ้น
.
โดย Ctrip หรือ ตัวแทนจำหน่ายตั๋วและที่พักออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน สามารถปิดยอดขายไปได้กว่า 10 ล้านแพ๊คเกจทัวร์ โดยอาศัยช่องทางดิจิตัล ในการกระตุ้น โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Ctrip และผู้ประกอบการในจีนสามารถปิดยอดขายได้สำเร็จ คือ
1. ใช้หลากหลายแพลตฟอร์ม กระตุ้นความอยาก
แม้จะขายทริปได้ยาก แต่ Ctrip ไม่หยุดกระตุ้นความอยากเที่ยวของคนจีน ด้วยการข้ามไปโพสต์วิดีโอท่องเที่ยวบน Douyin (TikTok) เพื่อเกาะกระแสการเที่ยวตาม Douyin นอกจากนี้ยังทำ Livestream ขายดีลโรงแรมและตั๋วเข้าสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ บนหลาย ๆ แพลตฟอร์มร่วมกัน สร้างรายได้ไปกว่า 26.9. ล้านหยวนในชม.เดียว และนี่ก็เป็นตัวอย่างของการทำตลาดออนไลน์ในจีนที่ใช้หลายแพลทฟอร์มร่วมกัน
.
2. สร้างระบบรองรับที่มีประสิทธิภาพ
เนื่องจากทางการจีนยังคงคุมเข้มในเรื่องของการเดินทาง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่ง เปิดรับนักท่องเที่ยวในจำนวนที่จำกัด ทำให้การจองตั๋วล่วงหน้ากลายเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องแย่งกันจอง เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้ไปท่องเที่ยวแน่นอน โดยแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือ
ยกตัวอย่างเช่น Ctrip ที่จะปิดระบบจองทันที เมื่อนักท่องเที่ยวถึงจำนวนที่กำหนด นอกจากนี้ยังต้องจองตั๋วล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งวันด้วยชื่อจริง และนามสกุลจริงเท่านั้น นอกจากนี้เมืองอู่ฮั่นยังปล่อยแอพพลิเคชัน “Wuhan War Epidemic” ที่คอยแจ้งจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่แบบ Real-time เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารเลี่ยงการเดินทางไปยังที่แออัดได้
.
3. เสริมสร้างความมั่นใจ
เมื่อความมั่นใจ กลายเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่งที่ชาวจีนให้ความสำคัญ การจองตั๋วล่วงหน้า จึงต้องมาพร้อมนโยบายในเรื่องของการคืนเงิน ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่าหากเกิดการแพร่ระบาดระลอกสอง พวกเขาจะยังสามารถคืนเงินได้ ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจได้ง่ายและเร็วขึ้น
นอกจากนี้ ความปลอดภัยของโรงแรมที่พัก และ สถานที่ท่องเที่ยวก็เป็นอีกเรื่องที่ชาวจีนเข้าไปหาข้อมูลล่วงหน้า ทำให้ เหม่ยต้วน เตี่ยนผิง ร่วมมือกับโรงแรม 20,000 แห่ง และแหล่งท่องเที่ยวกว่า 3,200 แห่ง เพื่อทำแคมเปญกรุ๊ปดีล จองตั๋วล่วงหน้า ชื่อว่า “No Worry Living Package” คัดเลือกโรงแรม และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการป้องกันโรคอย่างดีเยี่ยม ผ่านการแชร์ต่อ ๆ กัน
จะเห็นได้ว่า การโปรโมทก็ดี การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ “การสร้างความมั่นใจ" โดยการทำ Pre-booking ก็เป็นทางหนึ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวมั่นใจว่าเราได้เลือกและวางแผนมาแล้วเป็นอย่างดี และพร้อมให้ช่วงเวลาดี ๆ กับลูกค้าได้จริง
อ้ายจงจับมือกับ DigiLink Thailand (https://facebook.com/DigilinkThailand/)
ตัวแทนอย่างเป็นทางการของ Mafengwo และสื่อโซเชียลชั้นนำในจีน เพื่อจัดทำข้อมูลด้านธุรกิจและตลาดจีนแบบ Insight เพื่อพาแบรนด์ไทยเจาะตลาดจีน สนใจสอบถามข้อมูล หรือปรึกษาแนวทางในการทำการตลาดติดต่อเข้ามาได้เลยนะครับ
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #การตลาดจีน
โฆษณา