21 มิ.ย. 2020 เวลา 11:50 • ประวัติศาสตร์
“โซมาเลีย” ดินแดนที่อันตรายที่สุดในโลก
1
“โซมาเลีย เป็นหนึ่งในสถานที่ที่อันตรายที่สุดในโลก ชั้นรับรู้และเข้าใจดีที่สุด” อแมนดา ไลน์เฮาท์ นักข่าวภาคสนามจากแคนาดาที่ได้ไปเห็นชีวิตในโซมาเลีย
ทุกท่านครับ ณ ที่นี้ ผมจะนำพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวของดินแดนแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา
ดินแดนที่ผู้คนล้มตายจากสงครามและความอดอยากกันเป็นว่าเล่น...
ดินแดนที่คนได้ยินเสียงปืนและระเบิดกันจนชาชิน...
ดินแดนที่สงคราม เป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด...
2
ดินแดนที่ไม่มีรัฐบาลปกครองเกือบ 20 ปี...
ดินแดนที่เคยไร้กฎหมายใดๆในการควบคุม...
ดินแดนที่โลกต่างยกให้กลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว...
1
และนี่ คือเรื่องราวของ “โซมาเลีย” ดินแดนที่อันตรายที่สุดในโลก
โปรดนั่งลงเถิดครับ แล้วผมจะเล่าให้ฟัง...
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับโซมาเลียกันก่อนนะครับ
โดยโซมาเลียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกา ให้ทุกท่านลองนึกภาพทวีปแอฟริกาที่มีลักษณะคล้ายหัวของแรดหันไปด้านขวา โซมาเลียที่ว่าจะตั้งอยู่บริเวณนอแรดนั่นเองครับ...
ส่วนประชากรกว่า 85% จะเป็นคนโซมาลี ส่วนที่เหลือจะเป็นเชื้อชาติอื่นๆยิบย่อยผสมปนเปกันครับ และประชากรส่วนใหญ่ในโซมาเลียนับถืออิสลาม นิกายซุนนี
ประวัติศาสตร์ของโซมาเลียก็คล้ายๆกับหลายๆประเทศในแอฟริกาครับ นั่นคือ โดนยุโรปเข้ามาตักตวงทรัพยากรและล่าอาณานิคมในศตวรรษที่ 19
4
โดยมี 3 หน่อด้วยกันครับที่เข้ามามีอิทธิพลในโซมาเลีย คือ อังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี
เมื่อทั้ง 3 ต่างก็หมายปองในโซมาเลีย ก็เกิดปัญหาขัดแย้งกันขึ้น จนผลสุดท้ายก็ต้องทำสัญญาแบ่งเค้กก้อนนี้กัน แบบนี้ครับ...
ภาพจาก Bill’s Excellent Adventures (การแบ่งเขตปกครองโซมาเลียของเจ้าอาณานิคม)
ซึ่งสีเขียว (รวมถึงสีเขียวลายๆ) จะเป็นของอิตาลี สีน้ำเงินจะเป็นของฝรั่งเศส และสีส้มจะเป็นของอังกฤษ
1
แล้วใน ค.ศ.1935 ก็เกิดสงครามระหว่างอิตาลีกับเอธิโอเปียขึ้นครับ แล้วอิตาลีก็เป็นฝ่ายชนะแล้วรวบดินแดนของเอธิโอเปียมารวมกับดินแดนโซมาเลียของตัวเอง
1
แต่ทว่าหลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีที่เป็นแกนนำฝ่ายอักษะที่พ่ายแพ้ ก็เสียสิทธิ์การปกครองดินแดนของตัวเองในแถบนี้ไป แล้วอังกฤษก็เข้ามาจัดการดูแลแทน แล้วรวมดินแดนโซมาเลียของตัวเองและอิตาลีเข้าด้วยกัน
แล้วใน ค.ศ.1960 โซมาเลียก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษครับ แล้วตั้งประเทศขึ้นเป็น “สาธารณรัฐโซมาเลีย” ให้โมกาดิชูเป็นเมืองหลวง
1
โซมาเลียหลังได้รับเอกราช ต้องการที่จะปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ทว่าประชาธิปไตยในโซมาเลียนั้น เรียกได้ว่า ล้มเหลวสุดๆเลยล่ะครับ!
