4 ก.ค. 2020 เวลา 02:48 • ศิลปะ & ออกแบบ
เรื่องเล่าชมรมศิลป์ Ep.1 : มุกจีบสาว
[ Part 1 – Botticelli Face ]
“มีใครเคยบอกมั้ยว่าคุณมีใบหน้าที่งดงามราวกับภาพวาดของบอตตีเชลลี แถมรูปร่างยังถอดแบบมาจากงานของเดอกาส์”
ประโยคจีบสาวที่ (ดูเหมือนจะ) โรแมนติกนี้ ชวนให้ผมแอบนึกในใจว่าหากเอามาใช้ในพ.ศ.นี้ นอกจากจะต้องกินแห้วแล้ว ยังอาจจะโดนมองบน หรือคิดว่าไอ้นี่คงสติไม่ดีเท่าไร
เว้นเสียแต่ว่าผู้พูดจะหน้าตาหล่อเหลาเจ้าเสน่ห์ แถมยังมีดวงตาวิบวับและรอยยิ้มทรมานใจสาว อย่าง ‘แจ็ค เจอริโค’ หนุ่มหล่อในภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้เรื่อง The Pick-up Artist (1987) ซึ่งรับบทโดย โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ในวัยกระเตาะ
แต่วันนี้ผมไม่ได้จะมาชวนดูหนังหรอกครับ 😎 เพราะเราจะมาแกะรอยความงาม ตามที่พ่อหนุ่มจอมจีบดะคนนี้ได้เอ่ยไว้ต่างหาก...
1
ขอต้อนรับเข้าสู่ชมรมศิลปะนอกเวลาครับ :)
[ ความงามแบบ บอตตีเชลลี ]
แม้ว่าอาจจะไม่คุ้นกับชื่อของบอตตีเชลลี (Sandro Botticelli) แต่เชื่อว่าเพื่อน ๆ คงเคยเห็นงานของเขามาแล้วอย่างน้อย ๆ ก็หนึ่งชิ้นล่ะครับ
พูดง่าย ๆ ว่า หากลีโอนาร์โด ดาวินชี่ มี ‘โมนาลิซ่า’ บอตตีเชลลีก็มี ‘วีนัส’ เป็นภาพสะท้อนความงามของอิสตรี
ภาพกำเนิดวีนัส หรือ ‘The Birth of Venus’ (ค.ศ. 1485) เป็นผลงานของบอตตีเชลลี ซึ่งถือได้ว่าเป็นความงามในอุดมคติตามแบบฉบับของอิตาเลียนเรอเนสซองส์
"Birth of Venus" (c.1485) ทางซ้ายของภาพคือเซไฟรัส เทพแห่งลมตะวันตก ในอ้อมแขนของเขาคือออรา ผู้เป็นสัญลักษณ์ของสายลมเบาบาง ทั้งสองเป่าให้วีนัสที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นและลอยจากทะเลบนเปลือกหอยมาเกยฝั่ง โดยทางขวาของภาพมีโฮแรผู้เป็นเทพีแห่งเวลาและฤดูกาลนำผ้าคลุมมาเตรียมรับ
ในยุคนั้นนอกเหนือจากการถ่ายทอดเรื่องราวของศาสนาแล้ว ยังนิยมการหยิบยืมเรื่องราวของตำนานเทพกรีกและโรมันต่าง ๆ มาใช้ในงานศิลปะเพื่อสื่อความหมาย หรือเป็นคติสอนใจให้กับผู้ชม
บอตตีเชลลีเองก็มีงานประเภทนี้อยู่ไม่น้อย ตัวอย่างเช่น ภาพฤดูใบไม้ผลิ ‘Primavera’ (ค.ศ.1482) หรือเทพ ‘Venus and Mars’ (ค.ศ. 1485)
"Primavera" (c.1482) ทางซ้ายของภาพ คือ เทพเมอร์คิวรี และไตรเทพีชาริทีส กลางภาพคือวีนัส เหนือศีรษะของเธอคือคิวปิด ส่วนทางขวาของภาพคือฟลอราเทพีแห่งฤดูใบไม้ผลิ ด้านหลังของเธอคือนิมฟ์คลอริส และเซไฟรัส เทพเจ้าแห่งลม // ความหมายของภาพสื่อถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเข้าสู่ใบไม้ผลิ ซึ่งเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์
"Venus and Mars" (c.1485) ภาพของวีนัส เทพีแห่งความรักกำลังมองดู มาร์ส เทพเจ้าแห่งสงครามที่หมดแรงหลับไหลอยู่ โดยมีเหล่าเซเทอร์เด็ก ๆ (คนครึ่งแพะ) คอยเย้าแหย่อยู่ใกล้ ๆ (เซเทอร์เป็นสัญลักษณ์ของพลังทางเพศของชาย) ภาพนี้จึงสื่อความหมายถึงการเฉลิมฉลองการแต่งงานนั่นเอง
ส่วนตัวผมเองได้เคยมีโอกาสไปชมงานจริง ๆ ที่ยกตัวอย่างมาทั้งสามชิ้นนี้ โดยงานสองชิ้นแรกอยู่ที่ Uffizi Gallery ในเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี และชิ้นหลังอยู่ที่ National Gallery ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ความรู้สึกแรกพบเรียกได้ว่า...ดั่งต้องมนต์สะกด ด้วยความงามที่สะท้อนออกมานี้ไม่ใช่ความงามแบบมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ที่ลักษณะภายนอกล้วนมีจุดบกพร่องตามสังขารในธรรมชาติ แต่เป็นความงามแบบอุดมคติ ที่อาจพบก็เพียงในเหล่าทวยเทพเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าที่ดูอ่อนเยาว์ไร้กาลเวลา รูปร่างที่โค้งมนนุ่มนวล และอารมณ์ที่ดูสงบอ่อนโยน ประดุจพอร์ซเลนที่ผุดผ่องไร้ราคี
แล้วเบื้องหลังใบหน้าเหล่านี้ มีใครกันหนอ…ที่เป็นต้นแบบความงามของบอตตีเชลลี?
[ นางผู้เป็นแรงบันดาลใจ ]
"Portrait of a Woman" (c.1490) โดย Piero di Cosimo เป็นภาพที่ "คาดว่า" เป็นภาพของซิโมเนตต้า
นางเอกของเราผู้นี้มีชื่อว่า ซิโมเนตต้า เวสปุชชี (Simonetta Vespucci) ความงามของเธอนั้นเทียบได้ว่าเป็น ‘บิวตี้ ไอคอน’ แห่งยุคสมัย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินนักวาดภาพในฟลอเรนซ์มากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือ บอตตีเชลลี
อ้อ! หากใครที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์อาจจะรู้สึกคุ้น ๆ กับนามสกุล เวสปุชชี ใช่ไหมครับ
นั่นเป็นเพราะ ซิโมเนตต้า เวสปุชชี คือภรรยาของลูกพี่ลูกน้องห่าง ๆ ของนักสำรวจชาวอิตาลีผู้ยิ่งใหญ่อันมีนามว่า อเมริโก เวสปุชชี (Amerigo Vespucci) ผู้ค้นพบ ‘โลกใหม่’ ซึ่งต่อมาได้รับชื่อว่าทวีปอเมริกา เพื่อเป็นเกียรติแก่เขานั่นเอง
ความงามของซิโมเนตต้านั้นเป็นที่เลื่องลือและมีผู้หมายปองมากมาย แต่คนที่คว้าเธอไปครองได้สำเร็จคือ มาร์โก เวสปุชชี ผู้มาจากตระกูลที่กว้างขวางในเมืองฟลอเรนซ์และมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับตระกูลเมดิชี่ (Medici) ที่ร่ำรวยและมีอำนาจ
แม้ว่าจะพรั่งพร้อมด้วยรูปสมบัติ เงินทองและอำนาจ แต่สิ่งเหล่านี้ก็มิอาจนำมาใช้ต่อรองกับเทพแห่งความตายเมื่อเวลานั้นมาถึง
สำหรับซิโมเนตต้านั้น ช่วงเวลาบนโลกของเธอช่างแสนสั้น ในปีค.ศ.1476 วัณโรคก็ได้พรากเอาชีวิตไปจากเธอ เมื่อมีอายุเพียง 22 ปี
ย้อนกลับมาที่ภาพวีนัสของบอตตีเชลลี เมื่อดูจากช่วงเวลาแล้วเราจะพบว่า ภาพนี้ถูกวาดขึ้น หลังจากที่ซิโมเนตต้าได้จากโลกไปแล้วถึง 10 ปี
แม้ว่าคนในยุคนั้นจะยืนยันว่ามีความคล้ายคลึงกับเธอ แต่การที่จะมั่นใจว่า ‘ต้นแบบ’ ของใบหน้าที่งดงามเหล่านั้นคือซิโมเนตต้าจริง ๆ ก็อาจจะฟังดูแปลกอยู่สักหน่อยใช่ไหมครับ
ใบหน้าในงานชิ้นต่าง ๆ ของบอตตีเชลลี ที่คาดว่ามีต้นแบบมาจากซิโมเนตต้า
หากจะให้หาเหตุผลที่จับต้องได้ ตามที่นักประวัติศาสตร์ศิลปะยุคหลังได้กล่าวไว้ ก็อาจจะเป็นความเชื่อในแบบโรแมนติกของผู้คนในยุคเรอเนสซองส์ ที่มีต่อความงามของสตรีที่ขึ้นชื่อว่าสวยที่สุดแห่งยุคว่าเธอนั้นคือแรงบันดาลใจของบอตตีเชลลีผู้วาดภาพได้งดงามที่สุดเช่นกัน
ไม่ว่าจะอย่างไร ความงามของเธอก็ถูกบันทึกเอาไว้ผ่านคำเล่าขาน…ด้วยใบหน้าของเทพปกรณัมบนผืนผ้าใบ และเป็นมาตรฐานความงามของอิสตรีที่แม้จะผ่านกาลเวลามากว่า 500 ปีแล้ว ก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย
ปิดท้ายด้วยภาพจากหนัง "The Pick-Up Artist" นางเอกในเรื่องคือ มอลลี่ ริงวอลด์ ขวัญใจวัยรุ่นยุค 80 ดู ๆ ไปเธอก็มีใบหน้าแบบบอตตีเชลลีอยู่เหมือนกันนะครับ :)
โปรแกรม Adobe Illustrator ก็ใช้ภาพ Birth of Venus ของบอตตีเชลลี มาทำการตลาดตั้งแต่ปี 1987 - 2003 โดยรายละเอียดของใบหน้ามีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย
ขอจบพาร์ทแรกในส่วนของบอตตีเชลลีไว้ตรงนี้นะครับ พาร์ทหลังเราจะขึ้นไทม์แมชชีนไปอีกราว ๆ 400 ปีข้างหน้าที่ศตวรรษ 19 เพื่อตามแกะรอยความงามของรูปร่างในแบบเดอกาส์ด้วยกัน จะเป็นแบบไหนนั้นโปรดติดตามนะครับ 😊😊
ปล. วันนี้ไม่มีเพลงนะครับ ขอเอาไว้ปิดท้ายเรื่องเลยทีเดียวครับ 🎶
Photo :
Wikimedia Commons
Pinterest

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา