26 พ.ค. 2020 เวลา 22:00 • ปรัชญา
“ไตรลักษณ์มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง”
ธรรมะรุ่งอรุณ ☀️
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓
พระรัตนตรัยไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่อยู่ที่ใจของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่สามารถปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ จนมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ก็จะมีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะปรากฏขึ้นในจิตใจของตน เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจนมีดวงตาเห็นธรรม คือผู้เห็นเราตถาคต ถ้าปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระอริยสงฆ์ มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าในใจของตน จะรู้ว่าพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร จะรู้ว่าพระธรรมเป็นอย่างไร จะรู้ว่าพระสงฆ์เป็นอย่างไร เพราะเมื่อมีดวงตาเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นธรรมอันประเสริฐ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้เห็น และจะเห็นพระพุทธเจ้าด้วย เพราะพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเราตถาคต ผู้ใดเห็นตถาคตผู้นั้นเห็นธรรม ผู้ที่จะเห็นพระพุทธเจ้าเห็นธรรมได้ ก็คือพระอริยสงฆ์นั่นเอง ดังนั้นผู้น้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ จนมีดวงตาเห็นธรรม ก็จะมีพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะอยู่ภายในใจของตนมีที่พึ่งที่ทำให้ตนหลุดพ้นจากความทุกข์ ไม่ต้องทุกข์กับเรื่องต่างๆอีกต่อไป เหมือนกับปุถุชนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน ที่ยังทุกข์ ยังกังวล ยังวุ่นวาย ยังเศร้าโศกเสียใจกับเรื่องต่างๆที่สัมผัสพบเห็น เวลาสูญเสียสิ่งที่รัก ก็เศร้าโศกเสียใจ เวลาที่ยังไม่สูญเสีย ก็มีความกังวลห่วงใย เพราะไม่มีดวงตาเห็นธรรม ไม่มีปัญญา มีความมืดบอดครอบงำอยู่ จึงทำให้ไม่เห็นไตรลักษณ์ คือคุณลักษณะที่มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือเป็นวัตถุข้าวของต่างๆล้วนมีไตรลักษณ์ทั้งนั้นคือ
๑. ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่จีรังถาวร มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ๒. เป็นทุกข์ถ้าไปหลงยึดติดไปอยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะสิ่งต่างๆบุคคลต่างๆไม่เป็นไปตามความอยาก ตามความต้องการของใครทั้งสิ้น แต่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย มีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อเหตุให้อยู่ไม่มีก็ดับไป เหมือนกับไฟถ้าเอาฟืนใส่เข้าไปในกองไฟเรื่อยๆไฟก็จะติดอยู่เรื่อยๆถ้าไม่ใส่ฟืนเข้าไป เมื่อฟืนที่มีอยู่ในกองไฟถูกเผาไหม้หมดไป ไฟก็ต้องดับไป นี้คือเหตุและผล ฉันใดสิ่งต่างๆในโลกนี้ ที่มีปรากฏขึ้นมาให้เห็น ให้ได้สัมผัส ให้มีไว้ครอบครอง ก็เป็นเช่นนั้น เมื่อมีเหตุปัจจัยทำให้ปรากฏขึ้นมาให้อยู่ก็จะอยู่ เมื่อเหตุที่ทำให้อยู่หมดไปแล้วก็จะไม่อยู่ เช่นตายไปเป็นต้น คนเราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตายด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไปหลงไปยึดไปติด อยากจะให้อยู่ไปเรื่อยๆไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตายก็จะต้องทุกข์ จะต้องวุ่นวายใจ นี้คือลักษณะที่ ๒ คือความทุกข์ที่มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ประการที่ ๓ ก็คือไม่มีตัวตนในทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของวัตถุต่างๆหรือบุคคล