17 ก.ค. 2020 เวลา 12:33
คุณค่าแห่งพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงพระราชทานแก่บรรดาพระราชโอรสก่อนส่งไปศึกษาในยุโรป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉายพระรูปกับพระราชโอรสที่ทรงศึกษาอยู่ในประเทศอังกฤษ ณ ที่ประทับ Taplow Court คราวเสด็จประพาสยุโรป เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2440
1
ภาพจากหนังสือยุวราชสกุลวงศ์
ภาพจากหนังสือยุวราชสกุลวงศ์
ภาพจากหนังสือยุวราชสกุลวงศ์
เรียงตามตัวเลข
1.สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร
2.พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ
3.สมเด็จเจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย
4.สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ
5.พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ
6.สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์
7.สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
8.พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
9.พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์
10.พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร
11.พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช
12.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในหนังสือพระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5 มีหลายตอนที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่า และเหมาะสมนักที่จะใช้เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิต
หลังจากเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 สยามต้องพัฒนาประเทศให้เท่าทันต่อเหตุการณ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฝากความหวังไว้กับพระราชโอรสที่มีพระบรมราโชบายให้ได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุด เกี่ยวกับแขนงวิชาต่างๆ ที่บ้านเมืองต้องการ และทรงเริ่มส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการ ณ ทวีปยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2428 เรื่อยมา
ภาพจากหนังสือยุวราชสกุลวงศ์
วันนี้ผมจึงขอเจาะเรื่องราว เมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงส่งบรรดาพระราชโอรสไปศึกษา ณ ยุโรป พระบรมราโชวาทที่ปรากฏในหนังสือ "พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5" หน้า 56 - 70 ผมจะขอนำมาเล่าสู่กันฟังและสรุปเป็นภาษาง่ายๆ
ว่าด้วยโอวาททั้งหมด 8 ข้อ และด้วยเนื้อหาที่บันทึกไว้มีความยาวจึงใคร่ขอใช้คำง่ายต่อการเข้าใจและแบ่งบางบทนำมาลง เพื่อความสะดวกในการอ่าน
“ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูกบรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จงประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้…”
ข้อที่ 1 สอนให้รู้ถึงบทบาทหน้าที่ การวางตัวทางสังคม และการประหยัด
“การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้น ซึ่งยังเป็นผู้เรียนวิชาอยู่นี้เลย เพราะฉะนั้นที่จะไปครั้งนี้อย่าให้ไว้ยศว่าเป็นเจ้า ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยาม"
“…และถ้าเป็นเจ้านายแล้วต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวง ที่จะทำทุกอย่างเป็นเครื่องล่อตาล่อหูคนทั้งปวงที่จะให้พอใจดู พอใจฟัง จะทำอันใดก็ต้องระวังตัวไปทุกอย่าง ที่สุดจนจะซื้อจ่ายอันใดก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง เพราะเหตุว่า ถึงจะเป็นเจ้าก็ดี เป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศไม่ใช่บ้านเมืองของตัวก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดผิดไปกับคนสามัญได้ เพราะฉะนั้น จึงขอห้ามเสียว่าอย่าได้ไปอวดอ้างเอง หรืออย่าให้คนใช้สอยอวดอ้างว่าเป็นเจ้านายอันใด จงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้”
ข้อที่ 2 สอนให้เห็นคุณค่าแห่งความรู้ และความเท่าเทียมทางโอกาส
“…การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้เป็นหลักทรัพย์มรดกอันประเสริฐดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ ลูกคนใดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี หรือไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็ต้องส่งไปเรียนวิชาทุกคน ตลอดโอกาสที่จะเป็นไปได้ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆ กันทุกคน…”
ข้อที่ 3 สอนให้ลำบากอดทน เพียรศึกษาเพื่อกลับมาทำคุณแก่แผ่นดิน
“…เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการ มีชื่อเสียงดีก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อได้มีโอกาสที่จะทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตนและโลกที่ตัวได้มาเกิด
“ ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้วนิ่งๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบาย ดังนั้นจะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉานอย่างเลวนัก สัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมากินๆ นอนๆ แล้วก็ตาย แต่สัตว์บางอย่างยังมีหนัง มีเขา มีกระดูก เป็นประโยชน์ได้บ้าง แต่ถ้าคนประพฤติอย่างเช่นสัตว์ดิรัจฉานแล้ว จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก
1
“เพราะฉะนั้นจงอุตสาหะที่จะเรียนวิชาเข้ามาเป็นกำลังที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อ ซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา”
ข้อที่ 4 สอนให้เลือกประพฤติชอบและมิให้ลำพองตน
“อย่าได้ถือตัวว่าเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรง คุมเหงผู้ใดเขาก็จะมีความเกรงใจพ่อไม่ต่อสู้หรือไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว การซึ่งเชื่อใจดังนั้นเป็นการผิดแท้ทีเดียว เพราะความปรารถนาของพ่อไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย
“…อีกประการหนึ่งชีวิตสังขารมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้ ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว โดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู่ได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใด เวลาไม่มีพ่อ ความชั่วนั้นคงจะปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด
“เพราะฉะนั้นจงเป็นคนอ่อนน้อม ว่าง่าย สอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันมาทางที่ชอบที่ถูกอยู่เสมอเป็นนิจเถิด จะละเว้นทางที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัว หรือมีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด”
ข้อที่ 5 สอนให้ไม่โอ้อวดและให้ตระหนักถึงเงินที่ได้มา
“…จงจำไว้ ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่าตัวเป็นคนจน มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่รักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆ อื่น และไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลกันมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ ตัวเองเป็นผู้ได้เงินจากราษฎรเลี้ยง พอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตและรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด…”
ข้อที่ 6 กำชับว่าต้องเรียนให้รู้แจ้งและทรงเน้นย้ำวิชาการอย่างจริงจัง
“วิชาที่จะออกไปเรียนนั้นก็คงต้องไปเรียนภาษาและหนังสือในสามภาษา คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน ให้ได้แม่นยำ ชัดเจน คล่องแคล่ว จนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย เป็นวิชาหนังสืออย่างหนึ่ง กับวิชาเลขให้เรียนรู้คิดใช้ได้ในการต่างๆ อีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น วิชาสองอย่างที่จำเป็นจะต้องเรียนให้รู้ให้ได้จริงๆ เป็นชั้นต้น แต่วิชาอื่นๆ ที่จะเรียนต่อไปให้เป็นวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเป็นแน่นอนว่าให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ก็ยังไม่ควรจะต้องเป็นคำสั่งต่อภายหลัง…”
ข้อที่ 7 สอนให้ไม่ลืมรากเง้า
“…อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กลับเห็นเป็นการเก๋การกี๋อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น
“…เพราะเหตุฉะนั้นในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ขอบังคับว่าให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน อย่างน้อยเดือนละฉบับ เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ ก็เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษหรือภาษาหนึ่งภาษาใดได้ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง
ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่ง ติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็กไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วย หรือค้นดูตามหนังสือภาษาไทยซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย คงจะพอหาถ้อยคำที่จะใช้แปลออกเป็นภาษาไทยได้ แต่หนังสือไทยที่จะเป็นกำลังช่วยอย่างนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิดจะติเตียนออกไป แล้วจงจำไว้ใช้ให้ถูกต่อไปภายหน้า
“อย่าให้มีความกลัวความกระดากว่าผิด ให้ทำตามที่เต็มอุตสาหะความแน่ใจว่าเป็นถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด”
ข้อที่ 8 กำชับให้ปฎิบัติตามกฎระเบียบ
“…เมื่ออยู่ในโรงเรียนแห่งใดจงประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่างซึ่งเขาตั้งลงไว้ อย่าเกะกะวุ่นวายเชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ จงอุตส่าห์พากเพียรเรียนวิชา ให้รู้มาได้ช่วยกำลังพ่อเป็นที่ชื่นชมยินดีสมกับที่มีความรักนั้นเถิดฯ”
ภาพจากหนังสือยุวราชสกุลวงศ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งบรรดาพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการในต่างประเทศ จนสําเร็จการศึกษากลับมารับราชการ
บรรดาโอรสทรงแยกย้ายกันรับใช้บ้านเมืองอย่างเต็มกําลังและความสามารถ ดังปรากฏ ข้อมูลดังนี้ คือ
1. พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (พ.ศ. 2417-2474) ทรงศึกษาวิชาเศรษฐกิจการคลังที่อังกฤษ (ควาดว่าน่าจะเป็นที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์) กลับมารับราชการในตําแหน่งเสนาบดี กระทรวงพระคลังฯ และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์, อีกทั้งทรงเป็นสภา นายกแห่งสภาการคลัง และเป็นประธานอภิรัฐมนตรี (ในรัชกาลที่ 7)
2. พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พ.ศ. 2417-2463) ทรงศึกษาวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกซ ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และได้รับปริญญา บี.เอ. กลับมารับราชการ ในตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ
3. พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี (พ.ศ.2418-2462) ทรงศึกษา (น่าจะเป็นทางอักษรศาสตร์) ที่อังกฤษ และฝรั่งเศส กลับมารับราชการในตําแหน่งราชเลขานุการฝ่ายต่างประ เทศ และเสนาบดีตําแหน่งราชเลขาธิการ
4. พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พ.ศ. 2419-2456) ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษและศึกษาวิชา ทหารบกในประเทศเดนมาร์ค กลับมารับราชการในตําแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และดํารงพระยศเป็นจอมพล.
5. พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (พ.ศ. 2423-2466) ทรงศึกษาวิชาทหารเรือที่อังกฤษ และกลับมารับราชการในกองทัพเรือ ได้รับยศเป็นพลเรือเอก ตําแหน่งเสนาธิการทหารเรือและเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ
6. สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ คือพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2424-2468) ทรงศึกษาวิชาทหารบกที่นายร้อยแสนด์เฮิร์สต์และวิชาประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ
7. สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (พ.ศ. 2424-2487) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่อังกฤษ แล้วไป ศึกษาวิชาทหารบกที่เยอรมนี กลับมารับราชการ ได้รับพระราชทาน ยศเป็นจอมพลเรือ และจอมพล ดํารงตําแหน่งเสนาบดีกระทรวง ทหารเรือ, เสนาธิการทหารบก, เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
8. พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พ.ศ. 2425-2497) ทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์และมหา วิทยาลัยเคมบริดจ์ ก่อนที่จะศึกษาวิชาทหารช่างในอังกฤษ เมื่อกลับมารับราชการได้ทรงดํารงตําแหน่งแม่ทัพน้อย, จเรทหารช่าง, ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงได้รับยศพลเอก
9. พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม (พ.ศ. 2425-2452) ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ และกลับมารับ ราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ.
10. สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (พ.ศ. 2426 – 2463) ทรงศึกษาวิชาสามัญในประเทศอังกฤษ แล้วไปศึกษาวิชาทหารบกที่ประเทศรุสเซีย กลับมารับราชการใน ตําแหน่งเสนาธิการทหารบก ได้รับยศเป็นจอมพล
11. สมเด็จเจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (พ.ศ. 2426-2475) ทรงศึกษาที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์ และสําเร็จ ได้รับปริญญา บี.เอ. จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในตําแหน่งอุปราชมณฑลปักษ์ใต้ และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
12. พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร (พ.ศ. 2426-2490) ทรงศึกษาวิชาทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในกองทัพเรือ ได้รับยศเป็นพลเรือเอก ตําแหน่ง เสนาธิการทหารเรือ และเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
13. พระองค์เจ้าดิลกนพรัฐ กรมหมื่นสรรควิสัยนรบดี (พ.ศ.2427-2455) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่อังกฤษ ก่อนที่จะเสด็จ ไปศึกษาต่อที่เยอรมนี จนกระทั่งสําเร็จจากมหาวิทยาลัยทึบบิงเงน ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์ “ดอกเตอร์วิทสตาตส์ วิส เจนจัฟท์” กลับมารับราชการในตําแหน่งเจ้ากรมพลําภัง (กรมการปกครอง) กระทรวงมหาดไทย
14. พระองค์เจ้าสุริยงประยุรพันธ์ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส (พ.ศ. 2427-2463) ทรงศึกษา ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการในตําแหน่งอธิบดีโรงกระษาปณ์ฯ, ผู้ตรวจการกรมศิลปากร, และผู้ช่วยปลัดทูลฉลองกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ
15. พระองค์เจ้ารังสิตประยุรศักดิ์ สมเด็จกรมพระยาชัยนาทนเรนทร (พ.ศ.2424-2494) ทรงศึกษาวิชาสามัญในอังกฤษ และเยอรมนี และต่อมาได้ศึกษาวิชาครู ณ มหาวิทยาลัยไฮเต็ลแบร์ก เยอรมนี เมื่อสําเร็จการศึกษาได้กลับมารับราชการในตําแหน่งอธิบดี กรมสาธารณสุข อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย, ผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ, ประธานคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์, ผู้ สําเร็จราชการแทนพระองค์, และประธานองคมนตรี
16. สมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา (พ.ศ.2432-2464) ทรงศึกษาวิชาทหารที่อังกฤษระยะสั้น และ กลับมารับราชการตําแหน่งผู้บัญชาการกองพล ยศพลตรี แล้วไปดํารง ตําแหน่งผู้สําเร็จราชการกระทรวงทหารเรือ ยศพลเรือเอก
17. สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) (พ.ศ. 2434-2472) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนมัธยมแฮร์โรว์ ในอังกฤษ แล้วเสด็จไปศึกษาวิชาทหารบกและวิชาทหารเรือที่เยอรมนี และต่อมาได้ไปศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และวิชาแพทยศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
1
18. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย (พ.ศ.2435-2466) ทรงศึกษาในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ และสําเร็จได้รับปริญญา บี. เอ. กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนเพาะช่าง
1
19. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) (พ.ศ.2436-2484) ทรงศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนอีตัน ในอังกฤษ ก่อนที่จะเข้าโรงเรียนนายร้อยที่วูลิช กลับมารับราชการในตําแหน่งผู้บัญชาการ กองพลที่ 2
ภาพจากหนังสือยุวราชสกุลวงศ์
กล่าวได้ว่าแม้ว่าจะเป็นพระโอรสของพระมหากษัตริย์ แต่อย่างไรแล้วแต่ละพระองค์มิได้ทรงสุขสบายนัก ดั่งคำพระบรมราโชวาทที่กล่าวมาข้างต้นรวมทั้งภาระต่างๆที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงฝากฝังไว้แก่บรรดาพระราชโอรส คงจะเป็นหลักฐานให้ปถุชนตระหนักถึง
สุดท้ายนี้หากสามารถนำคำสอนเพื่อมาใช้ดำเนินชีวิตได้ จะเป็นการดีอย่างยิ่ง พระบรมราโชวาทที่ทรงคุณค่านี้ อาจไม่ได้เพียงแค่มอบแด่พระราชโอรส แต่เป็นการมอบแด่ผสกนิกรทุกหมู่เหล่าในสยาม เปรียบดั่งสมบัติชิ้นหนึ่งที่พระองค์ทรงทิ้งไว้
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
ขออภัยหากมีข้อมูลผิดพลาดประการใด
อ้างอิง/ภาพ :
- สมุดภาพจดหมายเหตุพระราชโอรสและพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยุวราชสกุลวงศ์
- หนังสือ พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 5
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบรมราโชวาท ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘
- ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพ็ชร. เศรษฐกิจสยามฯ, สำนักพิมพ์มติชน พฤศจิกายน 2544
- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระบรมราโชวาท ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘
- สุภางค์ จันทวานิช. รัชสมัยแห่งการสร้างทุนมนุษย์ : พระราชกุศโลบายของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการส่งพระราชโอรสไปศึกษาต่อในยุโรป
โฆษณา