8 มิ.ย. 2020 เวลา 04:02
เจ็กหลีเม้ง แปะหลีทง
ผมได้ยินประโยคนี้จากการบรรยายของคุณตัน ภาสกรนที เมื่อหลายปีก่อน คุณตันเล่าว่าตอนเด็กๆพ่อบังคับให้ดีดลูกคิดจนคล่องถึงแม้ว่าจะมีตัวช่วยอย่างอื่นเช่นเครื่องคิดเลขแล้วก็ตาม ตอนแรกคุณตันก็ไม่เข้าใจแต่ก็ทนทำไป ลองดีดลูกคิดด้วยโจทย์ต่างๆที่หลากหลาย จนพอทำได้คล่องแล้วถึงเข้าใจเรื่องการคำนวณในโจทย์ต่างๆจนกระจ่าง เป็นวิชาติดตัวที่ใช้ในการทำธุรกิจต่อมา ความหมายในเรื่องนี้ก็คือ ถ้าเข้าใจหลักการหนึ่งแล้ว อีกร้อยเรื่องก็ไม่ใช่ปัญหา อะไรประมาณนั้น
3
ผมก็มีประสบการณ์ที่โชคดีแบบนี้อยู่เหมือนกัน ในตอนที่ผมเริ่มงานแรกที่บริษัทหลักทรัพย์เอกธำรงในตำแหน่งพนักงานจูเนียร์ในฝ่ายวาณิชธนกิจ (investment banking) ที่มีงานหลักๆคือเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์และระดมทุนในรูปแบบต่างๆ ในช่วงนั้นตลาดหลักทรัพย์บูมมาก งานล้นฝ่าย ทุกคนยุ่งกันสุดๆแทบไม่มีเวลาแยกมาสอนงานเด็กใหม่อย่างผม พี่ๆก็เลยให้ทำไปสอนไปบนหน้างาน บ่อยครั้งที่ผมถูกปล่อยลงน้ำแบบไม่ทันตั้งตัว ต้องไปเจอผู้บริหารระดับสูงรับหน้าแทนพี่ๆที่บางทีนัดซ้อนบ้าง มาไม่ทันบ้าง ทำให้ผมต้องหาทางเอาตัวรอดและต้องเรียนรู้ให้เร็วที่สุดซึ่งก็รอดบ้างไม่รอดบ้าง แต่ก็เป็นประสบการณ์การเรียนลัดที่หาที่ไหนไม่ได้
งานหลักอย่างหนึ่งของเด็กใหม่ที่ต้องช่วยพี่ๆเขาทำก็คือการทำแบบจำลองทางการเงิน (financial model) ซึ่งเป็นงานที่ต้องเรียนรู้ใหม่หมดและทำให้ผมรู้ซึ้งว่าที่เรียนจบการเงินมานั้นแทบไม่ได้ช่วยอะไรเลย การทำ financial model บน excel (ผมยังทันพี่ๆที่สอนผมบน lotus123 ด้วย) ก็คือการสร้างสมมติฐานต่างๆของบริษัทปัจจุบันแล้วใส่ข้อมูลสำคัญไปในอนาคตสามปีห้าปีแล้วผูกสูตรให้สามารถแสดงผลของสามเสาการเงินทั้ง balance sheet, profit and loss และ cashflow statement ได้เพื่อจะได้แสดงสถานะของบริษัทในแง่มุมต่างๆเพื่อเอาไปวิเคราะห์ ประเมินราคาหุ้น หรือใช้ในการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท เป็นเครื่องมือสำคัญที่ที่ปรึกษาการเงินใช้ให้คำปรึกษาลูกค้าในขณะนั้น ซึ่งการทำแบบจำลองทางการเงินต้องมีความยืดหยุ่นสูงที่ถ้าเราต้องการทดสอบสมมติฐานสำคัญที่เปลี่ยนไป ก็ต้องสามารถใส่ input แล้วแสดงผลที่เปลี่ยนได้ทั้งสามเสาการเงินในทันทีพร้อมกัน
ตอนที่หัดใหม่ๆแรกๆ ผมก็ไม่เข้าใจหลักการอย่างลึกซึ้ง พี่ๆเขาสอนให้ผูกสูตรง่ายๆ ลองทำไปทีละบรรทัด ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก พี่ๆก็แก้แล้วแก้อีก ช่วยเช็คความถูกต้องทีละส่วนให้ ผมต้องไปทำความเข้าใจเรื่องการลงบัญชีเพิ่มเติมจึงจะผูกสูตรได้ถูกอีกด้วย จนเมื่อทำซ้ำบ่อยๆจนเข้าใจว่าตัวเลขมันวิ่งวนยังไงระหว่าง balance sheet , profit and loss และ cashflow พอจับหลักได้ ผมถึงเข้าใจหลักการของการเงินโดยกระจ่าง รู้ว่าแตะตรงนี้แล้วเลือดวิ่งไปตรงไหนบ้าง หน้าตาของแต่ละเสาหลักจะมีผลกระทบอย่างไร อันไหนเป็นแค่ accounting effect อันไหนมีผลต่อภาษีและมูลค่าหุ้น ทั้งๆที่เรียน mba มาสองปีก็ยังไม่เข้าใจอะไรแบบนี้เลย
ผมไม่ได้เป็นคนทำแบบจำลองทางการเงินได้เก่งอะไร ในรุ่นๆเดียวกันที่ทำงาน ผมน่าจะแค่ปานกลางเท่านั้น แต่การเข้าใจหลักการเงินแบบ เจ็กหลีเม้ง แปะหลีทง นั้นพาโอกาสอื่นๆเข้ามาในชีวิตเต็มไปหมด ตั้งแต่การอ่านข่าวธุรกิจที่สนุกขึ้นมาก ความเข้าใจเรื่องราคาหุ้น จนถึงบทสนทนากับเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูงที่เราสามารถออกความเห็น on spot ได้เลยว่าถ้าตรงนี้เปลี่ยน อะไรจะเปลี่ยนบ้าง เพราะเหมือน excel มันถูกฝังอยู่ในหัวว่าถ้าใส่ input แบบนี้มันจะกระทบตรงไหน เพราะทำซ้ำ ลองซ้ำ เล่นกับโมเดลซ้ำจนเรียกว่าหลอนอยู่ในหัว ปัจจุบันผมจะทำ powerpoint ยังต้อง key บน excel ก่อนเลย เป็นความเคยชินของการใช้ spreadsheet ต่อให้ไม่ได้ทำแบบจำลองทางการเงินมานานมากแล้วก็ตาม
1
Financial model ก็มาช่วยชีวิตผมครั้งใหญ่หลังจากนั้น ตอนที่ผมย้ายมาทำงาน investor relation ที่ดีแทค ผมต้องตอบคำถามนักวิเคราะห์และนักลงทุนที่เก่งมากๆทั้งโลก ในตอนแรกๆก็ทำได้ไม่ค่อยดีเพราะเขาฉลาดและรู้รอบกว่าผมมาก จนผมต้องดิ้นรนประกอบแบบจำลองทางการเงินของดีแทคแบบละเอียดมากๆ ไว้ใช้ในการตอบคำถาม พอผมลงมือทำอย่างละเอียด ทำให้ตอบคำถาม “แปะหลีทง” ได้สบาย ถามอะไรมาก็ตอบได้ทันทีเพราะพอได้ทำแบบจำลองทางการเงินแบบละเอียดก็ทำให้เข้าใจธุรกิจที่ดีแทคทำอยู่แบบลึกซึ้ง นอกจากทำให้ผมได้รับการยอมรับจากนักวิเคราะห์แล้ว ยังพาผมไปสู่โอกาสใหม่ๆที่ดีแทคเวลาเขาต้องการคนไปตอบข้อมูลตอนปรับโครงสร้างหนี้หรือหาพันธมิตรใหม่ๆ ทำให้ผมได้เจอผู้บริหารระดับสูง ได้โอกาสใหม่ๆเข้ามาก่อนคนอื่น เนื่องจากมีภาพว่าเข้าใจธุรกิจดีแทคอย่างกระจ่างมาก ผู้บริหารคงคิดว่าก็น่าให้ลองอย่างอื่นดูเพราะทำอะไรก็คงไม่น่าเจ๊งมากนัก เพราะเข้าใจการเงินดี ตอนมาทำงานการตลาด ก็ได้ใช้ความรู้นี้มาเล่นกับ pricing แบบแปลกๆ และสามารถอธิบายให้ฝ่ายการเงินเข้าใจและไม่ตกใจได้ ซึ่งทำให้ happy แจ้งเกิดได้ในตอนนั้น
หลายคนคงมีประสบการณ์ เจ็กหลีเม้งแปะหลีทง ในงานที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เขียน code เก่งๆ สถาปนิกฝีมือดี ช่างซ่อมรถที่ซ่อมรถอะไรก็ได้ เชฟที่ทำอะไรก็อร่อย ฯลฯ ซึ่งผมเองก็บอกไม่ได้ชัดนักว่าประสบการณ์นี้หาได้อย่างไร แต่จากที่ผมเจอมา ก็คือเราได้ลงมือทำอะไรจริงๆแล้วขลุกอยู่กะมัน เป็นงานที่ยากที่จะทำให้เราได้คิด ได้ทดลอง ลองผิดลองถูก พยายามเชื่อมโยง ต่อจุด จนเกิดภาพใหญ่ที่วนลื่นไหลในหัว และเข้าใจความเป็นมาและเป็นไปของงานนั้นๆ อย่างกระจ่าง จนเห็นได้ชัดว่าสิ่งเล็กๆที่เราทำอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ระบบใหญ่ อย่างไร ในแต่ละบริษัทมักจะมีงานที่ได้ลองได้เห็นภาพใหญ่ทั้งหมดอยู่เหมือนกันถ้าเราหาดีๆ
ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ควรตามหาในสายงานอาชีพของตัวเองให้เจอ เพราะความเข้าใจแบบเจ็กหลีเม้ง แปะหลีทงนี้ จะสามารถเป็นหลักที่ต่อไปยังความคิดสร้างสรรค์ได้ ในยุคที่ average is over เหมือนในตอนนี้ครับ…
โฆษณา