26 มิ.ย. 2020 เวลา 07:30 • สุขภาพ
ตากุ้งยิง 👁
.
ตากุ้งยิง (stye หรือ hordeolum) สามารถพบได้ทุกอายุ ทุกเพศ เป็นการอักเสบของต่อมไขมันบริเวณฐานของขนตา ใต้เปลือกตา โดยมีอาการบวม แดง ร้อน และอาจมีอาการปวด แต่ไม่เป็นอันตรายต่อสายตา
.
สาเหตุที่ทำให้เกิดกุ้งยิง กุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคที่เรีย บางรายเกิดเนื่องจากมีการอุดตันของต่อมบริเวณเปลือกตานำมาก่อน แล้วเกิดการติดเชื้อซึ่งมีอยู่เป็นปกติในบริเวณนั้นตามมา สาเหตุที่ทำให้เกิดติดเชื้อได้ง่ายได้แก่
1.เปลือกตาไม่สะอาด มักเกิดจากการขยี้ตาบ่อย ๆ
2.ใช้เครื่องสำอาง แล้วล้างออกไม่หมดหรือล้างไม่สะอาด
3.ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด
.
อาการ
ปวดหนังตา กลอกตาหรือหลับตาจะทำให้ปวด บางคนมีอาการบวมที่เปลือกตา คลำได้ก้อนหรือเห็นเป็นก้อนที่เปลือกตา บางคนบวมมากจนตาปิด บางคนมีหนองไหลออกจากเปลือกตา หากหนองแตกในตาจะทำให้มีขี้ตาเป็นสีเขียว น้ำตาไหล บางรายมีอาการคันที่ตา เหมือนมีสิ่งแปลกปลอม บางคนมีอาการแพ้แสงแดด
** ตากุ้งยิงเกิดได้ทั้งบริเวณเปลือกตาบน และล่าง
แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. ชนิดหัวหนองอยู่ภายนอก
2. ชนิดหัวหนองหลบอยู่ภายใน
.
การรักษา
🌟 หากสงสับว่าเป็นตากุ้งยิงให้รับรักษาโดยเร็ว เพราะในระยะแรกจะมีลักษณะแบบเปลือกตาอักเสบ ยังไม่มีหนอง ถ้าได้ใช้ยาทันท่วงที และใช้น้ำอุ่นประคบบริเวณที่เป็น จะทำให้ไม่เกิดการรวมตัวเป็นฝีขึ้น กุ้งยิงก็จะหายได้โดยการใช้ยาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องผ่าฝี
** การใช้ยา ควรได้รับการตรวจและจัดยาโดยแพทย์หรือเภสัชกร ยาที่ใช้มักเป็นยาปฏิชีวนะหยอดตาป้ายตา และบางรายอาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะรับประทานร่วมด้วย
🌟🌟 ในรายที่เป็นฝีหรือตุ่มเป็นไตขึ้นมาแล้วจำเป็นต้องให้จักษุแพทย์ทำการผ่าฝีและขูดบริเวณนั้นออกให้สะอาดจริง ๆ ร่วมกับการใช้ยา เพื่อรักษาให้หายขาดและไม่ให้เป็นซ้ำอีก ในบางรายอาจเป็นซ้ำได้ถ้าหนองยังออกไม่หมด หรือการอักเสบยังไม่หายดี
.
การผ่าตัดระบายหนอง
จักษุแพทย์จะใช้ยาชาหยอดตาให้ชา และใช้ยาชาเฉพาะที่ฉีด ดังนั้นขณะที่ทำคนไข้จะไม่เจ็บ หลังการเจาะกุ้งยิง แพทย์มักปิดตาข้างนั้นไว้เพื่อไม่ให้เลือดออก และช่วยลดอาการบวมประมาณ 4-6 ชั่วโมง
⚠️ ไม่ควรขับรถในช่วงนั้นเพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ถ้ามีอาการปวดเจ็บบริเวณที่เป็น ให้รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอลครั้งละ 1-2 เม็ดทุก 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
.
การดูแลตนเองถ้าเป็นกุ้งยิง
1. ประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นหรือไข่ต้มสุกห่อผ้าสะอาดบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-20 นาที่
เป็นเวลา 3-4 วัน เพื่อช่วยลดอาการบวม เจ็บ และเป็นการทำให้รูเปิดของต่อมเปลือกตาไม่อุดตัน ในขณะทำการประคบให้หลับตาไว้
2. ล้างมือบ่อยๆ
3. งดทาเครื่องสำอางบริเวณดวงตา เปลือกตา ขนตา
4. หลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์
5. ⚠️ ไม่ควรบีบหนองที่เปลือกตาเอง เพราะอาจทำให้อักเสบมากขึ้น
.
วิธีป้องกัน คือ พยายามรักษาความสะอาด ไม่เอามือสกปรกไปขยี้ตารักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าและเส้นผม สระผมบ่อย ๆ อย่าให้ผมแยงตา และเมื่อสงสัยหรือเริ่มมีอาการ ก็ควรรีบมาปรึกษาแพทย์/เภสัชกร โดยเร็ว
อ้างอิง
1. คณะอนุกรรมการวิชาการ ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย. ตากุ้งยิง (Stye, Hordeolum). เข้าถึงได้ที่ http://eyebankthai.redcross.or.th/?page_id=679
2. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ. ตากุ้งยิง. 6 ต.ค. 62. เข้าถึงได้ที่ https://www.bangkokhealth.com/health/article/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%87-1450
โฆษณา