จริงอยู่ที่ว่าประชากรส่วนใหญ่ของโซมาเลียจะเป็นคนโซมาลี แต่คนโซมาลีที่ว่าก็แยกออกเป็นหลายเผ่าที่แตกต่างกันทางความคิดและความเชื่อ แล้วแต่ละเผ่าก็ต่างแย่งกันเข้ามามีอิทธิพลทางการเมือง เผ่าไหนกระเป๋าหนักหน่อยก็มีอำนาจมาก สามารถจ่ายใต้โต๊ะซื้อตัวนักการเมืองให้มาเข้าข้างฝ่ายตัวเองได้ จึงทำให้มีการคอร์รัปชันกันสนั่นหวั่นไหวเลยล่ะครับ!
1
ดังนั้น ประชาธิปไตยของโซมาเลียจึงจบลงใน ค.ศ.1969 โดยโมฮัมเหม็ด สิอาด บาร์เร ซึ่งได้นำทหารเข้ารัฐประหารยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนลง พร้อมฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง
1
และนี่ คือจุดเริ่มต้นของหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นในโซมาเลีย...
1
ภาพจาก Face2Face Africa (โมฮัมเหม็ด สิอาด บาร์เร (ซ้าย) ผู้นำทหารเข้ายึดอำนาจรัฐบาลใน ค.ศ.1969)
เมื่อบาร์เรได้ขึ้นสู่อำนาจ โซมาเลียใช่ว่าจะดีขึ้นครับ กลับแย่ลงกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยที่ล้มเหลวหลายขุม!
1
บาร์เรได้ทำการยึดที่ดินทางภาคใต้ของโซมาเลียมาให้กับเผ่าดารอด ซึ่งเป็นเผ่าของบาร์เรเอง และเผอิญว่าที่ดินทางภาคใต้ของโซมาเลียนั้นเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของประเทศ เพราะเป็นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์แทบจะที่เดียวในโซมาเลีย (ที่เหลือแห้งแล้งสุดๆเลยล่ะครับ)
1
บาร์เรได้ทำการไล่เจ้าของที่ดินและเกษตรกรออกไปว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ที่ดินแถบนี้เป็นของเผ่าดารอดเท่านั้น ใครขัดขืน ยิ้งทิ้งลูกเดียว!”
5
บอกได้เลยครับว่าการยึดที่ดินทางภาคใต้นี้ ทำเอาชาวโซมาเลียเดือดร้อนกันทั้งประเทศ เนื่องจากรัฐบาลและเผ่าดารอดแทบบริหารจัดการไม่เป็น อู่ข้าวอู่น้ำของโซมาเลียก็ได้พังทลายลง เศรษฐกิจประเทศตกต่ำสุดกู่ ประชากรก็อดอยากขนานใหญ่สิครับทีนี้
แต่บาร์เรกับเผ่าดารอดก็หาสนใจไม่!
3
และยังไม่พอเท่านั้นครับ บาร์เรนั้นยังอยากได้ดินแดนที่เรียกว่า “โอกาเดน” ซึ่งเป็นเขตแดนในเอธิโอเปียและเคนยาอีกด้วย
2
โดยดินแดนที่เรียกว่าโอกาเดนนี้เป็นดินแดนที่มีประชากรชาวโซมาลีอยู่เป็นส่วนใหญ่ครับ แต่พอได้รับเอกราช อังกฤษก็ได้จัดให้ดินแดนนี้ดันไปอยู่กับเอธิโอเปียและเคนยาแทนที่จะเป็นโซมาเลีย!
1
ทำให้ชาวโซมาลีที่อยู่ในบริเวณโอกาเดนพยายามเรียกร้องให้ตัวเองได้กลับไปรวมตัวกับโซมาเลีย ซึ่งโซมาเลียก็พร้อมจะอ้าแขนรับอยู่ตลอด แต่ติดที่ว่าเอธิโอเปียกับเคนยาไม่ยอมให้ไปนี่สิครับ...
