27 พ.ค. 2020 เวลา 12:43
ปัญหาสุดคลาสสิคของวัยเรียนคงหนีไม่พ้นเรื่อง “งานกลุ่ม”
ทำไมคุณทำงานอยู่คนเดียวอีกแล้วนะ? แต่บางทีคุณก็อู้งาน
คุณเริ่มสังเกตเห็นว่า ในกลุ่มมีตั้งหลายคน แต่ลงมือทำจริงไม่กี่คน
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ลองมาดูสถานการณ์ตัวอย่างนี้กันครับ
ภาพถ่ายโดย Andrea Piacquadio จาก Pexels
สถานกาณ์ : คุณครูมอบหมายงานให้นักเรียนทำ ซึ่งงานจะเสร็จได้ก็ต่อเมื่อมีคนทำงานอย่างน้อย 3 คน
คุณครูคิดว่า “ถ้าให้นักเรียนจับกลุ่มกันสัก 5 คน งานจะได้ไม่หนักมาก เพราะมีถึง 5 คนช่วยกันทำงาน”
คุณครูจึงตัดสินใจให้นักเรียนจับกลุ่ม 5 คน ทำงานชิ้นนี้
รายละเอียด :
ผลลัพธ์มีแค่ “งานเสร็จ” หรือ “งานไม่เสร็จ”
งานจะเสร็จได้ก็ต่อเมื่อมีคนทำงานอย่างน้อย 3 คน
แต่ละคนมีทางเลือกการกระทำเพียงแค่ “ทำงาน” หรือ “ไม่ทำงาน”
แต่ละคนจะได้รับ “ความพึงพอใจ” จากผลลัพธ์ของงานอย่างเท่าเทียมกัน
สมมติว่าคนที่ทำงานจะต้องเผชิญกับความเหนื่อย ความต้องนอนดึก ความหิว ความเบื่อ ฯลฯ ก็แล้วกันนะครับ
สิ่งเหล่านี้ที่คนทำงานต้องเจอ ขอเรียกว่า “ต้นทุนการทำงาน”
ขอแทน “ความพึงพอใจ” และ “ต้นทุนการทำงาน” ด้วย “หัวใจ”
จะได้ “ความพึงพอใจ” ดังนี้
10 หัวใจ ถ้างานเสร็จ
0 หัวใจ ถ้างานไม่เสร็จ
มี “ต้นทุนการทำงาน” ดังนี้
3 หัวใจ สำหรับคนทำงาน
0 หัวใจ สำหรับคนไม่ทำงาน
แต่ละคนจะได้ “ผลตอบแทน” ตามผลลัพธ์ของงาน และตามการกระทำของตัวเอง ดังนี้
ผลตอบแทน = ความพึงพอใจ - ต้นทุนการทำงาน
ซึ่งแต่ละคนอยากได้ “ผลตอบแทน” มากที่สุด หรืออยากได้หัวใจมากที่สุด
สรุปสถานการณ์
จินตนาการว่าคุณเป็น 1 ใน 5 สมาชิกของกลุ่ม
ทั้งคุณและคนอื่น ๆ ในกลุ่มต่างเป็นคนมีเหตุมีผล
คุณจะทำอย่างไรให้ได้ “ผลตอบแทน” สูงที่สุด?
คุณจะเลือก “ทำงาน” หรือ “ไม่ทำงาน” ?
ลองพิจารณาแยกเป็นกรณีนะครับ
กรณี A
กรณี A : ทำงาน 3 คน ไม่ทำงาน 2 คน
จะมี 2 ฝั่ง คือ 1. ฝั่งทำงาน และ 2. ฝั่งไม่ทำงาน
มาเริ่มดูฝั่งทำงานกันก่อนครับ
(ฝั่งที่ 1.) สมมติว่าคุณเป็น 1 ใน 3 คนที่ทำงาน
ผลลัพธ์ คือ “งานเสร็จ” และคุณได้ “ความพึงพอใจ” 10 หัวใจ
แต่อย่าลืมว่าคุณมี “ต้นทุนการทำงาน” 3 หัวใจ
ดังนั้นคุณจะได้ “ผลตอบแทน” 7 หัวใจ ( 7 = 10 - 3 )
ถ้าคุณเปลี่ยนใจ “ไม่ทำงาน” ล่ะ?
ผลลัพธ์ คือ “งานไม่เสร็จ” เพราะเหลือคนทำงาน 2 คน
คุณจะไม่ได้ 10 หัวใจ
แต่ก็ไม่เสีย “ต้นทุนการทำงาน”
 
ดังนั้นคุณจะได้ “ผลตอบแทน” 0 หัวใจ ( 0 = 0 - 0 )
จะเห็นว่าคุณได้ “ผลตอบแทน” จากทางเลือก “ทำงาน” มากกว่า การที่คุณเปลี่ยนใจ “ไม่ทำงาน” ( 7 > 0 )
ดังนั้นไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่คุณจะเปลี่ยนใจเป็น “ไม่ทำงาน” !!!
1. สมมติคุณอยู่ฝั่ง "ทำงาน"
มาดูฝั่งไม่ทำงานกันบ้าง
(ฝั่งที่ 2.) สมมติคุณเป็น 1 ใน 2 คนที่ไม่ทำงาน
งานเสร็จแน่นอนถูกต้องไหมครับ เพราะมีอีก 3 คนทำงาน
คุณจะได้ “ผลตอบแทน” 10 หัวใจ ( 10 = 10 - 0 )
คุณไม่เสีย “ต้นทุนการทำงาน” เพราะคุณ “ไม่ทำงาน”
ถ้าคุณเกิดนึกขยันขึ้นมา เปลี่ยนใจเป็น “ทำงาน” ล่ะ?
ผลลัพธ์ คือ งานเสร็จเหมือนเดิม แต่คุณก็เสีย “ต้นทุนการทำงาน” ด้วย
คุณจะได้ “ผลตอบแทน” 7 หัวใจ ( 7 = 10 - 3 )
จะเห็นว่า “ผลตอบแทน” จากทางเลือก “ไม่ทำงาน” มากกว่า การที่คุณเปลี่ยนใจ “ทำงาน” ( 10 > 7 )
ดังนั้นไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่คุณจะเปลี่ยนใจเป็น “ทำงาน” !!!
2. สมมติคุณอยู่ฝั่ง "ไม่ทำงาน"
ถึงตรงนี้คุณสังเกตเห็นว่า คุณพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ได้หัวใจมากสุด ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหนก็ตาม
คุณลองเปลี่ยนการกระทำก็แล้ว แต่มันไม่ทำให้คุณได้หัวใจเพิ่ม
ดังนั้น คุณทำดีกว่านี้ไม่ได้แล้ว คุณไม่มีทางได้หัวใจมากกว่านี้อีกแล้ว
กรณี A จึงสมเหตุสมผล
เราจะได้ข้อสรุป คือ
1. ถ้าคุณคุณเป็น 1 ใน 3 คนที่ทำงาน คุณต้อง “ทำงาน” ต่อไป
2. ถ้าคุณเป็น 1 ใน 2 คนที่ไม่ทำงาน คุณต้อง “ไม่ทำงาน” ต่อไป หรือที่เรียกว่าอู้งานนั่นแหละครับ
ทั้งหมดเพื่อให้ได้ “ผลตอบแทน” สูงที่สุดสำหรับตัวคุณเอง
พอฟังดูมีเหตุผลที่จะอู้งานได้ไหมครับแบบนี้
แต่เรื่องยังไม่จบเท่านี้นะครับ ยังมีกรณีอื่น ๆ ให้พิจารณากันอีก ตามแนวทางของ “ทฤษฎีเกม”
คุณอาจสงสัยว่านี่หรือคือทฤษฎีเกม? ไม่ใช่ที่เป็นตาราง ๆ หรอกเหรอ?
แล้วคุณครูจะจูงใจให้นักเรียนไม่อู้งานอย่างไร?
ขอเล่าไว้เท่านี้ก่อน
เพราะนาทีนี้ ผมหาเหตุผลมาอ้างเพื่ออู้งานได้แล้ว
ติดตามต่อกันเลยครับ
ตอนที่ 2
ตอนที่ 3 (จบ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา