12 มิ.ย. 2020 เวลา 12:36 • ธุรกิจ
เคยได้ยินชื่อ “Concorde” กันไหมครับ
ผมเดาว่ายุคนึงชื่อนี้คงดังกระหึ่มมาก เพราะมันคือเครื่องบินพาณิชย์ที่บินเร็วกว่าเสียง!!
มันต้องยิ่งใหญ่มาก และคงสะเทือนวงการแน่ ๆ เพราะบินเร็วกว่าเสียง 2 เท่า ถ้าบินจากยุโรปไปอเมริกาสัก 2 - 3 ชั่วโมง ก็น่าจะถึงแล้ว
ได้แต่คาดเดาแหละครับ เพราะผมก็ไม่ทันยุคนั้นเหมือนกัน
(ใครทันยุค “Concorde” เล่าให้ฟังในคอมเมนต์ได้นะครับ)
ภาพโดย Falko Fröhlich จาก Pixabay
แล้ว “sunk cost fallacy” เป็นอะไรกับ “Concorde” เหรอ?
คุณ “sunk cost fallacy” เป็นผู้ผลิต “Concorde” งั้นเหรอ
อย่าเพิ่งเดาไปไกล มาฟังกันต่อก่อนดีกว่า
“sunk cost” หากแปลเป็นไทยคงจะได้ว่า “ต้นทุนจม”
ผมขอเรียก “ต้นทุนจม” แทนนะครับ เพราะมันสื่อความหมายตรงใจดี
ฝรั่งใช้เงินทุนเยอะมากในการวิจัยและพัฒนาเจ้า “Concorde”
อย่าลืมว่ามันเร็วกว่าเสียงถึง 2 เท่า!!! (ประมาณ 2,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
อยู่มาวันนึงฝรั่งเริ่มรู้แล้วครับว่า มันเป็นจริงไม่ได้
ในด้านการวิจัยพัฒนา และสร้างขึ้นมาให้สำเร็จ ไม่มีปัญหาครับ ฝรั่งคงบอก “ซาบาย ซาบาย ไอ ทาม ด้าย ยู แหล่ว”
แต่มันบินจริงเชิงพาณิชย์ไม่ไหวครับ
ด้วยความเร็วขนาดนั้น ย่อมสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และจุผู้โดยสารได้น้อย
ต้นทุนการบินแต่ละเที่ยวจึงสูงมาก
พอถึงตรงนี้ผมก็คิดว่า “มันจะไปรอดเหรอ ถ้าบินแล้วไม่คุ้มทุน ไอ้เจ้าเที่ยวบินเร็วกว่าเสียงเนี่ย?”
เจ้า “Concorde” คงเป็นตำนานเท่านั้นแหละ ไม่ได้บินจริงหรอก ถึงได้บินจริงก็คงบินไม่นาน สักปี สองปี สามปี สี่ปี..
แต่ผิดคาดครับ เจ้า “Concorde” โลดแล่นบนท้องฟ้ากว่า 27 ปี!!
อยู่รอดมานานขนาดนี้ได้ไงกัน เป็นงงกันเลยทีเดียวครับ
นาทีนี้ เจ้า “ต้นทุนจม” มาช่วย “Concorde” ของเราได้แล้วครับ
ไม่ได้ช่วยให้ไม่เจ๊งนะ แต่มาช่วยอธิบายต่างหาก
เรามักจะไร้เหตุผลกับ “ต้นทุน” ที่ไม่มีวันได้คืนมาแล้วแน่ ๆ
ลองดูอีกเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องของผมเองกันบ้าง
ผมเคยซื้อตั๋วหนังเรื่องนึง เข้าไปนั่งดู 3 นาทีแรกก็เริ่มรู้สึกไม่สนุก
ทนดูไป 15 นาที คราวนี้ยิ่งกว่าเดิมอีก ไม่สนุกเข้าไปใหญ่เลย
ทนดูต่ออีกสักหน่อยแล้วกัน
ทนไปทนมา ทนจนหนังจบเฉยเลย ซึ่งทั้งเรื่องความสนุกอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้
สุดท้ายก็ออกมาบ่นกับเพื่อนว่า “หนังโคตรห่วยเลยว่ะ” (พยายามเล่าอย่างสุภาพที่สุด)
เพื่อนก็จะถามว่า “ห่วยแล้วไม่ออกมาล่ะ ทนดูไปทำไม”
“เออแฮะ ก็จริงนะ ทนดูไปทำไมวะ”
แทนที่ผมจะออกไปหาเบียร์เย็น ๆ กินสักแก้ว น่าจะมีความสุขกว่าทนดูหนังห่วย ๆ เยอะ
ถ้าออกมาแล้วได้ตังค์ค่าตั๋วคืน ผมก็คงออกมาตั้งแต่ 3 นาทีแรกแล้ว
อะไรนะ!! นี่ผมเสียดายค่าตั๋วหนัง จนต้องทนดูหนังห่วย ๆ จนจบเหรอเนี่ย!!!
ทั้ง ๆ ที่ผมไม่มีวันได้เงินค่าตั๋วคืนมาแน่ ๆ
ค่าตั๋วมันเป็น “ต้นทุนจม” ย้ำอีกทีว่ามันจมไปแล้ว!!!
แบบนี้แหละครับ “sunk cost fallacy”
กรณีของผมยังแค่ทนดูหนังห่วย เพราะเสียดายค่าตั๋ว แต่เจ้า “Concorde” นี่สิ ต้องทนขาดทุน เพราะเสียดาย...เสียดายอะไรครับ?
กลายเป็นที่หลบฝนไปแล้วมั้ง (ภาพโดย Erich Westendarp จาก Pixabay)
ผมว่าเขาคงเสียดายหลายอย่างอยู่นะ ไม่น่าใช่แค่เงินทุนอย่างเดียวหรอก
เพราะเจ้า “ต้นทุนจม” ดูเหมือนจะอธิบายอะไรที่ไม่ใช่เงินได้ด้วย
อย่างเช่น ความรัก
คู่รักมักเสียดายความรู้สึกดี ๆ ที่มีให้กันในช่วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว
อาจจะช่วงที่เคยจีบกัน ช่วงเวลาที่โลกเป็นสีชมพู
สมมติว่าตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก เป็นแฟนกันต่อไม่ไหวแน่ ถ้ายังอยู่กันต่อไปก็ไม่มีความสุข
ก็เลยเลิกกันใช่ไหม?
ยังไม่ใช่ครับ คู่รักกลับทนประคับประคองความสัมพันธ์กันต่อไป
ทนไม่มีความสุขกันต่อไป
อะไรนะ!! ผมต้องติดกับดัก “ต้นทุนจม” อีกแล้วเหรอเนี่ย คราวนี้เป็นต้นทุนที่ไม่ใช่เงินแล้วครับ
แต่เป็นช่วงเวลาดี ๆ ที่ไม่มีวันได้คืนมา
เผลอ ๆ จะข้ามไปเสียดายอนาคตที่เคยวาดฝันไว้ด้วยกันอีก
อันนี้หนักกว่า "ต้นทุนจม" อีกครับ เพราะเป็นการเสียดายสิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่ได้ลงทุน ลงแรงไป
แต่ก็เข้าใจได้อยู่นะ เพราะอาจจะลงใจไปแล้ว
เล่าไปก็ร้องไห้ไปครับ
ต้องยอมรับว่าความรักเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก
คงเข้าใจไม่ง่ายเหมือนเจ้า “Concorde” ผู้น่าสงสารหรอก
"default option" ก็ทำให้เราไร้เหตุผลไม่แพ้ "sunk cost fallacy"
แล้ว "default option" คืออะไร?
อ่านต่อคลิกเลยครับ
อ้างอิง
Sunk Cost Fallacy, Eric Hehner (link : http://www.cs.utoronto.ca/~hehner/)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา