3 ก.ค. 2020 เวลา 04:57
เปลี่ยนความคิด ชีวิต (หลายคน) เปลี่ยน
หลายคนคงอยู่ในสถานการณ์ที่ดูอึมครึม มองไปทางไหนก็ดูจะมืดมน ร้านอยู่ทำเลไม่ดี ทุนก็น้อย จะขยับขยายอะไรก็คงยาก ขายอาหารคิดอะไรใหม่ไม่ค่อยออก ดูไปก็เหมือนๆคนอื่นไปหมด และในสภาวะหลังโควิดที่อะไรๆหดตัวลง average is over ทำอะไรได้แค่ปานกลางนั้นก็อาจจะไม่รอด ในวันที่ทรัพยากรที่มีก็จำกัดเหลือเกิน อะไรคือหัวใจหลักที่สำคัญที่สุดที่อาจจะสร้างความแตกต่างได้
ผมมีเรื่องที่อ่านจากหนังสือ made to stick มาเล่าเผื่อเป็นไอเดียให้ฟังกันครับ เป็นเรื่องเล่าของโรงอาหารทหารสหรัฐสมัยสงครามอิรัก..
……………
โรงอาหารทหารไม่ว่าที่ไหนในโลก พอนึกภาพทหารทุกคนก็จะนึกได้เหมือนกันหมดว่าเป็นสถานที่ที่กินกันตาย รีบกินรีบไป อาหารก็จะทำสุกๆไว้ก่อน ทำแบบฝีมือลวกๆ คล้ายๆอาหารโรงเรียน โรงอาหารทหารมีหน้าที่หลักแบบพื้นฐานคือทำให้ทหารอิ่มแล้วได้ไปรบต่อ
แต่ในสมัยสงครามอิรัก มีโรงอาหารแห่งหนึ่งชื่อ pegasus show hall เป็นโรงอาหารที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากว่าอาหารที่นี่อร่อย เมนูแต่ละอย่างถูกทำอย่างพิถีพิถัน สเต๊กถูกย่างในระดับภัตตาคาร ผลไม้ก็ถูกจัดบรรจง คัดเลือกวางเหมือนกินที่ร้าน บรรยากาศเหมือนกินอยู่ที่บ้านเกิด ชื่อเสียงของโรงอาหารนี้ดังขนาดที่ว่าทหารหลายคนยอมขับรถจากพื้นที่ปลอดภัยมาโรงอาหารนี้ที่อยู่ในโซนค่อนข้างอันตรายเลยด้วย
มีคนพยายามหาคำตอบว่าทำไมถึงเกิดโรงอาหารที่แสนพิเศษนี้ขึ้นมาได้ จากข้อมูลพื้นฐานทั่วไป โรงอาหารนี้อยู่ในทำเลที่อันตราย แย่กว่าคนอื่นด้วยซ้ำ วัตถุดิบอะไรก็เหมือนกับคนอื่น ไม่ได้มีเนื้อพิเศษ หรืองบพิเศษอะไรเลย แต่พอศึกษาไปเรื่อยๆก็พบว่าทุกอย่างเริ่มต้นมาจากพ่อครัวคนเดียวที่ชื่อ ฟลอยด์ ลี
ประวัติของฟลอยด์ ลีก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น เขาเป็นพ่อครัวของกองทัพที่เกษียณอายุไปแล้วด้วยซ้ำ ก่อนเกษียณก็ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรเลย แต่พอมีคนไปคุยกับฟลอยด์ ก็พบว่าเขาตื่นเต้นมากที่ได้มาทำงานที่อิรัก เพราะเกษียณไปนานแล้วอยู่บ้านแบบไร้ความหมาย พอกองทัพขาดคนก็ต้องไปตามคนที่เกษียณมาช่วยงาน เขารีบรับงานนี้โดยทันที
พอได้ “โอกาสครั้งที่สอง” และน่าจะเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของชีวิต ฟลอยด์ก็เลยตั้งใจจะไว้ลายฝากชื่อเสียงไว้อย่างเต็มที่ ฟลอยด์เข้าใจดีถึงสภาพของพลทหารที่ต้องทำงานหนัก ทำเจ็ดวันไม่ได้หยุด เสี่ยงตาย อากาศก็ไม่ดี ทุกคนคิดถึงบ้าน อยากกลับบ้านทั้งสิ้น ฟลอยด์เลยตั้งเป้าในใจ ไม่เหมือนที่เขาทำมาทั้งชีวิตแค่ทำอาหารให้คนอิ่ม แต่เที่ยวนี้เขาตั้งเป้าใหม่ เขาตั้งว่า
….I am not just in charge of food service ; I am in charge of morale…
พอเปลี่ยนโจทย์ ความคิดก็เปลี่ยน พอความคิดเปลี่ยนก็เกิดคำถามกับสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันว่าเป็นแค่ทำอาหารกินกันตาย หรือทำให้ทหารฮึกเหิมหายคิดถึงบ้าน พอคิดอยากทำให้ทหารหายคิดถึงบ้านแล้ว ความคิดท่าเดิมก็เปลี่ยน จินตนาการใหม่ก็เริ่มเกิด คำถามใหม่ๆก็เริ่มมีว่า แล้วอะไรล่ะที่จะทำให้ทหารหายคิดถึงบ้าน คำถามเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อความคิดเริ่มต้นเปลี่ยนไป
ในโถงอาหารก็เริ่มการประดับประดาด้วยของที่ทำให้เหมือนอยู่บ้าน มีป้ายทีมกีฬา ปรับไฟให้ได้บรรยากาศ มีการตกแต่งที่เหมือนกินที่ร้านในอเมริกา คนเสริฟก็แต่งตัวดูเป็นมืออาชีพมากๆรวมถึงใส่หมวกเชฟสูงๆด้วย อาหารอร่อยที่ขึ้นชื่อของ pegasus chow hall ก็ไม่ได้มีวัตถุดิบต่างๆจากที่อื่น เมนูก็ถูกบังคับให้เหมือนกับที่อื่น แต่ที่ต่างคือทัศนคติและเป้าหมายที่เปลี่ยน เวลาผลไม้มาเป็นเข่งๆ ทีมงานที่นี่ก็จะค่อยๆคัด เอาแต่ของดีมาเสริฟ จัดให้อยู่ในรูปทรงที่ดี ของหวานก็เอาวัตถุดิบมาพลิกแพลงในมีเค้กหลายๆแบบ ของหวานหลายๆทางเลือก เนื้อหรือซี่โครงก็เอาไปหมักก่อนสองวัน
ฟลอยด์ ลี พยายามหาสูตรใหม่ๆ สั่งเครื่องปรุง เครื่องเทศพิเศษมาจากนิวออร์ลีนส์ ที่ที่ดังที่สุดในเรื่องซี่โครงย่าง ทุกอย่างถูกปรุงอย่างพิถีพิถัน ให้ความรู้สึกเหมือนกินอยู่บ้าน ทหารที่มากินที่นี่นอกจากอาหารอร่อยแล้ว ความรู้สึกผูกพันเสมือนได้กลับบ้านก็กระทบใจมาก คงเหมือนกับเวลาที่เราไปประเทศลำบากๆนานๆ แล้วได้เดินเข้าร้านอาหารไทยแล้วได้กินกะเพราะอร่อยๆกับฟังเพลงไทย พูดภาษาไทย ก็คงฟินประมาณนั้น
ทหารทุกคนที่ฝ่าดงอันตรายมากินที่นี่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เวลาที่อยู่ในโรงอาหารนี้ ทำให้ลืมไปเลยว่าอยู่ที่อิรัก เป็นความรู้สึกที่ฟลอยด์ ลี ทำได้ตามสิ่งที่เขาตั้งใจไว้จนโรงอาหารธรรมดาในโซนอันตรายกลายเป็นสถานที่ที่โด่งดังแห่งหนึ่งในสมัยสงครามนั้นได้
ฟลอยด์ ลี เข้าใจถึงแก่นแห่งความแตกต่างว่า การเสริฟอาหารให้อิ่มนั้นก็หน้าที่ แต่การทำให้ทหารมีขวัญกำลังใจที่ดีขึ้นเป็นพันธกิจร่วมกัน การทำให้ทหารมีขวัญกำลังใจนั้นต้องการความคิดสร้างสรรค์ การทดลองและความพยายามที่จะทำให้ดีที่สุด ในขณะที่การเสริฟอาหารให้พอกินอิ่มนั้นไม่ได้มีอะไรนอกจากเอาวัตถุดิบใส่เตาและตักอาหารใส่จานเท่านั้นเอง
………….
การกำหนดเป้าหมายใหม่ที่มากกว่าหน้าที่พื้นฐานนั้น เป็นการสร้างแรงบันดาลใจเป็นอย่างดียิ่งให้กับทีมงานที่จะพาไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และเป็นหนทางในการแสวงหาความแตกต่างของเราในสภาวะที่ขัดสนทางทรัพยากรและไม่ได้มีความต่างใดๆในเรื่องอื่นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง
…และถ้าผมพอจะเรียนอะไรจากฟลอยด์ ลี ก็จะตั้งข้อสังเกตว่า วิธีคิดและความเชื่ออะไรที่สูงกว่าหน้าที่พื้นฐานนั้น มันต้องเริ่มต้นจากผู้นำก่อนใครในทีมที่ต้องเชื่อจริงๆก่อนด้วยนะครับ
โฆษณา