4 ก.ค. 2020 เวลา 11:00 • กีฬา
ECW ค่ายต้นแบบมวยปล้ำฮาร์ดคอร์ ที่พังเพราะทำธุรกิจแบบไม่สนเงิน
เมื่อนึกถึงกีฬามวยปล้ำ เชื่อว่าแฟนมวยปล้ำชาวไทยหลายคน ยังติดใจภาพความทรงจำในวันเก่าๆ ยุคที่กีฬามวยปล้ำยังไม่ใช่ความบันเทิงเพื่อทุกคนในครอบครัว
ช่วงเวลาที่นักมวยปล้ำหวดกันด้วยเก้าอี้ อย่างไม่กลัวตาย แบบเล่นจริง แตกจริง และสนุกจริง ที่หาชมได้ยากยิ่งในทุกวันนี้
แต่ก่อนที่รูปแบบการปล้ำฮาร์ดคอร์ จะโด่งดังและมีชื่อเสียงไปทั่วโลกภายใต้การนำเสนอของ WWE หรือ WWF
ในสมัยก่อน เคยมีค่ายมวยปล้ำอีกแห่งที่ดิบเถื่อน หยาบคาย และรุนแรงมากกว่า ที่สำคัญพวกเขาคือต้นฉบับมวยปล้ำฮาร์ดคอร์ตัวจริง ที่ WWE ลอกเลียนแบบมา จนประสบความสำเร็จในภายหลัง
เราขอพาทุกท่านย้อนเวลาไปทำความรู้จักกับ ECW ค่ายมวยปล้ำขนาดเล็ก แต่ใจใหญ่ที่บ้าบิ่นกล้าทำในสิ่งที่ไม่มีใครกล้า
แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยลมหายใจ และล่มสลายด้วยการถูกฟ้องล้มละลาย กลายเป็นเพียงตำนานที่ถูกเล่าขาน ในฐานะสมาคมต้นกำเนิดรูปแบบการปล้ำฮาร์ดคอร์ ที่ส่งอิทธิพลจนเปลี่ยนโลกมวยปล้ำไปตลอดกาล
แนวทางที่แตกต่าง
ก่อนที่ ECW จะกลายมาเป็นต้นฉบับมวยปล้ำฮาร์ดคอร์อย่างในปัจจุบัน พวกเขาเคยเป็นค่ายมวยปล้ำธรรมดาเหมือนดั่งสมาคมอื่นทั่วโลก ภายใต้ชื่อ Eastern Championship Wrestling จากการมีถิ่นฐานตั้งอยู่ในฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลวาเนีย เมืองขนาดใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา
Photo : 1WrestlingVideo
จุดเปลี่ยนของ ECW มาถึงในปี 1993 เมื่อ ท็อด กอร์ดอน (Tod Gordon) นักธุรกิจท้องถิ่นผู้เป็นเจ้าของค่าย ตัดสินใจว่าจ้าง พอล เฮย์แมน (Paul Heyman) อดีตผู้จัดการนักมวยปล้ำของค่าย WCW ที่มีประสบการณ์ทำงานในธุรกิจมวยปล้ำมาอย่างโชกโชน
ความแตกต่างของ พอล เฮย์แมน กับผู้บริหารค่ายมวยปล้ำรายอื่น คือเขาผลักดันตัวเองและธุรกิจด้วยความเกลียดชัง เขาถูกไล่ออกจาก WCW ทั้งที่สร้างผลงานได้น่าประทับใจ เนื่องจากปัญหาหลังฉากกับ เอริค บิสชอฟ (Eric Bischoff) ผู้บริหารหมายเลขหนึ่งของ WCW
ความเจ็บปวดที่ฝังใจในอดีต แปรเปลี่ยนทัศนคติของเฮย์แมนที่มีต่อวงการมวยปล้ำ เขาเกลียดทุกอย่างที่เป็น WCW การปฏิบัติกับนักมวยปล้ำเหมือนเป็นแค่สัตว์เลี้ยง, ความทะเยอทะยานที่จะก้าวเป็นหมายเลขหนึ่ง ด้วยการทุ่มซื้อซูเปอร์สตาร์ และการปรับปรุงภาพลักษณ์ให้ดูหรูหราและมีราคา เฮย์แมนจะทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ ECW มีสภาพแบบนั้น
สิ่งแรกที่เฮย์แมนทำกับ ECW คือการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์นักมวยปล้ำเสียใหม่ เพื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไปในยุค 90’s เขาสร้างแท็กทีมชื่อว่า The Public Enemy ที่ได้แรงบันดาลมาจากวัฒนธรรมฮิปฮอปในอเมริกา ในฐานะนักมวยปล้ำอารมณ์ดีจากฝั่ง East Coast (อีสต์ โคสต์) ก่อนเปิดศึกกับทีม The Gangstas ที่รับบทบาทเป็นนักมวยปล้ำแก๊งสเตอร์ฮิปฮอปจากฝั่ง West Coast (เวสต์ โคสต์)
1
ไม่ใช่แค่นักมวยปล้ำแบบทีมที่ พอล เฮย์แมน เข้ามารื้อระบบ เขาเริ่มนำเอา นักมวยปล้ำเดี่ยวที่น่าสนใจเข้ามาสู่ ECW ไม่ว่าจะเป็น แทซ (Tazz) นักมวยปล้ำคนป่าผู้ดุดัน, ซาบู (Sabu) นักสู้อาหรับจอมเหินหาว, แซนด์แมน (Sandman) คนบ้าขี้เมาที่ชอบเอากระป๋องเบียร์โขกหัวตัวเองจนแตก และ ทอมมี่ ดรีมเมอร์ (Tommy Dreamer) นักมวยปล้ำหัวใจนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา
1
Photo : sportskeeda.com
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือนักมวยปล้ำที่พอล เฮย์แมน ดึงเข้ามาสร้างสีสันใน ECW ไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์ที่น่าจดจำ แต่ยังรวมถึงรูปแบบการปล้ำที่ลืมไม่ลง
1
แฟนมวยปล้ำทั่วโลกเรียนรู้จาก ECW ว่า สิ่งรอบตัวสามารถนำมาใช้เป็นอาวุธบนเวทีมวยปล้ำได้ เก้าอี้, โต๊ะ, ไม้เคนโด, บันไดเหล็ก, ลวดหนาม หรือแม้กระทั่งถังขยะ ECW หยิบจับทุกอย่าง เพื่อสร้างความสะใจแก่แฟนมวยปล้ำในสนามแข่งขัน
ความแปลกใหม่ของ ECW ไม่ได้จำกัดแค่ตัวนักมวยปล้ำ พอล เฮย์แมน สร้างสรรค์แมตช์การปล้ำรูปแบบใหม่ เพื่อดึงดูดแฟนมวยปล้ำให้เขามารับชม ECW มากขึ้น
แมตช์มวยปล้ำสามเส้า (Three Way Dance) แมตช์แรกของโลกเกิดขึ้นที่นี่ ยังไม่รวมแมตช์ฮาร์ดคอร์ต่างๆที่สร้างมาตอบสนองแฟนซาดิสม์โดยเฉพาะ ทั้ง แมตช์ไม้เคนโด (Singapore Crane Match), แมตช์โต๊ะเผาไฟ (Flaming Tables Match) หรือแมตช์ที่เอาเศษแก้วติดกาวที่มือแล้วต่อยกันสดๆ (Taipei Death Match) ล้วนเริ่มต้นที่ ECW ทั้งสิ้น
ความแตกต่างทั้งหลายที่กล่าวมา ECW จึงได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มแฟนมวยปล้ำเพศชายที่มีอายุช่วง 18 ถึง 45 ปี ที่กำลังเบื่อมวยปล้ำเพื่อเด็กและเยาวชนของ WWF และ WCW
ค่ายมวยปล้ำแห่งนี้ไม่มีข้อห้ามในการทุ่มผู้หญิงลงฟาดกับโต๊ะ, ไม่มีข้อห้ามในการเอาไฟเผาคู่ต่อสู้ และไม่มีข้อห้ามในการเอาเก้าอี้ฟาดใครทั้งนั้น
Photo : WhatCulture.com
“คุณสามารถเคารพผลงานของริค แฟลร์, บัดดี้ โรเจอร์ หรือใครก็ตามที่ประสบความสำเร็จในวงการมวยปล้ำก่อนหน้านี้” พอล เฮย์แมนกล่าวถึงเหตุผลที่เขาเปลี่ยนแปลงรูปแบบมวยปล้ำของ ECW
“แต่มันมาถึงเวลาที่คุณต้องยอมรับว่า มวยปล้ำยุคเก่ามันตายไปแล้ว ไม่มีใครอยากดูมวยปล้ำแบบนั้นอีกแล้ว พวกเขาต้องการอะไรที่มันเอ็กซ์ตรีม”
EXTREME CHAMPIONSHIP WRESTLING
ปี 1994 ความโด่งดังของ ECW เริ่มกระจายตัวสู่งวงกว้าง สมาคมมวยปล้ำเก่าแก่อย่าง NWA ที่เพิ่งแยกทางกับ WCW ได้ไม่นาน ยื่นข้อเสนอจับมือเป็นพันธมิตรกับ ECW โดยจะมอบแชมป์โลกที่ทรงคุณค่า และมีอายุมากที่สุดในโลกอย่าง แชมป์โลก NWA ให้แก่ ECW อีกด้วย
Photo : www.wrestling20yrs.com
ข้อเสนอดังกล่าวคงเป็นที่ใฝ่ฝันของใครหลายคน แต่ไม่ใช่กับ พอล เฮย์แมน เขาไม่ต้องการเดินตามประเพณีดั้งเดิมของ NWA ที่ยึดติดอยู่กับมวยปล้ำอันมีเกียรติและสง่างาม
โชคร้ายที่เฮย์แมนไม่สามารถปฏิเสธข้อเสนอของ NWA ได้ เขาต้องเตรียมเขียนบทให้นักมวยปล้ำหมายเลขหนึ่งของค่าย ผู้เกลียด WCW และ NWA มากพอๆกับเขา “เดอะ แฟรนไชส์” เชน ดักลาส (Shane Douglas) เป็นแชมป์โลก NWA คนแรกของ ECW
วันที่ 27 สิงหาคม ปี 1994 เชน ดักลาส คว้าแชมป์โลก NWA มาครองได้ตามที่แฟนมวยปล้ำทุกคนคาดการณ์ แต่เรื่องราวที่แสนเซอร์ไพร์สกำลังจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนั้น หลังคว้าแชมป์ ดักลาสหยิบไมโครโฟนขึ้นมา พูดบางสิ่งที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์มวยปล้ำไปตลอดกาล
“จากฮาร์ลีย์ เรซ สู่ แบร์รี่ วินด์แดม สู่ริค แฟลร์ สู่ ดัสตี้ โรดส์ หรือ ริคกี้ สตรีมโบ๊ต พวกเขาทุกคนสามารถเข้ามาจูบที่ก้นกูได้เลย” เชน ดักลาสกล่าว พร้อมโยนเข็มขัด NWA ทิ้งลงพื้น
“เพราะว่ากูไม่ใช่คนที่จะมารับไม้ต่อจากสมาคมที่ตายไปตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว เดอะ แฟรนไชส์ เชน ดักลาส คือคลื่นลูกใหม่ของกีฬามวยปล้ำอาชีพ”
“คืนนี้ ผมขอประกาศว่า เดอะ แฟรนไชส์ คือแชมป์โลก ECW คนใหม่” เชน ดักลาส พร้อมแสดงเข็มขัดแชมป์โลกเส้นใหม่ที่มีคำว่า ECW แก่แฟนมวยปล้ำทั่วสนาม
Photo : www.wrestling20yrs.com
จากเหตุการณ์ในคืนดังกล่าว ECW ประกาศว่าพวกเขาตัดขาดจากความสัมพันธ์ของ NWA และเปลี่ยนชื่อสมาคมจากเดิมคือ Eastern Championship Wrestling ให้กลายเป็น Extreme Championship Wrestling พร้อมเดินหน้าบนเส้นทางสุดบ้าระห่ำของตัวเอง
พอล เฮย์แมน เพิ่มเติมความน่าตื่นเต้นให้แก่ ECW เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของค่ายมวยปล้ำท้องถิ่นในฟิลาเดลเฟีย และดึงดูดแฟนมวยปล้ำจากเมืองใกล้เคียง เช่น นิวยอร์ค, นิวเจอร์ซี่ย์, พิสต์เบิร์ก หรือ บัลติมอร์ เข้ามา พวกเขาจ้างนักมวยปล้ำรุ่นครุยเซอร์เวตชื่อดังที่มีผลงานในญี่ปุ่นและเม็กซิโก ให้มีโอกาสขึ้นมาวาดลวดลายบนสังเวียนมวยปล้ำอาชีพของสหรัฐอเมริกา
คริส เบนวา, คริส เจอริโก, เอ็ดดี้ เกอเรโร่, ดีน มาเลนโก้ หรือ เรย์ มิสเตอริโอ ทั้งหมดนี้คือนักมวยปล้ำชื่อดังที่เริ่มต้นความยิ่งใหญ่ในวงการมวยปล้ำบนเวทีของ ECW พวกเขาเหล่านี้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างของสมาคม มวยปล้ำคุณภาพที่น่าตื่นเต้นเร้าใจ ผสมผสานกับมวยปล้ำแบบเอ็กซ์ตรีม สไตล์โหด ดิบ เถื่อน ECW มีทุกอย่างที่แฟนมวยปล้ำต้องการ และได้รับคำชมอย่างมากทั้งจากแฟนมวยปล้ำและนักวิจารณ์
รายการ Hardcore TV ของ ECW ได้รับรางวัลรายการทีวีมวยปล้ำยอดเยี่ยม 3 ปีซ้อน (1994-1996) จาก Wrestling Observer Newsletter ส่วน พอล เฮย์แมน ได้รับรางวัลผู้กำหนดแมตช์การปล้ำยอดเยี่ยม 4 ปีซ้อน (1994-1997) จากสถาบันเดียวกัน ขณะที่แฟนมวยปล้ำที่เข้าชมโชว์ของ WWF เริ่มตะโกนชื่อของ ECW ในสนามแข่งขัน เมื่อพวกเขาไม่พอใจคุณภาพมวยปล้ำจากค่ายกระแสหลักที่อยู่ตรงหน้า
ความไม่พอใจที่แฟนมวยปล้ำมีต่อ WWF และ WCW ผลักดันให้เกิดจุดแข็งใหม่ของ ECW ขึ้นมา แฟนมวยปล้ำทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ ECW ได้
Photo : poisongodmachine3
คุณสามารถขว้างเก้าอี้ที่คุณนั่งให้นักมวยปล้ำ เพื่อเอาไปตีหัวนักมวยปล้ำอีกคนได้, คุณสามารถเขียนป้ายด่าใครก็ได้ออกทีวี โดยไม่มีการเซ็นเซอร์ หรือกระทั่งบางวัน นักมวยปล้ำอาจโยนคู่ต่อสู้ลงจากเวทีใส่ฝูงคนดู เพื่อจะบอดี้เซิร์ฟนักมวยปล้ำไปทั่วสนาม เหมือนอย่างที่ สไปค์ ดัดลีย์ (Spike Dudley) เคยมีประสบการณ์มาแล้ว
ECW จึงไม่ใช่แค่ค่ายมวยปล้ำ แต่กลายเป็นวัฒนธรรมที่แทรกซึมเข้าไปในสายเลือด แฟนมวยปล้ำหลายร้อยมาต่อคิวตั้งแต่เก้าโมงเช้า เพื่อเข้าชมโชว์ที่จัดขึ้นตอนสองทุ่ม แฟนเดนตายคอยสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำสิ่งที่บ้าระห่ำแค่ไหน กลายเป็นจุดแข่งสำคัญของ ECW
แต่วันหนึ่งที่ทุกอย่างล้ำเส้นมากเกินไป มากเกินกว่าที่แฟนมวยปล้ำหรือโลกภายนอกจะรับไหว ผลร้ายจึงเข้ามาเยือน ECW โดยไม่รู้ตัว
ร่วงหล่นอย่างรวดเร็ว
ความรุ่งโรจน์ของ ECW ต้องหยุดชะงักลงในปี 1996 ด้วยเม็ดเงินของ WCW เอริค บิสชอฟ เอาคืน พอล เฮย์แมนอย่างเจ็บแสบ ด้วยการทุ่มเงินคว้าตัว คริส เบนวา, คริส เจอริโก, เอ็ดดี้ เกอเรโร่, ดีน มาเลนโก้ และ เรย์ มิสเตอริโอ นักมวยปล้ำรุ่นครุยเซอร์เวตทั้งหมดที่ ECW สร้างมา พาเหรดย้ายออกจากค่ายไปสร้างเรตติ้งให้กับ WCW อย่างมหาศาล
Photo : www.wrestling20yrs.com
ครุยเซอร์เวตดิวิชั่น กลายเป็นจุดขายของรายการ Monday Nitro หลายคนยกเครดิตให้ตรงนี้ให้แก่ เอริค บิสชอฟ ที่กล้าสร้างความแปลกใหม่ให้แก่วงการมวยปล้ำ ทั้งที่เรื่องดังกล่าว คือสิ่งที่ ECW เคยมาทำมาก่อนหน้า เรื่องดังกล่าวสร้างความเจ็บปวดให้แก่พอล เฮย์แมน จนต้องหาทางเอาคืนอย่างเจ็บแสบ
พอล เฮย์แมน ตอบโต้ WCW ด้วยการจับมือกับ WWF ที่เปิดศึกสงครามวันจันทร์กับ WCW ในขณะนั้น เขานำนักมวยปล้ำชื่อดังของ ECW ไปแสดงตัวในรายการ Monday Night RAW เป็นครั้งแรกที่ผู้ชมมวยปล้ำกระแสหลัก ได้ดูรูปแบบมวยปล้ำที่แตกต่างและไม่เหมือนใครของ ECW
การจับมือกับ WWF สร้างแนวคิดใหม่ให้แก่ พอล เฮย์แมน เขาต้องทำให้ ECW ออกไปสู่วงกว้างมากกว่านี้ และสิ่งที่จะทำได้คือการจัดโชว์แบบเสียเงินดู หรือ เพย์ เพอร์ วิว แม้จะเสียนักมวยปล้ำฝีมือดีหลายรายไปก่อนหน้า แต่การสร้างนักมวยปล้ำเอ็กซ์ตรีมเลือดใหม่อย่าง ร็อบ แวน แดม, ดัดลีย์ บอยส์ และ สตีเวน ริชาร์ด มาถึงจุดนี้ เฮย์แมน คิดว่าพวกเขาพร้อมแล้ว ที่จะก้าวไปสู่อีกขั้นที่ไม่เคยก้าวไปถึงมาก่อน
โชคร้ายที่ความฝันของพวกเขาต้องชะงักด้วยความบ้าคลั่งของตัวเอง เมื่อ เรเว่น (Raven) รับเขียนบทด้วยตัวเอง โดยจับคู่ปรับของเขาในตอนนั้นอย่าง แซนด์แมน มาตรึงกางเขนไว้กับเชือกเวที พร้อมกับสวมมงกุฎลวดหนาม เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียให้กับ ECW เป็นอย่างมาก จนกำหนดการณ์เพย์ เพอร์ วิว แรกของพวกเขาในช่วงปลายปี 1996 ถูกยกเลิก
ความผิดหวังที่เรเว่นสร้างให้แก่ ECW ทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องแยกทางกัน เรเว่นย้ายไปอยู่ WCW ท่ามกลางสถานการณ์หลังฉากที่ไม่สู้ดีนักของ ECW พอล เฮย์แมน ควบคุมกิจการในค่ายแทนที่ ท็อด กอร์ดอน ที่กล่าวกันว่าเป็นไส้ศึก แอบเสนอขายนักมวยปล้ำของ ECW ให้แก่ WCW
ภายในระยะเวลาไม่นาน จากค่ายมวยปล้ำที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมั่นคง ECW กลายเป็นค่ายที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน นักมวยปล้ำพูดถึงสัญญาค่าตัวมหาศาลจาก WWF และ WCW ในขณะที่ ECW ยังคงดำเนินธุรกิจด้วยวิธีบ้านๆ เนื่องจากมีทุนไม่มากนัก
นอกจากอาชีพนักมวยปล้ำแล้ว ทุกคนใน ECW ต้องมีงานรองเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของค่าย บับบ้า เรย์ ดัดลีย์ มีหน้าที่ติดต่อสถานที่จัดโชว์มวยปล้ำ, แทซ รับหน้าที่ออกแบบเสื้อที่ระลึก, ส่วน ทอมมี่ ดรีมเมอร์ และดีวอน ดัดลีย์ ทำหน้าที่ขนส่งสินค้า
เมื่อคนขาดเอามากๆ นักมวยปล้ำบางรายอาจทำมากกว่าสองหน้าที่ แทซ ต้องดูแลโรงเรียนสอนมวยปล้ำของค่าย ไปพร้อมกับการออกแบบเสื้อผ้า เช่นเดียวกันกับทอมมี่ ดรีมเมอร์ ที่มีหน้าที่ดูแลกิจการร้านค้าหน้าโชว์ พร้อมกับกำหนดแมตช์การปล้ำในโชว์นั้นไปด้วย
1
ช่วงเวลาที่ ECW ยากลำบาก WCW และ WWF กำลังพุ่งสู่จุดสูงสุด ขณะที่รูปแบบการปล้ำครุยเซอร์เวตถูกขโมยไปโดย WCW
คู่ตรงข้ามอย่าง WWF ลอกเลียนแนวทางการปล้ำที่ฮาร์ดคอร์ของพวกเขาไปใช้ในมวยปล้ำแนวทางใหม่ที่เรียกว่า ยุคแอดติจูด (Attitude Era) ที่เต็มไปด้วยความดิบเถื่อน เรื่องเพศ และไม่สนใจแฟนมวยปล้ำเด็กอีกต่อไป
เผลอเพียงแปบเดียว มวยปล้ำเอ็กซ์ตรีมของ ECW ไม่ได้แปลกใหม่อีกต่อไป คนทั่วไปสามารถรับชมความสนุกที่ใกล้เคียงกันได้ผ่านทางสองค่ายยักษ์ ถึงเวลาที่พวกเขาต้องปรับตัวตามโลกให้ทันบ้างแล้ว ก่อนที่ความตกต่ำและการล่มสลาย จะเข้ามาเยือน ECW โดยไม่ทันตั้งตัว
1
จุดจบของ ECW
แนวทางที่ ECW ทำมาตลอด คือการเอามวยปล้ำออกห่างจากคำว่าธุรกิจ เขาเกลียดค่ายที่หวังแต่เรตติ้ง และเม็ดเงินอย่าง WCW นักมวยปล้ำทุกคนเปรียบเหมือนคนในครอบครัวของ พอล เฮย์แมน แต่ครอบครัวจะรักใคร่กันได้นานแค่ไหน หากรายได้ที่ตอบแทนหยาดเหงื่อบนสังเวียนไม่พอเลี้ยงปากท้อง
Photo : www.nzpwi.co.nz
ปี 1999 ECW ประสบปัญหาการเงินอย่างหนัก เช็คเงินเดือนของพวกเขาเริ่มเด้งติดต่อกันบ่อยครั้ง ทอมมี่ ดรีมเมอร์ ไม่ได้รับเงินเดือนนานครึ่งปี ขณะที่สไปค์ ดัดลีย์ ยืนว่าจะไม่ไปไหน แม้ต้องเดินทางตามเมืองต่างๆทั่วประเทศเพื่อเจ็บตัวฟรี แต่นักมวยปล้ำหลายคนไม่ได้คิดแบบนั้น
พวกเขาถูกเตือนสติจากครอบครัวว่าพวกเขากำลังอยู่บนเรือที่ใกล้จะจมน้ำ ทางที่ดีที่สุดของพวกเขาคือรับเงินจากค่ายมวยปล้ำขนาดใหญ่ แล้วทิ้ง ECW ไว้ ให้กลายเป็นเพียงเรื่องของอดีต
ภายในระยะเวลาไม่นาน ECW เสียซุปเปอร์สตาร์ชื่อดังออกจากค่ายมากมาย แทซ และ ดัดลีย์ บอย ควงคู่กันย้ายไปอยู่ WWF หลัง พอล เฮย์แมน ปฏิเสธที่จะขึ้นเงินเดือนให้ และยืนกรานว่าเขาต้องการนักมวยปล้ำที่มีใจอยู่กับ ECW ต่อไป ส่วนใครที่มองว่าเงินสำคัญกว่า เชิญออกไปที่อื่นได้เลย
“พอลบอกกับทุกคนในค่ายรวมถึงตัวผมด้วยว่า ถ้าคุณอยากย้าย เชิญไปได้เลย” ทอมมี่ ดรีมเมอร์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ ECW เสียตัวดัดลีย์ บอยส์ แก่ WWF
“พวกดัดลีย์ขอค่าจ้างเพิ่มขึ้นแค่ 1 ดอลลาร์ เพื่อต่อสัญญากับ ECW เพราะพวกเขาไม่อยากไป WWF ขอแค่ 1 ดอลลาร์ แต่พอลยืนกรานว่าเขาจะไม่ให้ และพูดว่าเขาสู้กับ WWF และ WCW ไม่ได้ในเรื่องการเงิน ถ้าคุณจะอยู่ที่นี่ คุณต้องมีใจจะอยู่ที่นี่เอง”
ท่ามกลางช่วงเวลาที่ยากลำบาก ECW ทำสัญญากับช่อง TNN (Paramount Network ในปัจจุบัน) ถ่ายทอดสดมวยปล้ำของพวกเขาผ่านทางช่องทีวีระดับชาติ ในรายการ ECW on TNN เพื่อหารายได้มาจุนเจือสมาคมที่กำลังร่วงลงทุกขณะ
ปรากฏว่าเรื่องดังกล่าวคือการตัดสินใจที่ผิดพลาด TNN ขอให้ ECW ลดความรุนแรงในรายการลง ทำให้พวกเขาไม่สามารถมัดใจผู้ชมกลุ่มเดิมได้ ขณะที่ TNN เอง ไม่สนใจจะโปรโมต ECW ให้เป็นค่ายมวยปล้ำที่มีศักยภาพทัดเทียมกับ WWF และ WCW หลังฉายไปได้เพียงปีเดียว รายการ ECW on TNN จึงต้องมีอันปิดตัวในเดือนตุลาคม ปี 2000
เมื่อความหวังสุดท้ายในการพยุง ECW จากการขายค่าลิขสิทธิ์ทีวีล้มเหลวไม่เป็นท่า ECW จึงประสบปัญหาการเงินจนถูกฟ้องล้มละลาย พอล เฮย์แมน ไม่มีทางเลือก นอกจากต้องปิดตัวสมาคมลงในวันที่ 4 พฤษภาคม ปี 2001 แม้จะติดค่าจ้างนักมวยปล้ำอยู่มากกว่า 5 แสนเหรียญ
ความล้มเหลวและจุดจบของ ECW ไม่ใช่สิ่งที่สวยงามนัก หากว่ากันตามตรง หลังถูกคืนชีพอีกครั้งในปี 2006
ECW กลายเป็นโชว์รายสัปดาห์อันดับสามของ WWE ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า อาจเป็นการตอกย้ำว่า ECW ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ตั้งแต่ต้น ค่ายมวยปล้ำที่มีแต่เลือด ความรุนแรง และความหยาบคาย ไม่มีวันอยู่รอดได้ในธุรกิจมวยปล้ำในโลกความเป็นจริง
Photo : pizzabodyslam.blogspot.com
ทุกวันนี้ ECW กลายเป็นเพียงตำนานเล่าขาน แต่เวลาไม่เคยพราก ECW ไปจากใจแฟนมวยปล้ำ เสียงตะโกน “อี ซี ดับ” ยังคงดังก้องทุกครั้งในแมตช์มวยปล้ำฮาร์ดคอร์ทั่วโลก ไม่เกี่ยวว่าแมตช์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นที่สมาคมใด เพราะทุกสมาคมมวยปล้ำบนโลกใบนี้ ล้วนรับอิทธิพลดังกล่าวมากจาก ECW ทั้งสิ้น
ECW อาจเป็นค่ายที่ล่มสลาย ไม่ประสบความสำเร็จ เรื่องนี้ไม่สามารถปฏิเสธได้ หากตีค่าคำว่าความสำเร็จที่เม็ดเงิน แต่มรดกที่ ECW ทิ้งไว้แก่วงการมวยปล้ำ ยังส่งผลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แม้เวลาผ่านมาเกือบ 20 ปี สิ่งเหล่านี้ถือว่า ECW ประสบความสำเร็จหรือไม่? เราเชื่อว่าแฟนมวยปล้ำทั่วโลก มีคำตอบชัดเจนในใจอยู่แล้ว
“คุณไม่สามารถประสบความสำเร็จ หากคุณไม่กล้าเสี่ยงที่จะล้มเหลว และผมเรียนรู้เรื่องนี้มาตั้งนานแล้วว่า คุณไม่มีวันประสบความสำเร็จ หากคุณยังกลัวอยู่” พอล เฮย์แมน กล่าวถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการทำ ECW
“ถ้าคุณไม่กลัวที่จะล้มเหลว อย่างน้อยคุณก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ คุณไม่มีทางไปถึงเป้าหมายนั้น หากคุณไม่กล้าที่จะเสี่ยงทำมันอย่างเต็มที่”
“ถ้าคุณทำแบบนี้ คุณจะเรียกสิ่งที่คุณทำมาว่าล้มเหลวได้อย่างไร?”
บทความโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
สารคดี The Rise and Fall of ECW จัดทำโดย WWE
โฆษณา