22 มิ.ย. 2020 เวลา 14:01 • ธุรกิจ
มีคนเคยตั้งคำถามกับประเด็นเรื่อง CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) ที่กำลังเป็นประเด็นกันอยู่ในตอนนี้ว่า ในเมื่อประเทศไทยเรานั้นมีข้อตกลงการเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) อยู่แล้วตั้งหลายฉบับทั้งกับเวียดนาม สิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์
และล่าสุดก็กำลังจะมีร่วมกับชิลี และเปรูอยู่อีกด้วย ทำไมจึงยังต้องสนใจที่จะเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP ที่รายละเอียดก็ยังไม่ค่อยชัดเจนกันอีกด้วย ทำไมเราไม่ไปเจรจาระดับทวิภาคีแล้วทำ FTA กับประเทศแคนาดา และเม็กซิโกเพิ่มเอาแค่ 2 ประเทศแทนล่ะ แค่นี้ก็จะครบประเทศกลุ่ม CPTPP แล้ว
อันนี้เท่าที่ผมไปดูข้อมูลมาให้ คือ มันเป็นเรื่องของการกีดกันทางการค้าผ่านทั้งรูปแบบภาษีและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีครับ คือเวลาที่เราได้ยินเรื่องการส่งออก ส่งของไปขายยังประเทศคู่เจรจาของเขตการค้าเสรีนี้ มันจะมีกติกาอยู่ชุดหนึ่ง คือ กฎ Rules of Origin (ROO)
ที่จะคอยเข้ามากำหนด ควบคุมว่าก่อนเราจะส่งของไปขายให้ประเทศคู่ค้าโดยใช้สิทธิกำแพงภาษีศุลกากร 0% นี้ เราได้ใช้วัตถุดิบ ชิ้นส่วน หรือส่วนประกอบที่มีต้นกำเนิด มีแหล่งผลิตมาจากประเทศคู่ค้าของเรามากเพียงพอที่จะเอาไปขายแล้วใช้สิทธิภาษี 0% แล้วหรือยัง
ซึ่งกฎ ROO นี้จะเป็นตัวแปรหลักที่จะชี้ชัดว่าเราสามารถส่งของไปขายให้ประเทศใดบ้างแล้วจะไม่เสียภาษี หรือได้รับสิทธิพิเศษลดกำแพงภาษีให้เหลือ 0% โดยมีเกณฑ์กำหนด หรือระดับเพดานตั้งเอาไว้ว่า สินค้าชนิดไหน จะสามารถถูกส่งไปขายได้ในประเทศคู่ค้าของ FTA ที่เราทำเอาไว้
พูดง่ายๆก็คือ เวลาเรามี FTA หรือทำ FTA ไว้กับประเทศใดประเทศหนึ่งนั้น มันไม่ใช่ว่าเราจะสามารถส่งของทุกอย่างที่เรามีไปขายในประเทศเขาได้ง่ายๆ แล้วเขาจะลดกำแพงภาษีให้เราเหลือ 0% นะครับ แต่เขาจะใช้กฎ ROO นี้เป็นตัวแปรควบคุมแทน ทำให้มีแค่สินค้าบางประเภทเท่านั้นที่เราจะสามารถส่งไปขายในบ้านของคู่สัญญา FTA เราได้
สาเหตุที่เอาไปขายไม่ได้นั้น เพราะกฎ ROO นั้นตั้งกติกาของเกมการค้าเสรี เอาไว้ว่า การที่เราจะส่งของไปขายให้ประเทศคู่ค้าใน FTA ที่เราทำไว้ได้ ของสิ่งนั้น หรือสินค้าชิ้นนั้นๆจะต้องมีถิ่นกำเนิดในประเทศเรา หรือประเทศคู่ค้า FTA ของเราเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น
สมมติ ถ้าเราทำ FTA ไทย-ญี่ปุ่นเอาไว้ แล้วเราอยากจะขายโทรศัพท์ Iphone ให้ญี่ปุ่น 1 เครื่อง กฎ ROO จะคอยกำหนดไว้ว่า Iphone เครื่องนั้น ต้องผลิตขึ้นในไทย หรือมีชิ้นส่วน ส่วนประกอบ วัตถุดิบที่ซื้อมาจากในไทยหรือไม่ก็ในญี่ปุ่นเป็นหลัก ในฐานะที่เรามี FTA กับญี่ปุ่น (JTEPA)
ฉะนั้น เวลาจะขาย เราก็ต้องพิสูจน์ให้เขาได้ว่า Iphone เครื่องนั้นถูกผลิตขึ้นในไทย หรือผลิตโดยส่วนประกอบที่มาจากญี่ปุ่น อย่างน้อย 30% หรือ 40% ของตัวสินค้า (ตามแต่จะกำหนดไว้ในสนธิสัญญา อันนี้แล้วแต่สถานการณ์ว่าจะเป็นเท่าไร) ถ้าพิสูจน์ได้เราก็สามารถส่งไปขายในประเทศเขาได้โดยไม่ต้องติดกำแพงภาษี
อันนี้งงไหมครับ ตามทันไหม อธิบายง่ายๆคือเวลาจะพิสูจน์ จะต้องจับแยกออกมาว่าโทรศัพท์เครื่องนั้น ชิ้นส่วนจำนวน 1,000 กว่าชิ้นที่ประกอบกันขึ้นมา เป็นชิ้นส่วนที่มาจากประเทศใดบ้าง ในจำนวนนั้นเกินกว่า 30% หรือ 40% มาจากในไทย หรือในญี่ปุ่นก็ถือว่าโอเค เอาไปขายได้
ซึ่งพอมันมีไอ้กฎ ROO นี้ขึ้นมา การทำ FTA แบบเป็นคู่ๆ ประเทศใครประเทศมัน แยกเป็นทวิภาคเรื่อยๆ ไทย-เปรู ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-แคนาดา ไทย-เม็กซิโก ก็จะกลายมาเป็นปัญหาผูกคอประเทศไทยทีหลังในอนาคตระยะยาว เพราะสมัยนี้ สินค้าชนิดหนึ่ง หรือสินค้าหลายๆประเภทที่ผลิตกันในอุตสาหกรรมนั้น
มันถูกผูกโยงกับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก หรือ Global supply chain ดังนั้นมันเป็นไปไม่ได้ ที่ถ้าเราอยากขายของให้ได้ปริมาณเยอะๆ เราจะทำ FTA แบบทวิภาคีอย่างเดียวไปเรื่อยๆ เลือกทำเฉพาะบางประเทศอย่างเดียว โดยไม่ได้ทำ FTA ในกรอบใหญ่อย่าง CPTPP หรือ EU ไม่ได้
ผมยกตัวอย่างง่ายๆไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานในไทยมีเยอะใช่ไหมครับ เวลาเราจะผลิตชิ้นส่วนอะไรบางอย่าง หรือผลิตสินค้าชิ้นใหญ่ๆบางชิ้น แล้วเราจะส่งไปขายต่างประเทศ คุณคิดดูว่าชิ้นส่วนภายใน Iphone เครื่องหนึ่งมันมาจากกี่ประเทศ?
ชิพมาจากประเทศไหน ทัชสกรีนหรือจอมาจากประเทศไหน แบตเตอรี่มาจากไหน แผงวงจรที่ถูกผลิตขึ้นและนำมาประกอบเป็น Iphone ในไทยนั้น มาจากประเทศไหน ถ้ายึดตามกฎ ROO นั้น เราแทบจะไม่สามารถส่งของไปขายประเทศคู่ค้าในกรอบ FTA ที่เราทำได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอะไรเลย ถ้าเราทำ FTA แยกประเทศ
เราจะขายของยังไง ถ้าสมมติเราไม่เข้า CPTPP แต่เรามี FTA กับญี่ปุ่น คือ JTEPA และเราตัดสินใจเลือกไปทำ FTA กับแคนาดาเดี่ยวๆแยกเอา สถานการณ์มันจะออกมาในรูปแบบที่ว่าถ้าคุณสามารถขายของบางชิ้นให้ญี่ปุ่นได้โดยไม่โดนกำแพงภาษีของญี่ปุ่น ของชิ้นนั้นที่คุณขายให้ญี่ปุ่นก็อาจจะไปโดนกำแพงภาษีที่อื่น เช่นแคนาดาได้
เช่นเดียวกัน ถ้าเราสามารถขายของให้แคนาดาโดยไม่โดนกำแพงภาษีที่แคนดา ตามกฎ ROO ได้ สินค้าชิ้นนั้นก็อาจจะไปโดนภาษีที่อื่น เช่นญี่ปุ่นได้ เพราะตามกฎ ROO นั้นเขาอาจกำหนดไว้ว่าประเทศคู่ค้าจะขายของให้แก่กันโดยไม่มีกำแพงภาษีได้ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าชิ้นส่วนนั้นมันถูกผลิตขึ้น หรือมาจากในประเทศคู่ค้าของ FTA คู่นั้นๆ อย่างน้อย 30% หรือ 40%
** เพราะเขต FTA มันแยกฉบับกัน ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-แคนาดา
แต่ถ้าเราเข้าเขตการค้าเสรีในกรอบใหญ่ สถานการณ์มันจะกลายเป็นคนละม้วนเลย กฎ ROO นั้นสามารถนับรวมวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วน ส่วนประกอบของสินค้าที่เราผลิตขึ้นได้ สมมติใน CPTPP กำหนดไว้ว่าสินค้าที่จะส่งไปขายให้ประเทศเหล่านี้นั้น ต้องมีถิ่นกำเนิด ต้องผลิตขึ้นในกลุ่มประเทศ CPTPP อย่างน้อย 30% อะไรอย่างนี้
สินค้าจากไทยชิ้นไหนที่มีชิ้นส่วน มีส่วนประกอบ มีวัตถุดิบที่ถูกนำเข้ามาจากมาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา หรือเม็กซิโก หรือในจำนวน 11 ประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกของ CPTPP ก็จะสามารถส่งไปขายได้ นี่คือข้อได้เปรียบของการทำ FTA ในกรอบใหญ่ครับ เรียกว่ากรอบพหุภาคี (multilateralism)
ถ้าเรามี CPTPP กับ 11 ประเทศนั้น โอกาสที่เราจะใช้ประโยชน์จากกฎ ROO มันจะมีสูงขึ้น และง่ายขึ้นครับ เพราะเราจะไม่ต้องกังวลเรื่องการคำนวน 30% หรือ 40% อะไรมากเท่ากับตอนทำ FTA แบบทวิภาคี คู่ใครคู่มัน เพราะกรอบ FTA มันใหญ่ขึ้น ถ้าเราอยากส่ง Iphone ไปขายที่มาเลเซียซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก CPTPP
แต่เราไม่มีชิ้นส่วนที่ผลิตในมาเลเซียถึง 30% หรือ 40% เราก็ยังสามารถส่ง Iphone ไปขายได้ เพราะเราอยู่ในกรอบ FTA เดียวกับที่มาเลเซียอยู่ คือ CPTPP เราสามารถผลิต Iphone ที่มีชิ้นส่วนมาจากเวียดนาม 10% มาจากญี่ปุ่น 10% มาจากแคนาดา 20% มาจากมาเลเซีย 5% ก็ยังได้ ขอแค่ให้รวม % เหล่านั้นให้ครบ 30% หรือ 40% ตามกฎ ROO ก็พอ
ข้อเสียของ CPTPP สามารถอ่านประกอบได้จากเพจ BIOTHAI และ FTA WATCH เป็นหลักนะครับ เพราะทางฝ่ายนั้นเขาเขียนอธิบายไว้ดีอยู่แล้ว ผมคงไม่มีเวลาเอามาเขียนให้ ผมมีหน้าที่แค่ช่วยเสนอข้อมูลอีกชุด อีกด้านให้ทางผู้อ่านได้นำมาศึกษาเปรียบเทียบระหว่างข้อดี ข้อเสียกันเฉยๆ จะ Yes หรือจะ No อย่างไรแล้วแต่วิจารณญาณครับ
ผมนำข้อดี หรือข้อสนับสนุนมาให้อ่านนี้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งจะมีแต่ข้อเสียอย่างเดียว และอีกอย่างข้อมูลมันเยอะ ก็เข้าใจว่าหลายๆคนอาจจะไม่มีเวลาอ่านกัน พอดีผมมีข้อมูลจึงนำมาย่อยเป็นสารง่ายๆ แล้วช่วยเผยแพร่ให้ ไม่มีเจตนาจะบังคับให้ใครเชื่อแต่อย่างใด เพราะผมไม่สามารถบังคับให้ใครเชื่อได้อยู่แล้ว
References
1. บทความจาก The Standard ชื่อ "ทำไมต้อง CPTPP? แค่ทำ FTA กับแคนาดาและเม็กซิโกเพิ่มไม่พอหรือ?"
2. บทความจาก Economic Times ชื่อ "Trade pacts under lens as India seeks to check Chinese imports"
3. บทความจาก Lexology ชื่อ "The impact of rules of origin on a potential EU / UK FTA"
4. บทความจาก Institute for Government ชื่อ "Trade: rules of origin"
โฆษณา