เช่นสัตว์หรือมนุษย์ก็ไม่มีตัวตนเช่นเดียวกัน แต่ใจที่ไม่มีปัญญา ที่ยังมีความหลงครอบงำอยู่ จะเห็นว่าร่างกายเป็นตัวเป็นตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา แต่ผู้ที่มีดวงตาเห็นธรรม มีปัญญา เช่นพระพุทธเจ้า จะเห็นว่าไม่เป็นตัวเป็นตน เป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟเท่านั้นเอง ที่เกิดขึ้นจากอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารก็เป็นธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ เช่นข้าวก็ต้องมีดินมีน้ำมีลมมีไฟถึงจะเจริญเติบโตได้ ต้นไม้ผักผลไม้ต่างๆก็เช่นเดียวกัน ส่วนสัตว์ต่างๆ เช่นปูปลาหมูวัวควายก็ต้องกินผักกินข้าว ถึงจะเป็นรูปเป็นร่างได้ ก็มาจากดินน้ำลมไฟเช่นเดียวกัน เมื่อร่างกายรับประทานอาหารผักผลไม้เนื้อสัตว์ต่างๆเข้าไป ก็เปลี่ยนเป็นผมเป็นขนเป็นเล็บเป็นฟันเป็นหนังเป็นเนื้อเป็นเอ็นเป็นกระดูกฯลฯ แล้วก็อยู่ไประยะหนึ่ง เมื่อถึงเวลาที่ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ แตกสามัคคีกัน ธาตุทั้ง ๔ ไม่ยอมอยู่ร่วมกันแล้ว ก็จะแยกออกจากกัน
ร่างกายก็ไม่สามารถอยู่ต่อไปได้ ก็กลายเป็นร่างของคนตายไป ทิ้งเอาไว้น้ำก็จะไหลออกมา ลมก็จะไหลออกมา ไฟก็จะไหลออกมา จนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เหี่ยวแห้งกลายเป็นดินไปในที่สุด นี้คือความหมายของคำว่าอนัตตา ไม่มีตัวตนในสิ่งต่างๆ ในวัตถุต่างๆที่เราก็รู้เราก็เห็นว่าไม่มีตัวตน ฉันใดร่างกายเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่มีตัวตนเช่นเดียวกัน มีใจมาครอบครองเป็นเจ้าของเท่านั้น แล้วก็สั่งให้ร่างกายทำอะไรต่างๆ มีความหลงพาให้คิดว่าร่างกายเป็นตัวตน เป็นตัวเรา เป็นของเรา เมื่อมีความคิดอย่างนี้ก็มีความยึดติด มีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น แล้วก็มีความอยาก อยากให้ร่างกายอยู่ไปนานๆโดยไม่คำนึงถึงความจริง ว่าร่างกายเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง อยู่ไปตลอดไม่ได้ เมื่อเกิดความอยากก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะไม่สามารถทำให้ร่างกายอยู่ไปได้ตลอด นี้คือไตรลักษณ์ที่มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นอนิจจังไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน ถ้าน้อมเอาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ พิจารณาให้เห็นตลอดเวลา ว่าไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีอะไรให้ความสุขกับเราได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นของเรา ก็จะปล่อยวางได้ จิตก็จะมีแต่ความสุข หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เพราะเมื่อปล่อยวางแล้วไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็จะไม่เดือดร้อน ไม่เสียอกเสียใจ ไม่ทุกข์วุ่นวายใจกับสิ่งที่ได้ปล่อยวางแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่ได้ปล่อยวาง ที่ยังยึดยังติด ยังหลง ยังคิดว่าเป็นของเรา เป็นตัวเรา ให้ความสุขกับเรา ก็จะต้องทุกข์กับสิ่งนั้น เวลาเปลี่ยนแปลงไป เช่นเวลาร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมาหรือใกล้จะตาย ถ้ายังไม่ได้ปล่อยวาง ก็จะต้องทุกข์วุ่นวายใจเป็นอย่างมาก แต่ถ้าปล่อยวางได้แล้วจะรู้สึกเฉยๆเป็นเหมือนร่างกายของคนอื่น ที่เวลาเป็นอะไรเราจะไม่ทุกข์ไม่วุ่นวายใจด้วย เพราะไม่ได้ไปยึดไปติดนั่นเอง.
กำลังใจ ๓๑, กัณฑ์ที่ ๓๐๑
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๐
พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามฯ จังหวัดชลบุรี
ณ จุลศาลา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาชีโอน
โฆษณา