1
บาร์เรจึงบอก “พวกเอ็งมีสิทธิ์อะไร นั่นเป็นดินแดนที่โซมาเลียสมควรจะได้มาตั้งแต่แรก!” ว่าแล้วก็นำทหารบุกเอธิโอเปียซะเลย! กลายเป็นสงครามโอกาเดน ใน ค.ศ.1977 นั่นเองครับ
3
ภาพจาก Al Jazeera (โอกาเดน พื้นที่ข้อพิพาทระหว่างโซมาเลีย เอธิโอเปียและเคนยา)
ทัพของโซมาเลียสามารถตีเมืองใหญ่ๆของเอธิโอเปียแตกได้อย่างรวดเร็วมาก ทำให้รัฐบาลเอธิโอเปียเริ่มร้อนๆหนาวๆสิครับทีนี้ จึงตัดสินใจหันหน้าไปพึ่งมหาอำนาจ โดยมหาอำนาจที่ว่า คือ โซเวียตนั่นเองครับ...
โซเวียตที่เล็งไว้ว่าจะแทรกแซงอยู่แล้ว เมื่อเอธิโอเปียมาเอ่ยปากขอให้ช่วยเองแบบนี้ ก็หวานหมูสิครับ โซเวียตก็ได้ทำการส่งกำลังคน อาวุธ และข่าวสารมาช่วยเอธิโอเปีย ทำให้เอธิโอเปียสามารถพลิกเกมขึ้นมาเป็นฝ่ายได้เปรียบในที่สุด
บาร์เรและรัฐบาลก็ต่างอุทานเป็นเสียงเดียวว่า “อ้าวเห้ย! ขี้โกงนี่หว่า” แต่ก็สายไปซะแล้วครับ เมื่อทัพเอธิโอเปียได้รุกกลับโดยใช้เวลา 3 สัปดาห์ในการตีเอาเมืองของตัวเองคืนมาได้จนครบแล้วไล่ทัพของบาร์เรกลับเข้าไปในโซมาเลีย
1
ความฝันในการได้ดินแดนโอกาเดนของบาร์เรก็แตกสลายลงในที่สุด...
1
ภาพจาก Blackpast (สงครามโอกาเดน)
รัฐบาลของบาร์เรถูกต่อต้านหนักมากเลยล่ะครับ หลังจากแพ้สงครามโอกาเดน อีกทั้งยังนำพาประเทศไปสู่ความอดอยาก เหล่าประชาชนเผ่าอื่นๆจึงพากันจัดตั้งกองกำลังเพื่อที่จะโค่นล้มรัฐบาลบาร์เร
ซึ่งเหล่าผู้ต่อต้านก็ได้รับการสนับสนุนจากเอธิโอเปียที่ต้องการจะแก้เผ็ดคืน
บาร์เรถึงกลับโกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงที่เอธิโอเปียสนับสนุนกลุ่มต่อต้าน แต่ก็ทำอะไรเอธิโอเปียไม่ได้มาก เพราะตัวเองพึ่งแพ้เขามาหยกๆ อีกทั้งกลุ่มต่อต้านก็ใช้สงครามกองโจรและการก่อวินาศกรรมสู้กับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลตามจับตัวหรือจัดการยากมากๆ
1
ดังนั้น บาร์เรจึงตัดสินใจไปลงที่ประชาชนครับ โดยมีการสั่งทหารให้จับประชาชนเผ่าอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มต่อต้านมาสังหารอย่างโหดเหี้ยมใน ค.ศ.1988 ซึ่งมีจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 100,000 คน! และจากเหตุการณ์นี้นานาชาติต่างรุมประนามว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ พร้อมกับระงับความช่วยเหลือเรื่องอาหารให้กับโซมาเลีย
2
คราวนี้ก็ยิ่งเดือดร้อนกันไปทั้งประเทศสิครับ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการขาดอาหาร พอๆกับจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เลยทีเดียว!
6
แล้วในที่สุด ค.ศ.1991 กลุ่มต่อต้านก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลบาร์เรลงได้ แล้วประชาชนต่างก็หวังแล้วครับว่า สันติภาพและความสงบสุขกำลังจะเกิดขึ้นในโซมาเลีย...
1
แต่ทว่า เหตุการณ์กลับตรงกันข้ามกับที่ประชาชนคิดน่ะสิครับ...
ภาพจาก I Love Somaliland (สภาพบ้านเมืองในสงครามกลางเมืองโซมาเลีย)
อย่างที่ผมเคยได้เล่าไปแล้วครับว่า โซมาเลียนั้นมีประชากรหลายๆเผ่าแย่งอำนาจกันเป็นใหญ่ และกลุ่มต่อต้านนั้นก็มีหลายๆเผ่าเช่นเดียวกัน แต่แค่ร่วมมือกันชั่วคราวเพื่อโค่นล้มบาร์เรเท่านั้นเอง
และเมื่อสามารถล้มรัฐบาลบาร์เรได้ใน ค.ศ.1991 กลุ่มต่อต้านก็ได้ฉุกคิดครับว่า “แล้วเอาไงกันต่อ?”
แน่นอนว่าแต่ละเผ่าก็อยากเอาตัวเองขึ้นเป็นผู้นำ แล้วมีความคิดที่ขัดแย้งกันในที่สุดว่า
พวกข้าสิเหมาะ...
พวกข้านี่แหละผู้นำ...
พวกข้าต่างหากที่มีอำนาจมากที่สุด...
เมื่อผลประโยชน์ไม่ลงตัวและตกลงกันไม่ได้ ทางออกเดียวก็คือ รบกันสิครับ...
จากการล้มรัฐบาลบาร์เรแทนที่ประเทศจะสงบสุข แต่กลับกลายว่าเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเพื่อแย่งอำนาจปกครองระหว่างเผ่าต่างๆ
ทำให้โซมาเลียในตอนนั้นไม่มีรัฐบาลคอยปกครอง
เมื่อไม่มีรัฐบาลก็ไม่มีกฎหมาย
กฎอย่างเดียวที่ใช้คือ กฎของเผ่าแต่ละเผ่าที่ตั้งกันขึ้นมาเองเท่านั้น
1
และสุดท้ายผู้ที่ได้รับผลมากที่สุดก็คือ ประชาชนชาวโซมาเลียนั่นเอง...
ภาพจาก Alchetron (การขาดอาหารอย่างรุนแรงในโซมาเลีย)
จากการล้มรัฐบาลบาร์เร ก็มีการแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นมาด้วย คือ โซมาลิแลนด์ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศ เพราะแต่แรกนั้นโซมาลิแลนด์มีความแตกต่างจากโซมาเลียค่อนข้างมาก แต่เหมือนโดนคลุมถุงชนจากอังกฤษให้เข้ามาอยู่กับโซมาเลีย แถมมาเจอเหตุการณ์ที่บาร์เรได้ทำไว้อีก จึงไม่แปลกครับที่เมื่อบาร์เรล้มลงไปแล้ว โซมาลิแลนด์ก็ได้ทำการแบ่งแยกดินแดนแล้วตั้งประเทศของตัวเองขึ้นมา มีรัฐบาลที่แยกจากโซมาเลียอย่างสมบูรณ์ (แต่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาตินะครับ)
ทั้งสงครามกลางเมือง และที่สำคัญคือภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างหนักของโซมาเลีย ทำให้มีคนเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 100,000 คนเลยล่ะครับ!
2
และแล้วใน ค.ศ.1992 ก็ได้มีอัศวินขี่ม้าขาวก้าวเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องอาหารของปะชาชนชาวโซมาเลีย อัศวินที่ว่า คือ สหรัฐอเมริกานั่นเองครับ...
2
อเมริกาได้ส่งทหาร 28,000 คน และ UN ได้ส่งกองกำลังนานาชาติ 5,000 คน เข้าไปปฏิบัติภารกิจในโซมาเลีย ภายใต้ปฏิบัติการณ์ฟื้นฟูความหวัง (Operation Restore Hope)
1
อเมริกาและ UN ได้เข้ามาช่วยเหลือให้ประชาชนโซมาเลียกว่าหมื่นคนรอดตายจากความอดอยาก
1
อีกทั้งได้เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยให้แต่ละเผ่าหยุดรบกันแล้วหันหน้ามาตกลงกันใหม่ ซึ่งในที่สุดก็สามารถปลดอาวุธเผ่าต่างๆในโซมาเลียได้สำเร็จ!
2
ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่นและกำลังจะจบได้สวยครับ หากไม่มีชายที่ชื่อว่า “โมฮัมเหม็ด ฟาราห์ อิดีด” และเหตุการณ์ที่ชื่อว่า “Black Hawk Down”
ภาพจาก US National Archives (สหรัฐอเมริกาและ UN เข้ามาช่วยเหลือประชาชนโซมาเลีย)
เรื่องของเรื่องก็คือ ในตอนนั้นเผ่าที่มีอำนาจมากที่สุดคือ เผ่าของอิดีด และเมื่ออเมริกาและ UN ได้เข้ามาปลดอาวุธเผ่าอื่นๆเพื่อสร้างสันติภาพในโซมาเลีย แต่ทว่า อิดีดกลับไม่ได้คิดแบบนั้น...
2
อิดีดมองว่า การที่อเมริกาและ UN เข้ามาแบบนี้จะเป็นการทำให้ตัวของอิดีดนั้นเสียอำนาจครับ อิดีดจึงบอกเผ่าของตัวเองว่า “ไม่ต้องวางอาวุธ!” พร้อมกับปลุกระดมประชาชนให้ต่อต้านอเมริกาและ UN
1
ในที่สุด การต่อต้านนี้ก็เกิดการปะทะกันขึ้น จนทำให้ทหารปากีสถานที่อยู่ภายใต้ UN เสียชีวิต 26 คน!
3
อเมริกาจึงหัวเสียสิครับว่า “มาช่วยแบบดีๆแล้วไม่เอา ต้องให้ใช้กำลัง!”
ว่าแล้วอเมริกาก็ส่งทหารเข้าไปในโมกาดิชู เพื่อไปลากตัวอิดีดออกมา
แล้วก็เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างทหารอเมริกันกับกลุ่มของอิดีด แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น คือ กลุ่มของอิดีดสอยแบล็คฮอว์กของอเมริกาตก 2 ลำ
เหตุการณ์จึงยุ่งยากขึ้นเมื่อทหารอเมริกันต้องเข้าไปช่วยนักบินที่ติดอยู่ในแบล็คฮอว์ก 2 ลำ ที่เผอิญตกอยู่ใจกลางดงศัตรู
1
จากปฏิบัติการนี้ทำให้มีทหารอเมริกันเสียชีวิต 18 คน!
บิล คลินตัน ประธานาธิบดีอเมริกาจึงตัดสินใจว่า “จะไม่ยุ่งแล้ว!” พร้อมถอนทหารทั้งหมดออกจากโซมาเลีย แล้วยุติความช่วยเหลือทุกอย่างแก่ประเทศนี้
1
แล้วโซมาเลียก็วนลูปกลับมาสู่สงครามกลางเมืองเพื่อแย่งอำนาจกันอีกครั้ง...
1
ภาพจาก All That’s Interesting (เหตุการณ์ Black Hawk Down)
สงคราม ความอดอยาก ไร้รัฐบาลและไร้กฎหมาย สิ่งเหล่านี้ต้องบีบให้ประชาชนชาวโซมาเลียต้องอยู่แล้วช่วยเหลือกันเอง บ้างก็หาทางออกโดยการเป็นโจรสลัด ซึ่งโจรสลัดโซมาเลียนั้นขึ้นชื่อลือชาไปทั่วทั้งโลก ดังนั้น โซมาเลียจึงกลายเป็นดินแดนที่ถือว่าอันตรายที่สุดในโลกเลยล่ะครับ...
สงครามกลางเมืองก็ได้ดำเนินไปจนมี 2 กลุ่มที่เริ่มเด่นขึ้นมา นั่นคือ กลุ่ม TFG และกลุ่ม UIC
โดย TFG คือรัฐบาลสหพันธรัฐข้ามชาติ ซึ่งตั้งขึ้นใน ค.ศ.2004 มีศูนย์กลางคือ เมืองไบเดาโดย TFG นั้นต่างชาติยอมรับว่าเป็นรัฐบาลของโซมาเลียเลยล่ะครับ แต่ทว่าประชาชนโซมาเลียนั้นไม่ได้ยอมรับ
2
กลุ่มที่ชาวโซมาเลียยอมรับ คือ UIC ครับ ซึ่ง UIC คือ สหภาพศาลอิสลาม โดยมีจุดมุ่งหมายคือ เข้าไปหยุดสงครามของทุกเผ่า แล้วให้แต่ละเผ่าหันมาจับมือกันโดยใช้ศาสนาอิสลามเป็นตัวกลาง
1
จนใน ค.ศ.2006 UIC ก็ได้สามารถเข้ามาสยบสงครามกลางเมืองของโซมาเลียได้ในที่สุด มีการเเปิดท่าเรือและสนามบินอีกครั้ง และ UIC ต้องการใช้กฎหมายชารีอะห์ของอิสลามเข้ามาปกครองประเทศ สงครามในโซมาเลียก็ได้สงบลงในที่สุดครับ
แต่แล้ว UIC ก็ต้องการรวบรวมและขยายอำนาจของโซมาเลียอีกครั้ง ซึ่งเผอิญว่าพื้นที่ที่ UIC ได้ขยายอำนาจเข้าไปนั้น ดันมีพื้นที่ที่เป็นของเอธิโอเปียด้วย
ดังนั้น เอธิโอเปียก็ไม่พอใจสิครับทีนี้ เกิดอยากจะล้ม UIC ขึ้นมา แล้วสนับสนุน TFG ขึ้นเป็นรัฐบาลแทน
ยังไม่หมดเพียงเท่านั้นครับ สหรัฐอเมริกาที่เลิกยุ่งกับโซมาเลียไปตั้งแต่ ค.ศ.1993 ได้สนใจโซมาเลียอีกครั้งและต้องการที่จะล้ม UIC
1
เพราะอเมริกาได้บอกว่า UIC มีความเกี่ยวข้องกับอัคเคดา (ขณะนั้นอเมริกากำลังล้างบางแก้แค้นผู้ก่อการร้ายทั่วโลกอยู่) UIC จึงตกเป็นเป้าของอเมริกาไปด้วยนั่นเองครับ
1
อเมริกาเลยเข้ามาสนับสนุนเอธิโอเปียและ TFG เพื่อล้ม UIC ในโซมาเลีย
ไม่รู้เป็นเวรกรรมอะไรของชาวโซมาเลียนะครับ ที่ความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรกอีก เกิดเป็นสงครามขึ้นมาอีกครั้งในที่สุด...
2
ภาพจาก Mapsof (แผนที่แสดงการโจมตีของทัพเอธิโอเปียในสงครามกลางเมืองโซมาเลีย ค.ศ.2006)
และทัพของเอธิโอเปียก็ทำการบุกโซมาเลีย ตีพื้นที่ยึดครองของ UIC ได้อย่างง่ายดาย (แน่ล่ะครับ เพราะมีอเมริกาสนับสนุนอยู่) จนสุดท้ายทัพเอธิโอเปียก็ยึดครองโมกาดิชูได้
UIC ก็แตกกระจายหนีหัวซุกหัวซุนไปกันคนละทาง บางส่วนก็ลงไปทางใต้ไปอยู่ที่เมืองจิลิปและคิสมาโยเป็นหลัก
ส่วนกองกำลังที่เหลือที่แตกกระจายออกไปก็ได้มารวมตัวกันใหม่แล้วตั้งกลุ่ม ARS ขึ้นมาเพื่อโค่นล้มทัพเอธิโอเปียโดยตรง
นอกเหนือจาก ARS ก็มีการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มอัล ชาบับ ขึ้นมาเพื่อต่อต้านเอธิโอเปียและอเมริกาโดยใช้วิธีสงครามกองโจรและก่อวินาศกรรมโดยเฉพาะ โดยอัล ชาบับที่ตั้งขึ้นมาเนี่ยเป็นเครือข่ายของกลุ่มอัลเคดาโดยตรงเลยล่ะครับ
1
จะเห็นได้ว่าแม้โซมาเลียจะหลุดพ้นสงครามระหว่างเผ่าต่างๆแล้ว แต่ก็ต้องมาพบกับสงครามกลางเมืองที่สเกลใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีกเพราะมีหลายฝ่ายรุมยำกันในโซมาเลียอีกครั้ง แถมมีการแทรกแซงจากต่างชาติเข้ามาด้วย
3
ภาพจาก Voice of America (กลุ่มอัล ชาบับ)
สงครามก็ดำเนินไปพร้อมกับความสูญเสียมหาศาลของทั้งสองฝ่าย รวมถึงประชาชนโซมาเลีย...
แล้วในที่สุด ค.ศ.2009 เอธิโอเปียก็ได้ถอนกำลังออกจากโซมาเลีย เนื่องจากเห็นแล้วว่าสงครามครั้งนี้ไม่คุ้ม จึงเหลือเพียง TFG ที่ได้รับการสนับสนุนจากอเมริกา
UIC และ ARS ที่นำโดยชีค ชารีฟ อาเหม็ด ก็ได้เริ่มเข็ดกับสงครามแล้วเช่นกัน จึงได้คุยกับ TFG “ไหนๆเอธิโอเปียก็ออกไปแล้ว เราต่างก็ไม่อยากทำสงครามกันแล้วทั้งคู่ งั้นเรามาจับมือกันเพื่อตั้งรัฐบาลกันเถอะ!”
ดังนั้น จึงมีการร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง ARS กับ TFG ขึ้นใน ค.ศ.2009
ชีค ชารีฟ อาเหม็ด ที่เป็นผู้นำ UIC และ ARS ได้เป็นประธานาธิบดี...
อาลี ชาร์มาเค ที่เป็นผู้นำของ TFG ได้เป็นนายกรัฐมนตรี...
มีการสร้างประชาธิปไตยขึ้นอีกครั้ง
1
แล้วในที่สุดโซมาเลียก็ได้มีรัฐบาลเป็นตัวเป็นตนซักทีครับ
ประชาชนก็ต่างคิดว่า “ในที่สุด ความสงบสุขก็มาสู่โซมาเลีย”
แต่ เอ๊ะ! เหมือนกับว่าลืมอะไรไปบางอย่าง?
อ้อ! อัล ชาบับนั่นเอง!!
อัล ชาบับก็ตะโกนด่ารัฐบาลเลยครับว่า “พวกเอ็งจับมือกัน แล้วดันลืมพวกตูไปได้ยังไง!”
ภาพจาก The Telegraph (ชีค ชารีฟ อาเหม็ด)
ดังนั้น ถึงแม้โซมาเลียจะมีรัฐบาลเกิดขึ้น แต่ก็เป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ ไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องประชาชนได้เท่าไหร่ โซมาเลียก็ยังอยู่ในภาวะขาดอาหารอยู่เช่นเดิม
อีกทั้งจากการโกรธแค้นของกลุ่มอัล ชาบับที่ไม่ได้ให้ตัวเองร่วมรัฐบาลด้วย ก็มีการก่อวินาศกรรมและความวุ่นวายในโซมาเลียอย่างไม่หยุดหย่อน
1
อัล ชาบับมีเป้าหมายคือต้องการล้มรัฐบาลประชาธิปไตยเพื่อขึ้นปกครองเองโดยใช้กฎหมายชารีอะห์และทำลายต่างชาติที่สนับสนุนรัฐบาลโซมาเลียอย่างเอธิโอเปีย เคนยา และอเมริกา
ผลงานใหญ่ๆของอัล ชาบับคือ การบอมบ์ที่ทำการรัฐบาลในโมกาดิชู ค.ศ.2011 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 100 คน!
1
และ ค.ศ.2017 ก็มีการบอมบ์กลางเมืองโมกาดิชูอีกครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 587 คน! ถือว่าเป็นการก่อวินาศกรรมที่ร้ายแรงเป็นอันดับ 3 ของโลกเลยล่ะครับ
2
แสดงให้เห็นว่าถึงแม้สงครามกลางเมืองจะจบลงไปแล้ว
แต่สงครามเล็กสงครามน้อยยังคงมีอยู่...
ความขัดแย้งยังคงไม่หายไปไหน...
ความอดอยากก็ทวีความรุนแรงไม่ต่างจากเดิม...
โซมาเลียก็ยังไม่ได้มีสันติภาพที่แท้จริง...
1
ยังคงเป็นดินแดนที่วนลูปเข้าสู่ความวุ่นวายและความสูญเสียเหมือนดังเช่นในอดีต...
ทั้งยังไม่รู้ว่า สุดท้ายจะลงเอยในรูปแบบไหน...
และนี่ คือเรื่องราวของ “โซมาเลีย” ดินแดนที่อันตรายที่สุดในโลก
1
ภาพจาก Washington Post (การระเบิดกลางเมืองโมกาดิชู ค.ศ.2017)
อ้างอิง
Adam M.H., Somalia : Militarism, Warlordism or Democracy?. Review of Africa Political Economy, Surviving Democracy, 1992.
2
Barnes C. & Hassan H. The Rise and Fall of Mogadishu’s Islamic Courts. Journal of Eastern African Studies, 2007.
Bolton J.R. Wrong turn in Somalia. Foreign Affairs, 1994.
Bryden M. Somalia and Somaliland : Envisioning a dialogue on the question of Somalia unity. African Security Review, 2004.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา