2 มิ.ย. 2020 เวลา 06:33 • ปรัชญา
พุทธปรัชญาสำนักโยคาจาร (Yogachara) EP1
Episode 1
ตามทรรศนะของนักปราชญ์บางท่านเห็นว่า ปรัชญาโยคาจารก้าวขึ้นสู่จุดเด่นหลังจากปรัชญามาธยมิกะ จึงน่าจะเรียงปรัชญาโยคาจารไว้ในลำดับถัดจากปรัชญามาธยมิกะ อันเป็นลัทธิที่แสดงถึงพัฒนาการทางความคิดที่ค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่การรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งสัจธรรมขั้นสูงสุดของพุทธศาสนา คือ ศูนยตา
ความหมายของชื่อปรัชญานี้
 
ที่ปรัชญานี้มีชื่อว่า โยคาจาร ก็เพราะมุ่งศึกษาให้รู้แจ้งสัจธรรมขั้นสูงสุดโดยวิธีปฏิบัติโยคะ และวิธีปฏิบัตินี้ก็ดำเนินตามรอยบาทพระพุทธองค์ ซึ่งทรงเน้นข้อปฏิบัติทางกายและทางใจเป็นสำคัญ เพื่อนำไปสู่การรู้แจ้งสัจธรรมดังกล่าว ข้อปฏิบัติทางจิตก็คือการฝึกจิตเพื่อให้รู้แจ้งสัจธรรมขั้นสูงสุด
แล้วจะพบว่า
(1) สากลจักรวาลหาใช่อื่นที่แยกออกไปจากจิตไม่
(2) ในสัจธรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นการเกิดและการตาย และ (3) ไม่มีสิ่งหรือวัตถุภายนอกจิตที่มีอยู่จริง ๆ
ท่าทีดังกล่าวนี้ย่อมแสดงถึงเหตุผลอย่างเพียงพอว่า ทำไมจึงใช้ชื่อว่า โยคาจาร และเพราะเหตุที่ปรัชญานี้ถือว่าไม่มีความจริงแท้ใด ๆ อื่นนอกจากจิตหรือวิชญาน (เรียกตามภาษาบาลีว่า วิญญาณ)
จึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า วิชญานวาท (เรียกตามภาษาลาลีว่า วิญญาณวาท)
จุดยืนของสำนักปรัชญานี้
สำนักปรัชญานี้ปฏิเสธลักษณภาพทางวัตถุวิสัยของโลกภายนอก ยอมรับว่ามีวิญญาณจำนวนนับไม่ถ้วน แต่ละดวงเป็นขณิกะ มีปัจจัยปรุงแต่ง (เจตสิก) ของตนเอง และแสวงหาความรู้เพื่ออธิบาย ถึงปรากฏการณ์ที่ประสบ
โยคาจารถือว่าเพราะอวิทยาเป็นเหตุ เราจึงจำแนกวิญญาณหนึ่ง ๆ ออกเป็นตัวผู้ทำ กรรมและความรู้สึกรู้ ซึ่งความจริงแล้ว วิญญาณเดิมนั้นมีลักษณะเป็นประภัสสรและจำแนกไม่ได้
3
ผู้ก่อตั้งสำนักปรัชญานี้
สำนักปรัชญานี้พัฒนาเด่นขึ้นมาก็เพราะ ท่านอสังคะ ผู้เป็นพี่ชายของท่านวสุพันธุ์ จึงเชื่อกันว่าท่านอสังคะเป็นผู้ตั้งเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 8 แต่นักปราชญ์บางท่านเชื่อว่า ท่านไมตรียนาถ ผู้เป็นอาจารย์ของท่านอสังคะเป็นผู้ตั้ง ตามหลักฐานทางทิเบตกล่าวไว้ว่า ท่านไมตรียนาถได้รจนาคัมภีร์ไว้ถึง 6 คัมภีร์ แต่ปรากฏชื่อยู่ 5 คัมภีร์เท่านั้น คือ
(1) สูตราลังการ (2) มัธยานตวิภังค์ (3) ธรรมธรรมตาวิภังค์ (4) มหายาน อุตตร-ตันตร-ศาสตร์ แต่มีผู้คัดค้านว่า ท่านไมตรียนาถไม่ใช่เป็นผู้ตั้ง เพราะเราพบว่าวิชญานวาทนั้น ได้มีอยู่ก่อนแล้ว ในคัมภีร์ลังกาวตารสูตรและคัมภีร์ของท่านอัศวโฆษ กล่าวว่า ท่านไมตรียนาถเป็นเพียงผู้อธิบายตามหลักปรัชญาเท่านั้น แต่ความคิดเห็นของท่านสืบทอดไปสู่ท่านอสังคะผู้เป็นศิษย์
วรรณกรรมและผู้รจนา
คัมภีร์ที่เชื่อกันว่า ท่านอสังคะเป็นผู้รจนา คือ (1) โยคาจารภูมิศาสตร์ (2) มหายานสูตราลังการ พร้อมคำวิจารณ์ของผู้รจนาด้วย (3) ปัญจภูมิ (4) อภิธรรมสมุจจัย (5) มหายานสงเคราะห์ (มหายานสงครห) (6) มหายานสมปริเคราะห์ (มหายานสมปริครห) ท่านปรมารถแปลสู่พากย์จีนเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 (7) ประกรณอารยวาจา (8) มหายานาภิธรรมสังคีติศาสตร์ หลวงจีนเฮี้ยนจังแปลสู่พากย์จีนเมื่อราว พ.ศ. 1168 (9) คัมภีร์อรรถกถา 1 คัมภีร์ขยายความในวัชรเฉทิกา ท่านธรรมคุปตะแปลสู่พากย์จีนเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11-12
บางท่านเชื่อว่า
ท่านอสังคะผู้ก่อตั้งสำนักโยคาจารย์
ท่านอสังคะได้พยายามชักจูงพระน้องชายชื่อวสุพันธุ์ให้หันมานับถือมหายานได้สำเร็จในตอนปลายแห่งอายุ และท่านวสุพันธุ์ได้รจนาคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หนึ่ง ชื่อว่า วิชญปุติมาตรตาสิทธิ ว่าด้วยวิชญานวาท แต่บางท่านเห็นว่า ท่านวสุพันธ์ องค์นี้สังกัดมหายานมาตลอด เป็นคนละรูปกับท่านวสุพันธุ์ผู้แต่งคัมภีร์อภิธรรมโกศะของไวภาษิกะดังกล่าวมาแล้ว
คัมภีร์ที่สำคัญของสำนักนี้ คือคัมภีร์ลังกาวตารสูตรกับคัมภีร์อรรถกาถาขยายความในคัมภีร์ตริงศิกาของท่าน สถิรมติ (ราวพุทธศตวรรษที่ 9) ผู้เป็นศิษย์ของท่านวสุพันธุ์ แต่บางท่านเชื่อว่าท่านสถิรมติสังกัดสำนักไวภาษิกะ
นอกจากนี้ยังมีนักตรรกศาสตร์เรืองนาม 2 ท่าน คือ ท่านทิงนาคะ กับท่านธรรมกีรติ บางทีก็ถือว่าสังกัดสำนักนี้เหมือนกัน แต่หลักฐานบางแห่งว่า ท่านทั้งสองสังกัดสำนักไวภาษิกะ
ท่านอสังคะ(ถืออะไรสักอย่าง) และท่านวสุพันธ์
ลักษณะสำคัญของโยคาจาร
ในหนังสือมหายานสมปริเคราะห์-ศาสตร์ ท่านอสังคะกล่าวถึงลักษณะสำคัญของสำนักปรัชญาโยคาจารไว้ดังนี้
1. อาลยวิญญาณแพร่อยู่ทั่วไปในสรรพสิ่งทั้งหลาย
2. ความรู้ (ญาณ มี 3 ชนิด คือ (1) ชนิดที่เป็นมายา (ปริกัลปิตชญาน) ได้แก่ ความเท็จโดยสิ้นเชิง (2) ชนิดสัมพันธ์ (ปรตันตรชญาน) ได้แก่ความรู้ที่ไม่จริงแท้ แต่ไม่ใช่เป็นเพียงมายา นั่นคือ ความรู้สามัญที่สมมติและยอมรับกันในชีวิตประจำวัน ถูกต้องเฉพาะราย ไม่เสมอไป และ (3) ความรู้จริงแท้ (ปริณิษปันนชญาน)
3. โลกทางวัตถุวิสันกับอัตตาทางจิตวิสัย เป็นเพียงภาคสำแดงของอาลยวิญญาณซึ่งเป็นวิญญาณสากล
4. โยคาจารเน้นเรื่องบารมี 6 ประการ
5. ผู้ปรารถนาจะบรรลุพุทธภูมิจะต้องปฏิบัติตามหลักทศภูมิของพระโพธิสัตว์
6. มหายานสูงส่งกว่าหินยานซึ่งเป็นเพียงสาวกยานที่มุ่งผลสำเร็จเพื่อตน ไม่มุ่งประโยชน์ผู้อื่น และเข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าผิด ๆ
7. เป้าหมายของโยคาจาร คือบรรลุถึงสภาพธรรมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายหรือพระกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า โดยอาศัยโพธิญาณ
8. ผู้ที่ปฏิบัติจนถึงขั้นสูงสุดแล้วจะอยู่เหนือกายและจิต และเข้าถึงเอกภาพกับอาลยวิญญาณ
9. จากแง่ปรมัตถ์ จะไม่มีความแตกต่างกันระหว่างสงสารกับนิพพาน นิพพานนั้นจะบรรลุได้ในโลกนี้และชั่วชีวิตนี้ โดยทำให้เกิดความเหมือน (สมตว) และขจัดความต่าง (นานาตว) ออกไป
10. ความจริงแท้ คือธรรมกาย อันได้แก่พระกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งหมายถึงอาลยวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่ปรากฏเป็นกายที่เราเห็นคือนิรมานกายของพระพุทธองค์ (แปลว่ากายที่เปลี่ยนแปลงได้) แต่ถ้ามองจากแง่ปรมัตถ์ ได้แก่สัมโภคกาย คือ กายแห่งความสุข
จากพระสูตรนี้ มองเห็นได้ชัดว่า โยคาจารมีหลักปรัชญาครบทั้ง 3 สาขา คือ ญาณวิทยา อภิปรัชญา และจริยศาสตร์ ดังจะได้นำมาอธิบายขยายความโดยสังเขปต่อไป
ตอนหน้า จะมีเรื่องของวิญญาณ8 ในปรัชญาสำนักโยคาจารย์ ครับ วันนี้แต่นี้ก่อน
-วิรุฬหก-
โฆษณา