20 มิ.ย. 2020 เวลา 09:36 • ประวัติศาสตร์
การหย่าร้างที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์ยุโรป (Eleanor of Acquitane) ตอนที่ 2
หมายเหตุ : บทความนี้เล่าเรื่องของราชวงศ์ยุโรป แต่เนื่องจากผมไม่ชำนาญในการใช้ราชาศัพท์ เจตนาแค่อยากจะเขียนเรื่องที่ง่ายต่อการเข้าใจสำหรับคนทั่วไป ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยครับ
1.มุ่งสู่สงครามศักดิ์สิทธิ์
ปีค.ศ. 1146
หลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 และราชินีเอเลนอร์ ได้ฟังคำเทศน์ปลุกใจให้ชาวคริสต์ไปรบในสงครามศักดิ์สิทธิ์จาก นักบวชที่ชื่อ แบร์นาร์ด แห่ง แคลร์โว (Bernard of Clairvaux) ทั้งคู่ก็ตัดสินใจที่จะจัดตั้งเพื่อที่จะรบในสงครามที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในชื่อครูเสดครั้งที่ 2
การที่ผู้หญิงเดินทางไปกับกองทัพนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้ว่ายุคสมัยนั้นจะไม่ค่อยมีการเขียนถึงเรื่องราวของผู้หญิงมากนัก แต่บันทึกต่างๆก็มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องอาหารเรื่องความเป็นอยู่ในกองทัพเพราะการเดินทางไปรบในยุคนั้นต้องใช้เวลาเดินทางกันหลายเดือนถึงหลายปี
การที่ราชินีจะเดินทางร่วมไปกับกองทัพก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะบางครั้งราชินีก็ร่วมขบวนไปด้วยในฐานะของภรรยาที่คอยสนับสนุนและให้กำลังใจสามี
แต่การที่ราชินีนำสัญลักษณ์รูปกางเขนมาเย็บติดกับเสื้อเพื่อแสดงถึงการเดินทางไปในฐานะของผู้นำกองทัพ และมีการประกาศคำสาบานว่าจะไปร่วมรบ อันนี้เป็นเรื่องที่แปลก
และไม่ใช่แค่ราชินีเอเลนอร์ จะไปในฐานะของผู้นำกองทัพเท่านั้น แต่ความเป็นผู้นำของเอเลนอร์ดูจะเหนือกว่า กองทัพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 กษัตริย์ของฝรั่งเศสเสียด้วยซ้ำ
อย่างที่คุยกันไปในตอนที่แล้วว่า แคว้น Aquitaine นั้นเป็นพื้นที่ในการครอบครองของปู่และพระบิดาของเอเลนอร์ และก่อนที่พระบิดาของเอเลนอร์จะสิ้นพระชนม์ก็ให้มีการออกกฎไว้ด้วยว่า ถึงแม้เอเลนอร์จะอภิเษกกับกษัตริย์ของฝรั่งเศส แต่ที่ดินที่เอเลนอร์ครอบครองจะไม่ถูกควบรวมเข้าเป็นแผ่นดินของฝรั่งเศส แต่จะยังคงเป็นของเอเลนอร์และถ้าจะส่งต่อ ก็ต้องถูกส่งต่อให้กับทายาทของเอเลนอร์เท่านั้น
ดังนั้น vassal หรือผู้ที่สวามิภักดิ์ต่อ duke of Aquitaine ทั้งหลาย จึงขึ้นตรงต่อเอเลนอร์ ไม่ใช่กษัตริย์ฝรั่งเศส
เมื่อเอเลนอร์ ประกาศให้ Vassal ทั้งหลายจัดตั้งกองทัพ จึงมีขุนนางที่ตอบรับและเข้าร่วมจำนวนมากที่ขึ้นตรงต่อเอเลนอร์โดยตรง ไม่ได้ขึ้นต่อกษัตริย์ฝรั่งเศส
1
แต่เอเลนอร์ยังไม่รู้ว่า การออกเดินทางไปครูเสดครั้งนั้น จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต และจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของยุโรปอีกมากมาย
1
2. ความพ่ายแพ้
สงครามครูเสดครั้งที่ 1 เป็นการเดินทางไปรบที่ประสบความสำเร็จอย่างมากของกองทัพชาวคริสเตียน
และด้วยความที่สงครามครูเสดครั้งที่ 1 มีแต่ขุนนางที่เดินทางไปร่วมรบไม่มีกษัตริย์เลย ทำให้เมื่อพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 และ กษัตริย์คอนราดที่ 3 (Conrad III) แห่งเยอรมันนี ประกาศว่าจะไปร่วมรบในสงครามครูเสด ครั้งที่ 2 ชาวคริสต์จึงคาดหวังไว้มากว่าสงครามครั้งนี้จะต้องประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะขนาดครั้งแรกมีแต่ขุนนางเข้าร่วมยังทำได้ดีขนาดนี้ คราวนี้ระดับกษัตริย์มาเอง ชัยชนะคงจะยิ่งใหญ่กว่าเก่ามาก
แต่สงครามครูเสดครั้งที่ 2 นั้นเป็นความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของกองทัพชาวคริสต์
ปัจจัยหนึ่งของความพ่ายแพ้คือ ความเชื่อว่าพระเจ้าจะเข้าข้างและช่วยเหลือ จึงไปด้วยแรงใจและศรัทธาอย่างเดียว แต่แทบจะไม่มีแผนการรบที่ดีเลย และด้วยความที่มั่นใจว่าศรัทธาจะชนะทุกอย่าง จึงไม่ค่อยรอกันด้วย ต่างคนต่างไป
ดังนั้นกองทัพของกษัตริย์คอนราด III และของฝรั่งเศสจึงถูกกองทัพมุสลิมตีแตก ต้องหนีเอาชีวิตรอดไปคนละทิศละทาง ก่อนที่สุดท้ายคนที่รอดชีวิตจะไปรวมตัวกันอีกครั้งที่เมือง แอนตีออค (Antioch) ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองของชาวคริสต์ในดินแดนตะวันออกกลาง
และเป็นที่เมืองนี้เอง การตัดสินใจแยกทางจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ของเอเลนอร์เริ่มต้นขึ้น
3. ข่าวลือ
ผู้ปกครองเมืองแอนติออค ในขณะนั้นมีชื่อว่าเรย์มอนด์ แห่งปัวติเยร์ (Raymod of Poitier) ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นอาของเอเลนอร์เอง
อย่างที่คุยกันในตอนแรกครับว่า ลูกชายคนโตมันจะเป็นคนที่ได้รับมรดกทั้งหมดจากพ่อ ส่วนลูกชายคนรองมักจะต้องหาทางเลือกอื่น เช่น ไปเอาดีทางศาสนา หรือไม่ก็หาทางสร้างอำนาจบารมีที่ชื่อ เช่นในกรณีของเรย์มอนด์ คือไปแต่งงานกับเจ้าหญิงของเมือง Antioch
เรย์มอนด์แม้ว่าจะเป็นอา แต่มีอายุมากกว่าเอเลนอร์แค่ 9 ปี แถมยังเป็นคนหล่อ เป็นนักรบที่เก่ง และยังมีความเป็น ทรูบาดอร์ (troubadour) หรือกวีนักแต่งเพลงรัก ตามแบบฉบับของกษัตริย์วิลเลี่ยมที่ 9 (พระบิดาของเรย์มอนด์และปู่ของเอเลนอร์) ซึ่งเอเลนอร์คุ้นเคยและชอบ ทำให้ทั้งคู่ใกล้ชิดกันเป็นพิเศษ
ไม่มีใครรู้ว่าข่าวลือเป็นความจริงแค่ไหน แต่ก็เป็นที่ลือกันไปทั่วยุโรปว่าทั้งคู่มีความสัมพันธ์ที่มากกว่าแค่อาและหลานสาว แต่ไม่ว่าข่าวนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นเรื่องจริง ความสัมพันธ์ระหว่างเอเลนอร์และหลุยส์ที่ 7 ซึ่งระหองระแหงกันมานานแล้วจึงยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
ยิ่งในเวลาต่อมาพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 และ เรย์มอนด์ มีความเห็นต่อแผนการรบไม่เหมือนกัน คือ เรย์มอนด์ต้องการที่จะชวนกองทัพฝรั่งเศสยกทัพปลอปล่อยเมือง เอเดสซ่า (Edessa) ซึ่งถูกกองทัพมุสลิมยึดไป และจริงๆนี่ก็คือเป้าหมายหลักของกองทัพครูเสดที่พระสันตปาปาเรียกร้องอยู่แล้ว
1
แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 กลับต้องการเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็ม เพื่อให้เสร็จสิ้นการเดินทางจาริกแสวงบุญตามความต้องการส่วนตัวของพระองค์
เอเลนอร์เลือกที่จะเข้าข้างเรย์มอนด์ และบอกกับพระเจ้าหลุยส์ว่าถ้าอยากจะเดินทางไปเยรูซาเล็มก็ไปคนเดียวเพราะเธอจะอยู่ที่ Antioch ต่อ ซึ่งก็เป็นไปตามแผนที่ควรจะเป็น แต่เพราะข่าวลือทำให้ผู้คนทั่วยุโรปตีความว่า เธอต้องการจะอยู่กับเรย์มอนด์ต่อ
และน่าจะบวกกับความเบื่อหน่ายในความเคร่งศาสนาซึ่งต่างไปจากเธอที่ชอบศิลปะและความสนุกสนาน ความอ่อนแอและการตัดสินใจที่ผิดพลาดด้านการเมืองของพระเจ้าหลุยส์บ่อยครั้ง ทำให้เอเลนอร์พูดเรื่องของการแยกทางกันขึ้นมา โดยนำประเด็นว่า จริงๆแล้วทั้งคู่มีสายเลือดที่ใกล้ชิดกันเกินไป ไม่ควรจะแต่งงานกันแต่แรกขึ้นมาพูดถึง
เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 จึงตัดสินพระทัยที่จะสั่งให้แอบจับกุมตัวเอเลนอร์ขึ้นเรือ และเดินทางออกจาก Antioch มุ่งหน้าสู่กรุงเยรูซาเล็มในทันที
แน่นอนว่า เหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความอับอายและรอยร้าวระหว่างทั้งสองให้ลึกขึ้นไปอีก
4. เฮนรี่และเอเลนอร์
หลังจากเดินทางไปถึงเยรูซาเล็ม พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ร่วมกับกษัตริย์ของเยรูซาเล็มและกษัตริย์คอนราด III และขุนนางอื่นเดินทางไปปิดล้อมเมืองดามัสกัส (Damascus) ของมุสลิม แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างหมดรูปอีกครั้ง
ในที่สุดพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ก็ตัดสินใจที่จะนำกองทัพที่เหลืออยู่น้อยนิดกลับปารีส
แล้วความเห็นที่ขัดแย้งกันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะเอเลนอร์ต้องการจะนำทัพกลับไปช่วยเรย์มอนด์ที่ Antioch ซึ่งขณะนั้นกำลังลำบากจากการรบกับกองทัพของมุสลิม แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ไม่ยอม และด้วยความบาดหมางต่างๆนับตั้งแต่ออกเดินทางมาทำสงครามครูเสดทำให้ทั้งคู่แยกกันเดินทางตลอดเส้นทางที่เหลือ
ระหว่างทางกลับเนื่องจากต้องผ่านคาบสมุทรอิตาลีทั้งคู่จึงได้แวะไปหาพระสันตปาปา เพราะเอเลนอร์ต้องการจะให้การแต่งงานเป็นโมฆะ แต่สำหรับพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แล้ว ถ้าการแต่งงานนี้ยุติลง ก็จะหมายถึงการเสียดินแดนกว้างใหญ่ที่เอเลนอร์เป็นเจ้าของอยู่ด้วย พระเจ้าหลุยส์จึงไม่ต้องการที่จะการแต่งงานเป็นโมฆะ
พระสันตปาปาเองก็เช่นเดียวกัน นอกเหนือจากการไม่ประกาศให้การแต่งงานของทั้งคู่เป็นโมฆะแล้ว ยังหาทางให้ทั้งคู่คืนดีกัน แล้วหาทางจัดให้ทั้งคู่ต้องนอนด้วยกันอีกด้วย ซึ่งผลจากความพยายามนี้ ในเวลาต่อมาไม่นาน เอเลนอร์ก็ให้กำเนิดลูกสาวคนที่ 2 แก่พระเจ้าหลุยส์อีกคน
หลังจากที่เดินทางกลับมาถึงปารีส เอเลนอร์ก็ได้รับข่าวว่า เรย์มอนด์ ซึ่งเป็นอาพ่ายแพ้และถูกกองทัพมุสลิมสังหาร ศรีษะถูกนำไปเสียบประจานอยู่ที่เมืองแบกแดด
เราไม่รู้ว่าเอเลนอร์คิดยังไงกับข่าวนี้ แต่ก็พอจะเดาได้ว่าเธอคงเสียใจมากที่ไม่ได้กลับไปช่วย และเป็นไปได้สูงที่จะบ่ายเบี่ยงความเสียใจนี้ไปเป็นความโกรธที่พระเจ้าหลุยส์ปฏิเสธไม่ยอมเดินทางไปช่วยเหลือเรย์มอนด์
และเป็นช่วงเวลานี้เองที่ จอฟฟรีย์แห่งอันจู (Goeffrey of Anjou) ก็เดินทางพร้อมลูกชายชื่อเฮนรี่ (Henry) เพื่อให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 ซึ่งเป็นลอร์ด (Anjou เป็นดินแดนของฝรั่งเศส) ช่วยเหลือในการแย่งชิงบัลลังก์ของอังกฤษ
และนั่นก็เป็นครั้งแรกที่ เอเลนอร์ ได้พบกับเฮนรี่ ซึ่งในเวลาต่อมาจะขึ้นเป็นกษัตริย์เฮนรี่ ที่ 2 ของอังกฤษ
เฮนรี่ซึ่งเขาและเอเลนอร์จะให้กำเนิดกษัตริย์ที่ปัจจุบันเรารู้จักกันดีในพระนาม ริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lionheart) กษัตริย์อัศวินคนสำคัญที่แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของสงครามครูเสด
เขาและเอเลนอร์จะให้กำเนิดกษัตริย์ John Lackland กษัตริย์ที่ถูกบังคับให้ตองลงนามใน กฎบัตร ที่รู้จักกันในชื่อ Magna Carta ซึ่งเป็นรากที่มาของการปกครองในระบบสภาและรัฐธรรมนูญของอังกฤษและอเมริกาในเวลาต่อมา
สำหรับเรื่องราวว่าเอเลนอร์จะทำให้การแต่งงานเดิมเป็นโมฆะได้อย่างไร แล้วเฮนรี่กับเอเลนอร์จะได้อภิเษกสมรสกันได้ยังไง
ติดตามกันต่อในตอนหน้าครับ
ถ้าอยากให้เตือนเมื่อผมลงบทความ คลิป หรือพอดคาสต์ที่ไหน ก็แอดไลน์ไว้ได้ครับ
คลิกที่นี่ https://lin.ee/3ZtoH06 หรือ
add Line: @chatchapol
ปิดท้ายด้วยโฆษณา
สนใจหนังสือที่ผมเขียน ก็ลองเข้าไปเลือกดูได้ตามลิงก์นี้ครับ
อ่านบทความวิทยาศาสตร์และการแพทย์ได้ที่
หรือ
คลิปวีดีโอเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ดูได้จากที่นี่ครับ
โฆษณา