27 พ.ค. 2020 เวลา 13:42 • การศึกษา
แอบเอาเหล้านอกไปซ่อนในลังน้ำปลาและไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์ จะมีความผิดข้อหาลักทรัพย์หรือฉ้อโกง?
ในบางครั้ง การพิจารณาว่าสิ่งที่คนร้ายได้ลงมือทำลงไปจะเป็นความผิดในข้อหาใดบ้างนั้น ก็เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อย่างเช่นความผิดข้อหา "ลักทรัพย์กับฉ้อโกง"
ซึ่งความผิดทั้ง 2 ข้อหานี้ต่างมีผลลัพท์ที่เหมือนกัน คือ คนร้ายได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย
แต่แตกต่างกันที่วิธีการ..
ในความผิดข้อหาลักทรัพย์นั้น คนร้ายจะได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายไปด้วยวิธีการ "แย่งการครอบครอง"
..โดยที่ผู้เสียหายไม่ยินยอม
(คำว่า "แย่ง" ในที่นี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้กำลังหรือฉุดกระชาก แค่การหยิบไปเฉย ๆ ก็ถือว่าเป็นการแย่งแล้ว)
ส่วนความผิดข้อหาฉ้อโกงนั้น คนร้ายจะได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายไปโดยการ “หลอกลวง” ด้วยการแสดงข้อความเท็จ
หรือ “ปกปิด” ความจริงที่จะต้องบอก
จนทำให้ผู้เสียหายยอมมอบทรัพย์ให้เนื่องจากการถูกหลอกนั้น
ซึ่งบางครั้ง ด้วยวิธีการของคนร้ายเองที่มักจะสร้างความสับสนว่าจะเป็นความผิดข้อหาใดกันแน่ในระหว่าง 2 ข้อหานี้
ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า คนร้ายได้เข้าไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า โดยหยิบเหล้านอกยี่ห้อหนึ่งจำนวน 12 ขวด ราคา 3,228 บาทของผู้เสียหายใส่ไว้ในลังน้ำปลา และใช้
สกอตเทปปิดลังดังกล่าวไว้เพื่อไม่ให้ใครเห็นสินค้าในลัง
จากนั้นคนร้ายเอาน้ำปลาอีก 1 ลังวางทับแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานแคชเชียร์ของผู้เสียหายตามราคาน้ำปลาสองลัง เป็นเงิน 420 บาท..
ลองทายกันดูครับว่าตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ คนร้ายจะมีความผิดข้อหาใด ระหว่างลักทรัพย์ กับฉ้อโกง?
ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกาได้พิจารณาและให้เหตุผลว่า..
1. พฤติกรรมของคนร้ายที่เอาเหล้าไปใส่ในลังน้ำปลาแล้วใช้สกอตเทปปิดไว้และเอาลังน้ำปลาอีกลังมาวางทับนั้น
แสดงให้เห็นว่า คนร้ายมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก
2. การที่คนร้ายเอาลังน้ำปลาที่มีเหล้าซ่อนอยู่ภายในไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์เท่ากับราคาน้ำปลา จนพนักงานแคชเชียร์มอบลังน้ำปลาทั้งสองลังให้คนร้ายไป..
เป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรลุผล คือ เอาเหล้านอกไปโดยทุจริตเท่านั้น
พนักงานแคชเชียร์ไม่มีเจตนา (ไม่ได้ยินยอม) ส่งมอบการครอบครองเหล้านอกให้คนร้าย
การกระทำของคนร้ายจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
(อ้างอิงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2553)
อธิบายเพิ่มเติม..
ในทางกฎหมายจะเรียกการลักทรัพย์ในลักษณะนี้ว่า "การลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย"
ซึ่งความแตกต่างระหว่างลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายกับการฉ้อโกง ก็คือ
การลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย จะเป็นการหลอกเอาทรัพย์จากผู้เสียหาย
โดยที่ผู้เสียหายไม่มีเจตนาส่งมอบทรัพย์นั้นให้แก่คนร้ายเลย แต่ที่ส่งให้เพราะถูกหลอก
ดังเช่นในคดีตัวอย่างนี้ ที่แคชเชียร์ไม่ได้ตั้งใจส่งมอบเหล้านอกให้คนร้าย แต่เพราะเข้าใจว่าเป็นน้ำปลาถึงได้ยอมให้คนร้ายไป
ส่วนการฉ้อโกงนั้น ผู้เสียหายเป็นฝ่ายยินยอมส่งมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ให้แก่คนร้ายเอง เนื่องมาจากการถูกหลอก
เช่น A ต้องการกล้องถ่ายรูปของ B จึงโกหกว่าจะขอซื้อต่อ B หลงเชื่อจึงส่งมอบกล้องถ่ายรูปให้ เมื่อ A ได้กล้องมาแล้วจึงหนีไปไม่ยอมจ่ายเงิน เป็นต้น
ยังมีช่องทางอื่น ๆ ให้ติดตามกัน 😉
- สำหรับเอาไว้อ่านบทความดีๆ Facebook.com/Nataratlaw
- สำหรับเอาไว้ดูรูปสวย ๆ กับอินโฟกราฟิก
- สำหรับสายย่อ เอาไว้รับข่าวหรือข้อกฎหมายแบบกระชับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา