23 มิ.ย. 2020 เวลา 06:24 • ข่าว
ECONOMY : ตลาดสินเชื่อจำนองบ้านของสหรัฐฯ กำลังมีการผิดชำระหนี้สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 ยอดขายบ้านมือ 2 ร่วงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2010 ขณะที่ธนาคารหลายแห่งกำลังมีเงินสดค้างมือเป็นจำนวนมหาศาล
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าการผิดชำระหนี้จำนองบ้านของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2011 โดยมีจำนวนของผู้กู้ยืมที่ผิดชำระหนี้เกิน 30 วันมากกว่า 4.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 723,000 คนจากเดือนก่อน
อ้างอิงจากข้อมูลของบริษัทชั้นนำในด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง Black Knight Inc ระบุว่ามีมากกว่า 8% ของการจำนองทั้งหมดภายในสหรัฐฯ ที่ได้เลยกำหนดชำระหนี้มาแล้ว และบางส่วนกำลังเข้าสู่กระบวนการยึดทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของการผิดชำระหนี้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายังถือว่าน้อยกว่าการเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายนที่ระดับ 1.6 ล้านคน และการนับจำนวนผู้ผิดชำระหนี้จะรวมถึงเจ้าของบ้านที่ไม่ได้จ่ายเงินเนื่องจากมาตรการผ่อนปรนระยะเวลาครบกำหนดชำระหนี้
(มาตรการดังกล่าวจะอนุญาตให้เจ้าของบ้านสามารถเลื่อนการจ่ายหนี้ออกไปได้ถึง 6 เดือนโดยไม่ได้รับบทลงโทษใด ๆ)
ปัจจุบันมีประมาณ 15% ที่ไม่สามารถชำระเงินได้ตามกำหนดก่อนวันที่ 15 มิถุนายน ลดลงจาก 28% ในเดือนพฤษภาคม และ 46% ในเดือนเมษายน
แต่ถึงกระนั้น เส้นทางข้างหน้าก็ยังเต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากการระบาดรอบที่ 2 รวมถึงความไม่แน่นอนอีกหลายอย่างของภาคธุรกิจ
ขณะเดียวกัน เมื่อเรามาดูยอดขายบ้านมือ 2 ภายในสหรัฐฯ ก็จะพบว่ามันได้ร่วงลงไปสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2010 เลยทีเดียว
ยอดขายทั้งหมดลดลง 9.7% จากเดือนก่อน สู่ระดับ 3.91 ล้านหลัง/ปี ส่วนยอดคำสั่งซื้อที่เข้ามาใหม่ลดลงถึง 26.6% ซึ่งถือเป็นการลดลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2008
(อ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมนายหน้าแห่งสหรัฐอเมริกา)
สมาคมยังได้รายงานอีกว่าราคาเฉลี่ยของบ้านนั้นเพิ่มขึ้น 2.3% จากปีก่อน สู่ระดับ 284,000 $/หลัง ขณะเดียวสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น 6.2% จากเดือนก่อนเป็น 1.55 ล้านหลัง แต่ยังลดลง 18.8% หากเทียบกับปี 2019
โดยรวมแล้วยอดขายบ้านมือ 2 ลดลงในทั้ง 4 ภูมิภาคของสหรัฐฯ สำหรับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยอดขายในภูมิภาคตะวันตกลดลง 11.1% และลดลง 8% ในภาคใต้ ส่วนในภาคตะวันตกกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือลดลง 10% และ 13% ตามลำดับ
ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดของ Housing Market ในสหรัฐฯ นั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มคอนโดนิเนียมและตลาดเกษตรสหกรณ์ (Co-op Market) ซึ่งมียอดขายลดลงถึง 12.8% ในเดือนพฤษภาคม สู่ระดับ 340,000 ห้อง(หลัง)
ยอดซื้อสุทธิลดลงถึง 25% จากปี 2019 และยอดขายบ้านครอบครัวเดี่ยวลดลง 9.4% จากเดือนเมษายน สู่ระดับ 3.57 ล้านหลัง
ขณะเดียวกันนี้ ธนาคารหลายแห่งของสหรัฐฯ ต่างก็กำลังถือเงินสดเอาไว้ในมือเป็นจำนวนมหาศาล โดยมียอดการฝากเงินเพิ่มขึ้นถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่มีการระบาดของ Coronavirus เกิดขึ้น
(อ้างอิงจากข้อมูลของ FDIC)
กระแสเงินสดไหลเข้าสู่ธนาคารเป็นจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ โดยในเดือนเมษายน "เพียงเดือนเดียว" มียอดฝากเพิ่มขึ้นถึง 8.65 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าสถิติ "ตลอดทั้งปี" ของปี 2019
การได้มาซึ่งกระแสเงินสดในครั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากการที่รัฐบาลได้ปลดปล่อยมาตรการสนับสนุนหลายแสนล้านถึงหลายล้านล้านดอลลาร์ (Hundreds of billions to trillions) แก่บุคคลและภาคธุรกิจต่าง ๆ
โดยมาตรการดังกล่าวจะมีทั้งรูปแบบของการปล่อยสินเชื่อ การเข้าซื้อพันธบัตรและหุ้นกู้ของกองทุน ETF รวมถึงบริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง และยังมีการแจกเงินฟรี ๆ สำหรับผู้ที่ได้รับสวัสดิการว่างงานอีกด้วย
ประเด็นที่สำคัญคือกว่า 2 ใน 3 ของกระแสเงินฝากทั้งหมด ได้ตกไปอยู่ในมือของ 25 สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ โดยเฉพาะสถาบันที่อยู่บนยอด Top สุดอย่างเช่น JPMOrgan Chase, Bank of America, CitiGroup
"ไม่ว่าจะมองจากมุมมองไหน การขยายตัวครั้งนี้ก็ไม่มีทางเป็นเรื่องปกติไปได้อย่างแน่นอน" Brian Foran จาก Autonomous Research กล่าว
"ธนาคารหลายแห่งกำลังท่วมท้นไปด้วยเงินสด และพวกเขาดูเหมือนเจ้าเป็ดขี้เหนียว Scrooge McDuck ที่กำลังแหวกว่ายในกองเงินเหล่านั้น"
ยอดเงินฝากในธนาคารพาณิชย์สหรัฐฯ ล่าสุดเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 15.4 ล้านล้านดอลลาร์ และยอดการออมเงินของประชาชนสหรัฐฯ ในเดือนเมษายนพุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 33%
ขณะเดียวกัน รายได้สุทธิรายบุคคลนั้นเพิ่มขึ้น 10.5% ซึ่งก็ต้องขอบคุณมาตรการแจกเงิน 1,200 $ รวมถึงผลประโยชน์ของสวัสดิการงาน ซึ่งเป็นการแจกเงินที่โดยรวมแล้วมีจำนวนสูงกว่าเงินเดือนปกติของพวกเขาเสียอีก
Brian Moynihan ผู้บริหารของ Bank of America กล่าวว่าตั้งแต่มีมาตรการสนับสนุนเกิดขึ้น บัญชีที่มีเงินฝากต่ำกว่า 5,000 $ ได้ร่ำรวยขึ้นถึง 40% จากช่วงก่อนเกิดการระบาด
Comment : ปัญหาดังกล่าวนี้ที่เป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่ใช่น้อยเลย เนื่องจากลักษณะของเหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คล้ายคลึงกับในปี 2008 มาก โดยเริ่มจากการผิดชำระหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนลามไปถึงระบบธนาคาร และภาคธุรกิจอื่น ๆ ในที่สุด
ประเด็นคือหนี้สินเหล่านี้ล้วนมีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ในอนาคต ขณะที่ปัญหาของธนาคารในขณะนี้คือ "มีเงินสดมากมายจนไม่รู้จะเอาไปทำอะไร" เนื่องจากเศรษฐกิจในภาค Real Sectors ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้อย่างปกติและสวยงามเหมือนในตลาดหุ้น
ส่วนประชาชนหรือบริษัทที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลก็กลายเป็นว่านำเงินไปฝากแทนที่จะใช้จ่าย เนื่องจากความกังวลเรื่องความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก แม้ว่า FED จะพยายามลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำติดดินแล้วก็ตาม
ธนาคารหลายแห่งถึงกับพูดว่า "ตอนนี้เราไม่สามารถทำอะไรกับเงินฝากเหล่านี้ได้เลย" ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่าธนาคารกำลังมีเงินสดมากกว่าที่พวกเขารู้เสียอีกว่าควรทำอย่างไรกับมัน
World Maker ต้องขอบอกเลยว่า น่าเป็นห่วงอย่างมาก หากการพิมพ์เงินมหาศาลเช่นนี้ ยังไม่สามารถเสริมสภาพคล่องและเรียกความมั่นใจให้กลับคืนมาแก่ตลาดได้ เพราะจะกลายเป็นว่าเงินเหล่านี้ไร้ค่าทันที และสุดท้ายอาจพัฒนาไปสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง (Hyperinflation)
อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องนี้เรายังคงต้องรอดูต่อไปอีกนิด เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าบริษัทหรือบุคคลใดก็ตาม จะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจเพื่อหาเงินชำระหนี้สินได้ทันเวลาหรือไม่?
การกดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม และการติชมในเชิงสร้างสรรค์ของคุณ เป็นกำลังใจให้เราและเหล่าอาชีพนักเขียนทุกคนในการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ขอเชิญทุกท่านร่วมสร้างสังคมการเรียนรู้ที่ดีด้วยกันกับเรา
World Maker
สามารถติดตาม World Maker ผ่านทาง Facebook ได้แล้ววันนี้ที่
โฆษณา