18 มิ.ย. 2020 เวลา 02:09 • สุขภาพ
ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว
คนส่วนใหญ่คงไม่คิดว่าตนเองจะเจ็บป่วยขณะที่กำลังไปท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันนี้มีหลายอย่างเปลี่ยนไปจากอดีต ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมหรืออาหารการกินที่ล้วนแล้วอาจส่งผลต่อสุขภาพ ดังนั้นหมอว่าถ้าเราคิดเผื่อเรื่องพวกนี้ไว้สักนิดก็คงไม่เสียหายอะไร เพราะหากเกิดเจ็บป่วยกะทันหันขึ้นเราจะได้รับมือถูก และถือว่าเป็นการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทด้วย
หมอมีกรณีตัวอย่างของนักท่องเที่ยวต่างชาติรายหนึ่งที่กำลังมีความสุขกับการท่องเที่ยวอยู่ดี ๆ แต่กลับต้องมาเป็นผู้ป่วยโรคหัวใจแบบไม่ทันตั้งตัวมาเล่าให้ฟังครับ…
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันวัยกลางคนแล้วล่ะ เขาเดินทางจากเยอรมันมาพักผ่อนที่เขาหลัก จังหวัดพังงา แล้วอยู่ ๆ เกิดเจ็บหน้าอกขึ้นมา ถึงแม้ 35 ปี ที่ผ่านมาเขาจะสูบบุหรี่ถึงวันละ 2 ซอง แต่ก็ไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อน เขาเลยรีบค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตเกี่ยวกับอาการที่เกิดขึ้น แล้วพบว่ามันคล้ายอาการของคนที่กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
แหม! เจอแจ็คพอตแบบนี้จะช้าอยู่ได้ไง เขาเลยรีบไปหาหมอที่คลินิกในเขาหลัก หลังจากที่ได้รับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ EKG) และผลออกมาแน่ชัดว่ากล้ามเนื้อหัวใจของเขากำลังขาดเลือดอย่างเฉียบพลันเนื่องจากเส้นเลือดหัวใจอุดตัน หมอที่คลินิกรีบโทรติดต่อกับโรงพยาบาลที่หมอทำงานอยู่เพื่อขอส่งตัวเขามารักษา
การเดินทางจากพังงามาภูเก็ตใช้เวลานานเป็นชั่วโมง ดังนั้นหมอจึงแนะนำให้หมอที่คลินิกฉีดยาละลายลิ่มเลือด (Thrombolytic drugs) ให้กับเขาก่อนออกเดินทาง โดยทั่วไปแล้วเมื่อผู้ป่วยได้รับยาละลายลิ่มเลือดหลังจากเกิดอาการเจ็บหน้าอก 1-2 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น เพราะยาไปทำให้ลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือดละลายตัว ช่วยให้เลือดและออกซิเจนไหลเวียนไปยังบริเวณที่เคยมีการอุดกั้นของลิ่มเลือดได้อีกครั้ง แต่ทว่าร่างกายของผู้ป่วยรายนี้ไม่ตอบสนองกับยาละลายลิ่มเลือด เพราะเขายังเจ็บแน่นหน้าอกและเจ็บมากขึ้น ความดันลดลงเรื่อย ๆ และเริ่มเข้าสู่ภาวะช็อก ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีแทรกอยู่ เพราะว่าโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยกำลังเดินทางมารักษาและเป็นที่ที่หมอทำงานอยู่นั้นมีความพร้อมทุกด้าน ทำให้หมอเตรียมทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในการฉีดสีและขยายหลอดเลือดหัวใจได้รวดเร็ว
ส่วนเครื่องมือที่จะใช้รักษานั้นพร้อมอยู่แล้ว เรียกว่าเมื่อผู้ป่วยลงจากรถฉุกเฉินปุ๊บก็เข้าห้องปฏิบัติการรักษาได้ทันที
หลังจากทำการสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography : CAG) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “การฉีดสี” เพื่อตรวจดูการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจและก็เป็นไปตามที่คิด คือผู้ป่วยมีเส้นเลือดด้านขวาตัน หมอจึงใส่ขดลวด 3 เส้น โดยสอดผ่านเส้นเลือดแดงที่บริเวณแขน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว ผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วยรายนี้ออกมาน่าประทับใจ หลังจากทำการสวนหลอดเลือดที่หัวใจเสร็จเขาก็สามารถลุกขึ้นนั่งได้เลย ระหว่างที่พักฟื้นอยู่ที่ภูเก็ตหมอก็นัดติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยมีสุขภาพแข็งแรง เดินเหินได้คล่องแคล้ว หลังจากพักฟื้นแค่หนึ่งสัปดาห์เขาก็เดินทางกลับประเทศเยอรมัน
ก่อนจบ! หมอมีข้อคิดอีกอย่างมาบอก… การที่ผู้ป่วยรายนี้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยของตัวเองในอินเตอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องดีนะ แต่หมออยากขอให้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาข้อมูลให้ดี ๆ ว่ามีที่มาที่ไปยังไง น่าเชื่อถือหรือไม่ บุคคลที่เขียนหรือโพสต์เป็นใคร เพราะบางเรื่องอาจไม่ถูกต้องและส่งผลเสีย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ
นพ.ธนัส บุพพาจารย์ธรรม (อายุรศาสตร์โรคหัวใจ)

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา